256 สังคม 711


ชีวิตในเมืองใหญ่ อัดแน่นไปด้วยความเร่งรีบและอึดอัด เมืองที่คาร์บอนมอนน็อกไซด์เข้ามาแทนที่ ออ๊กซีเจน อย่าไปพูดถึงโอโซนเลย มันเป็นของดีที่หายไปนานแล้ว ชีวิตที่ทุกย่างก้าวต้องใช้เงินตราซื้อหา อย่าไปมองหาตุ่มน้ำดื่มหน้าบ้านในกรุงเทพฯ แต่ที่ชนบทภาคเหนือมีใจให้แก่ผู้เดินทาง หรือแม้ในตัวเมืองเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง ก็พอหาได้ 

หากคุณไม่มีเงินในกระเป๋าแล้วไปขอน้ำดื่มร้านไหนสักร้านในเมืองใหญ่ปัจจุบันนี้ ผมนึกไม่ออกว่าจะเห็นภาพอะไรเกิดขึ้นในเวลานั้น ผมก็เข้าใจนะครับว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ผมว่าเมื่อ 70 ปีลงไปนั้นอาจจะมีตุ่มน้ำดื่มหน้าบ้านในกรุงเทพฯก็ได้ แต่ห่างหายไปนานแสนนานแล้ว เด็กที่เติบโตมาในช่วงยุคคุมกำเนิด จึงไม่เคยเห็นวัฒนธรรมตุ่มน้ำดื่มหน้าบ้าน ก็ไม่มีใครคิดจะทำกัน  หรือหากใครทำเข้าก็คงเป็นข่าวแปลกลงหนังสือพิมพ์ไปก็ได้   

สังคมที่ทุกอย่างมีชีวิตด้วยเงิน  จึงเข้าทางสายเลือดนักธุรกิจที่คิดอ่านทุกอย่างที่จะขายได้ ผมเห็นในสื่อต่างๆประชาสัมพันธ์มากมายว่า คนนั้นประสพผลสำเร็จขนาดนั้นขนาดนี้ เพราะทำธุรกิจนั่น นี่ ผมก็ชื่นชมยิ่งนัก เมื่อสังคมที่สนับสนุนการบริโภค การฟุ่มเฟือย เกินความพอเพียง การทำธุรกิจค้าขายก็มีลู่ทางมากมาย  ยิ่งสังคมการบริโภคขยายตัวไปมากขึ้น ธุรกิจก็แตกแขนงออกไปจนบางครั้งเราก็คิดไม่ถึงว่าจะมีธุรกิจแบบนี้ด้วยหรือนี่ เช่นเพาะแมลงสาบขาย เพาะใส้เดือนขาย เป็นต้น    คนโบราณสมัยต้นรัตนโกสินทร์หากยังมีชีวิตอยู่คงไม่เฒ่าตาย  แต่จะตกใจตาย หรืองงตาย หรือฉงนตายเพราะคนสมัยปัจจุบันซื้อน้ำดื่มกันน่ะซี แถมแพงเสียด้วย 

เช้ามืดวันหนึ่งในกรุงเทพฯผมรีบแต่งตัวออกไปธุระ แค่ผมชะโงกตัวออกมานอกห้องก็ได้ยินเสียง เด็กวัยรุ่นส่งเสียงดัง เพราะกินเหล้ากันและคุยสนุกสนาน หนึ่งในนั้นมีหญิงสาวรวมอยู่ด้วย ผมเดินออกจากห้องพักไปหาแท็กซี่ มุมตึกนั้นมีร้านสะดวกซื้อเปิดไฟสว่างจ้า  มองไปฝั่งตรงข้ามก็มีอีกร้านหนึ่งแต่ต่างญี่ห้อกัน  ที่ร้านข้างหน้าผมนั้นมีเด็กหนุ่มฝรั่งสองสามคนยืนคุยกันและดื่มไปด้วย มีหญิงสาวคนหนึ่งยืนในกลุ่ม ส่งภาษาอังกฤษเป็นไฟ  ผมดูเวลาประมาณ ตีห้า เขาเหล่านั้นยังไม่ได้นอน ขณะที่ผมเพิ่งตื่นนอน   

ก็สังคมที่สนับสนุนการบริโภคแบบนี้ โดยอ้างถึงหรือยืนยันความมีเสรีประชาธิปไตย หน้าตาสังคมจึงเป็นแบบนี้  โน่นไงเมื่อสังคมมีนิสัยการบริโภคแบบนี้ นักการค้าผู้มองอย่างเดียวว่าจะทำธุรกิจอะไรได้บ้าง เมื่อเห็นพฤติกรรมเช่นนี้ ร้านสะดวกซื้อจึงเหมาะที่สุด  ช่วงเวลากลางคืนนั้นสังคมโบราณกล่าว่าเป็นยามวิกาล ย่อมเป็นเวลาพักผ่อน ร่างกายที่ทำงานมาตลอดวัน ไม่เชื่อไปดูชนบทซิ สองทุ่มก็ปิดไฟหลับกันหมดแล้ว  มาสมัยที่ไฟฟ้าเข้าไป ทีวีเข้าไปนี่แหละ นอนดึกขึ้นมาอีกหน่อย แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่เกินสี่ทุ่ม 

ชีวิตในเมืองจึงไปได้ดีกับร้านสะดวกซื้อ  ชีวิตที่เอาเวลาไปทิ้งอย่างไร้สาระในขวดเครื่องดื่ม ผู้บันทึกจำภาพได้ดีเมื่อประมาณปี 36-38 ไปทำงานที่นครสวรรค์ เช้ามืดวันจันทร์ประมาณตี 3 จะขับรถคนเดียวจากขอนแก่นไปนครสวรรค์ แค่ออกจากบ้านมาสักร้อยเมตร ที่หน้าร้านขายเบียร์แห่งหนึ่งมีรถมอเตอร์ไซด์จอดเต็มหน้าร้าน และทั้งหมดนั้นเป็นวัยรุ่น  มีคนมักกล่าวว่าเยาวชนคืออนาคตของชาติ  แต่เยาวชนแบบนี้น่ะหรือจะเป็นอนาคตของชาติ.  ไม่นานร้านเบียร์ก็ปิดไป จะด้วยอะไรก็แล้วแต่ วัยรุ่นก็ยังเกาะกลุ่มกันเหนียวแน่น เพราะร้าน 711 เปิดตลอดชาติ มันสะดวกจริงๆที่จะซื้อกินเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ว่าเบียร์เหล้า บุหรี่ เพราะผมไม่เชื่อว่า ตี 2 ถึงตี 5 นั้นจะมีใครสักกี่รายจะมาซื้อนมดื่ม 

ร้านสะดวกซื้อกำลังขยายปีกไปทั่วหัวละแหง แม้ชนบทก็แหย่ขาเข้าไปแล้ว เยาวชนจะเหลือจิตใจไว้เพื่อรากเหง้าของตัวเองได้อย่างไร ?  นี่คือผลพวงของกระแสการพัฒนาประเทศสายหลัก บนหลักการเสรี...  

นี่คือการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างถูกกฏหมาย ซึ่งมีประโยชน์ในด้านหนึ่ง  แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีผลกระทบอีกส่วนหนึ่งด้วยเหมือนกัน  

รัฐบาลก็แก้ไขเอาเองซี... 

เฮ่อ สังคม 711 

คำสำคัญ (Tags): #ร้านสะดวกซื้อ
หมายเลขบันทึก: 152077เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2007 16:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)
  • เมืองใหญ่ ผู้คนวุ่นวาย ส่วนใหญ่มักเห็นแก่ตัวเอง มากกว่าที่จะเห็นประโยชน์ส่วนรวม
  • มันกลายเป็นวัฒนธรรมของคนเมืองใหญ่อยู่แล้วคงแก้ยาก และหาทางแก้ลำบาก
  • ไม่จำเป็นจริง ๆ ก็ไม่คิดจะเข้ากรุง นอกจากโดนให้ไปประชุมฯ จริง ๆ
  • ไปอยู่สักสองสามวันก็คิดถึงแต่ บ้าน ครอบครัว สามี และลูกที่รัก 
  • ที่ไหนก็ไม่อบอุ่นเท่าบ้านของเราจริง ๆ เหนอะพี่บางทรายเนอะ
  • คิดถึงพี่ค่ะ

              

 

 

อ่านด้วยความเข้าใจอย่างยิ่งค่ะ...

ที่บ้านเป็นร้านขายของชำเล็กๆ..ตอนเป็นเด็กมีหน้าที่เตรียมน้ำใส่หม้อดินไว้ให้กับคนเดินทาง..เตรียมเก้าอี้ให้คนนั่งรอ...แต่สภาพสังคมเปลี่ยน..ผู้คนไม่ต้องการดื่มน้ำ ไม่ต้องการการทักทายและไม่ต้องการการรอคอยพูดคุยอีกต่อไป...ปีใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป ของเชียงใหม่กำลังตามเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพฯ ที่ถูกทดแทนด้วยความสะดวกมากขึ้นและห่างหายบรรยากาศเดิมๆไปเยอะแล้ว..ที่บ้านตอนนี้ยังเป็นร้านขายของชำอยู่..แต่ไม่ต้องเตรียมน้ำและเก้าอี้แล้วค่ะ

สวัสดีครับน้อง เพ็ญศรี(นก)

 

  • เรารับรู้มานานแล้วเรื่องนี้ แต่พี่อยู่ป่าอยู่ดอยเสียนาน เมื่อเข้ามาอยู่เมืองหลวงสัก 4-5 วันมันก็ทรมาน พอสมควรครับ
  • รู้ว่าหากมาใช้ชีวิตก็อยู่ได้ ซึ่งก็ต้องใช้เวลาให้เคยชิน แต่ไม่ชอบ หากเลือกได้ก็ต้องเลือกอยู่ต่างจังหวัดครับ
  • แต่ชีวิตบางทีก็เลือกไม่ได้ครับ ชอบหรือไม่ชอบก็ต้องอยู่อย่างนี้ แบบนี้
  • คิดถึงน้องนกเหมือนกันครับ  ยังจำภาพการโทรศัพท์กลับบ้านของน้องนกได้ อิ อิ

พี่ไปเยี่ยมมาแล้วครับน้องจันทรัตน์

เราเห็นมาก็ ก็บ่นไป อิ อิ

มันเป็นการใช้มุมมองหนึ่งมอง ซึ่งอาจจะแตกต่างหรือเหมือนกับท่านอื่นๆก็ได้ เรามองในแง่ของคนทำงานพัฒนาที่ต้องการเห็น ความดี ความงาม ลด ละ เลิก ในสิ่งที่ไม่ดี ทำไมสังคมเราไปส่งเสริมสิ่งนั้นกันหนอ  การจัดระบบสังคมนั้นมีมุมมองเรื่องนี้อย่างไร ?

สวัสดีครับ

  • ที่สังคมเราเป็นอย่างนี้
  • เพราะพวกมีอำนาจเห็นแก่ตัวครับ
  • ผมเคยไปฝึกงานที่โคราช(อ.โนนสูง) ทุกบ้าน
  • มีศาลาตั้งเนียงใส่น้ำไว้หน้าบ้านทุกหลัง
  • (เนียงลักษณะคล้ายโอ่งแต่เล็กกว่า เป็นภาษาใต้ ครับ)
  • ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับพี่

เมื่อวานนี้ยังคุยเรื่องของพี่ให้คนอื่นฟังอยู่เลย ในความประทับใจในงานที่ทำเพื่อสังคม เพราะเมื่อวานกลุ่มพี่ๆน้องๆในหน่วยงานผม ตั้งวงคุยกันตามประสาน NGO ขององค์กร

ผมเองก็พยายามเรียนรู้อยู่กับสังคมในกรุงอยู่เหมือนกันครับ เพราะครึ่งชีวิต ทั้งเรียนทั้งทำงานอยู่ต่างจังหวัด ได้เรียนรู้สังคมที่ครบองค์ประกอบมากกว่าชีวิตในกรุงมากมาย

เรียนรู้ในการหลีกเลี่ยงรถติดเวลาไปทำงาน หลีกเวลาต้องแย่งกันหาข้าวกินตอนกลางวัน หาเรื่องหางานที่ออกนอกสถานที่โดยเฉพาะงานตามต่างจังหวัดอยู่เป็นเนืองๆ  แสวงหาสิ่งที่ขาดไปในสังคมเมืองกรุง จริงๆก็พอหาได้นะครับ หากว่าเราเรียนรู้อยู่กับมัน

แต่จิตใจก็ยังแสวงหาความเป็นธรรมชาติ ในสังคมที่ครบองค์อยู่ดีละครับ

คิดถึงครับ

พี่บู๊ทขา

ไม่ต้องถึง กทม.หรอกค่ะ  แถวๆมหาวิทยาลัยก็มีให้เห็นค่ะ   เราก็เคยได้ยินใช่ไหมคะ  ว่ามหาวิทยาลัยไปตั้งที่ไหน  เอาความเจริญไปที่นั่นด้วย  บางทีหนิงยังสงสัยเลยค่ะว่า  รวมถึง ที่มีหนุ่มสาว  กินดื่มกันอยู่หน้า  ร้านสะดวกซื้อที่อยู่ในชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัยแบบ 24 ชม. นี่ด้วยหรือป่าว 

เฮ้อ...   ชุมชนเขาอยู่ของเขากันดีดีมาก่อนใช่ไหมคะ   จริงอยู่พอเรามา  เขามีรายได้เพิ่มขึ้น  จากการขายที่  หรือมีหนี้จากการกู้ธนาคารสร้างอาพาร์ตเมนต์  หรือตึกให้เช่า  มีการค้าขายมากมาย

แต่วัฒนธรรมเปลี่ยนไปไวมาก  จนหนิงไม่แน่ใจว่า  ชุมชน รับมือกับความเปลี่ยนไวแบบรวดเร็วนี้ได้แค่ไหน   เด็กรุ่นๆอยู่ด้วยกันแบบสามี-ภรรยา  แบบอยู่ได้ก็อยู่กันไป  ไม่มีรายได้  ไม่นานก็แยกทางกัน  บางคนไม่มีลูกไม่เท่าไหร่  แต่บางคู่มีลูก  ก็ต้องให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง  หนิงเจอเด็กเล็กๆอายุยังไม่ถึงเกณฑ์เข้าโรงเรียนที่อยู่กับคนแก่มากขึ้น   อันนี้ไม่นับอัตราการยุติการตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อมนะคะพี่

เฮ้อ...เราเป็นคนแก่  คิดมากไปหรือป่าวนี้   อิอิ

อ้อ..หนิงเห็นด้วยนะคะ  ที่มีร้านสะดวกซื้อเปิด 24 ชม.  แถวๆท่ารถ  โรงพัก  หรือโรงพยาบาล   แต่หนิงไม่ค่อยเห็นด้วยกับร้านสะดวกซื้อ ที่เปิด  24 ชม.  ในชุมชนที่รายรอบสถานศึกษาที่มีเด็กวัยรุ่นเยอะๆ 

เพราะหนิงไม่เห็นว่า  มันสำคัญแค่ไหนที่เด็กๆวัยรุ่นต้องออกมาซื้อของในเวลาดึกๆหรืออยู่กันจนค่อนรุ่ง  ในเมื่อ  ตอนเช้าพวกเด็กๆก็ต้องมีเรียน   หอพักของมหาวิทยาลัยก็ปิด 22.00 หรือเปิดอีกทีสำหรับผู้ตกหล่นก็ 24.00

เพราะหนิงเห็นว่า  สินค้าที่ออกมาซื้อนั้น  ไม่ค่อยจำเป็นกับการดำรงชีวิตปกติเท่าไหร่ค่ะ  ใครสงสัยก็แอบลองไปสังเกตุการณ์ดูนะคะ ว่า  เด็กเขาไปซื้ออะไรกันตอนดึกๆ  ที่ร้านสะดวกซื้อเปิด 24 ชม.

สวัสดีครับท่าน เกษตรยะลา

  • ดีจังเลยที่ยังมีหมู่บ้านที่ตั้งเนียงหน้าบ้านทุกหลัง เห็นไหมครับว่า
  • ชนบทของเรายังมีความเอื้ออาทร
  • ชนบทเรายังมีเมตตา
  • ชนบทเรามีรากเหง้าของทุนทางสังคมที่ดีมากๆ รักษามันไว้สิครับ ทำนุบำรุงมันไว้สิครับ เรียนรู้และส่งเสริม สร้างเสริมขึ้นมาอีกซิครับ ท่านรัฐบาลที่กำลังจะมาใหม่
  • ไปวิเคราะห์เจาะลึกสังคมไทยกันแต่ในเมือง สร้างสูตรนั้นสูตรนี้ขึ้นมาเพื่อประคบประหงมสังคมไทยให้อยู่รอด แผนพัฒนาชาติก็กล่าวถึงการพัฒนาคน น่ะถูกแล้ว แต่คลำทางคลำจุดการเสริมสร้างไม่ถูก ไม่ครบ หรือมองไม่เห็นกัน
  • ไปเอาหลักการพัฒนาเศรษฐกิจนำแต่ไม่ควบคู่ด้วยการพัฒนาทุนทางสังคมเดิมดีดีของเรา มันก็จะสร้างชนบทให้เป็นเมือง มีชนบทให้มีจิตใจแบบเมือง
  • บางทีไม่ได้ตั้งใจหรอก  แต่มองไม่เห็น จับประเด็นไม่ได้
  • ผมสนับสนุนการทำธุรกิจ การค้าขาย การพัฒนาแบบทันสมัยครับ แต่ต้องคัดกรอง และคิดมากขึ้นว่าอะไรควร อะไรสร้างผลเสียมากด้วยเหมือนกัน
  • ผมสนับสนุนการก้าวไปข้างหน้าบนรากเหง้าดีดีของเราครับ
  • ขอบคุณครับท่าน เกษตรยะลา
สวัสดีครับ  น้อง คนดอย

....เมื่อวานกลุ่มพี่ๆน้องๆในหน่วยงานผม ตั้งวงคุยกันตามประสาน NGO ขององค์กร.....

ดีมากครับน้องคนดอย ที่จักกลุ่มคุยกัน พี่เดาเอาว่า section งานของน้องก็คล้ายๆกับพี่ละมั๊ง คือเป็นคนสองโลก  โลกจริงๆจำต้องใช้ชีวิตในเมือง เพราะเลือกไม่ได้มากนัก  แต่ภารกิจไม่น้อยต้องออกชนบท หรือพากลุ่มออกชนบท ก็ยังดีครับที่ได้ออกพบ เห็นชนบท  เพราะนั่นก็คือประเทศไทย สังคมไทย ที่ประกอบกันเป็นประเทศ 

หากชนบทอยู่ไม่ได้ เมืองหรือจะอยู่ได้??? วิกฤติต่างๆย่อมตามมา ประวัติศาสตร์ของประเทศเราก็มี บ้านอื่นเมืองอื่นก็มี 

บทบาทของน้องคนดอยสำคัญยิ่งต่อการช่วยกันกระตุกคนให้ได้หันหน้ามองชนบทมากขึ้น  แม้อยู่ในเมืองก็ตาม  การทำงานเพื่อสังคม ไม่จำเป็นต้องนุ่งยีน ห้อยย่าม ผมยาว เสื้อผ้ายับๆ ทุกตำแหน่งหน้าที่หากมีใจเห็นความแตกต่างของสังคมแล้วช่วยกันเท่าที่บทบาทจะมี ก็เป็นการหนุนเสริมกันครับ

ผมเองก็พยายามเรียนรู้อยู่กับสังคมในกรุงอยู่เหมือนกันครับ เพราะครึ่งชีวิต ทั้งเรียนทั้งทำงานอยู่ต่างจังหวัด ได้เรียนรู้สังคมที่ครบองค์ประกอบมากกว่าชีวิตในกรุงมากมาย

ชีวิตในเมืองใหญ่ได้สร้างคนพันธุ์ใหม่ขึ้นมา ซึ่งจะมีคุณลักษณะที่เด่นในแบบหนึ่งและด้อยในแบบหนึ่ง  เช่นเดียวกันคนในชนบทก็เด่นในแบบหนึ่งและด้อยในแบบหนึ่ง เรายอมรับกันและกัน เอาจุดเด่นมาให้กัน แบ่งปันกัน เรียนรู้กัน แล้วลดจุดด้อยกัน คนในเมืองก้าวหน้าในเรื่องสมัยใหม่ ความทันสมัย เทคโนโลยี แต่ห่างเหินคุณค่าที่ดีในสังคม เพราะองค์ประกอบชีวิตมันขาดหายไปนานแล้ว  คนชนบทยังมีวิถีที่ใกล้ชิดธรรมชาติ สิ่งเหนือธรรมชาติ ระบบเครือญาติ วัฒนธรรมประเพณีต่างๆที่เรียนกันในหนังสือ คนในชนบทมีให้ดูมีให้เข้าร่วม มีให้สัมผัส เพราะเป็นวิถีชีวิต ขณะที่สังคมเมืองพัฒนาไปในอีกรูปแบบหนึ่งแล้ว ตามสภาพการเติบโตของสังคมแบบเมือง  แน่นอนหลายตัวขาดหายไปแล้ว  บางสิ่งอาจจะยังแฝงอยู่บ้าง  ประเทศชาติจะอยู่อย่างไรหากเมืองกับชนบทไม่ไปด้วยกัน

เรียนรู้ในการหลีกเลี่ยงรถติดเวลาไปทำงาน หลีกเวลาต้องแย่งกันหาข้าวกินตอนกลางวัน หาเรื่องหางานที่ออกนอกสถานที่โดยเฉพาะงานตามต่างจังหวัดอยู่เป็นเนืองๆ  แสวงหาสิ่งที่ขาดไปในสังคมเมืองกรุง จริงๆก็พอหาได้นะครับ หากว่าเราเรียนรู้อยู่กับมัน

คนชนบทเรียนรู้วิธีไปเอาผักหวานป่า รู้จักสังเกตุ รู้แหล่งสมุนไพรว่าอยากเอาตะไคร้ต้นต้องไปดอยนั้น ตรงหุบนั้น คนเมืองก็เรียนรู้ว่าจากรามอินทรา จะไปสนามหลวงนั้นไปแบบไหนเร็ว ไปแบบไหนประหยัด จะหากางเกงกีฬาได้ที่ไหน จะหาซื้อหนังสือดีดีได้ที่ไหน หากเอาคนชนบทเข้ามาในเมือง เช่นพี่ อยู่บริษัทที่ซอยนวลจันทร์จะไปไหนแต่ละที ต้องดูแผนที่ ถามคนโน้นคนนี้จนเราเกรงใจเขาแทบแย่ กลัวเขารำคาญเอา  เช่นเดียวกันหากเอาพวกคนบริษัทเข้าป่าไปใช้ชีวอตดูซิสัก 2-3 วัน  บางทีอดตายแน่เลย

 แต่จิตใจก็ยังแสวงหาความเป็นธรรมชาติ ในสังคมที่ครบองค์อยู่ดีละครับ

เป็นความปรารถนาที่ไม่ต่างกัน  ขณะที่สังคมเมืองหลวงจะเดินทางก็มีรถไฟฟ้าใต้ดินที่ใช้เทคโนโลยีสูงมาก มาก ราคาค่าก่อสร้างเป็นแสนล้าน  แต่อีตาลุงใบบ้านดงหลวง ต้องเดินไปนา อย่างดีก็จักยาน มอเตอร์ไซด์ หรือ อีแต็ก..  แต่ทั้งหมดนี้อาจจะใช้ภาษีของประชาชนเหมือนกัน แต่การใช้จ่ายภาษีเพื่อประโยชน์ไม่กระจายตัวอย่างทั่วถึงกัน  แน่นอนมีเหตุผลมากมายที่สามารถเอามาอธิบายได้ว่าทำไมต้องสร้างรถไฟฟ้าที่กรุงเทพฯ และบอกว่าจะให้มาสร้างที่ดงหลวงหรือไง แล้วเอาคนกรุงเทพฯขี่จักรยาน มอเตอร์ไซด์ อีแต็กแทนหรือ คงไม่ใช่เช่นนั้น แน่..  แต่ในแง่การพัฒนาประเทศที่จะให้เอียงไปข้างใดข้างหนึ่งมากไปนั้น มันอันตราย..... ความแปลกแยกในสังคมหากขัดแย้งมากเกินไป อันตราย รัฐบาลในฐานะผู้ควบคุมทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศต้องรอบด้าน

หากจะใช้หลักการทางวิชาการมาพิจารณาก็อาจจะต้องวิเคราะห์ในแง่มุมนี้บ้างนะ

Social security

Social Risk Management Analysis

ขอบคุณน้องคนดอยที่เข้ามาแลกเปลี่ยน

สวัสดีครับ ( หนิง )

...... เราก็เคยได้ยินใช่ไหมคะ  ว่ามหาวิทยาลัยไปตั้งที่ไหน  เอาความเจริญไปที่นั่นด้วย  บางทีหนิงยังสงสัยเลยค่ะว่า  รวมถึง ที่มีหนุ่มสาว  กินดื่มกันอยู่หน้า  ร้านสะดวกซื้อที่อยู่ในชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัยแบบ 24 ชม. นี่ด้วยหรือป่าว 

คำกล่าวนั้นเป็นความจริงครับน้องหนิงผู้อวบอั๋น แต่น่ารัก..  เขาลืมกล่าวถึงด้านลบด้วย หรือตั้งใจจะไม่กล่าวถึง มันก็เหมือนระบบการโฆษณาต่างๆในปัจจุบันแหละ เหมือนกัน โหม๊ด... พูดแต่ด้านดี ด้านที่ไม่ดี ที่เป็นปัญหา ด้านที่อาจจะเกิดในสิ่งไม่ดีงดที่จะไม่พูดเสีย บางครั้งพี่จึงมองอีกมุมหนึ่งว่า งั้นสังคมธุรกิจก็ก้ำกึ่งต่อการหลอกผู้คนละซี 

พิจารณากรณีบุหรี่ซิ   ในทางการแพทย์เรารู้ดีว่าการสูบบุหรี่เป็นอันตรายแก่สุขภาพ  แต่ก่อนที่จะมีคนมาเคลื่อนไหว ก็โฆษณากันตามสื่อต่างๆ สร้างค่านิยมขึ้นมาจนเด็กหนุ่มมากมายต้องควักกระเป๋าซื้อมาสูบ แม้ตัวพี่เองก็เป็นหนึ่งในนั้น ต่อมามีการรณรงค์และเคลื่อนไหวให้มีการติดภัยของบุหรี่ที่ข้างซอง

ทำไมไม่ใช้หลักการนี้ในทุกๆสินค้าที่มีลักษณะอันตรายแบบนี้อย่างกว้างขวาง ทั่วถึง.....

เฮ้อ...   ชุมชนเขาอยู่ของเขากันดีดีมาก่อนใช่ไหมคะ   จริงอยู่พอเรามา  เขามีรายได้เพิ่มขึ้น  จากการขายที่  หรือมีหนี้จากการกู้ธนาคารสร้างอาพาร์ตเมนต์  หรือตึกให้เช่า  มีการค้าขายมากมาย

 เพื่อนพี่คนหนึ่งเป็นนักพัฒนา แต่บางทีก็เผลอไปเหมือนกัน..คือ....ไปคบกับลูกพ่อค้าใหญ่ที่มีเงินมากมาย นักธุรกิจนั้นเขาไม่อยู่นิ่ง คิดขยายกิจการและแตกแขนงไปเรื่อยๆ  วันหนึ่งเขาอยากกู้เงินธนาคารเพื่อมาสร้าง โมเต็ล  ย้ำ โมเต็ล เงินเขามีมาก แต่กู้ดีกว่าเขาว่างั้น  แต่เขียนโครงการเพื่อยื่นกู้ธนาคารไม่เป็น จึงขอร้องให้เพื่อนนักพัฒนาคนนี้ช่วยเขียนให้ และก็สำเร็จ ธนาคารปล่อยเงินกู้มาสร้าง โมเต็ลและยังอยู่ในเมืองขอนแก่นจนปัจจุบันนี้

สำหรับเพื่อนคนนี้ไม่ต้องพูดถึงดีกว่านะครับ แต่แหล่งเงินทุนเช่นธนาคารนั้นเขาไม่สนใจว่าจะเอาเงินไปสร้างอะไร มันดีต่อสังคมหรือไม่อย่างไร แต่เขาพิจารณาว่าจะคืนเงินได้ไหม ดอกเบี้ยเท่าไหร่....แค่นั้น ส่วนสิ่งก่อสร้างจะก่อให้เกิดอะไรต่ออะไรนั้นเป็นเรื่องของบ้านเมืองที่จะไปว่ากัน....  นี่ไงการพัฒนาแบบเสรีประชาธิปไตยมันมีช่องโหว่  หลักการดีแต่แล้วเป็นไงล่ะ การพัฒนาที่ไปทำลายวัฒนธรรมดีดีของสังคมให้พังทะลายไปมีมากมายทั้งทางตรงและทางอ้อม ตรงกันข้ามระบบสังคมนิยมแบบเวียตนาม แบบลาว รัฐมีสิทธิห้ามการก่อสร้างแบบนี้ การทำธุรกิจแบบนี้  พี่ไม่ได้ให้ยกเลิกระบบประชาธิปไตยและเอาสังคมนิยมมานะ แต่ทั้งคู่มีจุดดีจุดด้อย เราเรียนรู้แล้วปรับแก้ได้นี่ครับ ทำไมไม่ทำกันล่ะ...

 

แต่วัฒนธรรมเปลี่ยนไปไวมาก  จนหนิงไม่แน่ใจว่า  ชุมชน รับมือกับความเปลี่ยนไวแบบรวดเร็วนี้ได้แค่ไหน   เด็กรุ่นๆอยู่ด้วยกันแบบสามี-ภรรยา  แบบอยู่ได้ก็อยู่กันไป  ไม่มีรายได้  ไม่นานก็แยกทางกัน  บางคนไม่มีลูกไม่เท่าไหร่  แต่บางคู่มีลูก  ก็ต้องให้ปู่ย่าตายายเลี้ยง  หนิงเจอเด็กเล็กๆอายุยังไม่ถึงเกณฑ์เข้าโรงเรียนที่อยู่กับคนแก่มากขึ้น   อันนี้ไม่นับอัตราการยุติการตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อมนะคะพี่

มันเป็นอย่างที่น้องหนิงกล่าวจริงๆ  แต่มีมานานแล้วนะครับการที่เยาวชนที่กำลังเรียนหนังสือใช้ชีวิตคู่แบบนั้น  ตรงไปตรงมา สมัยพี่เรียน ก็มี แต่เป็น เพื่อนพี่เองกับสาวชาวบ้าน และก็กัดฟันเรียนจนจบและอยู่กันมาจนปัจจุบันนี้  แต่กรณีแบบนี้สมัยนั้นมีน้อยมากๆ  อาจเป็นเพราะสิ่งแวดล้อมต่างกัน  สิ่งอำนวยหรือองค์ประกอบการกระทำสมัยนี้มีโอกาสมากกว่า  และที่สำคัญจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไปของคนสมัยนี้กับสมัยนั้น  โอยเรื่องนี้หากเอามาคุยกันมันขยายเรื่องไปกว้างขวางมากมาย และเรื่องไม่น่าคิด หรือคิดไม่ถึงมีมากมายครับ  มันลำบากที่จะหยิบมากล่าวในที่สาธารณะเข่นนี้ 

เฮ้อ...เราเป็นคนแก่  คิดมากไปหรือป่าวนี้   อิอิ

เฮ่อ ...บ่นออกมาบ้างก็ดี...ไม่งั้นท้องขึ้นซิ..

อ้อ..หนิงเห็นด้วยนะคะ  ที่มีร้านสะดวกซื้อเปิด 24 ชม.  แถวๆท่ารถ  โรงพัก  หรือโรงพยาบาล   แต่หนิงไม่ค่อยเห็นด้วยกับร้านสะดวกซื้อ ที่เปิด  24 ชม.  ในชุมชนที่รายรอบสถานศึกษาที่มีเด็กวัยรุ่นเยอะๆ 

เพราะหนิงไม่เห็นว่า  มันสำคัญแค่ไหนที่เด็กๆวัยรุ่นต้องออกมาซื้อของในเวลาดึกๆหรืออยู่กันจนค่อนรุ่ง  ในเมื่อ  ตอนเช้าพวกเด็กๆก็ต้องมีเรียน   หอพักของมหาวิทยาลัยก็ปิด 22.00 หรือเปิดอีกทีสำหรับผู้ตกหล่นก็ 24.00

เพราะหนิงเห็นว่า  สินค้าที่ออกมาซื้อนั้น  ไม่ค่อยจำเป็นกับการดำรงชีวิตปกติเท่าไหร่ค่ะ  ใครสงสัยก็แอบลองไปสังเกตุการณ์ดูนะคะ ว่า  เด็กเขาไปซื้ออะไรกันตอนดึกๆ  ที่ร้านสะดวกซื้อเปิด 24 ชม.

พี่ก็เห็นประโยชน์ของร้านสะดวกซื้อครับ แต่ก็เห็นส่วนที่ส่งผลกระทบในทางไม่ดี  เช่น เปิดโอกาสให้ลัทธิบริโภคแบบวินาศสันตโรขยายตัว เพราะซื้อง่าย เมื่อไหร่ก็ได้เมื่อมีเงิน  ไม่มีแต่อยาก ก็ปล้นซิ  เจ้าของร้านก็บลอกว่า เป็นเรื่องของคุณที่จะซื้อ คุณต้องมีสติควบคุมเองซิ สิ่งที่ผมทำนี่มันถูกกฏหมายนะ...นั่น นี่แหละ ลัทธิเสรีหละ

การเติบโตของบ้านเมืองจึงไม่สมดุล สถาบันการศึกษาก็แค่ อัดวิชาการและรีดเอาคะแนน หากคุณไม่มีคะแนนก็ไม่สามารถเป็นบัณฑิต แต่บัณฑืตที่จบออกมาในหัวก็มีแต่การมุ่งเอาคะแนนกัน.....

เดินผ่านคุณค่าวัฒนธรรมประเพณีดีดีไปหมด แล้วจะมาสร้างบัณฑิตที่มีคุณธรรมด้วยคะแนนที่ตั้งเกณฑ์ไว้ ...ห้วย......

สวัสดีครับ

          กว่าผู้คนทั่วไปจะรู้ตัวเราก็ถูกกลืนกินไปกว่าครึ่งตัวแล้วครับ  คลืบคลานออกมาจากปากอภิมหายักษ์เศรษฐกิจเสรีนิยม ที่กล่อมผู้คนด้วยบริโภคนิยม  สร้างสรรค์สินค้าสนองกิเลศมนุษย์ไม่สิ้นสุด

          แม้แต่ผู้คนที่คิดรอบคอบอย่างที่สุดก็บางครั้งเข้าไปอยู่ในวนแห่งอุบายการขายของเขาเหมือนกัน ก็ผมเองล่ะครับ

          ผมก็ถูกกลืนไปเยอะเหมือนกัน  พึ่งรู้ตัวว่าเรากำลังตกเป็นเหยื่อ เมื่อไม่เกินสิบปี

          สำหรับในช่วงชีวิตวัยรุ่นนั้น  หากไม่ได้รับความลำบากแบบครอบครัวเกษตรในยุคนั้น ผมคงมีฐานความคิดไม่แตกต่างจากผู้คนที่นิยมบริโภค

          ที่น่าห่วงตอนนี้คือ  ภาพที่โทรทัศน์ ละคร และโฆษณา สร้างออกมา   การส่งเสริมการขายพาหนะประเภทต่าง ๆ การส่งเสริมการขายเครื่องมือสื่อสารรุ่นใหม่  โครงข่ายการสื่อสารที่รวบเอาโลกเป็นตลาดเดียว   กำลังทำให้ชีวิตผู้คนสังคมเกษตรดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  หลายคนเร่งการผลิต  เร่งการลงทุน เพื่อดึงเงินเข้ามาตอบสนองสินค้าที่ตนเองต้องการ

           เมื่อเราถูกดึงเข้าไปเป็นหน่วยหนึ่งของระบบการขายและซื้อ  เราก็ไม่ต่างจากสินค้าพวกหนึ่งของนายทุนใหญ่  ( จะเข้าเรื่องการเมืองอีกนะครับเนี่ย )

           การต่อสู้หนึ่งที่จะเชื่อมโยงภาวะที่สมดุลของอำนาจและความเชื่อสูงสุดที่จะนำพาระบบเศรษฐกิจที่จะเป็นทางรอดของโลก  ผมขอฟันธงว่า ระบบสังคมนิยมต้องกลับมา  แต่ต้องเป็นไปอย่างสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่รุดหน้ามามากมายเช่นปัจจุบันนี้

           ผมคิดว่าวันข้างหน้ากำลังจะมีการปรับตัวอย่างยิ่งใหญ่  หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติสังคมโลกด้วยซ้ำ

          ภาคสหภาพแรงงาน   หรือพรรคกรรมาชน  หรือชนชั้นกรรมาชีพจะต้องเกิดขึ้น

          และรอวันการแข็งแกร่งของภาคเกษตรชีวภาพ

          ..................................พูดไปเยอะชักเพ้อครับ

          ตอนนี้ที่มัญจากำลังต้านการมาเยือนของเทสโกโลตัส    แต่ผมคาดการณ์ไว้เลยว่าไม่มีแรงพอจะสู้กับอำนาจของเงินตราและการค้าเสรีถูกกฎหมาย

          ที่ใดก็ตามเรากำลังสู้กับมหาอำนาจ  ประวัติศาสตร์จารึกเพียงชัยชนะแบบกองโจรที่เวียดนามเท่านั้นที่สะเทือนมหาอำนาจโลกได้

           ดังนั้นหากเราสู้อย่างไม่มีระบบ ก็ไม่มีทาง

           กรณีโลตัสที่กำลังผุดขึ้นนี้ เราถูกกฎหมาย เราต้องสู้ด้วยกฎหมายเช่นกัน  ไม่รู้กฎหมายค้าปลีกของเราไปถึงไหน 

          อีกด้านชุมชนท้องถิ่นต้องสู้ด้วยเรื่องการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมท้องถิ่นเช่นการจัดพื้นที่ค้าขายในแบบชุมชนดั้งเดิม   การใช้กลไกราคาหรือการบริการ เข้ามาสู้กับค้าปลีกรายใหญ่ เป็นต้น

            บ่นมาหลายเรื่อง  น่าจะเกี่ยวกับ  711 บ้างนะครับ  ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับน้อง . สุมิตรชัย คำเขาแดง


          กว่าผู้คนทั่วไปจะรู้ตัวเราก็ถูกกลืนกินไปกว่าครึ่งตัวแล้วครับ  คลืบคลานออกมาจากปากอภิมหายักษ์เศรษฐกิจเสรีนิยม ที่กล่อมผู้คนด้วยบริโภคนิยม  สร้างสรรค์สินค้าสนองกิเลศมนุษย์ไม่สิ้นสุด

          แม้แต่ผู้คนที่คิดรอบคอบอย่างที่สุดก็บางครั้งเข้าไปอยู่ในวนแห่งอุบายการขายของเขาเหมือนกัน ก็ผมเองล่ะครับ

          ผมก็ถูกกลืนไปเยอะเหมือนกัน  พึ่งรู้ตัวว่าเรากำลังตกเป็นเหยื่อ เมื่อไม่เกินสิบปี

          สำหรับในช่วงชีวิตวัยรุ่นนั้น  หากไม่ได้รับความลำบากแบบครอบครัวเกษตรในยุคนั้น ผมคงมีฐานความคิดไม่แตกต่างจากผู้คนที่นิยมบริโภค

 

ทัศนะของพี่คือ ทุกคนตกอยู่ในกระแสการพัฒนาสายหลัก(กระแสโลกาภิวัฒน์ หรือ ลัทธิบริโภคนิยม) ซึ่งแม้แต่เราเองครับ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในศูนย์กลางกระแส คือในตัวเมือง และที่น่าห่วงคือ เด็กบ้านนอกที่เข้ามาในเมือง ต้องปรับตัวสุดๆ หากปรับไปทางไหลรื่นตามกระแสก็ลำบากครับ  ใครที่มีสติ หรืออยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ ก็ไม่หลวมตัวมากครับ

มีทฤษฎีทางสังคมที่เรียกว่า Pheriphery theory หมายถึง การขยายตัวของความเจริญจะขยายไปตามรัศมีจากศูนย์กลาง คือในตัวเมืองย่อมเข้มข้น และจางลงตามระยะทาง ในความเป็นจริงก็คือ สังคมเปิด คือสังคมเมือง สังคมกึ่งปิดกึ่งเปิด คือสังคมชนบทที่ห่างออกไป  และสังคมที่ปิด คือสังคมชนบทห่างไกล และไม่มีการเชื่อมโยงกับสังคมเมือง  ซึ่งปัจจุบันน่าจะไม่มีสังคมแบบนี้แล้ว เพราะส่วนใหญ่เป็นสังคมเปิดหมดแล้ว เพราะมีการเชื่อมโยงกับตัวเมืองด้วยถนน และสิ่งที่ไปกับถนน มีไฟฟ้า และสิ่งที่ไปกับไฟฟ้า คลื่นต่างๆ อยู่ป่าอยู่ดอยก็สามารถรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในเมือง และทั่วโลกก็ว่าได้ เช่น ดงหลวง สามารถโทรศัพท์กับลูกสาวที่อยู่ญี่ปุ่นได้เลย ??? ทั้งๆที่บ้านข้าวไม่พอกิน ????

นี่คือการขยายตัวของระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดี และน่าเป็นห่วงเพราะมีสิ่งไม่ดีตามไปด้วย หากถามนักธุรกิจท่านก็ว่า เป็นเรื่องที่คนต้องตัดสินใจเอง ผมเพียงเสนอสินค้าที่มีคุณภาพเท่านั้น การตัดสินใจเป็นเรื่องของประชาชน ซึ่งถูก แต่ไม่ถูก ถูกเพราะเขาทำในสิ่งที่ถูกกฏหมาย ไม่มีกฏหมายห้ามแต่อย่างใด ที่ไม่ถูกเพราะ สินค้าที่ไม่มีคุณภาพ หรือเกินความจำเป็นในการหามาใช้ของชนบท ก็ไปกระตุ้นต่อมอยากจนทนไม่ไหว จำเป็นต้องควักกระเป๋าหามา  เมื่อไม่มีก็กู้ ซึ่งผลตามมาอีกมากมาย...น้องก็ทราบดี

          ที่น่าห่วงตอนนี้คือ  ภาพที่โทรทัศน์ ละคร และโฆษณา สร้างออกมา   การส่งเสริมการขายพาหนะประเภทต่าง ๆ การส่งเสริมการขายเครื่องมือสื่อสารรุ่นใหม่  โครงข่ายการสื่อสารที่รวบเอาโลกเป็นตลาดเดียว   กำลังทำให้ชีวิตผู้คนสังคมเกษตรดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  หลายคนเร่งการผลิต  เร่งการลงทุน เพื่อดึงเงินเข้ามาตอบสนองสินค้าที่ตนเองต้องการ

           เมื่อเราถูกดึงเข้าไปเป็นหน่วยหนึ่งของระบบการขายและซื้อ  เราก็ไม่ต่างจากสินค้าพวกหนึ่งของนายทุนใหญ่  ( จะเข้าเรื่องการเมืองอีกนะครับเนี่ย )

พี่เคยบ่นว่า นักธุรกิจนั้นมีเป้าหมายเพื่อทำธุรกิจที่หากำไรสูงสุดจึงทำทุกวิถีทางที่จะขายสินค้าให้ได้ จึงใช้วิทยายุทธทุกอย่าง และวงการวิชาการก็ตอบสนองการพัฒนาด้านนี้มากที่สุด น้องพิจารณาสิว่าในแผงหนังสือนั้นมีหนังสือที่เกี่ยวกับธุรกิจมากมาย  ออกมาใหม่ๆทุกสัปดาห์  และที่น่าสนใจนักวิชาการทางสื่อสารมวลชน ทางนิเทศก็ตอบสนองธุรกิจได้สุดๆ คิดหาระบบการโฆษณาที่กระตุกต่อมอยากคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ  พี่เลยตั้งคำถามว่าทำไมนักวิชาการไม่หันมาใช้ความรู้ท่านมาสร้างเกราะป้องกัน หรือภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชนบ้าง ทำไม ทำไม ?

           การต่อสู้หนึ่งที่จะเชื่อมโยงภาวะที่สมดุลของอำนาจและความเชื่อสูงสุดที่จะนำพาระบบเศรษฐกิจที่จะเป็นทางรอดของโลก  ผมขอฟันธงว่า ระบบสังคมนิยมต้องกลับมา  แต่ต้องเป็นไปอย่างสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่รุดหน้ามามากมายเช่นปัจจุบันนี้

งั้นเชียวหรือครับ...พี่คิดว่าทุกระบบมีข้อดี ข้อเสีย ระบบสังคมนิยมนั้นหากกลุ่มปกครองเป็นคนดีมีคุณธรรม รู้เท่าทัน และไม่หลงกิเลส หลงอำนาจ แต่ตั้งใจทำเพื่อประชาชนเพื่อประเทศชาติจริงๆแล้ว ก็เป็นระบบที่น่าสนใจ หรือเรามักคุยกันว่า เป็นระบบเผด็จการเพื่อประชาชน  มิใช่เผด็จการเพื่อตนเอง  มนทางตรงข้ามระบบประชาธิปไตนเป็นระบบที่บกพร่องน้อยที่สุด  แต่บ้านเราก็พิสูจนแล้วว่า ระบบทุนนิยมไปได้ดีกับประชาธิปไตยแบบไทยไทย  คนมีเงินก็วิ่งเข้าหาอำนาจ  ดูได้ที่ระบบนักการเมืองท้องถิ่น คนหนุ่มสาวลูกเฒ่าแก่ก็สมัครเป็น นายก อบจ.ก่อน แล้วขยับขึ้นเป็น สส.  แล้วก็ใช้อำนาจมาปกป้องธุรกิจตัวเอง และใช้อำนาจนั้นเปิดทางให้กับธุรกิจตัวเองขยายออกไป เมืองไหนเมืองนั้น ดูขอนแก่นซิเต็มไปหมด นักธุรกิจเข้ามาครองเมืองหมดแล้ว หากทำดีก็ชมกัน แต่ไม่ดีก็ต้องวิภาคกันบ้าง  นี่คือระบบการปกครองบ้านเรา เงินกับอำนาจคู่กัน ต่างเกื้อหนุนกัน 

           ผมคิดว่าวันข้างหน้ากำลังจะมีการปรับตัวอย่างยิ่งใหญ่  หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติสังคมโลกด้วยซ้ำ

          ภาคสหภาพแรงงาน   หรือพรรคกรรมาชน  หรือชนชั้นกรรมาชีพจะต้องเกิดขึ้น

          และรอวันการแข็งแกร่งของภาคเกษตรชีวภาพ

          ..................................พูดไปเยอะชักเพ้อครับ

          ตอนนี้ที่มัญจากำลังต้านการมาเยือนของเทสโกโลตัส    แต่ผมคาดการณ์ไว้เลยว่าไม่มีแรงพอจะสู้กับอำนาจของเงินตราและการค้าเสรีถูกกฎหมาย

          ที่ใดก็ตามเรากำลังสู้กับมหาอำนาจ  ประวัติศาสตร์จารึกเพียงชัยชนะแบบกองโจรที่เวียดนามเท่านั้นที่สะเทือนมหาอำนาจโลกได้

           ดังนั้นหากเราสู้อย่างไม่มีระบบ ก็ไม่มีทาง

           กรณีโลตัสที่กำลังผุดขึ้นนี้ เราถูกกฎหมาย เราต้องสู้ด้วยกฎหมายเช่นกัน  ไม่รู้กฎหมายค้าปลีกของเราไปถึงไหน 

กรณีระบบซุปเปอร์สโตร์นั้นเป็นระบบ Multi-national company ที่นักวิชาการทำนายไว้นานแล้ว ประเทศโลกที่หนึ่งใช้ระเบียบสังคมโลกเข้ามาบีบเราให้ยอมรับระบบการค้าเสรี  มันบ้....จริงๆ  น้องคิดดู เอาเด็กชนบทไปแข่งการสอบภาษาอังกฤษกับเด็กในเมืองน่ะ เด็กชนบทจะไปสู้ได้อย่างไร  การเมืองโลกก็ดูเหมือนประเทศกำลังพัฒนาพยายามสู้เรื่องนี้แต่สู้ไม่ไหว  หรือนักวิชาการเอาเกณฑ์การพัฒนาองค์กรแบบในเมืองไปวัดการพัฒนาองค์กรในหมู่บ้านชนบท องค์กรในชนบทก็ไม่ผ่านเกณฑ์ซักที...นักวิชาการก็เอาหลักการ เอาทฤษฎีเข้ามาบีบ ระดับการพัฒนามันต่างกัน ระดับการมีความรู้เท่าทันมันต่างกันจะเอาเกณฑ์เดียวกันมาจับนั้นมันก็เสียเปรีบหมดซิครับ   

 

          อีกด้านชุมชนท้องถิ่นต้องสู้ด้วยเรื่องการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมท้องถิ่นเช่นการจัดพื้นที่ค้าขายในแบบชุมชนดั้งเดิม   การใช้กลไกราคาหรือการบริการ เข้ามาสู้กับค้าปลีกรายใหญ่ เป็นต้น

            บ่นมาหลายเรื่อง  น่าจะเกี่ยวกับ  711 บ้างนะครับ  ขอบคุณมากครับ

 

พี่คิดว่าแนวทางของในหลวงท่านนั้นสมบูรณ์แบบมาก  ความจริงเราทำงานพัฒนาชนบทในหลักการนี้มานานแล้ว สมัยก่อนเราเรียกกันว่า "การพัฒนาเพื่อยืนบนขาตัวเองให้ได้"  "การพัฒนาเพื่อการพึ่งตนเอง" "การพัฒนาสมบูรณ์แบบ" หลักการก็ใกล้เคียงกัน แต่พระองค์ท่านพัฒนามาให้เกิดความสมบูรณ์มากขึ้น รอบด้านมากขึ้น เหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้น

เราจะอยู่ได้ต้องรู้เท่าทัน โดยไม่จำเป็นต้องไปต่อต้านด้วยซ้ำไปหากเราเข้าใจและช่วยกันแสดงพลังสังคมทางอุดมการณ์เพื่อท้องถิ่น เพื่อคนไทย  ไม่ไปติดความสะดวกสบาย ความทันสมัย ฯลฯ เราสู้ได้ แต่ยาก  ใครจะไปผลิตยา"รู้เท่าทัน" เอาให้คนกินเข้าไปแล้วต่อมรู้เท่าทันก็หลั่งสารอุดมการณ์ออกมา  มันไม่มี ก็ทำกันไปตามบทบาทที่เราจะทำได้ และหากจะให้เจ๋งต้องมีการรวมตัวกันสร้างคนขึ้นมาเพื่อความเข้าใจและสำนึก  ยากก็ควรทำ..

ขอบคุณครับน้องสุมิตรชัย ที่เข้ามาแลกเปลี่ยนกันแบบนี้ ได้มุมมองหลากหลายมากขึ้นดีครับ 

เห็นด้วยค่ะ ที่น่าเป็นห่วงมากคือ

เยาวชนที่จะเติบโตเป็นอนาคตและกำลังของชาติ

หากค่านิยมของสังคมยังเป็นเช่นทุกวันนี้

ยังนึกไม่ออกเลยว่าอนาคตประเทศจะเป็นยังไง 

หลังเลิกงาน ผมมักจะไปแวะห้างฯ เพราะมีที่กิน มีร้านอาหารเยอะแยะ ถูกๆ ก็มี แพงๆ ก็มี แถมมีร้านหนังสือด้วย จะนัดเจอเพื่อนฝูง แฟน ก็สะดวก

แต่ก็ค่อนข้างแปลกใจ ที่พบเห็นเด็กนักเรียน หลังเลิกเรียน พ่อแม่พามากินข้าว นั่งทำการบ้าน หลายราย คงต้องการความสะดวกเหมือนกัน

การใช้ชีวิตในปัจจุบันคงจะเปลี่ยนไปจริงๆ และธุรกิจก็ตอบสนองได้ตรงใจ ห้างและร้าน 711 จึงเติบโตรวดเร็วอย่างนี้

ถ้าเลือกได้ ผมมักเข้าร้านอื่น ที่ไม่ใช่ 711 ถือว่ากระจายกันไป ถ้าเลือกไม่ได้ก็สะดวกดี มีทุกที่  บางที มีร้านสะดวก ก็ชวนจับจ่าย ทั้งๆ ที่ไม่อยากจะจ่าย แต่บางทีก็ถือว่าสะดวก ได้ซื้อของจำเป็นจริงๆ

จะมีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไรก็ตาม หวังว่าในอนาคตคงจะปรับเข้าสู่ความสมดุลจนได้ครับ

สวัสดีครับ P 14. อิน

มาแล้วน้องสาวของเรา ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ 15. ธ.วั ช ชั ย 

  • จริงๆผมก็ชอบใช้บริการในส่วนที่จำเป็นจริงๆ และผมก็เห็นด้วยในการที่จะมีร้านแบบนี้ โดยเฉพาะสังคมเมือง  แต่น่าจะมี limit กันบ้างไหม ควบคุมกันบ้างไหม หรือให้อิสระเสรีกันต่อไปอย่างนี้
  • เจ้าของเป็นทุนใหญ่ที่สามารถทำอะไรก็ได้ที่เกิดกำไร  แนวคิดแบบนี้จะมีส่วนทำให้กระทบต่อความเหมาะสมต่อสังคม
  • ผมก็หวังว่าอนาคตจะปรับเข้าสู่ความเหมาะสมครับ

จะมีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไรก็ตาม หวังว่าในอนาคตคงจะปรับเข้าสู่ความสมดุลจนได้ครับ

  • จุดแข็งต่อลูกค้าคือ สะดวกจริงๆ เมื่อไหร่ก็ได้
  • จุดอ่อนคือ เป็นโอกาสให้มีการบริโภคเกินความเหมาะสมไป จะปล่อยให้ผู้บริโภคมีสติเองนั้น  เป็นการคิดแบบรู้ว่าเป็นไปไม่ได้

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท