หมอบ้านนอกไปนอก(39): ตรงเส้นขอบฟ้า


บรรยากาศเช่นนี้ สร้างความรู้สึกคุ้นเคยยิ่งนัก คิดถึงพ่อ พ่อให้โอกาสผมมากมายในชีวิต โดยเฉพาะให้ผมได้เรียนหนังสือพ่อยอมเหนื่อยทำงานหนักเพื่อหาเงินส่งผมให้เรียนหนังสือ พ่อเองไม่มีโอกาสในชีวิตมากนัก พ่อสอนให้ผมรู้ว่าต้องให้โอกาสที่ดีแก่ลูกเช่นกัน สัปดาห์นี้ผมคิดถึงพ่อและคิดถึงลูกไปพร้อมๆกันกับการมาถึงของวันพ่อแห่งชาติในปีนี้

                บ่ายวันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม ขณะที่ผมนั่งรถบัสจากปารีสกลับมาที่เบลเยียม บนถนนหกเลน ที่มีแผงรั้วกั้นแนวถนนไม่ให้ฝูงสัตว์ใหญ่น้อยได้มีโอกาสเล็ดลอดเข้ามารับอันตรายจากรถราที่วิ่งไปมาบนถนน ผมนั่งชมทิวทัศน์สองข้างทางมาตลอด ถนนตัดผ่านพื้นที่ชนบทผืนแผ่นดินที่ราบสลับเนินเขาที่เกษตรกรกำลังเตรียมดินด้วยการไถพรวนเพื่อทำการเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร สายฝนโปรยปรายลงมาเบาๆช่วยประพรมความชุ่มชื้นและความชุ่มฉ่ำให้กับผืนแผ่นดิน หากได้ออกไปยืนอยู่นอกรถน่าจะได้สัมผัสกลิ่นดินยามต้องละอองฝนพรำ คงหอมหวนชวนให้ชุ่มฉ่ำใจยิ่งนัก สองข้างถนนต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นเรียงรายกันไป ต่างเปลือยกายทิ้งใบเหลือแต่ต้นและกิ่งก้าน รับลมหนาวที่กำลังเข้ามาเยือน ใต้โคนต้นมีผืนหญ้าเขียวชอุ่มสลับน้ำตาลเป็นหย่อมๆ ดุจดังผืนพรมอ่อนนุ่มที่คอยรองรับใบไม้ที่ร่วงหล่นไม่ให้ตกกระทบกระแทกกับผืนดิน ธรรมชาติแห่งชนบทช่างงดงามนัก

                    เหม่อมองไปไกลสุดสายตา ดังตกอยู่ในภวังค์ ให้หวนคิดถึงชีวิตเมื่อเยาว์วัยที่ได้อยู่ในไร่กับพ่อแม่ที่บ้านโป่งกว้าว ศรีสัชนาลัย บรรยากาศเช่นนี้ สร้างความรู้สึกคุ้นเคยยิ่งนัก คิดถึงพ่อ พ่อให้โอกาสผมมากมายในชีวิต โดยเฉพาะให้ผมได้เรียนหนังสือพ่อยอมเหนื่อยทำงานหนักเพื่อหาเงินส่งผมให้เรียนหนังสือ พ่อเองไม่มีโอกาสในชีวิตมากนัก พ่อชอบร้องเพลง พ่อร้องเพลงเก่ง อยากเป็นนักร้อง แต่ก็ไม่ได้เป็น ต้องมาเป็นชาวไร่ ทำงานกลางแดด กลางฝน อุทิศหยาดเหงื่อแรงกายเพื่อให้ลูกๆได้มีโอกาสในชีวิตที่ดี พ่อสอนให้ผมรู้ว่าต้องให้โอกาสที่ดีแก่ลูกเช่นกัน

                     สมัยเป็นเด็ก อยู่ที่ห้างไร่ ที่รายล้อมไปด้วยแปลงเพาะปลูก พืชผลมากมาย ช่วงเย็นๆ ตะวันเริ่มลับขอบฟ้า ผมจะออกไปเดินเล่นที่ลานดินหน้าห้างกับพ่อ ผมชอบชวนพ่อมองไปยังขอบฟ้าไกล ผมมักจะถามพ่อว่า ที่ไกลลิบขอบฟ้านั้นคืออะไร พ่อบอกว่าเป็นประเทศนอก ผมถามพ่อว่าเป็นอย่างไร พ่อตอบว่าพ่อก็ไม่รู้เพราะไม่เคยไปเหมือนกัน ต้องขึ้นเรือบินไป แพงมาก พ่อไม่มีตังค์ไปหรอก ผมถามพ่อว่าถ้าผมอยากไปผมจะไปได้ไหม พ่อบอกว่าขึ้นอยู่กับลูก ถ้าลูกมีความพยายาม วันหนึ่งลูกก็จะไปถึงได้ ตอนนั้นผมได้แต่นึกอยู่ในใจว่าเมืองตรงเส้นขอบฟ้าไกลนั้นเป็นเช่นไรหนอ เมืองตรงเส้นขอบฟ้าไกลที่ผมครุ่นคิดในอดีตนั้น อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของผืนแผ่นดินยุโรป ที่ผมกำลังมาเรียนอยู่นี่ก็ได้

                   ผืนแผ่นดินที่เป็นประเทศเบลเยียมในปัจจุบันนี้ มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างยาวนาน มีเหตุการณ์ในอดีตที่น่าสนใจอยู่มาก เส้นแบ่งเขตระหว่างวัฒนธรรมโรมันและเยอรมันในอดีตได้ลากผ่านกึ่งกลางประเทศนี้ ก่อนปี ค.ศ. 1830 เบลเยี่ยมเป็นส่วนหนึ่งของเนเธอร์แลนด์ ตั้งแต่ 1980 เป็นต้นมาจึงแยกออกเป็นอิสระเป็นราชอาณาจักรเบลเยียมที่มีความแตกต่างกันทางด้านภาษา คนทางเหนือพูดภาษาเฟลมมิชหรือดัชท์ คนทางใต้พูดภาษาฝรั่งเศส ช่วง 40 ปีก่อน คนที่พูดภาษาฝรั่งเศสทางตอนใต้โดดเด่นมาก ทำให้คนที่พูดภาษาดัชท์ทางตอนเหนืออึดอัด ในโรงเรียนของรัฐบาลเดิมใช้เฉพาะฝรั่งเศสเป็นภาษาหลัก แต่ต่อมาโรงเรียนทุกแห่งในเบลเยียมต้องสอนสี่ภาษาคือดัชท์ ฝรั่งเศส อังกฤษและเยอรมัน และเกิดการเปลี่ยนแปลงในเบลเยียมจากอุปสรรคความแตกต่างทางด้านภาษาระหว่างคนทางตอนเหนือที่ร่ำรวยกับคนทางตอนใต้ที่ยากจนทำให้ประเทศเล็กๆแห่งนี้มีความซับซ้อนอย่างมากในระบบการเมืองการปกครองของประเทศที่ยากแก่การเข้าใจของคนภายนอกที่เมืองหลวงบรัสเซลส์เป็นเสมือนใจกลางของยุโรป

                     เบลเยียมเป็นราชอาณาจักรมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขคือพระเจ้าอัลเบิร์ตที่สอง (King Albert II) และพระราชินีเป๋าหละ (Queen Paola) เป็นประเทศเล็กๆในกลุ่มเบเนลักซ์ (Benelux : เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบอร์ก) มีพื้นที่ติดต่อกับฮอลแลนด์ เยอรมัน ลักเซมเบิร์ก ฝรั่งเศส และพื้นที่ทางทะเลติดกับอังกฤษ อยู่ในสหภาพยุโรปและประเทศในกลุ่มแชงเก้น (Schengen Visa) ที่ประกอบด้วย ออสเตรีย เบลเยียม เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ไอส์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอรเวย์ โปรตุเกส กรีซ สเปนและสวีเดน เดิมเบลเยียมมีรัฐบาลกลาง (Federal government) บริหารงานในระดับประเทศแต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว เนื่องมาจากปัจจัยขวางกั้นทางภาษาของเขตฟลานเดอร์ทางตอนเหนือและวัลลูนทางตอนใต้ของประเทศ ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการภายในประเทศมาอย่างช้าๆตั้งแต่ปี 1970 จนมาเป็นแบบปัจจุบันในปี 2001

                  เบลเยียมในปัจจุบันแบ่งออกเป็น  3 เขต (Region) คือ เขตเฟรมมิชหรือฟลานเดอร์ (The Flemish region) เขตวัลลูน (The Walloon Region) และเขตเมืองหลวงบรัสเซลส์ (The Brussels-Capital region) ในแต่ละเขตมีอำนาจอิสระในการปกครองตนเอง (Territorialหรือ hard issues) ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน สิ่งแวดล้อมและการจ้างงาน

                  เขตเฟลมมิช ประกอบด้วยพื้นที่ 5 จังหวัดคือจังหวัดฟลานเดอร์ตะวันตก (West Flander) เมืองหลวง (capital region) คือออสเต็นด์  มีเมืองบรูจจ์ (Brugges) จังหวัดแอนท์เวิป (Antwerp) เมืองหลวงคือแอนท์เวิป จังหวัดลิมเบอร์ก (Limburg) มีแฮสเซลท์เป็นเมืองหลวง ติดกับฮอลแลนด์ จังหวัดฟลานเดอร์ตะวันออก (East Flander) เมืองหลวงคือเกนต์ Ghentและจังหวัดเฟลมมิช บราบังท์ (Flemish Brabant) มีเมืองหลวงคือลีเว่น (Leavain)

                 เขตวัลลูน ประกอบด้วยพื้นที่ 5 จังหวัดคือจังหวัดวัลลูน บราบังท์ (Walloon Brabant) จังหวัดลีก์ (Liege) ศูนย์กลางอยู่ที่เมืองลีก์ ติดกับเยอรมัน จังหวัดไฮเนาท์ (Hainaut) เมืองMons , Tournai, Charleroi ติดฝรั่งเศส จังหวัดลักเซมเบิร์ก (Luxembourg) Arlon ติดกับลักเซมเบิร์ก จังหวัดนามูร์ (Namur) เมืองนามูร์ ติดฝรั่งเศส

                  เบลเยียม แบ่งออกเป็น 3 ชุมชนคือชุมชนเฟลมมิช (The Flemish Community) ประกอบด้วยประชาชนที่อยู่ในเขตเฟลมมิชและกลุ่มที่พูดภาษาดัชท์ในเมืองบรัสเซลส์ ชุมชนฝรั่งเศส (The French Community) ประกอบด้วยประชาชนที่อยู่ในเขตวัลลูนและกลุ่มที่พูดภาษฝรั่งเศสในเมืองบรัสเซลส์และชุมชนเยอรมัน (The German Community) ที่มีส่วนน้อยที่เป็นกลุ่มที่พูดภาษาเยอรมันในพื้นที่ที่ติดกับประเทศเยอรมัน โดยชุมชนจะดูแลผู้ที่ใช้สองภาษาในเขตเมืองหลวงบรัสเซลส์ด้วย ชุมชนมีอำนาจในเรื่องบุคคล (personal หรือ soft issues) ระบบริการสาธารณะขึ้นกับการใช้ภาษาสูงมากทั้งเรื่องการศึกษา สวัสดิการ สาธารณสุขและวัฒนธรรม

                   เขตเฟลมมิชและชุมชนเฟลมมิช มีการรวมการบริหารจัดการเป็นหนึ่งเดียวกัน มีรัฐสภาและรัฐบาลเดียวกันระหว่างเขตกับชุมชน โดยเลือกบรัสเซลส์เป็นเมืองหลวงของเขตด้วย ในขณะที่เขตวัลลูนกับชุมชนฝรั่งเศสยังคงมีสองสภาและสองรัฐบาล โดยเลือกเมืองนาร์มูเป็นเมืองหลวง เพื่อที่จะคงไว้ซึ่งความเป็นอิสระอย่างสูงไว้ ทำให้โมเดลทางการเมืองของเบลเยียมในสองส่วนใหญ่ๆนี้เป็นแบบไม่สมมาตรกัน (Asymmetrical) ความแตกต่างทางภาษาทำให้คนสองเขตใหญ่เหนือใต้ ไม่ยอมลงกัน คนเบลเยียมที่พูดฝรั่งเศสมีความโดดเด่นกว่าคนที่พูดดัชท์เพราะมีจำนวนมากกว่า แต่ก็ต้องประนีประนอมกันให้เมืองหลวงบรัสเซลส์เป็นเมืองสองภาษาและกลุ่มที่พูดดัชท์ก็พยายามคงความเป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรมของตนเองไว้จึงต้องเลือกบรัสเซลส์เป็นเมืองหลวงของเขตและชุมชนด้วย เพื่อจะได้เชื่อมความสัมพันธ์กันได้ง่ายในกลุ่มผู้ที่ใช้ภาษาดัชท์ในบรัสเซลส์กับในเขตเฟลมมิช พื้นที่ที่ผมมาเรียนอยู่ในเขตเฟลมมิช ที่คนส่วนใหญ่ใช้ภาษาดัชท์ และจะพึงพอใจมากถ้าชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้ภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาฝรั่งเศส ผมพอจะรู้เรื่องของเฟลมมิชมากกว่าวัลลูน

                    รัฐสภาของเฟลมมิชมีสมาชิกสภาจำนวน 124 คน เลือกตั้งโดยตรงโดยชาวเฟลมมิชทุก 5 ปี โดยมีตัวแทนมาจากกลุ่มคนที่ใช้ภาษาเฟลมมิชในเขตพื้นที่สองภาษาของบรัสเซลส์จำนวน 6 คน ที่ตั้งรัฐสภาอยู่ที่บรัสเซลส์ กฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาของเฟลมมิชเรียกว่า decrees รัฐสภาของเฟลมมิชไม่สามารถหมดอายุลงก่อนห้าปีได้ รัฐบาลของเฟลมมิชมีรัฐมนตรีไม่เกิน 11 คน โดยกำหนดไว้ว่า 1 คนต้องมาจากบรัสเซลส์ พรรคที่ได้เสียงข้างมากได้เป็นประธานรัฐมนตรี (Minister-president) ส่วนพรรคที่ได้รองลงมาเป็นรองประธาน รัฐมนตรีสาบานเข้ารับตำแหน่งต่อหน้ารัฐสภา รัฐมนตรีแต่ลพคนจะมีขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ชัดเจน มีทีมที่ปรึกษาทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ประจำรัฐมนตรี

                   เดิมไม่ได้แยกเป็นกระทรวงเรียกว่าเป็น one general ministry และปรับเปลี่ยนใหม่ให้มีกระทรวงทั้งหมด 13 กระทรวง มีข้าราชการกว่า 11,000 คน แต่ละกระทรวงจะมีขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจน ประกอบด้วยServices for general government policy, Administrative affair, Finance and Budget, Foreign policy & foreign trade & international cooperation and Tourism, Economy & science and innovation, Education and training, Welfare & public health and family, Culture & youth & sport and media, Work and social economy, Agriculture and fisheries, Environment & nature and Energy, Mobility and public works และ Town & country planning & housing policy and Immovable Heritage มีพรรคการเมืองที่มีบทบาทโดดเด่นอยู่ 6 พรรค

                 ฟลานเดอร์มี 308 เทศบาลและแบ่งออกเป็น 5 จังหวัด แต่ละเทศบาลและแต่ละจังหวัดมีการเลือกตั้งสภาเทศบาลและสภาจังหวัดโดยตรง รวมทั้งองค์กรบริหารด้วย มีการเลือกตั้งทุก 6 ปี องค์กรบริหารของเทศบาลคือคณะเทศมนตรีที่มีนายกเทศมนตรี (Mayor) เป็นหัวหน้าที่เลือกโดยสภาเทศบาลและแต่งตั้งโดยรัฐบาลเขตฟลานเดอร์ มีคณะกรรมการจังหวัด (Permanent Deputation) มีผู้ว่าราชการจังหวัด (Governor) เป็นหัวหน้าผู้บริหารจังหวัด

                 การรวมการบริหาร (Administrative unit) ไว้ในระดับจังหวัดทำให้เกิดการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่จังหวัดตั้งแต่เดือนมกราคม 2526 โดยเมืองเล็กๆ (Town) ถูกรวมกันเป็นจังหวัดเรียกว่าอำเภอ (District) แต่ในแต่ละเมืองก็ยังคงมีที่ทำการเมือง (Town hall หรือ Districtshuis) ของตนเองไว้มีการให้ข้อมูลข่าวาร สวัสดิการสังคม ทะเบียนเกิดตายและการแต่งงาน มีแรงต้านในการรวมศูนย์อำนาจจากแต่ละเมือง ที่ต้องการความเป็นเมืองของตัวเองคืนมาจนในปี 2544 ก็มีการกระจายอำนาจกลับมาให้เมืองดำเนินการเองเช่น การดูแลเมือง นโยบายด้านเยาวชน วัฒนธรรม กีฬาและการสื่อสาร ทำให้เมืองสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้มากขึ้น ผมได้เห็นลักษะแบบนี้ตอนไปที่ออสเตรเลีย และเคยเสนอความคิดเห็นเรื่องคืนความเป็นเมืองให้กับอำเภอต่างๆเพื่อคงความเป็นมาในอดีต วัฒนธรรมความเป็นอยู่เอาไว้

                 ระบบเงินตรา ใช้เงินสกุลยูโรตั้งแต่ มกราคม 2002 หนึ่งยูโรร้อยเซนต์ มีธนบัตร 7 ชนิดคือ500,200,100,50,20,10,5 เหรียญ8 ชนิดคือ2u,1u,50c,20c,10c,5c,2c,1c ลักษณะเหรียญด้านหนึ่งเป็นสัญลักษณ์เหมือนกันทุกประเทศ ส่วนอีกด้านออกแบบต่างกันตามแต่ละประเทศ ธนาคารเปิดทำการจันทร์ถึงศุกร์ 9 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น การแลกเปลี่ยนเงินตราคิดค่าธรรมเนียม 1-2 % อย่างต่ำคิด 5 ยูโร

                  ฤดูกาลแบ่งออกเป็น 4 ฤดูคือ ฤดูใบไม้ผลิ (spring) ฤดูร้อน (summer) ฤดูใบไม้ร่วง (autumn) ฤดูหนาว (winter) ผมเคยสงสัยว่าทำไมยุโรปถึงไม่มีฝน พอมาอยู่ที่เบลเยียมก็เลยรู้ว่า ที่นี่ฝนตกทั้งปี ตกไม่หนักมาก หน้าหนาวฝนก็ตก ฤดูใบไม้ร่วงฝนก็ตก แต่ไม่เคยเจอแบบตกหนักๆแบบบ้านเรา ฝนบ้านเขาตกไปเรื่อยแต่ก็ทำให้ต้นไม้ชุ่มฉ่ำได้

                   เรื่องสินค้าขึ้นชื่อของเขาก็มีพวกเบียร์ ช็อคโกแลต เครื่องเพชร ส่วนอาหารนั้นที่เรารู้จักกันดีคือมันฝรั่งทอด (Chip) หรือเฟรนช์ฟรายด์ (French fried) ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากเบลเยียมตั้งแต่ปี ค.ศ. 1680 แต่ไม่มีหลักฐานบันทึกไว้ พบหลักฐานการบันทึกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1862 น่าจะเรียกเบลเจี้ยนฟรายด์ (Belgian fried) มากกว่า แต่ที่เรียกว่าเฟรนช์ฟรายด์มาจากหลายสันนิษฐานว่าอาจเป็นจากชาวอเมริกันได้กินมันฝรั่งทอดที่ทอดโดยคนฝรั่งเศสก็เลยเรียกแบบนั้นทั้งๆที่ไม่ได้มีจุดเริ่มต้นจากฝรั่งเศส อีกนัยหนึ่งทหารอเมริกันที่มาร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในเบลเยียมได้เห็นมันฝรั่งทอดโดยคนเบลเยียมที่พูดฝรั่งเศสในพื้นที่ติดชายแดนฝรั่งเศสก็เลยเรียกแบบนั้น ที่จริงแล้วคำว่าFrench ในภาษาอังกฤษนั้นหมายถึงการตัดให้เป็นชิ้นยาวๆ (to cut into lengthwise pieces) ดังนั้น French fried จึงมาจากคำว่า frenched and fried potatoes และเรียกในภาษาอังกฤษว่า ชิพ (Chips)

               ผมรู้สึกได้ว่าเมืองไทยเราก็มีความแตกต่างทางด้านภาษามากเหมือนกันแต่คนไทยก็อยุ่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข รวมทั้งคนเชื้อชาติอื่นที่เข้ามาก็กลายเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ เราโชคดีที่มีพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ที่ทรงครองราชย์นานที่สุดในโลกและปฏิบัติภารกิจเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์มาตลอด ทรงเป็นพ่อของแผ่นดิน ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทย ทรงเป็น The Soul of Kingdom of Thailand อย่างแท้จริง 

                  จากความซับซ้อนทางด้านการปกครองของเบลเยียม เวลามาที่เบลเยียมก็อยู่ที่มาในเขตไหน แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเขตฟลานเดอร์เนื่องจากเมืองสำคัญๆที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและสวยงามอยู่ในเขตนี้ทั้งสิ้น เวลาขอเอกสารหรือขอวีซ่าก็ขอจากเขตฟลานเดอร์ที่มีเมืองหลวงที่บรัสเซลส์ ระบบราชการในเบลเยียมมีความล่าช้ามาก ยังคงเป็นราชการจริงๆเช่นกัน การขอบัตรผู้อยู่อาศัยชั่วคราวของนักศึกษาอย่างพวกผมใช้เวลาถึงสามเดือน ตอนนี้เข้าเดือนที่สี่แล้ว เพื่อนอีกหลายคนก็ยังไม่ได้บัตรเลย ทั้งๆที่วีซ่าที่ให้มานั้นหมดอายุไปแล้ว จะไปเร่งไปขออะไรก็ไม่ได้ ทุกอย่างให้เป็นไปตามระบบ (ราชการ) ของเขา การที่ครอบครัวผมขอวีซ่าแบบระยะยาวที่เรียกว่า Family reunification ต้องใช้หลักฐานหลายอย่างยุ่งยากมากโดยเฉพาะใบรับรองขนาดบ้านพักที่เรียกว่า Certificate of Attestation of Housing หรือเรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า certificate d’ he’bergement ที่ต้องขอจากศูนย์บริการของชุมชน (Commune) แล้วส่งเรื่องไปบรัสเซลส์เพื่อสั่งการให้มีการออกตรวจรับรองบ้านพักแล้วจึงออกเอกสารได้ เขาบอกว่าใช้เวลา 3-6 เดือน ผมกับครอบครัวก็ต้องรอไปอีกไม่รู้เมื่อไหร่กว่าจะได้วีซ่า ทำให้ต้องผิดหวังที่จะได้เที่ยวกับครอบครัวในช่วงปิดเทอมสองสัปดาห์ที่เบลเยียม

                 สัปดาห์ที่ 13 ของการเรียนที่เบลเยียมเรียนเรื่องระบบสุขภาพแห่งชาติ (National Health System) วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม เป็นวันเกิดน้องขลุ่ย ลูกคนเล็ก ไม่ได้คุยกับลูก ไม่ได้อวยพรวันเกิดลูก เพราะมีการสัมมนาเรื่องนโยบายยาที่จัดโดยองค์กรBe-Cause Health ในหัวข้อ ยา: รักษาหรือการแช่งด่า (Drugs: cure or curse)” จัดที่ Egmont palace ที่บรัสเซลส์ มีผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆในเรื่องยามาร่วมกันมาก เป็นการสัมมนาแบบสองภาษาคืออังกฤษและฝรั่งเศส แล้วแต่วิทยากรจะใช้ภาษาอะไร จะมีผู้แปลเป็นอีกภาษาหนึ่งให้ฟัง มีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวทางให้คนในประเทศยากจนกำลังพัฒนาได้เข้าถึงยาที่มีคุณภาพในราคาที่ไม่แพง เนื่องจากโรคในปัจจุบันถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือกลุ่มที่เป็นทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา มีผู้คนเป็นกันเยอะเช่นเบาหวาน หัวใจ กลุ่มที่สองเป็นโรคที่ถูกละเลยพบได้ทั้งประเทศรวยและจน แต่พบในประเทศยากจนมากกว่าเช่นเอดส์ วัณโรค กลุ่มที่สามเป็นกลุ่มที่ถูกละเลยอย่างมากและพบในประเทศยากจนเช่นทริพาโนโซเมียสิส อองโคเซอเรียสิส ซึ่งกลุ่มที่สองที่สามนี้บริษัทยาจะเริ่มไม่ค่อยสนใจที่จะพัฒนาหรือทำการวิจัยเพิ่มเติมแล้วเพราะทำกำไรได้ยาก การนำเสนอของวิทยากรแต่ละท่านมีเนื้อหาที่น่าสนใจมากทั้งเรื่องการเข้าถึงยา การพัฒนาวิจัย คุณภาพของยา การส่งมอบยาที่ตรงกับความต้องการของผู้ป่วย ระบบการกระจายยา การใช้ยาอย่างเหมาะสม ค่าใช้จ่ายทางยาและระบบการเงิน ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเข้าถึงยาทางการเงิน เป็นการสัมมนาที่หนักมาตั้งแต่เช้ายันเย็น อ่อนล้าไปตามๆกัน ขนาดเพื่อนที่ฟังภาษาอังกฤษเก่งๆยังแย่เลย ผมก็ล้าไปเหมือนกัน โหยหาภาษาไทยมากพอควร

                 ส่วนวันอังคารถึงศุกร์เรียนกับอาจารย์วิม ฟอน ดัม (Wim Van Damme) ในเรื่อง National Health system อย่างเดียวเลย อาจารย์สอนดีมาก ฟังเข้าใจง่าย ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด อาจารย์เตรียมตัวการสอนดีมาก ยกตัวอย่างของระบบสุขภาพของหลายประเทศได้อย่างเข้าใจแล้วก็พูดถึงไทยกับอินเดียบ่อยมาก ช่วงนี้ผมไม่ค่อยมีสมาธิเรียนเท่าไหร่นัก แต่อาจารย์ก็พูดฟังง่ายก็เลยรู้เรื่อง

                    การมาเรียนต่างประเทศนี่ ไม่ใช่แค่เตรียมตัวอย่างเดียว แต่ต้องเตรียมใจอย่างมากด้วยโดยเฉพาะคนที่มีภรรยาและมีลูกแล้วนี่ จะคิดถึงบ้านมากๆ วันอังคารที่ผ่านมาเป็นวันที่ผมเซ็ง ซึม เศร้าอย่างมากจนเพื่อนๆสังเกตได้ ทั้งๆที่ผมพยายามไม่แสดงออกมา เพื่อนหลายคนก็ทักว่าทำไมดูเศร้าจัง แต่ผมก็พยายามปรับตัวปรับใจวันรุ่งขึ้นก็ดีขึ้นเป็นปกติ มีหลายสิ่งในชีวิตที่เราไม่สามารถควบคุมให้ได้อย่างใจเราได้ เราต้องพยายามยอมรับมันให้ได้ เราจึงจะอยู่ได้อย่างมีความสุข ความผิดหวังด้านหนึ่งทำให้เราท้อ แต่อักด้านหนึ่งก็ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้นเช่นกัน คนเราจึงมีทั้งผิดหวัง สมหวัง สุขทุกข์คลอเคล้ากันไปเสมอ

พิเชฐ  บัญญัติ

Verbond straat 52, 2000 Antwerp, Belgium

7 ธันวาคม 2550 เวลา18.35 น. ( 23.35 น.เมืองไทย ) 
หมายเลขบันทึก: 151931เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2007 03:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 15:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
น้ำผึ้ง(จพ.เวชกรรมฟื้นฟู ร.พ.เจ็ดเสมียน ราชบุรี)

บังอิญเซิร์จคำว่าเวชกรรมฟื้นฟูแล้วเข้ามาเจอบล็อคของหมอค่ะ  ความเห็นนี้อาจไม่ตรงกับเนื้อหาของวันที่ 7 นี้ แต่อยากแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องเวชกรรมฟื้นฟูตามข้อมูลเก่าของหมอค่ะ

เจ้าพนักงานเวชกรรมฟื่นฟู ตามประวัติแรกเริ่มเดิมทีแล้ว มีการจัดตั้งหลักสูตรขึ้นที่ วสส.พิษณุโลก เปิดติดต่อกันมา 8 รุ่น รุ่นละ 40 คน(โดยประมาณ) หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่สอนเกี่ยวกับความรู้ทางด้านกายภาพบำบัดยกเว้นเรื่องของการใช้เครื่องไฟฟ้า มุ่งเน้นให้ออกมาเป็นผู้ช่วยของนักกายภาพบำบัดมุ่งเน้นการให้บริการในคลีนิค เนื่องจากสมัยนั้นนักกายภาพบำบัดยังมีน้อยนัก หลังจากเปิดสอนอยู่ 8 รุ่นก็ระงับไป

ต่อมาเปิดหลักสูตรปรับปรุงขึ้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฝากเรียนที่คณะเทคนิคการแพทย์ เรียนรุ่นละ 20 คนปรับปรุงหลักสูตรให้มีการเรียนการสอนเรื่องของการดูแลผู้พิการมากขึ้น เพิ่มเนื้อหาเรื่องกิจกรรมบำบัดและกายอุปกรณ์  นักศึกษาชุดนี้จะมีความสามารถในการลงเข้าไปให้บริการในชุมชนมากกว่าชุดแรก สามารถประเมินความพิการและแพลนการฟื้นฟูสภาพอย่างต่อเนื่องได้ มีความรู้ด้านกิจกรรมบำบัดมากขึ้น  สามารถประยุกต์ใช้กิจกรรมและอุปกรณ์พื้นบ้านในการฟื้นฟูสภาพได้  ทำsplint ได้ ทำขาเทียมอย่างง่ายได้ ทำเบรสประคองร่างกายได้  เปิดได้ 11 รุ่น ก็ระงับไปเนื่องจากการดึงมาใช้งานไม่ตรงตามเป้าประสงค์ของการสร้าง  โดยส่วนใหญ่ดึงมาเป็นผู้ช่วยของนักกายภาพซึ่งเป็นการใช้ความสามารถของเจ้าพนักงานเวชกรรมฟื้นฟูชุดนี้เพียงส่วนเดียว (ทำกายภาพบำบัดตามคำสั่ง) โดยส่วนใหญ่อยู่ในโรงพยาบาลศูนย์และร.พ.จังหวัด ไม่มีบทบาทในการทำกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูสภาพผู้พิการในชุมชน  ส่วนในกลุ่มที่ลงโรงพยาบาลชุมชน ก็ไม่มีแนวทางการปฏิบัติงาน ประกอบกับความเป็นเด็กไม่รู้จะเริ่มต้นทำงานยังไงไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนทำให้บางคนต้องโดนโยนไปทำงานผิดประเภท เช่น ไปอยู่กับรังสี ไปนั่งห้องบัตร ไปอยู่กับฝ่ายการพยาบาล ไปอยู่กับงานเภสัชกรรม ไปอยู่กับงานแผนไทย ฯลฯ และปฏิบัติงานในคลีนิคของตนเท่าที่มีเคสส่งปรึกษาจากแพทย์เท่านั้น   แต่ก็ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่เหลือ  เริ่มต้นถูก ขอเปิดงานเวชกรรมฟื้นฟูเองขึ้น รับเคสในคลีนิคของตน  ร่วมออกให้ความรู้กับเวชปฏิบัติ และบางคนที่จับแนวทางความต้องการของศูนย์สิรินธรที่ปลุกปั้นพวกเรามาได้ก็โดดจับงาน community base rhehabilitation. me.ดูแลผู้พิการที่อยู่ในชุมชน ไปตามบ้านเพื่อสอนและประเมินความพิการให้การดูแลต่อเนื่อง  บางคนที่เก่งกว่านั้นก็สร้างชมรมผู้พิการให้ดูแลตนเองและกลุ่มของตนได้ มีกระทั่งการประสานต่อเพื่อฝึกอาชีพ ส่งศึกษาต่อ หางบประมาณจัดให้มีศูนย์ฟื้นฟูสภาพในชุมชนและสร้างอาสาสมัครการดูแลผู้พิการในชุมชน(ที่ตนดูแลไม่ไหว) โดยเฉพาะปัจจุบันที่มีงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำให้มีโครงการที่เจ้าพนักงานเวชกรรมฟื้นฟูจัดทำขึ้นเองโดยไม่ต้องรอนักกายภาพบำบัดอีกมาก 

แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็เป็นแค่ส่วนเล็กๆของประเทศเท่านั้น นับรวมปัจจุบันมีเจ้าพนักงานเวชกรรมฟื้นฟูเพียงแค่ 400 คนโดยประมาณ มีประมาณ40 -50 คนที่ได้ทำงานในโรงพยาบาลชุมชนจริง และไม่ถึง 20 คนที่ให้บริการแก่ผู้พิการในชุมชนเต็มพื้นที่ ทำให้เป็นปัญฐหาว่า ถ้าผู้พิการที่ไม่สามารถเข้ามาโรงพยาบาลได้ก็ไม่รับการดูแลด้านการแพทย์อีกมาก

ปัจจุบันมีโครงการจัดตั้งหลักสูตรเจ้าพนักงานเวชกรรมฟื้นฟูใหม่ขึ้น  ขณะนี้กำลังทำวิจัยหลักสูตรอยู่ (ยังไม่เปิดเป็นทางการ)หลักสูตรนี้จะมุ่งเน้นเพื่อสร้างบุคลากรลงพื้นที่โดยตรง คาดว่าตำแหน่งจะลงที่ อบต. หรือเทศบาล เพื่อป้องกันการใช้งานเจ้าพนักงานเวชกรรมฟื้นฟูผิดประเภท และการซ้ำซ้อนของบทบาทหน้าที่ระหว่างเจ้าพนักงานเวชกรรมฟื้นฟูกับนักกายภาพบำบัดอีก  เจ้าพนักงานเวชกรรมฟื้นฟูชุดนี้จะปฏิบัติงานกับผู้พิการในชุมชนจริงๆโดยไม่รับปฏิบัติงานในคลีนิค ส่วนบทบาททางคลีนิคเป็นหน้าที่ของนักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด และ ช่างกายอุปกรณ์ ซึ่งสามารถปฏิบัติโดยตรงได้

หากคุณหมออยากจะได้เจ้าพนักงานเวชกรรมฟื้นฟูปฏิบัติงานร่วมในพื้นที่ ผึ้งขอแนะนำว่าควรประสานงานกับเทศบาลและอบต.แต่ละตำบลในเขตพื้นที่เพื่อแจ้งความประสงค์ขอรับเจ้าพนักงานเวชกรรมฟื้นฟูที่จะศึกษาจบในอีกประมาณ 3-4 ปีข้างหน้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่ของหมอนะคะ

ถ้าต้องการรายละเอียดหลักสูตร ลองติดต่อสอบถามที่ วสส.สุพรรณบุรี ดูได้ค่ะ

รายละเอียดมากไปนิด แต่นานๆเจอหมอที่เป็นหมอด้วยใจจริงสักที ประทับใจค่ะ ขอบคุณแทนคนไทยทุกคนที่คุณหมอเสียสละตนเพื่อสาธารรสุขไทยค่ะ

สวัสดีค่ะ

คุณน้าหมอ สวัสดีค่ะ

            นานๆได้มาที เอ๊ย นานๆได้มาที คิคิ

 สบายดีไหมค่ะ ช่วงนี้รักษาสุขภาพด้วยนะค่ะ คุณน้าหมอ เพราะอากาศเริ่มหนาวแล้ว  คิคิ    หนูแวะมาเยี่ยมเจ้าค่ะ ไม่ได้เข้ามาในบันทึกซะนานเลย เพราะช่วงนี้ยุ่งๆเจ้าค่ะ สอบๆๆๆๆๆๆ อย่างเดียวเลย เพื่ออนาคตเจ้าค่ะ คิคิ

           เป็นกำลังใจให้คุณน้าหมอเจ้าค่ะ ------> น้องจิ ^_^

สวัสดีครับคุณน้ำผึ้ง

ต้องขอบคุณมากสำหรับข้อมูลและคำแนะนำที่เป็นประโยชน์สำหรับหลายๆหน่วยงานครับ ผมเชื่อว่าทุกวิชาชีพมีจุดเก่นที่เป็นอัตลักษณ์ของตนเอง เราต้องพยายามเอาจุดเด่นของแต่ละวิชาชีพมาลงขันกัน ลงแรง ลงใจ เพื่อช่วยกันดูแลผู้ป่วยหรือประชาชน ซึ่งนี่คือการทำงานแลลทีมสหสาขาวิชาชีพครับ

สวัสดีครับน้องจิ

ช่วงนี้น้าหมอก็กำลังขมักเขม้นกับการอ่านหนังสือสอบเช่นกัน รู้สึกว่าวัยใกล้สี่สิบแล้วนี่ อาจหนังสือไม่อึดเหมือนตอนเป็นนักศึกษาแพทย์เลย ก็คงเป็นไปตามวัย แต่พอเบื่ออ่านหนังสือก็เลยได้มานั่งเขียนบันทึก ก็ดีเหมือนกัน การเขียนบันทึกกลายเป็นกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจที่ดีทางหนึ่งเลย

ส่งกำลังใจมาให้น้องจิให้ได้เข้าเรียนในสาขาที่ชอบนะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท