สนุกกับภาษาไทย – ภาษาอัชฌาไศรย ๓๐. ชายคาภาษาไทย (๙)


กลาโหม


         คำว่า กลาโหม นี้บางครั้งเขียน กระลาโหม สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ ทรงสันนิษฐานว่า มาจากรากศัพท์ภาษาบาลีว่า กลห แปลว่า การทะเลาะ การศึกสงคราม การต่อสู้ (strife, war, battle) คำนี้เป็นคำนามเพศชาย วิภัตติที่ 1 เขียนว่า กลโห เข้าใจว่า ต่อมาออกเสียงเคลื่อนไปเป็น กลาโหม ได้มีผู้รู้ท่านอื่นอธิบายนิรุกติประวัติของคำนี้เป็นอย่างอื่นอีกมากมาย ผู้เขียนเห็นว่าเป็นการลากให้เป็นไปตามความเชื่อที่ตั้งไว้ก่อน รากศัพท์ กลห และบริบทของคำมีความหมายตรงกับลักษณะงานและหน้าที่ของกรมพระกลาโหม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสงครามและการรบ ความพยายามของใครต่อใครที่จะลากให้เป็นคำเขมรว่า กระลาโหม และสันนิษฐานว่า มาจาก “กระลา” (บริเวณ) และ “โหม” (โหมไฟ) ได้เกิดขึ้นภายหลัง เมื่อไม่เข้าใจความหมายเดิมที่ถูกต้องแล้ว เวลาเขียนถึงคำนี้อดนึกถึงเนื้อความในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เล่าเรื่องในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ครั้งเสร็จศึกคราวให้สมเด็จพระราเมศวร (เอกาทศรถ) ไปตีเมืองตะนาวศรีคืนมาได้ ปรากฏว่า เจ้าเมืองเมาะลำเลิง (มะละแหม่ง) ได้ส่งสารถึงเจ้าเมืองกาญจนบุรีว่า “ขออวยศรีสวัสดิ์มาถึงพระยากาญจนบุรี ด้วยข้าพเจ้ากับพระยาลาวเจ้าเมืองเมาะตะมะ เกิดมหากละหะแก่กัน พระยาลาวจะยกมาตีเมืองข้าพเจ้า ๆ หาที่พึ่งมิได้” กละหะ มาจาก กลห ในภาษาบาลีดังกล่าวแล้ว คือ เรื่องทะเลาะ ขัดแย้งกัน
 

 

หมายเลขบันทึก: 151007เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2007 09:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท