แรมซาร์ไซต์กับการอนุรักษ์ของไทย (4) อุตสาหกรรมรุกพื้นที่เกษตรจุดจบป่าทาม (จบ)


เขื่อนเป็นปัญหาสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งควรจะต้องมีการจัดการให้ถูกต้อง ไม่ใช่กักเก็บเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีการปล่อยน้ำเพื่อสิ่งแวดล้อมบ้าง

แรมซาร์ไซต์กับการอนุรักษ์ของไทย (4) อุตสาหกรรมรุกพื้นที่เกษตรจุดจบป่าทาม (จบ)

 

         “เขื่อนเป็นปัญหาสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งควรจะต้องมีการจัดการให้ถูกต้อง ไม่ใช่กักเก็บเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีการปล่อยน้ำเพื่อสิ่งแวดล้อมบ้าง ไม่เพียงเท่านั้นแต่นักจัดการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะต้องดูด้วยว่าจะจัดการกับพืชพรรณที่อยู่ในพื้นที่อย่างไร” ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ ประธานคณะกรรมการ แผนงานสนับสนุนโครงการขนาดเล็กของชุมชนในการจัดการป่าอย่างมีส่วนร่วม ระบุ  โดย ดร.สมศักดิ์ให้ข้อมูลถึงพื้นที่ชุ่มน้ำว่าเป็นระบบนิเวศที่ต่างจากป่าทั่ว ๆ ไป เพราะต้องอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เมื่อถึงหน้าน้ำน้ำก็ท่วม แต่พอถึงหน้าแล้งก็แล้งจัดจนเกิดไฟป่าได้ง่าย ๆ ดังนั้นพืชพรรณที่อยู่ในป่าประเภทนี้จึงแตกต่างไปจากป่าทั่ว ๆ ไปด้วยเช่นกัน และพรรณพืชที่อยู่ริมน้ำก็มีส่วนสำคัญต่อระบบนิเวศในแง่ของการให้ร่มเงา ที่จะช่วยลดอุณหภูมิของน้ำซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการวางไข่ของปลา นั่นจึงทำให้ในประเทศที่เจริญแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาถึงกับมีกลุ่มรณรงค์เพื่อรักษาต้นไม้ริมน้ำขึ้นโดยเฉพาะ  “แม่น้ำสงครามโชคดีที่มีป่าบุ่งป่าทามอยู่ริมน้ำอยู่แล้ว เราแค่ดูแลให้อยู่อย่างยั่งยืนเท่านั้นก็พอ”  แม้การพัฒนาในลุ่มน้ำสงครามตอนบนมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในบริเวณนี้อย่างการบุกรุกของกลุ่มเกษตรอุตสาหกรรมกลับเป็นสิ่งที่ทำให้ป่าบุ่งป่าทามลดจำนวนพื้นที่ลงมากกว่า  การบุกรุกป่าทามในพื้นที่แถบนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2521 โดยมีนายทุนเข้ามากว้านซื้อที่ดินซึ่งเคยเป็นที่สาธารณประโยชน์ของชุมชนมาก่อน โดยเฉพาะที่บ้านท่าบ่อมีการบุกรุกมากที่สุด   “ทางบริษัทซันเทคกรุ๊ปเอาเอกสารมาให้ชาวบ้านเซ็นโดยจ่ายเงินให้ครอบครัวละ 10,000 บาท ตั้งแต่ปี 2516-2517” สุรชัย ณรงค์ศิลป์ นักวิจัยพันธุ์ปลาบ้านท่าบ่อ ระบุ   หลังจากนั้นเรื่องก็เงียบหายไปจนกระทั่งไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จู่ ๆ ชาวบ้านหลายครอบครัวก็มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในรูปแบบของ นส. 3 ก. เฉลี่ยคนละประมาณ 48 ไร่ โดยมีหนังสือเรียกจากทางบริษัทซึ่งเป็นผู้ซื้อว่าถึงกำหนดโอน ให้ชาวบ้านแต่ละรายที่ได้รับไปเซ็นเพื่อโอนกรรมสิทธิ์ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วแต่ละครอบครัวที่ได้รับหนังสือฉบับที่ว่า แทบจะไม่เคยรับรู้มาก่อนเลยว่ามีที่ดินผืนดังกล่าว ซึ่งบางรายถึงกับต้องไปตรวจเช็กจากสำนักงานที่ดินเพื่อยืนยันอีกครั้งด้วยตัวเอง !!??
“ผมไม่รู้เลยว่าตัวเองมีที่ดิน จู่ ๆ ก็มีคนเอามาให้เป็น นส. 3 ก. ประมาณ 48 ไร่ เมื่อประมาณ 3-4 เดือนก่อน” หนึ่งในชาวบ้านท่าบ่อ ระบุพร้อมกับแสดงเอกสารฉบับที่ว่า   นอกจากนี้ยังมี บริษัทเกษตรอุตสาหกรรมอีสาน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแรกที่เริ่มเข้ามาบุกเบิกธุรกิจผลิตน้ำมะเขือเทศเข้มข้นแบบครบวงจร ตามมาด้วยบริษัท ซันเทค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีดีไอ จำกัด บริษัท ทุ่งสรงครามอินดัสทรี จำกัด และบริษัท เอเชียเทค กรุ๊ป จำกัด
         งานวิจัยไทบ้าน ระบุว่า การเข้ามาของกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งหมดไม่เพียงส่งผลกระทบต่อป่าทามซึ่งถูกแผ้วถางเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดความขัดแย้งกับชาวบ้านในพื้นที่ตามมาด้วยโดยที่ดินที่ถูกกว้านซื้อส่วนใหญ่ชุมชนเคยใช้เป็นสถานที่เลี้ยงสัตว์และใช้ประโยชน์จากทาม ซึ่งส่วนที่เป็นที่รกร้างว่างเปล่ากำลังจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณประโยชน์ของชุมชน  ผลกระทบทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามซึ่งเป็นเสมือนแหล่งอาหารอันอุดมของชุมชน ทำให้เกิดโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูพันธุ์ปลาธรรมชาติขึ้น   สาเหตุที่เลือกทำโครงการอนุรักษ์ปลาเป็นเพราะปลาคือปัจจัยหลักของการดำรงชีพของผู้คนตลอดสองฝั่งลุ่มน้ำสงคราม ซึ่งไม่เพียงหาเพื่อเลี้ยงชีพแต่ในอดีตปลายังทำหน้าที่แทนเงินตราในยุคที่มีการแลกเปลี่ยนสินค้ากัน จนทำให้เกิดวัฒนธรรม “ข้าวแลกปลา ปลาแลกข้าว” เพราะถึงแม้ชุมชนในบริเวณนี้จะมีการทำนา ซึ่งนาส่วนใหญ่จะอยู่ใกล้กับป่าทาม การทำนาปรังในช่วงฤดูแล้งจึงไม่อาจทำได้ในบางครั้งเมื่อน้ำในทามแห้งขอด ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการกักน้ำในฝายที่อยู่ตอนบนของแม่น้ำและการบุกรุกพื้นที่จนทำให้พื้นที่ทามลดน้อยลงและเกิดภาวะแห้งแล้งตามมา  ความเข้มแข็งของชุมชนที่เกิดขึ้นนี่เอง ที่ทำให้ลุ่มน้ำสงครามตอนล่างถูกเลือกให้เป็นพื้นที่ตัวอย่างของการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ และอีกไม่นานที่นี่ก็จะได้รับการประกาศให้เป็นแรมซาร์ไซต์ในลำดับต่อมาของประเทศไทย.

         ที่มา:หนังสือพิมพ์เดลินิวส์  ฉบับวันที่  10  กุมภาพันธ์  2549





คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15075เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2006 17:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 17:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท