แรมซาร์ไซต์กับการอนุรักษ์ของไทย(3) ฝายตอนบนตัวทำลายแม่น้ำสงคราม


ระบบนิเวศเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดการระบาดของตะไคร่น้ำ ปลาอพยพและวางไข่ช้าลง ปริมาณปลาที่อพยพเข้ามาก็น้อยลง ขณะที่ปลาอีกหลายชนิดเริ่มอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์
 

แรมซาร์ไซต์กับการอนุรักษ์ของไทย(3) ฝายตอนบนตัวทำลายแม่น้ำสงคราม

         ลักษณะเฉพาะของลุ่มน้ำสงครามตอนล่างที่มีป่าไม้ทนต่อน้ำท่วมโดยเฉพาะไผ่กะซะ ก่อให้เกิดระบบนิเวศย่อยอื่น ๆ อีกถึง 28 ระบบ และนั่นทำให้ป่าทาม พื้นที่ราบที่จะถูกน้ำท่วมนาน 3-4 เดือนในฤดูน้ำหลาก อุดมไปด้วยพรรณพืชและพันธุ์สัตว์น้ำที่หลากหลาย  นักวิจัยไทบ้านสำรวจพบพรรณพืชมากกว่า 208 ชนิด พันธุ์ปลา 124 ชนิด เต่า 5 ชนิด กุ้ง 4 ชนิด หอย 10 ชนิด ปู 4 ชนิด และแมงอีก 6 ชนิด  ในจำนวนพันธุ์ปลาทั้ง 124 ชนิดนั้นมีทั้งปลาที่พบในลุ่มน้ำสงครามตลอดปี และปลาที่อพยพมาจากแม่น้ำโขง ซึ่งรวมถึงปลาบึกที่อพยพมาหากินตะไคร่น้ำและดินเอียดตามหนองในป่าทามในฤดูน้ำหลากด้วย  ในบันทึกของไทบ้านระบุว่า เคยมีการจับปลาบึกได้น้ำหนักสูงสุดถึง 270 กิโลกรัม บริเวณกุดตากล้า เมื่อ พ.ศ. 2475 และ พ.ศ. 2496
         ในช่วงหลังไม่เพียงแต่ปลาบึกที่จับได้จะมีขนาดเล็กลงเท่านั้น แต่ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการพบปลาบึกในลุ่มน้ำสงครามอีกเลย !!!  เหตุผลหนึ่งเป็นผลกระทบที่มาจากการก่อสร้างคันกั้นน้ำบริเวณลำห้วยสาขาของแม่น้ำสงคราม โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องการกักเก็บน้ำที่ท่วมป่าทามในฤดูน้ำหลากไว้สำหรับการเกษตรในฤดูแล้ง  คันกั้นน้ำที่ว่าไม่เพียงทำให้ที่ที่เคยเป็นที่วางไข่ของปลาในฤดูน้ำหลากสูญหายไปเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบถึงป่าทามที่อยู่ในบริเวณนั้นไปพร้อม ๆ กันด้วย ???  “ทำนบกั้นน้ำนี้ อบต.สร้างมาตั้งแต่ปี 2541 จะให้ชาวบ้านทำการเกษตรแต่ก็ไม่ได้ทำ ตอนหลังเขาเลยเอาปลามาปล่อย พอน้ำท่วมปลาก็หายไปกับน้ำหมด ตอนนี้เลยตัดถนนเอาทรายมาลงทำ เป็นชายหาดสำหรับการท่องเที่ยวแทน” สุริยา โคตะมี ผู้ช่วยนักวิจัยไทบ้าน ระบุ  ทำนบกั้นน้ำขนาดเล็กนี้อาจไม่ส่งผลกระทบต่อแม่น้ำสงครามโดยรวมเท่าใดนัก หากเทียบกับฝาย 2 แห่งที่สร้างอยู่ทางตอนบนของแม่น้ำ ที่บังเอิญไปสร้างบนโดมเกลือที่ชาวบ้านแถบนั้นใช้อาศัยสูบเกลือขึ้นมาเพื่อทำเกลือสินเธาว์ขาย  การสร้างฝายบนโดมเกลือนี้ไม่ต่างจากกรณีที่เกิดขึ้นกับฝายราษีไศล ที่ทำให้เกลือที่อยู่ใต้ดินซึ่งถูกน้ำกดทับอยู่เกิดละลายและกระจายออกไปยังพื้นที่รอบ ๆ จนทำให้เกิดปัญหาดินเค็มกระจายไปทั่วบริเวณจนไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้
“ปี 2541 รพช.มีโครงการจะสร้างฝายบนแม่น้ำสงครามทั้งหมด 6 ฝาย สร้างเสร็จแล้ว 2 ฝาย คือหนองกากับบ้านม่วง เมื่อปี 2547 และตอนนี้เริ่มมีปัญหาเรื่องการแพร่กระจายของเกลือแล้ว ชาวบ้านกังวลเรื่องดินเค็มมากเพราะจะมีผลต่อป่าทามและปลาด้านล่าง” รัฐพล พิทักษ์เทพสมบัติ ผู้จัดการโครงการ MWBP พื้นที่สาธิตลุ่มน้ำสงครามและเครือข่ายนักวิจัยไทบ้านลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง ระบุ  สำหรับลุ่มน้ำสงครามตอนบนที่มีการสร้างฝายแล้ว นักวิจัยไทบ้านระบุว่า ในช่วง 1-2 ปีแรกผลกระทบจากการกระจายตัวของเกลืออาจจะยังไม่ส่งผลให้เห็นชัดเจนจะยังสามารถทำการเพาะปลูกได้ผลผลิตดีตามปกติ แต่หลังจากปีที่ 3 ไปแล้วเกษตรกรจะต้องเผชิญกับปัญหาดินเค็มแน่นอน  การที่ฝายทั้ง 2 แห่งยังไม่มีการจัดทำคลองส่งน้ำตามโครงการทั้งหมดนั้น อาจจะเป็นข้อดีหนึ่งที่จะทำให้การกระจายตัวของดินเค็มยังไม่ขยายวงกว้าง แต่ผลผลิตของเกษตรกรที่อยู่ใกล้ฝายในช่วง 1-2 ปีนี้ก็อาจจะเป็นตัวแปรที่ทำให้ชาวบ้านที่อยู่ห่างออกไปต้องการให้มีการส่งน้ำไปยังพื้นที่ของตนเองด้วย  และนั่นหมายความว่าการแพร่กระจายของเกลือจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่มีใครรับรองถึงสภาวะของป่าทามที่อยู่รอบ ๆ บริเวณนั้นได้  นอกจากนี้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นักวิจัยไทบ้านพบว่าระดับน้ำในแม่น้ำสงครามตอนล่างมีการขึ้นลงผิดปกติ ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบน ส่งผลให้น้ำในแม่น้ำสงครามขึ้นลงผิดปกติตามไปด้วย  ระบบนิเวศเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดการระบาดของตะไคร่น้ำ ปลาอพยพและวางไข่ช้าลง ปริมาณปลาที่อพยพเข้ามาก็น้อยลง ขณะที่ปลาอีกหลายชนิดเริ่มอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ ???.


ที่มา:หนังสือพิมพ์เดลินิวส์  ฉบับวันที่  9  กุมภาพันธ์  2549



คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15073เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2006 17:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 14:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท