กลับมาแล้ว.....พร้อมกับ.....


การพัฒนาที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากความเข้าใจ ความร่วมแรงร่วมใจของประชาชน หน่วยงานต่างๆต้องทำงานโดยเอาคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ไม่ใช่เอาหน่วยงานราชการเป็นศูนย์กลาง

      ในที่สุดก็กลับถึงลำปางเสียที  หลังจากวนเวียนแถวภาคตะวันออกอยู่หลายวัน  รู้สึกว่าชีวิตจะกลับมาเหมือนเดิม  อย่างน้อยก็ได้เข้ามาเขียนบันทึกหลังจากที่ไม่ได้เขียนมาหลายวัน  แต่จะว่าไปแล้วถ้าจะบอกว่าไม่ได้เขียนก็ไม่ใช่  ความจริงก็ได้เขียน  แต่เขียนไว้ในสมุด  ไม่ได้นำมาเล่าสู่กันฟัง  เนื่องจากหาร้านอินเตอร์เน็ตไม่ได้  เห็นร้านอินเตอร์เน็ตครั้งสุดท้ายก็ตอนที่อยู่เกาะช้าง (อย่างที่เล่าให้ฟังเมื่อวันก่อน)  นานมาแล้วที่ไม่ได้สัมผัสร้านอินเตอร์เน็ตที่ราคาแพงอย่างนี้ (นาทีละตั้ง 2 บาท) ค่ะ  จำได้ว่าวันนั้นเขียนบันทึกอยู่ไม่กี่ประโยค  แต่หมดเงินไปหลาย (ร้อย) ตามประสาคนพิมพ์ช้า  พอวันอังคารมาที่จันทบุรี  ไปดูงานที่โครงการพระราชดำริอ่าวคุ้งกระเบน  วันสุดท้ายคือ วันพุธ  ไปที่บ้านผู้ใหญ่วิบูลย์  เข็มเฉลิม  เชื่อไหมคะว่า 2 วันนี้ผู้วิจัยไม่เห็นร้านอินเตอร์เน็ตเลย (ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อค่ะ  เพราะ  เป็นความจริง)  กว่าจะกลับมาถึงลำปางก็ตอนตี 3 (เช้าวันพฤหัส)  เหนื่อยแสนเหนื่อย  อยากจะนอนพักสัก 2 วันค่อยลุกขึ้นมาทำงาน  แต่ก็ทำไม่ได้  เพราะ  เช้าวันนี้ (วันพฤหัส) ต้องเดินทางไปที่อำเภอวังเหนืออีก  เนื่องจากยังหาชุมชนให้นักศึกษาเข้าไปศึกษาได้ไม่ครบ 11 ชุมชนเลย  กว่าจะลากสังขารลงจากเตียงได้ก็ตอนประมาณ 2 โมงเช้า  จัดการทำกิจวัตรประจำวันเสร็จ  รถของมหาวิทยาลัยก็มารับพอดี  วันนี้อาการดีขึ้นนิดหน่อยหาชุมชนได้อีก 3 ชุมชน  รวมแล้วตอนนี้หาได้ประมาณ 5 ชุมชน  เหลืออีก 6 ชุมชน  ต้องไปหาต่อในวันพรุ่งนี้ (สาธุ! ขอให้สวรรค์มีตา  ฟ้าเห็นใจ  ดลบันดาลให้ลูกช้างหาชุมชนอีก 6 ชุมชนให้ได้ในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิด  สาธุ!)  อาทิตย์หน้าก็ต้องไปอีก  เนื่องจากนัดหมายกับนายอำเภอไว้แล้ว  ที่เขียน (บ่น) ไป (บ่น) มาตั้งนานไม่มีอะไรหรอกค่ะ  แค่อยากบอกว่าเมื่อไหร่เมืองไทยจะเจริญกว่านี้  อยากให้ที่ที่เราจะไปมีเครื่องบินไปจอดที่นั่น  จะได้ทุ่นเวลา  ไม่ต้องเดินทางเหนื่อยอย่างนี้  ลำพังพานักศึกษาไปทัศนศึกษาก็เดินทางวันละหลายร้อยกิโลแล้ว  พอกลับมาถึงลำปางก็ยังหนีไม่พ้น  ต้องเดินทางอีกวันละหลายร้อยกิโล  เฉพาะวันนี้นับเบ็ดเสร็จก็ 300 กว่ากิโลแล้ว 

       มาแล้วเรื่องดีกว่า  จั่วหัวบันทึกไว้ว่า  "กลับมาแล้ว......พร้อมกับ........."  หลายคนคงสงสัย (หรือว่าไม่สงสัย)  ว่าที่เว้น...... ไว้  ใน....... ผู้วิจัยตั้งใจจะเขียนอะไร  ขอเฉลยเลยก็แล้วกันนะคะว่าตั้งใจจะเขียนว่า "กลับมาแล้วค๊า  พร้อมกับความรู้  ความประทับใจเต็มเปี่ยม  อยากให้ทุกคนได้ไปสัมผัสสิ่งดีๆในเมืองไทยอย่างนี้บ้าง"  (ต้องขอยกความดีความชอบให้กับพี่ต๋อม  ธีระ  ที่อุตส่าห์แนะนำสถานที่ทัศนศึกษาที่ลงตัวให้อย่างนี้  ขอบคุณมากค่ะ) 

       สิ่งที่ผู้วิจัยได้รับจากการพานักศึกษาไปทัศนศึกษาในครั้งนี้นั้น ไม่สามารถที่จะบรรยายออกมาได้หมด  เอาเป็นว่าจะขอสรุปคร่าวๆ  ดังนี้นะคะ

      1.มิตรภาพ  ระหว่างการเดินทางที่ทุกคนมีให้แก่กัน  ทั้งคนขับรถ  นักศึกษา  เพื่อนอาจารย์ (ที่ไปด้วยกัน 1 คน)  รวมทั้งเจ้าหน้าที่ประจำสถานที่ต่างๆ  ที่มอบรอยยิ้ม  ความเป็นกันเองให้แก่กัน  ทำให้การเดินทางในครั้งนี้ไม่มีเหตุการณ์ตึงเครียด  เสียงบ่นเบื่อ  เหนื่อย  หรืออยากกลับบ้านเร็วๆเลย  ในทางตรงกันข้าม  กลับมีการเรียกร้องให้จัดการศึกษาแบบนี้อีก  ผู้วิจัยจึงตั้งใจไว้ว่าปีหน้าจะจัดทัวร์ 4 ภาคทั่วไทย  เพื่อให้นักศึกษาได้เห็นแนวทางการพัฒนาของภูมิภาคต่างๆที่มีความแตกต่างกันไปตามลักษณะทางสังคม  วัฒนธรรม  ภูมิศาสตร์

      2.ความรู้  สำหรับความรู้ที่ได้รับนั้นมีมากมายนับไม่ถ้วน  คงบรรยายได้ไม่จบ  แต่มีอยู่หลายอย่างเหมือนกันที่ผู้วิจัยเห็นว่าแม้จะต่างสถานที่   ต่างกิจกรรม  แต่มีแนวทางการพัฒนาที่เหมือนกัน  นั่นคือ  การพัฒนาที่นำไปสู่ความยั่งยืน  ทุกที่ที่ไปไม่ว่าจะเป็นอุทยานแห่งชาติเกาะช้าง  ศูนย์ศึกษาพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  และบ้านผู้ใหญ่วิบูลย์  เข็มเฉลิม  ต่างมุ่งพัฒนาเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน  ทุกที่บอกตรงกันว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากความเข้าใจ  ความร่วมแรงร่วมใจของประชาชน  หน่วยงานต่างๆต้องทำงานโดยเอาคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา  ไม่ใช่เอาหน่วยงานราชการเป็นศูนย์กลาง  แม้กระทั่งศูนย์ศึกษาพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ   ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริของในหลวง  แต่ก็ไม่เคยบังคับชาวบ้าน  หากเห็นว่าชาวบ้านทำไม่ถูกต้อง  ที่นี่จะมีวิธีการเปลี่ยนความคิดชาวบ้าน  โดยการทำให้ดูจริงๆว่าแนวทางที่ควรจะเป็นหรือทางเลือกอื่นๆมีอะไรบ้าง (โดยไม่ชี้นิ้วหรือตำหนิว่าชาวบ้านทำผิด)  ให้ชาวบ้านสังเกต  และตัดสินใจด้วยตนเอง  เมื่อเป็นอย่างนี้การพัฒนาที่ยั่งยืนจึงจะเกิดขึ้น  เนื่องจากทุกคนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง  โดยมีผู้ที่รู้เป็นผู้ชี้แนวทาง  ไม่ใช่ชี้นำอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต

      3.ข้อคิด  ในการทำงานพัฒนานั้น  จากการฟังบรรยายสรุปและลงศึกษาในสถานที่จริงจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า  ความจริงแล้วประเทศไทยนั้นมีหน่วยงานที่ทำงานด้านพัฒนามากมาย  ไม่ใช่ว่าไม่มี  หรือมีไม่เพียงพออย่างที่หลายคนเคยบอกไว้  เพียงแต่หน่วยงานเหล่านี้ทำงานซำซ้อนกัน  โดยเฉพาะหน่วยงานราชการ  ทุกที่บอกตรงกัน  (โดยไม่ได้นัดหมาย) ว่าเมื่อก่อนหน่วยงานราชการทำงานซำซ้อนกัน  ก็เลยมัวแต่ทะเลาะกัน  ไม่ก้าวไปไหนสักที  (ที่มีคนบอกว่าเมืองไทยไม่เจริญ  คงเป็นเพราะสาเหตุนี้ด้วยอย่างหนึ่ง) แต่แนวทางการทำงานพัฒนาแบบใหม่  ทุกหน่วยงานต้องหันหน้าเข้าหากัน  มาทำงานร่วมกัน  ต้องอะลุ่มอล่วยกัน  ผลงานที่เกิดขึ้นไม่ใช่ผลงานของราชการ  แต่เป็นผลงานของประชาชน  เพราะ  คนทำคือประชาชน  ไม่ใช่ราชการ

       ความจริงยังมีอีกมากค่ะ  ถ้ามีเวลา (เหลือ) จะมาเล่าให้ฟังอย่างละเอียดอีกทีนะคะ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 14930เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2006 19:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท