นโยบายและแผน
นโยบายและแผน กลุ่มนโยบายและแผน

ชอปปิ้งหน้าทีวี


ชอปปิ้งหน้าทีวี
ชอปปิ้งหน้าทีวี        บ่อยไหมที่คุณเผลอเอื้อมมือหนึ่งไปหยิบบัตรเครดิตและอีกมือหนึ่งยกหูโทรศัพท์มากดหมายเลขที่โชว์หราบนหน้าจอโทรทัศน์ เพื่อสั่งซื้อสินค้า                   .....หากคุณเป็นหนึ่งในสาวกนักชอปทางบ้าน สิ่งที่คุณจะอ่านต่อไปนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อคุณ                   การซื้อขายในลักษณะดังกล่าวตามกฎหมายเรียกว่า การซื้อขายตามคำพรรณนา เป็นการที่ผู้ซื้อตกลงซื้อเพราะเชื่อคำบรรยายของผู้ขาย อันจะทำให้ผู้ขายมีหน้าที่ส่งมอบสินค้าให้ตรงตามที่ได้บรรยาย เพราะการโฆษณาทางโทรทัศน์เป็นการเสนอขายอย่างหนึ่ง และการโทรศัพท์เข้าไปสั่งซื้อก็เป็นการสนองคำเสนอ                   แต่เรื่องมันมีมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับว่ามีรายการเสนอไว้อย่างไร

                   ที่เจนหูเจนตาก็ คือ เสนอขายโดยมีเงื่อนไขว่า.......................

                   หากผู้ซื้อไม่พอใจ ยินดีคืนเงิน หรือ..................................

                   เอาไปลองใช้สัก 30 วัน ถ้าไม่พอใจก็ยินดีคืนเงินเช่นกัน                   เป็นการกระตุ้นให้มือของผู้ซื้อขยับเขยื้อนไปหมุนหมายเลขโทรศัพท์ได้รวดเร็วคล่องแคล่ว เพราะเห็นว่าตนจะไม่ต้องเสียอะไร แถมอาจได้ใช้สินค้าฟรี                   แม้การซื้อขายเช่นนี้จะเป็นการซื้อขายตามคำพรรณนาดังที่กล่าวแล้ว แต่เงื่อนไขประมาณนี้ ทำให้เกิดความสับสนว่าจะเป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาดไปหรือเข้าข่ายนี้กฎหมายเรียกว่า ขายเผื่อชอบ ซึ่งมีผลทางกฎหมายต่างกัน                   การขายเผื่อชอบ ในทางกฎหมายคือ การที่ผู้ซื้อมีโอกาสตรวจสินค้าก่อนรับซื้อ โดยนำสินค้าไปลองใช้ก่อน กฎหมายถือว่ายังไม่เป็นการสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดจนกว่าผู้ซื้อจะรับซื้อ ซึ่งการรับซื้ออาจทำโดยการบอกว่าจะรับซื้อ หรือไม่บอกว่าไม่รับซื้อในเวลาที่กำหนด ไม่ส่งสินค้าคืนในกำหนด ใช้ราคาสินค้าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือขายสินค้าหรือกระทำการใด ๆ ที่แสดงว่ารับซื้อสินค้าก็เป็นอันว่าตกลงซื้อสินค้าแล้ว                   การซื้อขายทางโทรศัพท์จากการโฆษณาทางโทรทัศน์ อาจเป็นหรือไม่เป็นการซื้อขายเผื่อชอบ ต้องแล้วแต่ข้อตกลงในสัญญาเป็นอย่างไร ก่อนตัดสินใจกดโทรศัพท์สั่งซื้อ การซื้อขายธรรมดาที่มีการตกลงว่าจะคืนเงินให้หากไม่พอใจสินค้า เป็นสัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไขว่าสามารถเลิกสัญญาได้ ส่วนการซื้อขายเผื่อชอบนั้นต้องให้ได้ความว่า ผู้ซื้อยังไม่ต้องตกลงใจซื้อจนกว่าจะลองใช้แล้วตกลงรับซื้อสินค้านั้น                   ผลของกฎหมายคือ การซื้อขายธรรมดา กรรมสิทธิ์หรือความเป็นเจ้าของสินค้ามาอยู่ที่ผู้ซื้อเมื่อได้รับมอบของ แต่หากเผื่อชอบนั้นยังต้องให้มีการตกลงซื้อก่อน ผู้ซื้อมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น จะเอาสินค้าไปขายหรือยกให้ใครไม่ได้ เวลาจะไม่เอาสินค้าก็เพียงคืนสินค้าไป ผู้ขายก็หมดความผูกพันที่จะต้องขายสินค้าให้ผู้ซื้อและสามารถนำสินค้าไปขายให้ผู้อื่นต่อไป ผู้ซื้อก็ไม่ต้องถูกบังคับให้ต้องซื้อหรือชำระเงิน แต่ถ้าเป็นการซื้อขายธรรมดา การคืนของคืนเงินจะเป็นการบอกเลิกสัญญาซื้อขาย ทำให้เกิดหน้าที่และความรับผิดตามมามากกว่าการขายเผื่อชอบ                   การฟ้องร้องเพื่อดำเนินการบังคับให้ทำตามสัญญาซื้อขายและสัญญาซื้อขายเผื่อชอบนั้นมีลักษณะและความยากง่ายในการบังคับผู้ขายต่างกัน การซื้อขายธรรมดาผู้ซื้อต้องพิสูจน์ว่าตนไม่พอใจสินค้านั้นจึงจะสามารถเลิกสัญญาเอาเงินคืนได้ ในขณะที่การซื้อขายเผื่อชอบเพียงแต่บอกไม่รับซื้อก็เพียงพอแล้ว                   ดังนั้น ก่อนที่คุณจะตัดสินใจซื้อสินค้าใดควรไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนอย่าได้ถูกเวลาที่จำกัดไม่กี่นาทีให้ตัดสินใจเพื่อจะได้ของแถมเป็นเหตุให้ต้องเสียใจภายหลัง
คำสำคัญ (Tags): #การขายเผื่อชอบ
หมายเลขบันทึก: 147798เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2007 09:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 09:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท