คนกับป่า: การแก้ปัญหาแบบวัวพันหลัก


ในขณะที่พื้นที่ป่ามีอยู่เท่าเดิม และกำลังลดลงอย่างช้าๆจากการออกเอกสารสิทธิ์ถือครองที่ดินใหม่ๆ จากพื้นที่ป่า และพื้นที่ป่าไม้ก็ลดลงเนื่องจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้แบบทำลายล้าง

 จากประสบการณ์การมีชีวิตอยู่กับป่ามาตั้งแต่เด็ก มีญาติพี่น้องทำการเกษตรในที่ป่าที่พื้นที่ปากช่อง กลางดง เขาใหญ่ ทำวิจัยเรื่องป่าไม้ วนเกษตร และไร่เลื่อนลอย มาเป็นระยะๆ ตลอดช่วงเกือบ ๖๐ ปีของชีวิต จนถึงทุกวันนี้

ทำให้ผมมองเห็นการพัฒนาการทรัพยากรป่าไม้ ที่ จนตรอกเข้าทุกวัน 

เมื่อวันก่อนก็ไปพบปัญหาใหญ่ที่ดงหลวง เมื่อวานก็ไปสัมภาษณ์เกษตรกรที่วังน้ำเขียว

ทำให้ผมรูสึกว่าคงจะต้องสะกิดสะเกาอะไรสักหน่อย เพื่อชาติครับ 

ที่จริง ผมได้พยายามนำเสนอเรื่องนี้ในทุกโอกาสที่สามารถทำให้คนได้รับทราบปัญหาของชาติ ในเรื่องทรัพยากรป่าไม้ ว่าเรากำลังทำงานแบบวัวพันหลักเข้าไปทุกที และยังไม่เห็นวี่แววว่าจะทำให้ปัญหาคลี่คลายลงได้เลย 

เราต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งคือ

การอยู่กับป่าเป็นธรรมชาติของคนไทย ที่คนที่อยู่รอบหรือใกล้ หรือมีโอกาสเข้าใกล้ป่า ก็จะพัฒนาระบบชีวิตให้พึ่งพิงทรัพยากรป่าไม้อย่างเป็นปกติแบบธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ในขณะที่พื้นที่ป่ามีอยู่เท่าเดิม และกำลังลดลงอย่างช้าๆจากการออกเอกสารสิทธิ์ถือครองที่ดินใหม่ๆ จากพื้นที่ป่า  และพื้นที่ป่าไม้ก็ลดลงเนื่องจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้แบบทำลายล้าง 

สาเหตุแห่งการทำงานแก้ปัญหาแบบวัวพันหลักนั้น เริ่มและพัฒนามาจาก 

1.   กฎหมายการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน จะจัดสรรพื้นที่ ป่าเสื่อมโทรม ให้กับผู้ที่ใช้ประโยชน์อยู่

a.    ทำให้มีความจำเป็นต้องตัด ทำลายต้นไม้ให้ ป่าที่อุดมสมบูรณ์ กลายเป็น ป่าเสื่อมโทรม มากที่สุด เร็วที่สุด เท่าที่จะทำได้ ใครรักษาป่าจะเสียสิทธิ์นี้

b.   การห้ามปลูกไม้มีค่าบางชนิดในพื้นที่ ทำให้คนบางคนไม่สนใจดูแลพื้นที่ของตนเองให้เป็นป่า ที่อุดมสมบูรณ์

c.    การส่งเสริมทั้งโดยตรงและโดยอ้อมให้มีการผลิตพืชไร่ที่ใช้ระบบการผลิตแบบทำลายฐานทรัพยากรในพื้นที่ป่าและพื้นที่ป่าไม้ที่ยังมีความอุดมสมบูรณ์ของดินค่อนข้างดี ถึงดีมาก อยู่พอสมควร

2.   กฎหมายการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ที่ไม่จำกัดอาชีพและการใช้ประโยชน์ที่ดิน ทำให้นายทุนจากภายนอก ที่ต้องการถือครองที่ดินเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ เข้าไปกว้านซื้อที่ดินที่ เสื่อมโทรม จากการใช้ที่ดิน พื้นที่ป่าไม้ เดิม แบบทำลายล้าง จนเสื่อมโทรม

3.   การปฏิบัติงานจัดสรรที่ทำกินให้กับเกษตรกรแบบไม่สนใจว่าชาวบ้านจะอยู่ได้หรือไม่ ทำให้คนส่วนใหญ่ ที่ขาดความรู้ในการใช้ที่ดินที่ถูกต้องมาแต่เดิม อยู่ไม่ได้ ต้องขายที่ให้คนอื่น หรือนายทุน หรือทิ้งที่ไว้เฉยๆ แล้วกลับไปใช้ชีวิต รับจ้าง และ การดำรงชีวิตที่พึ่งพิงและทำลายระบบทรัพยากรป่าไม้

4.   คนภายนอกที่เข้าไปแก้ปัญหา ก็ยังทำงานแบบปากว่า ตาขยิบ และแม้จะแก้ปัญหาก็แก้แบบ ของชำร่วย เล็กๆน้อย แบบขอไปที ทำเสร็จไปวันๆ เนื่องด้วยติดขัดเรื่อง เวลา งบประมาณ กฎระเบียบ และความรู้และปัญญาในการทำงานที่สามารถเป็นจริงได้

5.   คนภายในทุกคนก็ใกล้ชิดกัน จะแก้ไขอะไรก็ยาก ลูบหน้าปะจมูก ญาติพี่น้องกันทั้งนั้น

6.   การพัฒนาแบบเพิ่มการเป็นหนี้ กองทุนหมุนเวียน (จนกลายเป็นกองทุกข์กองใหญ่) ในทุกหย่อมหญ้า ทุกชุมชน ทำให้ทุกคนอยู่ในภาวะปากกัดตีนถีบ แบบพยายามจะเอาตัวรอดทุกรูปแบบ แต่ก็ยังไม่มีใครรอด มีแต่รอเงิน ฌาปนกิจจากระบบงานอาชีพ และ ธกส มาช่วยล้างหนี้หลังตัวเองตาย

7.   การพัฒนาแบบเน้นการเจริญเติบโตแบบ GDP ที่สนับสนุนให้มีการใช้จ่ายเงินมาก ทำให้ชาวบ้านทั่งไปวิ่งตามกระแสบริโภคนิยม มีแต่สร้างหนี้ ใช้เงินมาก แหล่งเงินที่ยังมีก็มักมาจาก

a.    การขายที่ดิน

b.   การขายแรงงานทั้งในพื้นที่ ในเมือง และต่างประเทศ

c.    การแต่งงานกับคนแก่มีเงิน หรือชายต่างชาติ (หาคนเลี้ยง)

d.   การเก็บหาของป่าและทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ที่มีราคาแพงขึ้นทุกวัน

8.   การพัฒนาการสันทนาการ (เช่น สนามกอล์ฟและรีสอร์ท) การทำที่พักผ่อนของคนมีเงินเหลือเฟือ และการท่องเที่ยวที่อาศัย ป่าไม้ แหล่งน้ำ ได้ทำให้

a.    มีการแก่งแย่งการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด อย่างรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนคนที่เคยพึ่งพาระบบทรัพยากรเดิมอยู่ได้ยาก

b.   มีการแก่งแย่งเชิงพื้นที่ และเชิงกิจกรรมการใช้ที่ดิน

c.    มีการเปลี่ยนประเภทการใช้ที่ดิน 

d.   มีการซื้อขายที่ดินเพื่อการเก็งกำไร

e.    เกษตรกรที่ยากจนมักขายที่ดิน และไปบุกรุกในที่ใหม่ต่อไป

f.      มีการเก็บเกี่ยวผลิตผลจากป่าไม้ออกมาสนับสนุนการท่องเที่ยวมากขึ้น 

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆน้อยๆ ที่พอจะเล่าสู่กันฟังได้ ของระบบการแก้ปัญหาป่าไม้ และ ทรัพยากรป่าไม้แบบ วัวพันหลัก

ที่มีแต่จะรัดคอวัวแน่นขึ้นทุกวัน

และวัวตัวนี้ชื่อว่า "ประเทศไทย" ครับ

หมายเลขบันทึก: 147789เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2007 08:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

  • =ชอบความจริงที่เล่าฮูเขียน แต่ปฏิบัติยากเพราะมีเงื่อนไขเถื่อนเยอะ และคนจริงที่จะไปแก้ไขมีน้อย รวมทั้งวิธี คิด วิธี ทำ ระบบ และนโยบายก็ไม่เหมาะสม ความคิดนี้จึงขายไม่ออก
  • เว้นแต่มาขายในสนามเรียนรู้ของ คนแซ่เฮ
  • =ชอบวิธีตอบคำถามด้วยรูปภาพ ของ ท่านสมนึก จึงเอาอย่างบ้าง อิอิ  

เห้นด้วยกับพ่อครูบาที่ว่า ถึงแม้นจะคิดถูก คิดได้ดี แต่นำไปใช้จริงได้ยาก หรือใช้ไม่ได้เลยเนื่องจากปัจจัยอื่น ๆ รวมถึงโอกาศ และช่วงเวลาที่เหมาะสม  เพราะฉะนั้น ความคิดส่วนใหญ่ที่ดี ก็เริ่มกลายเป็นทฤษฎี ที่เขียนอยู่ในตำรา  บางครั้งอาจจะนำออกมาใช้ได้ตามโอกาศ  แต่ที่สำคัญ คือ ต้องกล้าที่จะคิด กล้าที่จะพูดและที่สำคัญที่สุด กล้าที่จะทำ ครับ

นี่แค่ปัญหาที่ผมเจอมาครับ

ยังไม่ได้คุยทางเลือกเลยครับ

ผมจะเขียนต่อดีไหมเนี่ย

เพราะ ดูเหมือนจะถูกบล็อกทางออกไว้หมดแล้ว

ผมคิดว่า

ถ้าเราไม่เอาปัญหามาสาธยาย เราก็คิดว่าทุกคนทำถูกตลอดเวลา

แล้วถ้าถูก ก็ไม่ต้องทำอะไรอีก

ถ้าไม่ถูก ก็ต้องช่วยกันหาทางแก้

ทำดีกว่าพูดครับ

และผมยังเชื่อว่า ไม่มีใครอยากทำสิ่งไม่ดี

ที่ทำในสิ่งที่สิ่งที่สังคมทั่วไปไม่ยอมรับนั้น เพราะ

  • จำเป็นไม่มีทางเลือกอื่น ที่ทำได้
  • ไม่รู้ว่าไม่ดี
  • รู้ แต่คิดว่าคนอื่นไม่รู้
  • รู้แต่คิดว่าจะกลบเกลื่อนได้โดยวิธีอื่น หรือโดยเวลา

 เราจึงต้องเริ่มที่

  • บอกให้รู้
  • ทำให้ดู
  • อยู่ให้เห็น
  • โปร่งใส
  • ตรวจสอบได้
  • แล้วทุกอย่างจะค่อยปรับในทางที่ดีกว่าเดิมครับ

นี่คือสิ่งที่ผมเชื่อ และทำมาตลอด ครับ

ได้แค่ไหน พอใจแค่นั้นครับ

และไม่คิดจะสร้างทฤษฎีใดๆ มากกว่าการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อสังคม

ผมเกิดมาเพื่อวัตถุประสงค์ ประมาณนี้ครับ

และผมใช้วิธี ทำงาน จริงๆ ไม่ใช่นักโต้วาที

ใครคิดจะโต้วาที ผมยอมแพ้ยกเหรียญทองให้ไว้ก่อนเลยครับ

 แต่เรื่องทำงาน ผมไม่คิดจะยอมแพ้ใคร

ตัวต่อตัว หมัดต่อหมัด

ยังไงก็ต้องลองก่อนจะตัดสินใจว่าจะยอมแพ้หรือไม่ครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท