AnthroCat-Thailand
นาย ปรัชญาณินทร์ วงศ์อทิติกุล

มองสังคมไทยในกระแสโลกาภิวัตน์ (๓/๔)


เมื่อรายจ่ายสำหรับการบริโภคสูงมากยิ่งขึ้น รายได้ถึงแม้จะสูงตาม ก็ไม่อาจจะทำให้คนไทยพ้นสภาพแห่งการเป็นประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่มีฐานะยากจนไปได้ เพราะเหตุที่ต้องสูญเสียรายได้ไปกับรายจ่ายเพื่อการบริโภคสินค้าที่ตนเองเคยผลิตได้นั่นเอง

ด้านเศรษฐกิจ

                  ดังที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นแล้วว่า ยุคปัจจุบันเป็นยุคสมัยที่อยู่ภายใต้แนวความคิดของโลกาภิวัตน์ และประเทศไทยก็อยู่ในช่วยเวลาแห่งการดำรงอยู่ในสังคมโลกที่ไม่อาจอยู่อย่างสงบนิ่งหรือให้ความสนใจแต่เฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นภายในประเทศเท่านั้น ขยายความออกไปได้อีกว่า ประเทศไทยไม่สามารถที่จะอยู่เพียงลำพังได้ ภาคเศรษฐกิจ ภาคการเมือง ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากประเทศคู่ค้าและตลาดการลงทุน ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์ทางสังคม การเมือง วัฒนธรรม ก็ถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขในการกำหนดสถานะของประเทศว่ามีความพร้อมและมีความเจริญรุดหน้าเทียบทันประเทศอื่น ๆ หรือไม่ ทั้งนี้เพราะ การเมืองมีส่วนเกี่ยวโยงอย่างแยกไม่ขาดกับระบบเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคม ดังนั้น ประเทศจึงมีการนำนโยบายด้านการจัดระเบียบสังคมโดยอิงกับระบบเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ เพราะการถูกผูกเข้ากับระบบเศรษฐกิจโลกอย่างแนบชิดนี้เอง จึงเป็นสิ่งผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศถูกนำมาเป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางการจัดระเบียบสังคม เพื่อให้เกิดระบบควบคุมที่มีประสิทธิภาพและสามารถตอบสนองต่อนโยบายหลักของภาครัฐได้ และผู้ที่มีส่วนในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจได้แก่ ภาคธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ (enterprises / corporations) กลุ่มนักธุรกิจการเมือง (ไม่ใช่นักการเมืองทั่วไป) กลุ่มผู้มีอำนาจด้านเศรษฐกิจอื่น ๆ กลุ่มผลประโยชน์ที่มีสายสัมพันธ์ระหว่างกันที่ถือกันว่าเป็นกลุ่มนักบริหารเบื้องบน กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้นับว่าเป็นกลุ่มองค์กรหลักที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันและกำหนดทิศทางเศรษฐกิจอยู่เบื้องหลังเป็น invisible hands และเป็นผู้ที่กระทำการอย่างแยบยลในการแสวงหาผลประโยชน์จากนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ 

            การจัดระเบียบสังคมผ่านทางระบบเศรษฐกิจนี้ จะเริ่มเห็นได้ชัดเจนมายิ่งขึ้น เมือประเทศไทยก้าวเข้าสู่ตลาดระดับโลกมากยิ่งขึ้น การค้าขายที่มีสังคมประเทศอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือไปจากทวีปเอเชียเข้าร่วมเป็นคู่ค้าสำคัญ การขยายฐานการผลิตและการเชิญชวนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยก็จะมีมากยิ่งขึ้น ด้านแรงงานก็ถือว่ามีส่วนสัมพันธ์และสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ แต่จำเป็นต้องเป็นแรงงานฝีมือเท่านั้น ที่จะสามารถเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมได้ สำหรับงานภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นงานภาคพื้นฐานและดั้งเดิมของประเทศไทยก็จะถูกละเลยไป เกิดภาวการณ์ขาดแรงงานที่จะมุ่งมั่นทำงานภาคเกษตรกรรมมากยิ่งขึ้น เพราะกระแสโลกาภิวัฒน์ที่นำมาซึ่งความทันสมัยและค่านิยมของการทำงานในสำนักงานนั้น ซึ่งสิ่งนี้ก็ไม่สามารถที่จะตำหนิกลุ่มบุคคลรุ่นใหม่นี้ได้ ด้วยเพราะเหตุที่การให้ค่านิยมการละทิ้งงานภาคเกษตรกรรมนี้มีมานาน ตั้งแต่เริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ มาแล้ว ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยพยายามอย่างยิ่งที่จะผันตัวเองไปเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NICS) และพยายามพัฒนาความทันสมัยให้ทัดเทียมประเทศตะวันตก ทั้ง ๆ ที่ โดยรากฐานแล้วประเทศไทยมีพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับอาชีพเกษตรกรรมและประเทศไทยมีทุนทางเศรษฐกิจอยู่ในภาคการเกษตรมากกว่า รวมทั้ง อาชีพดั้งเดิมที่ประชาชนคนไทยมีทักษะดีและมีองค์ความรู้ คือ การประกอบอาชีพการเกษตร เพียงแต่ว่า ขาดการสนับสนุนข้อมูลที่เป็นหลักวิชาการที่ดีและเหมาะสมจากภาครัฐ ทำให้การทำการเกษตรของประเทศเป็นไปในลักษณะที่ ตาดีได้ ตาร้ายเสีย มาโดยตลอด และไม่อาจตอบสนองด้านผลกำไรของระบบเศรษฐกิจโดยรวมได้ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่ไม่ได้เกิดจากการขายผลผลิต แต่กลับเผชิญความเสี่ยงที่ไปผูกติดกับต้นทุนการผลิตมากกว่า และการมีเทคโนโลยีที่ไม่ทันสมัยเพียงพอและไม่ได้รับการพัฒนาองค์ความรู้เดิมให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ รวมไปถึงสภาพภูมิอากาศที่ไม่แน่นอน อันเนื่องจากการขาดการรักษาสภาพสมดุลทางนิเวศวิทยา พื้นที่หลายต่อหลายแห่งถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นที่ตั้งของแหล่งนิคมอุตสาหกรรม โดยมีการรุกล้ำอาณาเขตของพื้นที่ทางการเกษตรเดิม เช่นที่เกิดขึ้น รอบ ๆ พื้นของนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี เป็นต้น หากมีการรุกล้ำพื้นที่ทางการเกษตรมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยจะประสบปัญหาเกี่ยวกับการผลิตสินค้าภาคการเกษตรเพื่อบริโภคภายในประเทศ พูดง่าย ๆ พูดชัด ๆ ก็คือ ประเทศไทยจะไม่มีข้าวให้บริโภค ไม่มีผลไม้ทานตามฤดูกาล รวมไปถึงพืชผักประเภทต่าง ๆ อีกด้วย หากเกิดภาวะเช่นนี้แล้ว ประเทศไทยก็จำเป็นต้องพึ่งการนำเข้าสินค้าทางการเกษตรที่ตนเองเคยเป็นผู้ผลิตและเป็นผู้ส่งจำหน่ายให้แก่ตลาดต่างประเทศ ประเทศไทยก็จะเปลี่ยนฐานะและบทบาทของตนเองมาเป็นผู้รับซื้อสินค้าเข้ามาป้อนตลาดบริโภคภายในประเทศแทน ซึ่งนับว่าเป็นการเสียดุลการค้าอย่างยิ่ง

             ถึงแม้ประเทศไทยจะได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศแรงงานฝีมือในภาคงานผลิตอุตสาหกรรมหนักต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ ฯลฯ และอาจสามารถนำเงินตราเข้าประเทศได้จำนวนมากในแต่ละปี และมีมีรายได้ประชากรที่เพิ่มขึ้นก็ตาม อย่างไรเสียก็จงอย่าลืมว่า ประเทศไทยเคยอยู่กินแบบเก็บผักข้างรั้วกิน ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว แต่เมื่อประชากรในอนาคตผันตนเองเข้าสู่การเป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจการค้าแบบตะวันตกเสียหมด งานภาคการเกษตรก็จะกลายเป็นอดีตที่เคยเกิดขึ้น และไม่มีใครสืบสานต่อไป รูปแบบการบริโภคก็จะเป็นไปในรูปแบบของการ ซื้อ เพียงอย่างเดียวและอาจจะซื้อมาเพื่อบริโภคในราคาแพงลิบลิ่ว เมื่อรายจ่ายสำหรับการบริโภคสูงมากยิ่งขึ้น รายได้ถึงแม้จะสูงตาม ก็ไม่อาจจะทำให้คนไทยพ้นสภาพแห่งการเป็นประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่มีฐานะยากจนไปได้ เพราะเหตุที่ต้องสูญเสียรายได้ไปกับรายจ่ายเพื่อการบริโภคสินค้าที่ตนเองเคยผลิตได้นั่นเอง

 

 

หมายเลขบันทึก: 146132เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2007 14:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 11:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท