AnthroCat-Thailand
นาย ปรัชญาณินทร์ วงศ์อทิติกุล

มองสังคมไทยในกระแสโลกาภิวัตน์ (๒/๔)


ความเป็นวัฒนธรรมหลวงจะมีความทัดเทียมกับความเป็นวัฒนธรรมราษฎร์อย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่นั่น ก็ไม่ได้หมายความว่า วัฒนธรรมหลวงจะด้อยค่าไป แต่ความเป็นวัฒนธรรมราษฎร์ต่างหากที่ได้รับการยกระดับให้มีสถานะทางวัฒนธรรมที่สูงขึ้นพร้อมกับการยอมรับ

           อนึ่ง สำหรับด้านวัฒนธรรมนั้น ถือได้ว่า เคยได้รับการ ปั้นผีลุก ปลุกผีตื่น มาเป็นระยะ ๆ แต่ทั้งนี้ โดยมากมีการสนับสนุนและส่งเสริมวัฒนธรรมส่วนกลาง หรือ วัฒนธรรมของผู้มีอำนาจ และอาจเรียกว่า วัฒนธรรมหลวง ก็ได้ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่แยกอย่างเด็ดขาดจากวัฒนธรรมราษฎร์ หรือวัฒนธรรมท้องถิ่น

          โดยที่บางครั้ง ดูราวกับว่า ประเทศไทยนั้นมีวัฒนธรรมที่เป็นแบบแผนเพียงวัฒนธรรมเดียว ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยได้แบ่งความหลากหลายทางชีวภาพและกายภาพออกเป็น ภาค (regions) ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตก ก็ตาม ซึ่งในแต่ละภาค ก็มีความโดดเด่นและเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละพื้นที่ แต่ทั้งนี้ ก็ยังคงมีความพยายามที่จะให้ความสำคัญต่อวัฒนธรรมเพียงหนึ่งวัฒนธรรมมาโดยตลอด และการให้ความสำคัญที่กล่าวถึงนี้ ปรากฏผ่านระบบการเรียนการสอนที่ได้หยิบยกเอาเฉพาะวัฒนธรรมภาคกลางมาเป็นตัวอย่างและเป็นพื้นฐานในการกำหนดรูปแบบและเนื้อหา ด้วยเพราะเหตุนี้ จึงส่งผลให้เกิดความแปลกแยกในด้านความหลากหลายและการให้คุณค่าต่อวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเองอยู่ในระดับที่ด้อยกว่าวัฒนธรรมที่มาจากการได้เรียนรู้จากแบบเรียน หรือที่ได้รับการถ่ายทอดปลูกฝังจากผู้มีอำนาจเหนือกว่า           

           ดังนั้นแล้ว ถ้าหากว่าประเทศไทยมีวัฒนธรรมที่หลากหลายและการรับรู้ถึงความหลากหลายนี้จะสามารถได้รับความนิยมในวัฒนธรรมอันหลากหลายนี้ได้หรือไม่? คำตอบคือ ย่อมได้ เพราะการพึ่งใบบุญจากสื่อที่เรียกว่า โทรทัศน์ซึ่งเป็นสื่อที่สามารถนำเสนอและจูงใจบรรดาผู้ที่ชมอยู่ให้เกิดความนิยมในความหลากหลายได้เป็นอย่างดี ความนิยมที่ว่านี้ ก็คือ ความยอมรับและนำรับเอามาใช้จนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วไป ทั้งนี้ เพราะเป็นผลพวงมาจาการรณรงค์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอันเกิดจากนโยบายภาครัฐ โดยพยายามที่จะหยิบยกความแปลกใหม่และความหลากหลาย โดยจุดประเด็นจากสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน (unseen) สิ่งที่ถูกซ่อนไว้โดยลักษณะภูมิศาสตร์และธรรมชาติทั้งหลาย ต่างถูกนำออกมาแสดงสู่พื้นที่สาธารณะมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงผู้ที่เป็นเจ้าของร่วมของสิ่งแปลกใหม่ที่ถูกซ่อนไว้เหล่านี้ ต่างก็พยายามเปิดพื้นที่ของตนแก่สังคมเช่นเดียวกัน ทั้งหมดผ่านกระบวนการด้านนโยบายและการโหมโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ โดยเน้นไปที่ สื่อโทรทัศน์และการประชาสัมพันธ์สู่ตลาดนอกประเทศ ดังนั้น ประเทศไทยจะมีการทุ่งงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อทำการประชาสัมพันธ์ความแปลกใหม่ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น ของกลุ่มชนต่าง ๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย           

           การทำการประชาสัมพันธ์ในลักษณะนี้ ถือว่าเป็นทิศทางโน้มเอียงที่จะมีการยอมรับความเป็นท้องถิ่นที่มีความแตกต่างหลากหลายกันไปตามแต่ละพื้นที่และภูมิภาค ฉะนั้น ความคิดที่ว่าวัฒนธรรมสังคมเมืองหลวงหรือสังคมภาคกลางเป็นวัฒนธรรมที่ได้รับการปลูกฝังและบ่มเพาะมาอย่างมีระบบ ระเบียบและควรค่าแก่การรักษาไว้นั้น จะถูกลดทอนลงไป เพราะความเป็นท้องถิ่นได้รับการหยิบยกขึ้นมามีความเท่าเทียมในเชิงคุณค่า (equal valuation) กับวัฒนธรรมโขน ดนตรีไทยในราชสำนัก เป็นต้น           

            ดังนั้น การให้ความสำคัญต่อวัฒนธรรมท้องถิ่นเช่นนี้ จะทำให้เกิดกระบวนการต่อสู้ทางวัฒนธรรมขึ้นอย่างรุนแรงและบ่อยครั้ง เนื่องจากการสนับสนุนให้มีความสำนึกในความเป็นวัฒนธรรมของกลุ่มและถือว่าเป็นกระบวนการหนึ่งที่จะทำให้เกิดความสำนึกร่วมอย่างเหนียวแน่นอยู่ภายในจิตใจคนที่มีสถานภาพเป็นสมาชิกและเป็นเจ้าของร่วมในวัฒนธรรมท้องถิ่นของตน โดยกำหนดเงื่อนไขบางประการที่เกิดท่ามกลางกลุ่มวัฒนธรรมของตนเอง (original cultural being)            

            กระบวนการต่อสู้ทางวัฒนธรรมของพื้นที่แต่ละแห่งเหล่านี้ ได้ส่งผลต่อการดำรงชีพของคนโดยรวมของประเทศผ่านการเสพสื่อ เพราระคนทั่วไปจะไม่มีทางปฏิเสธการรับรู้ถึงความเป็นไปของกลุ่มอื่น เพราะคนในสังคมจะกลายเป็นผู้ที่กระทำการเสพวัฒนธรรมที่ต่างจากตนและหลากหลายเหล่านั้นไปทีละนิดทีละน้อยอย่างไม่รู้สึกตัว การแทรกซึมรับเอาความแตกต่างเหล่านี้ในรูปแบบหนึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ดี และมีประโยชน์ในการสร้างสานความเข้าใจที่ลึกซึ้งถึงแนวคิด แนววิถีการปฏิบัติตนของคนในแต่ละกลุ่มสังคม ที่ถูกแบ่งแยกออกไปด้วยความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะทางวัฒนธรรมตามพื้นที่หรือภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย อนึ่ง ความนิยมในวัฒนธรรมท้องถิ่นเหล่านี้หรือที่กำลังเป็นกระแสทางสังคมอย่างรุนแรงอยู่ในขณะนี้ ก็คือ กระแสท้องถิ่นนิยม (localism) จะส่งผลรุนแรงต่อกลุ่มฝีมือแรงงานท้องถิ่น และนักอนุรักษ์ท้องถิ่นนิยม ที่ได้ทำการผลิตวัตถุตัวแทนทางวัฒนธรรม และที่พยายามดำรงรักษาความเป็นเอกลักษณ์ที่ตนเองได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษนั้น จะได้รับโอกาสที่ดีขึ้น โดยการได้รับสถานภาพทางสังคมในฐานะ ครูแห่งวิชาชีพ นั่นหมายความว่า ศิลปินแห่งชาติไม่ว่าจะสาขาใดก็ตามที่เป็นคนท้องถิ่น จะได้รับการยกย่องเชิดชูอย่างทัดเทียมกับบรรดาเหล่าศิลปินแห่งชาติที่เป็นผู้มีประสบการณ์การทำงานเพื่อสืบสานถ่ายทอดความเป็นวัฒนธรรมชั้นสูง

           ดังนั้น ความเป็นวัฒนธรรมหลวงจะมีความทัดเทียมกับความเป็นวัฒนธรรมราษฎร์อย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่นั่น ก็ไม่ได้หมายความว่า วัฒนธรรมหลวงจะด้อยค่าไป แต่ความเป็นวัฒนธรรมราษฎร์ต่างหากที่ได้รับการยกระดับให้มีสถานะทางวัฒนธรรมที่สูงขึ้นพร้อมกับการยอมรับ ดังจะเห็นได้จากการนำเอาพิธีกรรมท้องถิ่นมาร่วมใช้ในพิธีกรรมหลวง ซึ่งแต่เดิมดังที่ทราบกันดีว่า พิธีหลวงนั้นถูกผูกขาดอยู่ระหว่างพิธีของพราหมณ์และแนววิธีของพุทธพิธีภาคกลางและตามข้อกำหนดของงานพระราชพิธี แต่แต่มพิธีกรรมท้องถิ่นได้เข้าไปมีส่วนในการกระทำพิธีต่าง ๆมากยิ่งขึ้น เช่น การจัดพิธีสืบชาตาหลวงตามแบบฉบับภาคเหนือ (ล้านนา) ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เป็นต้น และพิธีกรรมที่กล่าวถึงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแต่ภูมิภาคเดียว แต่ขณะนี้ได้เกิดขึ้นทุกหนทุกแห่งทุกภูมิภาค ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่สูงบนภูเขาของประเทศไทย

(ขึ้นบันทึกใหม่ ภาค ๓)

หมายเลขบันทึก: 146127เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2007 14:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท