การพัฒนาในความคิดของอิสรชน


“การพัฒนาตามแนวคิดของอิสรชน คือ อิสรชนเชื่อว่า การทำงานพัฒนาชุมชนนั้นต้องรักที่จะรุกเข้าไปเรียนรู้ในชุมชนแบบฝังตัว คิดร่วมกับเขา กินร่วมกับเขา นอนร่วมกับเขา ใช้ชีวิตแบบเขา คิดแบบเขา เพื่อเตรียมตัวเอง เตรียมชุมชน เตรียมคน ให้เข้าสู่กระบวนการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากความต้องการของเขาเองเป็นสำคัญ โดยต้องค่อย ๆ ทำ ไม่ต้องเร่งรีบ แต่ให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อสังคมอย่างช้า ๆ แต่มีความสม่ำเสมอ เพื่อนำไปสู่ความสุขสงบและสันติโดยรวม”
การพัฒนาในความคิดของอิสรชน 

ห่างหายการกล่าวถึงการพัฒนามาเสียนานทั้งที่เรียนจบมาทางการพัฒนาชุมชนโดยตรงแถมใช้เวลาเรียนยาวนานกว่าเพื่อน ๆ ร่วมรุ่นด้วยกันด้วยซ้ำไป พอมีเวลานั่งทบทวนและรื้อฟื้นเรื่องราวที่ได้เรียนรู้มาสมัยเมื่อยังเป็นนักศึกษาและผสมผสานกับการทำงานจริง ๆ กว่า 12 ปีที่ผ่านมา ก็ทำให้ระลึกถึงบุญคุณของคณาจารย์ที่สอนเรื่องการพัฒนาชุมชนมา อย่างน้อย  4 ท่านได้แก่ อาจารย์ประยงค์ สุตตะโคตร ,ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชะเอม ยินดี ,อาจารย์ทรงจิต พูนลาภ และอาจารย์มณีรัตน์ ลิ่มสืบเชื้อ ที่ สอนการพัฒนาชุมชนสมัยเมื่อยังเรียนอยู่ที่ วิทยาลัยครูพระนคร(ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร) เรียนอยู่ที่พระนคร ไม่ได้เรียนรู้เพียงแค่เรื่องวิชาการการพัฒนาชุมชนเพียงอย่างเดียว หากแต่ได้เรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ ของชีวิตอีกมากมาย

 

โปรแกรมวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร อาจะเป็นโปรแกรมวิชาที่มีกร ะบวนการเรียนรู้ภายในที่แปลกและแตกต่างไปจากสาขาวิชาอื่น ๆ ทุกสถาบันที่มีอยู่ในประเทศนี้ หรือเผลอ ๆ อาจจะแปลกที่สุดในโลกเลยก็เป็นไปได้ การเรียนรู้ที่ต้องเกิดจากภายใน ต้องทดลองให้รู้จริงด้วยตัวเอง ทั้งการก่อสร้างการใช้ชีวิตแบบชาวบ้าน หรือแม้กระทั่งการหุงข้าว ทำกับข้าวและกินกันเองภายในครอบครัวของ ชาวพัฒนาชุมชนเอง และที่สำคัญการเรียนรู้เรื่องประชาคมที่แท้จริง ที่ รุ่นพี่รุ่นน้อง ภาคปกติ ภาคสมทบ ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล เลือกตั้ง สรรหา ประธานรุ่นกันเองตามระบอบประชาธิปไตย การออมเงินประจำวัน ประจำสัปดาห์ ที่ ทำให้เกิดวินัยการเงินภายในอย่างธรรมชาติ และเมื่อมีกิจกรรมอะไรที่เป็นวาระสำคัญวาระพิเศษ ก็จะเห็นการรวมตัวกันอย่างพร้อมเพรียงและสมานฉันท์อย่างน่าชื่นชม.... นั่นเป็นภาพในอดีตที่ใช้ประสบการณ์ในวันนี้มองย้อนกลับไปเมื่อวันวาน แต่ถ้าถามตัวเองในวันวาน ก็จะเกิดภาพอีกภาพหนึ่ง มีแต่ ข้อสงสัย มีแต่คำถาม และมีแต่ข้อขัดแย้ง แสดงตัวเป็นปรปักษ์ต่อสิ่งที่อาจารย์ให้ทำ จนทำให้ต้องใช้เวลาเรียนที่มากกว่าคนอื่น เกือบสองปี....

 

ครั้นออกมาเริ่มทำงานในช่วงแรก ๆ ยอมรับว่าลืมเลือนการพัฒนาชุมชนออกไปจนเกือบหมดสิ้น เพราะมุ่งแต่ทำงานตามที่ตัวเองรักและชอบแบบไม่มีทิศทาง จนเมื่อเริ่มที่จะคิดวางรากฐานการทำงานในรูปแบบของตัวเอง จึงได้กลับมาค้นหาแนวคิดทฤษฎีการทำงานที่ตัวเองชอบและถนัด และพิจารณาทบทวนกลับไปกลับมา จนมาถึงบางอ้อว่าแท้ที่จริงแล้ว เราพยายามใช้แนวคิดในการทำงานแบบพัฒนาชุมชนตามสไตล์ ซ้ง-เอม(อ.ทรงจิต-อ.ชะเอม) มาโดยตลอด แถมยังผสมผสานแนวสันติประชาธรรมของศาสตร์จารย์ด๊อกเตอร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เข้ามาเป็นแนวการทำงานของเราเองมาโดยตลอด และถ้าถามว่า แนวคิดแบบ อิสรชน เป็นแบบไหน ก็คงจะพออธิบายได้ตามที่พยายามจะทบทวนได้ว่า

การพัฒนาตามแนวคิดของอิสรชน คือ อิสรชนเชื่อว่า การทำงานพัฒนาชุมชนนั้นต้องรักที่จะรุกเข้าไปเรียนรู้ในชุมชนแบบฝังตัว คิดร่วมกับเขา กินร่วมกับเขา นอนร่วมกับเขา ใช้ชีวิตแบบเขา คิดแบบเขา เพื่อเตรียมตัวเอง เตรียมชุมชน เตรียมคน ให้เข้าสู่กระบวนการเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากความต้องการของเขาเองเป็นสำคัญ โดยต้องค่อย ๆ ทำ ไม่ต้องเร่งรีบ แต่ให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อสังคมอย่างช้า ๆ แต่มีความสม่ำเสมอ เพื่อนำไปสู่ความสุขสงบและสันติโดยรวม  หากจะให้ขยายความนิยามที่กล่าวมานี้ ก็ คงบอกได้เพียงว่า การพัฒนาตามแบบฉบับของอิสรชน คือเน้นกรับวนการมีส่วนร่วมในทุกระดับ โดยท้ายที่สุด ต้องคิดให้ได้แบบคนที่เราลงไปทำงานด้วย ว่าเขาคิดอย่างไรภายใต้สถานการณ์แบบนั้น เพื่อที่เราจะได้ใช้แนวคิดการพัฒนาชุมชนลงไปจับทิศทางการทำงานด้านการพัฒนาร่วมกับเขา โดยที่ต้องใจเย็นและต้องยอมรับว่า การพัฒนาต้องใช้เวลาเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่เน้นการทำงานแบบสม่ำเสมอไม่ฉาบฉวย ซึ่งอาจจะต้องมีการลงทุน หรือใช้ทุนทางสังคมเป็นจำนวนมาก แต่ท้ายที่สุดจะเกิดความยั่งยืนและผลของการพัฒนาจะนำไปสู่ความสุขโดยรวมของประชาชนในที่สุด นั่นก็คือ การพัฒนาในความคิดของอิสรชน ณ วันนี้

 อิสรชนเองก็ยังเปิดโอกาสให้ทุกคนในสังคมได้มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้สังคมผ่านกระบวนการดังกล่าวอย่างเปิดเผยและกว้างขวาง ใคร หน่วยงานใด สถาบันการศึกษาใด ที่มีกระบวนการเรียนรู้ด้านการพัฒนาชุมชน จะลองมาเรียนรู้กระบวนการนี้ร่วมกับเรา ก็ยินดีนะครับ เพียง ประสานงานติดต่อเข้ามา และกระบวนการเรียนรู้นี้ ก็จะเปิดกว้างแก่ท่านทันที


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท