คณิตศาสตร์การเงิน: ทำไมออมก่อนจึงรวยกว่า ? (1)


ทำไมจึงมีคำกล่าว "ออมก่อน รวยกว่า" ?

สมมติว่า คนเรามีนิสัยใช้เงินเดือนเกือบหมด เหลืออยู่ระดับหนึ่ง ที่เป็นนิสัยเฉพาะตัว เช่น ใช้ 60 %, ใช้ 90 %, ใช้ 100 % หรือ ใช้ 110 % ของเงินเดือน

นิสัยนี้เป็นนิสัยติดตัว แก้ยาก

จากข้อสมมตินี้ ลองใช้คณิตศาสตร์พิสูจน์ไม่ยาก ว่าหากเขาเก็บไว้แล้วบริหารให้ดี ๆ จะเกิดอะไรขึ้น เพียงแต่ใครอ่อนเลข คงไม่รู้สึกสนุก เพราะตัวเลขลายตา

ผมลองสร้างภาพอธิบายปรากฎการณ์ โดยสามารถตัดทิ้งสมการทั้งหมดออกไปได้ จะทำให้เข้าใจง่ายขึ้น

ดูภาพวาดนี้ครับ

เงินออม

 แกนนอนเป็นอายุ

สีดำ+สีเหลือง เป็นรายได้

โซนสีดำ=ค่าใช้จ่ายของช่วงเวลานั้น ๆ

โซนสีเหลือง=เงินออมของช่วงเวลานั้น ๆ

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ช่วงแรก ๆ สีเหลืองจะมีนิดเดียว (ออมได้ไม่มากในวัยแรกแย้ม) ไปมากตรงปลาย ๆ (วัยแรกแง้ม)

ที่แต่ละค่าของอายุ ถ้าไปลงทุนด้วยฝีมือต่าง ๆ กัน แล้วรอจนถึงวัยเกษียณ ก็จะเห็นสีเหลืองโตสูงขึ้นกลายเป็นสีอื่น ๆ ช้างบน เช่น

เขียวอ่อน ฝีมือลงทุนไม่ดี เช่น ฝากเงินบวกพันธบัตร แค่เอาชนะเงินเฟ้อได้เฉียดฉิว

เขียวแก่ ฝีมือลงทุนหุ้นแบบอนุรักษ์นิยม บวก พันธบัตร เอาชนะเงินเฟ้อได้ระดับหนึ่ง

สีฟ้า ฝีมือลงทุนระดับมืออาชีพ

ส่วนที่มีสี ที่ไม่ใช่สีขาว-ดำ จะเป็นส่วนที่เก็บได้ แต่ไปตระหนักเอาตอนเกษียณ 

ก็จะเห็นว่า ที่วัยต้น ๆ แม้มีเงินออมนิดเดียว แต่ส่วนที่เก็บนานมาก ๆ จะโตได้มากที่สุด ในขณะส่วนที่เพิ่งได้ก่อนเกษียณ ไม่มีเวลาโตเลย

เช่น คนอายุ 20 ปีเริ่มออม หากลงทุนชนะเงินเฟ้อเพียง 4 % ในเวลาทำงานประมาณ 40 ปี เงิน 1 บาท จะเพิ่มกำลังซื้อขึ้นเป็นประมาณ 5 บาท ในขณะที่ไปออมตอนอายุ 59 ปี กำลังซื้อจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.04 เท่า ต่างกันเห็น ๆ

ผลคือ ถ้าคิดแต่ตัวเงินออมตามวัยต่าง ๆ โดยฝากธนาคารเพื่อกันเงินเฟ้อ เราจะนึกถึงภาพสามเหลี่ยมชายธง ที่ต้นเรียวบาง ปลายหนาทึบ (ดูโซนสีเหลือง) 

แต่ถ้าเอาการลงทุนที่ชนะเงินเฟ้อได้มาคิด เป็นไปได้ว่า เราจะได้รูปที่เป็นเหมือนสี่เหลี่ยมผืนผ้าทึบขนาดยาว (เหลืองบวกเขียวอ่อน หรืออาจเขียวแก่ หรือบวกฟ้า)

พื้นที่ใต้กราฟสะสม ก็คือสินทรัพย์นั่นเอง

เช่น ออมตั้งแต่อายุ 20 ปี จะเก็บได้เป็น 2 เท่าของการเริ่มออมที่อายุ 40 ปี ทั้ง ๆ ที่ดูเม็ดเงินแล้ว ที่อายุ 20 ปี อาจเป็นตัวเงินที่นิดเดียวในตอนนั้นจนเราอาจมองข้ามไป

นั่นคือ ออมก่อนควรจะรวยกว่า เพราะสินทรัพย์ จะแปรผันตรงกับเวลาที่ออม ทั้งที่ช่วงต้น จะออมได้น้อยกว่าช่วงปลายก็ตาม

พ่อแม่ที่ฉลาด มักลงทุนการศึกษาให้ลูกได้หัดทักษะดี ๆ ตั้งแต่วัยเด็กโดยไม่ต้องแยแสตามแห่ใคร ด้วยเหตุผลคล้ายกัน คือ รู้ว่า สิ่งเหล่านี้ จะงอกงามเติบใหญ่ ล้วนต้องการการฟูมฟักด้วย "เวลา"

ไม่ว่าจะเป็น ทักษะดนตรี ทักษะกีฬา หรือทักษะอื่นใด ที่ไม่ขึ้นกับวัย

หรือการปลูกป่า ก็เช่นกัน "เวลา สำคัญกว่าปุ๋ย"

สำหรับการลงทุนที่ดี เวลา มีความสำคัญยิ่งกว่าเงินเสียอีก

 

หมายเลขบันทึก: 145940เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2007 00:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • ออมก่อน...รวยก่อน แต่ถ้า อมก่อน.....ก็หัวแตกก่อน...โดนคนที่บ้านเอาไม้แพ่นกะบาลก่อน....อิ อิ
  • ผมหมายถึง อมเงินก่อนครับ.....แอบซุกซ่อนเงินไว้ก่อน จ่ายคืนให้ที่บ้านไม่หมด ก็หัวแตกก่อนครับ.....ไม่ได้หมายถึงการติดเรท....
  • ต้องขอโทษทีครับ ที่ทำให้เข้าใจผิด.....

สวัสดีครับคุณ P  Mitochondria

  • ขออภัยเช่นกันสำหรับความเข้าใจผิด
  • ผมคิดลึกไปหน่อยในทีแรก
  • ขออภัย ขออภัย...

ขอขอบคุณอาจารย์ wwibul...

  • เร็วๆ นี้มีหนังสือ "ออมก่อน รวยกว่า" พิมพ์ออกมาจำหน่าย ซึ่งคงจะมีประโยชน์ต่อบ้านเมืองมาก เพราะชาติที่จะก้าวไปไกลๆ ได้ต้องมีเงิน "ออม" มากพอในระยะยาว...

จำไม่ได้ว่า หนังสือเล่มนี้ หรือหนังสือของตลาดหลักทรัพย์กล่าวว่า "การออมเป็น game of time" , "การลงทุนเป็น game of timing"

  • การออมเป็น game of time = ออมก่อนรวยกว่า อย่างที่อาจารย์กล่าวไว้เลย
  • การลงทุนเป็น game of timing = การลงทุนต้องอาศัยจังหวะเวลา ไม่ใช่ลุยไปเรื่อยๆ

คุณหมอP นพ. วัลลภ พรเรืองวงศ์

  • คุณหมอเขียนบล็อก กระตุ้นให้คนอื่น "ออมสุขภาพตั้งแต่วัยเยาว์" ก็อยู่ในข่ายส่งเสริมให้ "รวยสุขภาพตอนแก่" เหมือนกัน
  • ไม่งั้น ตอนหนุ่มสาว คนใช้สุขภาพไปแลกเงิน เพื่อตอนแก่ จะได้ใช้เงินไปแลกสุขภาพ ไม่มีโอกาสได้"แ่้ก่สบาย"
  • เป็นกุศลครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท