ภาษาพาม่วน 6... "เหล่า" ที่ไม่ใช่เทือกเถา หรือ กองทหาร แต่เป็นป่าต่อบ้านติดชานดง


หลายหมู่บ้านมีการนำคำว่า “เหล่า” มาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้าน/ตำบล/อำเภอ เช่น บ้านเหล่า บ้านเหล่านาดี บ้านเหล่านกชุม บ้านเหล่าเกวียนหัก บ้านเหล่าโพนทอง (จังหวัดขอนแก่น) อำเภอเหล่าเสื้อโก้ก บ้านเหล่ากกหุ่ง (อุบลราชธานี) เป็นต้น

          คำกล่าวที่ว่า เทือกเถาเหล่ากอ, เหล่าทหาร, เหล่านั้น และเหล่านี้  ไม่ต้องเปิดพจนานุกรม  เราก็คงรู้ได้ว่าหมายถึง  กลุ่ม  พวก  หมวดหมู่ของคน  เชื้อแถว ว่านเครือ ก็เรียกว่าเหล่า           

          หลายหมู่บ้านในท้องถิ่นภาคอีสาน  มีการนำคำว่า เหล่า มาตั้งเป็นชื่อหมู่บ้าน/ตำบล/อำเภอ  เช่น บ้านเหล่า  บ้านเหล่านาดี  บ้านเหล่านกชุม  บ้านเหล่าเกวียนหัก  บ้านเหล่าโพนทอง (จังหวัดขอนแก่น)  อำเภอเหล่าเสือโก้ก  บ้านเหล่ากกหุ่ง (อุบลราชธานี) เป็นต้น

          เมื่อศึกษาความหมายจากเอกสารพบว่า         

          1) พจนานุกรมลาว-ไทย-อังกฤษ ฉบับเฉลิมพระเกียรติ (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  2543: 565)  กล่าวว่า เหล่า : (adj.) ป่าที่ต้นไม้แตกขึ้นใหม่หลังการตัด         

          2) สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ (ปรีชา  พิณทอง  2532: 898) ให้ความหมายพร้อมยกบทวรรณกรรมอีสานโบราณ/ลาวมาประกอบไว้ว่า  เหล่า: น. ไร่หรือสวนที่ทิ้งไว้จนรกร้างว่างเปล่า  เช่น  "น้อยดุ่งดั้นเถิงเหล่าดอนเลา  ไพรสณฑ์แสนด่านกวางดูกว้าง (สังข์สินไชย) และ กูจักข้ามเหล่าไม้เมือสู่เมืองบน  ก่อนแล้ว  คราวไกลแสนชั่วผอมผายกว้าง (ท้าวฮุ่ง)         

          3) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 (2539: 901) เหล่า : (ถิ่น-อีสาน) ที่ซึ่งเคยเพาะปลูกแล้วทิ้งให้ร้าง (ถิ่น-พายับ) ป่าละเมาะ  

           คนโบราณทำไร่แล้วทิ้งให้เป็น "เหล่า" นี้  คนละบริบทกับปัจจุบันนะครับ  เนื่องจากสมัยก่อนป่าดงมีมหาศาล  เมืองใหญ่ก็ตั้งอยู่กลางป่าก็ว่าได้ เหตุผลทางธรรมชาติ  ทางการเมืองก็มีส่วนสำคัญที่ประชาชนทิ้งบ้าน เช่น ภัยธรรมชาติ/สัตว์ป่า/โรคระบาด/ การหนีศัตรู/ข้าศึกกวาดต้อน /การหลบการเกณฑ์ทัพ/หนีส่วยไพร่ ฯลฯ 

          จากการใช้เรียกใช้พูดมา  พอสรุปได้ว่า  "เหล่า" เป็นกึ่งป่ากึ่งที่ที่ชาวบ้านเข้าไปทำมาหากิน  เช่น ไปตัดไม้  หาของป่า ล่าสัตว์  ใช้เลี้ยงสัตว์ และ เป็นที่สัตว์ป่าออกมาหากินได้เป็นบางโอกาส  เช่น คำพูดที่ว่า เสือออกเหล่า (เสือออกมาล่าวัวควายชาวบ้านที่เหล่า) เหล่าเสือโก้ก(เหล่าที่เสือออกมาร้อง โก้ก โก้ก) เหล่านกชุม (เหล่าที่มีนกมากมาย)  

                    

           การนึกภาพง่าย ๆ  ในที่ที่คนใช้ประโยชน์และระบบนิเวศน์ธรรมชาติดำรงอยู่ร่วมกัน  ถ้าอยู่ริมลำน้ำใหญ่เรียกว่า บุ่ง หรือป่าบุ่ง  ถ้าอยู่ริมดงใหญ่  ก็เรียกเหล่า  คล้ายกันครับ     

           ผมไปเป็นครู กศน. ที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุบลราชธานี นอกจากได้ยินชื่อ กิ่งอำเภอเหล่าเสือโก้ก(ปัจจุบันเป็นอำเภอแล้ว) ยังชอบชื่อหมู่บ้าน เหล่ากกหุ่ง (แปลตรง ๆ ว่าเป็นเหล่าที่ชาวบ้านเข้าไปปลูกมะละกอ) ว่าช่างไพเราะ ได้อารมณ์และความหมายดีแท้         

           ในความเป็นปรัชญาคำสอน ปราชญ์โบราณกล่าวเป็นผญาภาษิตไว้ว่า เหมิดดงยังเหล่า  เหมิดเฒ่าแก่ยังลูกหลาน (เหมิด: หมด)  อาจารย์ปรีชา  พิณทอง (2528: 132) อธิบายผญาภาษิตบทนี้ว่า ป่าใหญ่เรียกดง  ดงน้อยเรียกป่า  ป่าน้อยเรียกเหล่า  เหล่าเกิดจากป่า  ป่าเกิดจากดง  เกิดติดต่อกันมาอย่างนี้  ในทำนองเดียวกันคนเราก็มีพ่อแม่ลูกหลาน  เกิดสืบต่อกันไปไม่ขาดสาย  หมุนเวียนไปมาอยู่อย่างนี้ชั่วกัปชั่วกัลป์อนันตชาติ         

          ปัจจุบันชื่อท้องถิ่น "บ้านเหล่า..." ต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นไม่มีลักษณะความเป็นดง ป่า หรือเหล่าอยู่เลย  หรือหากจะมีบ้างก็เพียงร่องรอย เช่น  ความเป็นที่เนินป่า  มีพื้นลาดเป็นแนวน้ำซับให้เห็นอยู่บ้างเท่านั้น         

          และทั้ง ๆ ที่ป่าโดนตัด  เหลือทิ้งรกร้างไว้ก็มากมายทั่วทุกพื้นที่  แต่ก็ไม่มีที่ไหนนำมาเรียกว่า เหล่า อีกแล้ว  เพราะปัจจุบันมีคำที่ใช้เรียกป่าที่ควรเป็น "เหล่า" ว่า ที่ สปก.4-01 ไปเสียหมด 

          เหล่าจึงเป็นคำโบราณที่แสดงความอุดมสมบูรณ์  ที่ทั้ง คน สัตว์เลี้ยง  สัตว์ป่า  ร่วมกันดำรงชีพ  ในสภาพที่พึ่งพิงอาศัยกันและกันมาในอดีต...                                       

          ผมใคร่ขอนำผญาภาษิต ที่เกี่ยวกับการพึ่งพาอาศัยกันและกันของวิถีสิ่งมีชีวิตและเกี่ยวข้องกับ เหล่า มาส่งท้ายสู่ท่านด้วยบทที่ว่า 

          เสื่อสางช้างกวางฟานอาศัยป่า   ป่าอาศัยสัตว์สิ่งฮ้าย จึงหนาแน่นมืดมุง          เฮาอาศัยบ้าน บ้านเพิ่งบุญเฮา   คันหากเฮาหนีเสีย กะเกิดเป็นดงไม้          คันเฮาหนีไกลบ้าน เฮือนซานสิเป็นป่า   บ้านสิเป็นเหล่าเฮื้อ เครือสิเกี้ยวมืดมุง (สีน้ำ  จันทร์เพ็ญ  และคณะ 2544: 343)         

          ศัพท์ที่สำคัญ  ฟาน: เก้ง     เพิ่ง: พึ่ง   คัน: ครั้น,ถ้า   เฮื้อ: ที่รก         

          แถบท้องถิ่นท่านมีชื่อหมู่บ้านเหล่าอะไรที่แปลก ๆ  ไพเราะบ้างครับ  ผมอยากทราบและเป็นการขยายการรับรู้  ในประวัติความเป็นมาอันอบอุ่น  อุดมสมบูรณ์ของ เหล่า นั้น ๆ ให้พวกเราทราบทั่วกันครับ  สวัสดีครับ.

อ้างอิง

ปรีชา  พิณทอง.  2528.  ไขภาษิตโบราณอีสาน.  อุบลราชธานี: ศิริธรรม.   

-----------------.  2532.  สารานุกรมภาอีสาน-ไทย-อังกฤษ.  อุบลราชธานี: ศิริธรรม.  

ราชบัณฑิตยสถาน.  2539.  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525.  พิมพ์ครั้งที่ 6.  กรุงเทพ ฯ: อักษรเจริญทัศน์.

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  2543.  พจนานุกรมลาว-ไทย-อังกฤษ ฉบับเฉลิมพระเกียรติ.   กรุงเทพฯ: คณะมนุษยศาสตร์  มหวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

สีน้ำ  จันทร์เพ็ญ.  2544.  มูลมังดั้งเดิม  ฉบับคัมภีร์พราห์ม-ผญาสอนพรทิพย์.  กาฬสินธุ์: มูลมังดั้งเดิม. 

หมายเลขบันทึก: 145937เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2007 23:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

ขอขอบคุณมากครับ****ผมนำไปออกอากาศตอนเช้าในรายการข่าวเด็ดร้อยเอ็ดเช้านี้**06.00-07.00น.ทุกวันครับ**ขอบคุณมากๆๆ***

  • สวัสดีครับอาจารย์ เกษตรสิงขร101
  • ยินดีที่ท่านนำเผยแพร่ทางวิทยุ
  • ผมชอบบันทึกฝันผิดสถานที่ของท่าน ทั้งแก๊กเรื่อง  และผญาสอนมิให้ลืมชาติกำเนิดเจ้าของนะครับ คิดว่าจะเป็นหนึ่งใน Tag คิดถึง ที่ผมเตรียมไว้ด้วยครับ อาจารย์

สวัสดีครับครูชา

เพิ่งเข้าใจคำว่า "เหล่า" อย่างจริงจังวันนี้แหละครับ เพราะไม่เคยคิดสงสัยเหมือนที่อาจารย์ตั้งข้อสังเกตเลยครับ

ขอบพระคุณมากสำหรับความรู้ครับ

  • ขอบคุณครับท่านP  อัยการชาวเกาะ 
  • ที่เกาะคงฝนตกเย็นดีนะครับ
  • ที่ขอนแก่น อากาศไม่ร้อน แต่ยังไม่หนาวครับ

ขอบคุณท่านไม่มีรูป 5. c เมื่อ พ. 21 พ.ย. 2550 @ 00:12
464413   ครับที่แวะเยี่ยม

สวัสดีครับ

ภาษาอีสานกับคำเมืองทางเหนือมีความเหมือนกันอยู่มากครับ

ทางเจียงใหม่ คำว่าเหล่า หมายถึงที่รกร้างที่ผ่านการหหักร้างถางพงเหมือนกันครับ

เช่นคำว่า ไฮ่เหล่า หมายถึงไร่ร้างครับ

และมีชื่อบ้านเหล่าอยู่หลายหมู่บ้านเช่นกันครับ

สวัดีครับคุณ paleeyon

ขอบคุณที่แวะเยี่ยมและเพิ่มความรู้ครับผม

ขอบคุณท่าน ผอ.

    ภาษาอิสานวันละคำ ครับ

  • ขอบคุณลุงวอครับ
  • ผมติดตามภาษาอีสานของลุงวอ ทุกบันทึกนะครับ

เรียน คุณครูชา ครับ

ผมมาเรียนรู้ด้วย เพราะ ปัจจุบันคำนี้ เป็นคำที่เข้าใจยาก และดูเหมือนจะหายไปจากสังคมอีสานไปบ้างแล้ว และคุณครูอธิบายได้กระจ่างชัดดีครับ

ขอบคุณครับ

  • ขอบคุณท่าน "ไม่แสดงตน " ความเห็นที่ 11 มากครับ  ที่แวะเยี่ยมอ่านครับ

เรียน คุณครูชา ครับ

ด้วยความไม่คุ้นเคยกับ Gotoknow ผมเลยพลาดไม่ได้ลงชื่อครับ

  • ครับขอบคุณครับ  คุณสนอง
  • ว่าแต่สมัครเข้ามาแลกเปลี่ยนใน gotoknow หรือยังครับ
  • ที่จริงอย่างนี้ก็ใช้ได้แล้ว  เพียงแต่ถ้าสมัครจะได้รู้จักกันมากขึ้น  นานไปกี่วันก็ค้นหากันและกันง่ายครับผม
  • ผมเองก็ค่อนข้างใหม่เพิ่งเริ้ม ก.ย. 50 นี่เอง
  • ต่อมาจึงรู้ว่าเวทีนี้  เปิดกว้าง  ประชากรก็มาก  ดีครับ 

เรียน คุณครูชา

ขอบคุณครับที่แนะนำ เวทีนี้ดี สำหรับการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้อย่างสร้างสรรค์

ให้ผมหาฤกษ์งามยามดีก่อนนะครับ อิอิ

อยากทราบว่าหนังสือมูลมั้งดังเดิม ยังมีขายหรือเปล่า แล้วขายที่ไหนบ้าง

  • สวัสดีครับคุณtay ครับ
  • นานทีเข้ามา  เจอท่านเยี่ยมยามพอดี  ขอบคุณครับ
  • หนังสือมูลมั้งดังเดิม  นี่  ผมซื้อที่ร้านชัยสถิตย์ อ.กระนวน ขอนแก่น ครับ จำราคาไม่ได้  ราว ๆ 300 นี่แหละครับ  (ขออภัยผมจำไม่ได้) คิดว่าร้านหนังสือ  แบบเรียน แถว กาฬสินธฺ  มหาสารคาม  ขอนแก่น น่าจะพอหาได้
  • ขอบคุณครับผม

เรียน คุณครูชา

ขอบคุณมากค่ะ

พอดีอยากได้สักเล่ม แต่ในเขต กทม.ไม่ทราบว่าจะหาได้หรือเปล่า

ขอโทษด้วยที่ฉบับแรกไม่สุภาพเท่าไหร่ (รีบมากไป) แอบส่งเวลางานค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท