สมัยเป็นเด็ก ไม่ว่าใครพูดว่าอะไร ไม่ว่าข่าวในหนังสือพิมพ์จะเขียนอย่างไร ก็เชื่อว่าเป็นความจริง เพราะตนเองพูดแต่ความจริง ก็เข้าใจว่าคนอื่นจะพูดความจริงด้วย
พอโตขึ้น จึงได้รู้ว่า หลายคนพูดไม่จริงจนเป็นเรื่องปกติของเขา และหลายครั้งก็พบว่าการไม่พูดเลยดีกว่าการพูดไม่จริงออกไป ถึงกระนั้นก็ตาม ก็ยังพบว่าบางทีตนเองก็เชื่อสิ่งต่าง ๆ ง่ายเกินไป จึงได้ทบทวนกาลามสูตร 10 ของพระพุทธเจ้าเพื่อจะนำไปไตร่ตรองและไปใช้ในการพิจารณาว่าควรจะเชื่อสิ่งใด
พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนคนเหล่านั้นว่า
๑. อย่าได้เชื่อโดยเหตุสักว่า
สิ่งนี้เป็นสิ่งที่บอกต่อๆกันมา
๒.
อย่าได้เชื่อโดยเหตุสักว่า
สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เขาได้ทำตามๆกันมา(ประเพณี)
๓.
อย่าได้เชื่อโดยเหตุสักว่า
มันเล่าลือกันกระฉ่อนไปหมดแล้วว่าเป็นความจริง
๔.
อย่าได้เชื่อโดยเหตุสักว่า มันมีอ้างอยู่ในปิฎก(คัมภีร์,ตำรา)
๕.
อย่าได้เชื่อโดยเหตุสักว่า เป็นตรรก หรือการคำนวณ
๖.
อย่าได้เชื่อโดยการอนุมานเทียบเคียง หรือคาดคะเนเอาเอง
๗.
อย่าได้เชื่อโดยการตรึกตรองเอาตามอาการ
๘.
อย่าได้เชื่อโดยเหตุสักว่า มันเข้ากันได้กับลัทธิความเชื่อ
และทฤษฎีของตน
๙.
อย่าได้เชื่อโดยเหตุสักว่า รูปร่างลักษณะน่าเชื่อถือ
๑๐. อย่าได้เชื่อโดยเหตุสักว่า
ผู้สอนเป็นครูเป็นอาจารย์ของเรา
ต่อเมื่อใดพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นแล้วจึงควรละหรือถือปฏิบัติตามนั้น เรียกว่า กาลามสูตร หรือ เกสปุตติยสูตร หรือ เกสปุตตสูตร