เรียนรู้เรื่อง COI


เรียนรู้เรื่อง COI

         COI คือ Conflict of Interest (ผลประโยชน์ทับซ้อน)   ผมได้เรียนรู้มากจากการนำเสนอผลงานวิจัยเรื่องนี้โดย   คุณปาริชาต  ศิวะรักษ์  และ ดร. ศุภมิตร  ปิติพัฒน์  ที่ สสส. เมื่อวันที่ 31 ม.ค.49   คุ้มกับที่ผมยอมรับนัดตอนเย็น 17.00 - 20.00 น.   ทำให้ผมต้องนอนดึก (เลย 21.00 น.)   ยิ่งได้ฟังคำอภิปรายแลกเปลี่ยนของ "ผู้รู้" ทั้งหลาย   ผมยิ่งได้เรียนรู้มาก   แต่จะสรุปเฉพาะประเด็นสำคัญย่อ ๆ
- "ผลประโยชน์ทับซ้อน" กับ "มีส่วนได้ส่วนเสีย" แตกต่างกัน
- มอง COI เป็น risk หรือ liability (มองด้านลบ) ก็ได้   มองเป็นโอกาสที่จะพัฒนาระบบธรรมาภิบาลขององค์กรและของสังคม (มองเชิงบวก) ก็ได้
- ระบบการจัดการ COI แบบอังกฤษเน้นความยืดหยุ่น   ระบบอเมริกันเน้นความชัดเจน   เพราะในอเมริกามีการจ้องแหกจรรยาบรรณอยู่ตลอดเวลา   มีคนอภิปรายว่าสภาพสังคมเมืองไทยคล้ายอเมริกา   จึงน่าจะใช้ระบบจัดการ COI แนวอเมริกา
- COI มี 3 แบบ
     - เกิดขึ้นจริง (Real COI)
     - มีโอกาสที่จะเกิด (Potential COI)
     - คนอื่นมองว่าเกิด (Apparent COI)
- ในทุกองค์กรมี Potential COI ทั้งสิ้น  เช่น สสส. มี รมต. สาธารณสุขเป็นรองประธานคนที่ 1  เป็น Potential COI   และถ้าในการประชุมที่มีการตัดสินโครงการที่ สสส. ลงทุนร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข   รมต. สาธารณสุขอภิปรายชักจูงไปในทางที่ให้ประโยชน์แก่กระทรวงสาธารณสุขและทำให้ผลงาน/เป้าประสงค์ของ สสส. ถูกลดทอนหรือเบี่ยงเบนไป   ก็เกิด Real COI
- COI เป็นเรื่อง "คลุมเครือ"   ดังนั้นยุทธศาสตร์การจัดการ COI คือ ทำให้ชัดเจนขึ้น   มีการจดบันทึก   มี "ฝ่ายเป็นกลาง" มาช่วยดูแลอย่างเป็นระบบ
- ทีมวิจัยเสนอหลักการดำเนินการ 3 ประเด็น   ซึ่งผมชอบมาก
     (1) นิยาม COI ในทางปฏิบัติ : อะไรคือ COI ที่ต้องห้าม,  อะไรเป็น COI ที่บริหารจัดการได้,   อะไรไม่ใช่ COI
     (2) สร้างความชัดเจนในการจัดการ COI และระบบสนับสนุน
     (3) สร้างความยืดหยุ่นในการจัดการ COI
- ระบบจัดการ COI คือส่วนย่อยของระบบการจัดการธรรมาภิบาล (Good Governance) ขององค์กร
- ผมมีความเห็นในเชิงฐานคิดเพื่อการปฏิบัติ  ดังนี้
     (1) เดินสายกลาง   มองการจัดการ COI เป็นเครื่องมือสร้างความเข้มแข็งให้แก่ สสส.   ให้เป็นองค์กรที่สังคมเชื่อถือ
     (2) พัฒนาระบบ COI และจัดระบบ COI ของ สสส. ที่มีความยืดหยุ่น  ความพอดี  ไม่ over do   ถือเป็นงานพัฒนาระบบ COI ขึ้นใช้เอง   และให้แก่สังคมไทย   หลักการสำคัญคือ  ไม่มุ่งสร้างกฎเกณฑ์กติกาให้สมบูรณ์ตั้งแต่ต้น   ใช้หลักเริ่มเล็ก ๆ แล้วปฏิบัติ   และเรียนรู้ร่วมกันระหว่างทุกฝ่ายแล้วนำมาพัฒนาระบบ   เป็นวัฏจักรเรื่อยไป   วิธีดังกล่าวเรียกว่า "การจัดการความรู้ ด้าน COI"
     (3) ใช้หลักโปร่งใส (ได้แก่ define,  declare และ decide) และใช้ KM ในการจัดการและพัฒนาระบบ

วิจารณ์  พานิช
 1 ก.พ.49

หมายเลขบันทึก: 14503เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2006 09:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 01:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ที่ศิริราชก็มีสโลแกนค่ะ ..คม..ชัด..ลึก..ทำ CQI แบบเรียบง่าย..ตั้งเป้า...เฝ้าดู..ปรับเปลี่ยน..หมุนวงล้อแบบรวดเร็วและหมุนหลายวงพร้อมๆกันค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท