"......และตั้งใจว่าวันหนึ่งที่เธอสามารถตอบแทนได้ก็จะตอบแทนความเอื้ออารีของโรงพยาบาลศิริราช บัดนี้เธออยู่ในฐานะเช่นนั้นแล้ว......"
ขอนำบทความพิเศษ ปาฐกถาเรื่อง “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล” โดย
ศาสตราจารย์นายแพทย์ณัฐ ภมรประวัติ ลงเผยแพร่ในสารศิริราช
ปีที่ 54 ฉบับที่ 9 เดือนกันยายน 2545
มาลงในบล็อกเพื่อเผยแพร่ให้สาธารณชนทราบประวัติความเป็นมาถึงการก่อตั้งมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล
ในพระบรมราชูปถัมภ์ ค่ะ
*******************************************
ปาฐกถาเรื่อง
“รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล”
วันอังคารที่ 24 กันยายน 2545 ณ
ห้องประชุมอทิตยาทรกิติคุณ ตึกสยามมินทร์ ชั้น 7
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ณัฐ ภมรประวัติ
พ.บ.
ท่านคณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและท่านผู้มีเกียรติ
ผมรู้สึกประทับใจ
และขอขอบคุณในการที่ท่านคณบดีได้เชิญผมมากล่าวสุนทรพจน์ ในเรื่องนี้
ผมขอกราบเรียนท่านผู้ฟัง ผมขอพูดในข้อสังเกตส่วนตัวของกิจการต่างๆ
ของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลเท่านั้น
ท่านคงทราบถึงพระเกียรติคุณนานับประการซึ่งสมเด็จพระบรมราชชนกได้กระทำให้แก่ประเทศไทยและประชาชนคนไทย
โดยเฉพาะในพระสมัญญาที่ได้รับว่า “พระบิดาของการแพทย์ไทยแผนปัจจุบัน”
สมเด็จพระบรมราชชนกได้ทรงไม่เพียงแต่นำการแพทย์แผนปัจจุบันเข้ามาในประเทศไทยเท่านั้น
แต่ได้ทรงยืนยันหลักการที่ให้โรงเรียนแพทย์เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย
คือทรงยึดมั่นในหลักการ University Based Medical School
อย่างแน่นแฟ้น ซึ่งเป็นการแตกต่างจากหลักที่โรงเรียนแพทย์เป็น
Medical College แต่ไม่ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัย
และผลิตแพทย์ออกไปเพื่อบริการอย่างเดียว
ซึ่งเป็นวิธีที่ประเทศที่มีอาณานิคมหลายแห่งในเอเซียและอาฟริกาใช้อยู่
สำหรับประเทศไทยกองทัพบกก็ได้นำวิธีการนี้มาใช้ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง
หลักสูตรของ University Based Medical College
นี้เป็นการเตรียมแพทย์ให้ไปทำงานบริการ
สอนและทำการวิจัยได้ด้วย
ซึ่งพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านในมากกรณีก็ทำเพื่อสนับสนุนพระปณิธานดังกล่าว
ฉะนั้นในโอกาสที่ครบร้อยปีจากการที่สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลทรงมีประสตูติการในวันที่
1 มกราคม 2435 นั้น
รัฐบาลได้กำหนดให้มีการเฉลิมฉลองหลายประการและได้จัดตั้งคณะกรรมการในเรื่องนี้ขึ้น
1 ชุด โดยมีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
ในขณะเดียวกันนี้ก็มีการพูดจากันอย่างไม่เป็นทางการในหมู่อาจารย์ต่างๆ
ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลของมหาวิทยาลัยมหิดลว่าในวาระอันเป็นมงคลเช่นนี้
ควรจะดำเนินการให้มีรางวัลซึ่งเรียกในตอนแรกว่า “รางวัลมหิดล”
ขึ้น
แต่ยังไม่ได้ตกลงกันว่าจะเป็นรางวัลซึ่งให้กับผู้ได้รับจากในประเทศหรือทำเป็นรางวัลนานาชาติ
และปัญหาใหญ่ที่มีการพูดถึงกันแต่ไม่มีคำตอบก็คือ
จะหาเงินที่มาให้รางวัลมหิดลนี้จากที่ใด
วันหนึ่งในปี 2543 นั้นเอง มีสุภาพสตรีจากชนบทท่านหนึ่งเข้ามาขอพบท่านคณบดีของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
เจ้าหน้าที่ก็ถามว่ามาพบเรื่องอะไร
เธอก็ตอบว่าเธอได้รับการรักษาพยาบาลอย่างดีจากอาจารย์ของศิริราชเมื่อ
20 ปีก่อนหน้านี้
และตั้งใจว่าวันหนึ่งที่เธอสามารถตอบแทนได้ก็จะตอบแทนความเอื้ออารีของโรงพยาบาลศิริราช
บัดนี้เธออยู่ในฐานะเช่นนั้นแล้ว
เพราะเธอขายที่ดินของเธอได้ในราคาดีพอสมควร
เหตุการณ์ตอนนั้นอยู่ในระยะที่เมืองไทยอยู่ในฐานะที่เศรษฐกิจดี
ก่อนที่เศรษฐกิจจะตกต่ำใน 5 ปีหนัง
รู้สึกว่าเธอจะเอ่ยถึงตัวเลขของเงินที่จะมอบให้คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลว่าเป็นตัวเลขในระดับ
8 หลัก เจ้าหน้าที่ก็จัดให้พบกัน
ศาสตราจารย์นายแพทย์ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี
ซึ่งเป็นคณบดีในขณะนั้น
ศาสตราจารย์นายแพทย์ประดิษฐ์
ได้แนะเธอว่าน่าจะนำเงินนี้ขึ้นถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็จะเป็นการดี
ซึ่งสุภาพสตรีผู้นี้ก็ยินยอมตาม
เมื่อการถวายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ได้เสร็จสิ้นลงแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงถามศาสตราจารย์นายแพทย์ประดิษฐ์
ว่าจะเอาเงินนี้ไปใช้อะไร
ซึ่งศาสตราจารย์นายแพทย์ประดิษฐ์
ก็กราบทูลตอบในทันทีว่าใช้เพื่อเป็นเงินของมูลนิธิฯ
ในสมเด็จพระบรมราชชนก ซึ่งในเวลานั้นเรียกว่า
“มูลนิธิรางวัลมหิดล”
ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงยินยอมตามนั้น
เรื่องนี้เป็นเรื่องเพื่อจะให้เห็นว่ามูลนิธิฯ
ได้เงินขั้นแรกอย่างไร……..
(โปรดติดตามต่อไป)
*******************************************
แรงบันดาลใจที่นำปาฐกถาเรื่อง
“รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล” นี้มาลงบล็อก
ส่วนหนึ่งต้องสารภาพว่ารู้สึกประทับใจกับสุภาพสตรีท่านนี้ด้วยค่ะ
ที่แม้เวลาจะผ่านล่วงเลยไปนานกว่า 20 ปี
แต่เธอก็ไม่เคยลืมความตั้งใจที่จะตอบแทนโรงพยาบาลศิริราชเลยค่ะ
โปรดติดตามต่อไปนะคะ............ @^_^@