ศักดิ์
นาย เกรียงศักดิ์ พี ทองอิ่ม

วิถีชีวิตของชาวบ้านริมแม่น้ำ ช่วงน้ำท่วม


ซึ่งช่วงที่น้ำท่วมสูง ต้องนำสิ่งของใส่เรือสัมปั้นลำใหญ่เอาไว้เผื่อฉุกเฉิน

            ติดพันเรื่องน้ำท่วม  ทำให้นึกภาพ  ในช่วงที่เรียนชั้นประถมศึกษา  ที่กลับมาเยี่ยมบ้านเวลาน่าน้ำ ( ท่วมบ่อย ) ยายเคยเล่าให้ฟัง ว่าน้ำท่วมมากที่สุด  ปี 2475  บ้านของ ตา ยาย ว่าสูง แล้ว ต้องหนุนพื้นให้สูงกว่าขอบหน้าต่าง ขึ้นไป  ลืมบอกไปว่า  บ้าน ตา ยาย ที่ผมเกิดนั้น เป็นบ้านทรงไทย สมัยเก่า ๆ ที่เวลา ฝนตก ฝนจะสาดแทบทั้งหลัง  แต่ถ้าอากาศดีๆ มีลมพัดผ่านจะเย็นสะบาย  ซึ่งช่วงที่น้ำท่วมสูง ต้องนำสิ่งของใส่เรือสัมปั้นลำใหญ่เอาไว้เผื่อฉุกเฉิน  ที่ว่าเรือปั้นลำใหญ่  เพราะสามารถนั่งในเรือได้กว่า 10 คนสะบาย ๆ ถ้าจะเดินทางต้องใช้แจวข้างท้ายและมีคนช่วยพายทางหัวเรือ 2-3 คน    ยายมีเรือหลายลำ  และหลายขนาด  มีทั้งเรือต่อ ( เรือที่นำกระดานแผ่นเล็ก ๆ มาเรียงต่อกัน)  เรือขุด ( เรือที่ขุดจากไม่ท่อนเดีวเป็นรูปเรือ ) เรือต่อน้ำหนักเบา  พายง่าย ไม่หนัก  เรือขุด ค่อนข้างหนัก เวลาพายออกตัวได้ช้ามาก  
             ช่วงที่น้ำท่วม  มีบางปี ที่ ตา ยาย แม่ และน้า  ต้องออกไปเกี่ยวข้าว  ท่านคงสงสัย  ว่าเกี่ยวอย่างไร  ก็นั่งในเรือสัมปั้นลำใหญ่ แล้วเกี่ยว  ที่บอกเกี่ยวข้าวในน้ำ เพราะการพยากรณ์อากาศสมัยก่อน ข่าวสารไม่ทันสมัย  ด้วยข่าวสารจากบางกอก  ฟังจากทางวิทยุที่ใช้ถ่านกะบะ 20-30 ก้อน (จำไม่ได้แม่นนัก)  การปลูกข้าวสมัยเดิมต้องเสี่ยงกันดู  เมื่อได้ข้าวที่เกี่ยวแล้วต้องนำมาตากแห้ง  บนลานตากข้าว ที่ ตั้งเสาแล้วเอาไม้ไผ่พาดวางเรียงกัน  แล้วเอาเสื่อลำแพนมาปูเพื่อไม่ให้ข้าวตกน้ำ  ที่ตากข้าวสูงพอ ๆ กับพื้นบ้าน  ต้องตากข้าวให้แห้งแล้วจึงนวดโดยให้ควายย่ำ บริเวณโคกที่เป็นคอกควาย  จากนั้นจึงนำข้าวเปลืกไปตากอีกครั้ง  เนื่องจากข้าวเปลือกมีเศษของฟางข้าวและข้าวเม็ดลีบติดมาด้วย วิธีที่จะทำให้ได้ข้าวเปลือกสะอาด  โดยฝัดด้วยกระดงที่ผู้ใหญ่ที่มีความชำนาญจึงจะสามารถทำได้ กับใช้เครื่องสีฝัด  
เมื่อได้ข้าวเปลือกที่ค่อนข้างหมดจดแล้ว  ก็เก็บไว้ในยุ้งข้าว  ที่มีพร้อม( เป็นภาชนะหน้าตาคล้ายกระบุงขนาดให้ 2-3 คนโอบ ) ใส่ข้าวเปลือกไว้  เพื่อนำไปสีให้ได้ข้าวสาร  แล้วขายให้กับโรงสี แลกเปลี่ยนเป็นเงิน
              ช่วงน้ำท่วมมีอีกอย่างหนึ่งที่ผมเคยไปช่วย  ตัดหาฟืน  คนคงสงสัยว่า  ทำไมจึงต้องตัดฟืนน่าน้ำ  ต้องบอกว่า เพราะเอามาได้ทีละมาก ๆ  ช่วงที่ผมเล่านี้ การหุงข้าวยังใช้หม้อดิน เชื้อเพลิงที่ใช้ก้อฟืนไง  ฟืนที่ใช้ได้ดีมาก ๆ ต้องเป็นไม้สะแก  ป่าสะแกจะอยู่ห่างจากบ้านที่อยู่ ประมาณ 1 กิโลเมตร  ถ้าหากแบกมาก็จะได้วันละ 1 ท่อน  ใช้เรือขนได้ทีละมาก ๆ  ขนมาถึงบ้าน  ทิ้งไว้ในน้ำที่ลานหลังบ้าน  จนกว่าน้ำแห้ง  จึงจะมาทอนเป็น ท่อนสั้น พอเหมาะกับเตาไฟ  ( ยายบอกว่าไม้สะแกเป็นไม้แกร่ง  ไฟแรงดี )

               วิถีชีวิตของชาวบ้านริมแม่น้ำ  ช่วงน้ำท่วม  เป็นความสุขอีกแบบ ที่คนรุ่นเก่าสั่งสอนและให้ประสบการณ์กับเราด้วยการกระทำจริง

หมายเลขบันทึก: 144627เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2007 19:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 21:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วได้ความรู้ เกี่ยวกับวิถีชีวิต การดำเนินชีวิตของคนสมัยก่อน  

คนสมัยก่อนดูมีความสุข สงบ 

คิดถึง เศรษฐกิจ พอเพียง ขึ้นมาทันที

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท