การครอบงำสื่ออธิบายโดย The Media Hegemony Theory(1)


เป็นการรวม 2 บทความที่เกี่ยวข้องกันเข้าด้วยกัน อาจงงไปบ้าง

หากสืบค้นคำอธิบายของสิ่งที่เรียกว่าอุดมการณ์นั้น มีผู้เริ่มใช้คำ เป็นคนแรก คือ Antôine Louis Claude Comte Destrutt de Tracy[1] ได้นิยามภาษาฝรั่งเศส Idéologue ว่า “science of idea” คือ ศาสตร์แห่งความรู้ที่ได้จาก ประสบการณ์ที่สัมผัสได้ทางกายภาพ [2]  ความหมายดั้งเดิมของคำนี้เด เตรซีใช้การประกอบคำภาษากรีก ๒ คำ คือ Είδος (eidos sort / kind / type / genre / species / strain) และ Λόγος (logos – rationality/knowing of/law) ซึ่งหากดูจากรากศัพท์ภาษากรีกนั้น ผมก็พอจะให้นิยามคร่าวๆของอุดมการณ์ว่า ความคิดเกี่ยวกับแบบแผนอย่างใดอย่างหนึ่ง ในสถานะแบบนี้นั้น อุดมการณ์จึงมีสภาวะเป็นนามธรรมซึ่งจะถูกสร้างขึ้นเมื่อใดก็ตามที่มนุษย์พยายามที่จะหาหลักประกันเพื่อให้ มุมมอง – Θεωρία(theoría – consideration/theory)” อันใดอันหนึ่งที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นมาอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นให้มีความสมบูรณ์ชั่วนิรันดร์ เช่นนั้นแล้วอุดมการณ์จึงไม่ใช่เครื่องมือในการหาความรู้ หรือเข้าสู่ความรู้ทั้งนี้เพราะถูกควบคุมด้วยผลประโยชน์ในด้านต่างๆมากกว่าที่จะถูกควบคุมด้วยเหตุผล ในทุกสังคมมีความเป็นไปได้ที่จะพยายามสร้างอุดมการณ์เพื่อมีหน้าที่ในการ สร้างสรรค์/ปรับปรุง/เปลี่ยนแปลง ปัจเจกบุคคลให้เข้ากับเงื่อนไขการดำรงอยู่ของสังคม  และหากเชื่อกรัมชี่ปฏิบัติการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จะเริ่ม ประกอบสร้าง กันในระดับโครงสร้างหนึ่ง(ส่วนบน)ของสังคม หากกล่าวโดยรวมอุดมการณ์จะถูกสร้างให้มีลักษณะโดยรวม[3]ดังต่อไปนี้

๑.     ให้คำอธิบายได้ว่าสภาวะแห่งสังคมการเมืองที่ดำรงอยู่นั้นเป็นอย่างไร เรียกอุดมการณ์ที่ถูกสร้างแบบนี้ว่า โลกทัศน์(world view)

๒.  เสนอตัวแบบของสังคมที่พึงปรารถนาในอนาคตว่าต้องเป็นอย่างไร เรียกอุดมการณ์ที่ถูกสร้างแบบนี้ว่าเกิดมีวิสัยทัศน์ (vision) ต่อสังคมที่ดีในอนาคต

๓.  ชี้นำว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองในรูปใด ที่จะสามารถพาไปสู่สังคมที่ปรารถนาในสภาพ

เช่นนี้ อุดมการณ์จึงต้องถูกสร้าง จึงต้องมีผู้สร้าง และต้องถูกใช้จึงต้องมีผู้ถูกกระทำโดยอุดมการณ์ เช่นนั้นแล้วอุดมการณ์จึงเป็นสิ่งนามธรรมที่มีมิติทางอำนาจ ในการบังคับให้ทำหรือไม่ทำ แต่ดังกล่าวมาข้างต้นว่าเพียงการบังคับหรือควบคุมนั้นไม่เพียงพอ อุดมการณ์จะมีปฏิบัติการณ์อันสมบูรณ์และสัมบูรณ์นั้นต้องมีมิติของการครอบงำด้วยกลับมาที่ด้านนีโอ-มาร์กซิสม์อย่าง Antonio Gramsci กล่าวถึงอุดมการณ์[4]ว่าคือการใช้พลังอำนาจทางการเมืองที่แท้จริง และโดยทั่วไปผู้ปกครองคือกำหนดขึ้นมา ด้วยอำนาจที่มี

อุดมการณ์จึงเป็นเครื่องมือของผู้ปกครองในการคบคุมพลเมืองของตนได้อย่างราบรื่น หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นที่ยอมรับของพลเมือง ให้การยอมรับด้วยใจไม่ใช่ด้วยการ ใช้กำลัง กรัมชีไม่ได้มองว่าพลังในการปกครองจะผูกติดอยู่กับชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง แต่มองว่าสังคมจะถูกปกครองโดยคนกลุ่มหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่งๆ พอช่วงเวลาผ่านไปก็เป็นไปได้ที่กลุ่มอื่นจะขึ้นมามีอำนาจแทน กลุ่มที่ทำหน้าที่ปกครองสังคม จะเรียกว่า กลุ่มผลประโยชน์ที่ตกลงกันได้ในช่วงเวลาหนึ่งๆหรือกลุ่มประวัติศาสตร์(historical bloc) และสิ่งที่ถูกสร้างเป็น อุดมการณ์หลักของสังคม คือ ร่องรอยของการจัดสรรอำนาจที่มีผลทำให้โครงสร้างของอำนาจดูราวกับว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ เรื่องปกติธรรมดา หรือ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ กระบวนการที่ชนชั้นซึ่งมีบทบาทโดดเด่นในสังคมหรือชนชั้นที่เป็นคนจำนวนไม่มาก ใช้สถาบันทางสังคมโดยอาศัยอภิสิทธิ์บางอย่างที่ทำให้เข้าถึงสถาบันเหล่านี้ได้ และใช้สถาบันนั้นเป็นเครื่องมือในการธำรงไว้ซึ่งพลังอำนาจของกลุ่มตน โดยผ่านการสร้างอุดมการณ์หลักของสังคมนั้น กรัมชีเรียกว่า การครองอำนาจนำ   Hegemony(Egemonia or Direzione) ” สถาบันทางสังคมบางสถาบัน เช่น สถาบันสื่อมวลชน ที่กลุ่มดังกล่าวหรือชนชั้นใดๆอาศัยอภิสิทธิ์บางอย่างที่ทำให้เข้าถึงสถาบันเหล่านี้ได้แล้วนั้น จะกลายเป็นเครื่องมือในการสร้าง อุดมการณ์หลักของสังคม ซึ่งตามปกติอุดมการณ์หลักของสังคมแต่ละแห่ง ก็คือ ชุดของแนวความคิดพื้นฐานที่จัดว่าเป็นสามัญสำนึกของพลเมืองในสังคมนั้นๆ ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็คือ ร่องรอยของการจัดสรรอำนาจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยทำให้โครงสร้างของอำนาจดูราวกับว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ เรื่องปกติธรรมดา หรือ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ กระนั้นเองก็เป็นเรื่องปกติเช่นกันที่ อุดมการณ์หลักจะถูกท้าทายเป็นระยะ[5]  เพราะดังกล่าวมาแล้วว่ากรัมชีเชื่อว่า อุดมการณ์เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น เมื่อถูกสร้างขึ้นก็หมายความว่าแต่เดิมมันไม่ได้มีอยู่ เช่นนี้แล้วการถูกท้าทายด้วยอุดมการณ์ใหม่ๆจากกลุ่มอื่นที่แสวงหาอำนาจจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้

ทฤษฎีครองอำนาจนำในทางสื่อ(Media Hegemony Theory or Hegemonic Model of Media) นั้นเป็นทฤษฎีที่ประยุกต์มาจากทฤษฎีว่าด้วย การครองอำนาจนำ(The Concept Hegemony)” ของกรัมชี ที่มองว่า ชนชั้นนำคือตัวการในการสร้างบรรทัดฐานต่างๆให้กับสังคมผ่านการครอบครองสื่อ[6] ดังนั้นก่อนที่ผมจะอธิบายสิ่งอื่นใดนอกเหนือจากนี้ ผมต้องขอกลับไปหารากเหง้าทางความคิดที่ถูกประยุกต์มานี้เสียก่อนแต่เดิมกรัมชีไม่ได้กล่าวถึง สิ่ง ที่ปัจจุบันเรียกกันว่า Hegemony เนื่องด้วยกรัมชีคิดถึงสิ่งนี้ในขณะที่ถูกคุมขัง และเขียนแสดงความคิดผ่าน บันทึกจากคุก(Quaderni del Carcere or The Prison Notebook) โดยใช้คำอิตาเลียน ๒ คำ คือ dirigere และ egemonia ที่ต่างมีความหมายว่า to direct, lead, rule  ที่เป็นเช่นนี้ด้วยเพราะการตรวจสอบ(censor)เอกสารที่เข้มงวดนั่นเอง นั่นจึงทำให้มีการใช้ สิ่ง ที่กรัมชีกล่าวถึงนี้ด้วยคำที่หลากหลาย เช่น นักวิชาการมาร์กซิสม์หลายคนเรียก สิ่ง นี้ว่า ปรัชญาแห่งการปรับประยุกต์ – The Philosophy of Praxis” ส่วน Vladimir Ilich Ulyanov ‘Lenin’ เรียกว่า พวกหมู่มาก – The Majoritarians”[7] แต่อย่างไรก็ตามคำว่า Hegemony ก็ได้กลายเป็นคำที่ ติดตลาด จนกลายเป็นเครื่องหมายการค้าในงานของกรัมชี กระนั้นการนิยามคำว่า Hegomony ก็ยังไม่ชัดเจนนัก แต่พอจะให้นิยามกว้างๆได้ดังนี้[8] 

๑.   Hegemonyใช้เป็นความคิด(concept)ในการอธิบายกระบวนการ และ วิวัฒนาการที่เป็นธรรมชาติ(Organic) ของการต่อสู้(struggle) ใน สิ่ง ที่ครอบงำจิตใจของชนชั้นที่ถูกกดขี่

๒.  Hegemony เป็น สิ่ง ที่ถูกสร้าง, รักษา และ ผลิตซ้ำโดยปัจเจกชน

๓.   Hegemony ใช้อธิบายกระบวนการที่ปัญญาชนสร้างจิตสำนึกในการเข้าใจสภาพสังคมที่เป็นจริง และ พัฒนารูปแบบของการวางแผนการและการเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือ Hegemony ในความหมายนี้ก็คือสิ่งที่นักวิชาการมาร์กซิสม์ปรัชญาเรียกว่าการปรับประยุกต์(praxis)ดังกล่าวมาข้างต้นนั่นเอง

Perry Anderson กล่าวว่ากรัมชีนั้นได้ขยายความและให้ความหมายของ Hegemony จากการเอาใจใส่มุมมองของชนชั้นแรงงานในช่วงการปฏิวัติสังคมที่ปกครองโดยระบบศักดินายุโรปของพวกชนชั้นกลาง ให้กลายสภาพเป็นสังคมทุนนิยมที่มีชนชั้นกลางเป็นผู้ปกครอง ผ่านการครอบงำด้วยลักษณะผู้นำทางปัญญา หรือ ศีลธรรม(domination as intellectual and moral leadership)[9] กระบวนการเช่นนี้ Paul Ransome กล่าวว่า Hegemony สามารถมองได้ว่าเป็นกระบวนการในการหลอมรวม(combination) การใช้กำลัง(force) และการสร้างฉันทานุมัติ(consent)[10] เป็นกระบวนการทางสังคมที่กรัมชีเรียกว่า สงครามทางความคิด(war of position)” ในการทำให้สังคมเข้าใจ หรือรับรู้ จุดยืน” (position) ของการเคลื่อนไหว(war of movement) ที่ชนชั้นกลางใช้ในการปฏิวัติสังคมดังกล่าว ทั้งยังทำให้สังคมเชื่อถือใน จุดยืน นั้นอีกด้วย ผ่านการสร้าง จิตสำนึก”(conscious) ให้ยอมรับในการขึ้นมามีอำนาจในสังคมของชนชั้นกลางโดยการสร้าง/การใช้สถาบันเพื่อครอบงำความคิดของพลเมือง และสร้างพลเมืองในสังคมให้กลายเป็นแนวร่วมทางอุดมการณ์ที่กรัมชีเรียกว่า กลุ่มประวัติศาสตร์”(historical bloc) เช่น โรงเรียน กรัมชีเรียกสถาบันเหล่านี้ว่า ประชาสังคม(civil society) ซึ่งกรัมชีถือว่าสถาบัน เช่น โรงเรียนนี้ เป็นหน่วย(unit)ที่เครื่องมือของการครอบงำทางอุดมการณ์ทำงานปลูกฝังให้อุดมการณ์ถูกรับรู้ในสถานะส่วนตัว(‘private’ civil society)อย่างมีคุณภาพ โดยมีตัวแทน(agency)ของอุดมการณ์ชนชั้นกลางคือ ปัญญาชน [11]อนึ่งการที่ชนชั้นกลางเป็นชนชั้นที่ต้องเคลื่อนไหว(dynamic) อยู่ตลอด สิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชนชั้นกลางต้องบริโภคคือสื่อ และในการต่อสู้ในระบบตลาดยุคโลกาภิวัตน์ ข้อมูลข่าวสาร และกระบวนการต่างๆในการได้รับ, ครอบครองอำนาจในการสร้างสื่อ เป็นสิ่งที่สำคัญ ในการเมืองของสื่อเช่นนี้ กล่าวได้ว่าชนชั้นกลางคือ ชนชั้นที่ชำนาญและได้เปรียบกว่าชนชั้นอื่นๆในสังคม ในเรื่องของสื่อสารมวลชน[12] 

จากสังเขปทฤษฎี Hegemony ที่กล่าวมา เมื่อนำมาประยุต์เป็นทฤษฎีทางสื่อสารมวลชนที่ว่า ชนชั้นนำคือตัวการในการสร้างบรรทัดฐานต่างๆให้กับสังคมผ่านการครอบครองสื่อ ในสังคมปัจจุบันชนชั้นนำที่ว่านี้ในปัจจุบันก็คงไม่ใช่ใครนอกจากชนชั้นกลางจำนวนหนึ่งที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ, สังคม และการเมือง ทั้งยังมีความสามารถในการใช้สื่อเป็นพื้นที่ในการควบคุม/ครอบงำความคิด,ความรู้ และความเชื่อของสังคมสำหรับกรัมชีกระบวนการด้านการครองอำนาจนำนั้นมีจุดมุ่งหมาย ๒ ด้านและด้านหนึ่งนั้นคือการรักษาไว้ซึ่งการมีอำนาจในการจัดความสัมพันธ์ในเรื่องการเมือง และเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นวิธีของกลุ่มชนชั้นเพื่อจัดการชนชั้นตรงข้ามเพื่อไม่ให้ทำลายการครองอำนาจนำของกลุ่มตน[13] กรัมชีเรียกสิ่งนี้ว่า การครองอำนาจนำในทางการเมือง”(political hegemony) ส่วนอีกด้านคือการรักษาไว้ซึ่งการมีอำนาจในการจัดความสัมพันธ์ในเรื่องระบบคิด ที่กลุ่มชนชั้นสถาปนาระบบนั้นให้กลายเป็นกรอบความคิดหลักของสังคม กรัมชีเรียกว่า การครองอำนาจนำในทางวัฒนธรรม”(cultural hegemony)   ในการครองอำนาจนำนั้นต้องมีการยินยอมของชนชั้นที่ถูกครอบงำด้วยซึ่ง ในกรณีที่ชนชั้นปกครอง(หรือที่มีอำนาจ)มีความเป็นเอกภาพ เป็นกลุ่มก้อนมีฐานอุดมการณ์เข้มแข็ง การเข้าต่อกรกับอุดมการณ์ของชนชั้นปกครองนั้นเป็นเรื่องที่ลำบาก เพราะด้วยความเป็นเอกภาพทางภูมิปัญญาของชนชั้นปกครองนั้นจะทำให้ มวลชน - mass เชื่อใจและมั่นใจในอุดมการณ์หลัก สิ่งที่เกิดขึ้นคือการปราศจากสภาวะการสนใจทางการเมือง กรัมชี่เรียกว่า การครองอำนาจนำจากภายนอก[14] ที่ว่านอกคือมวลชนอยู่นอกขอบเขตของการเข้าถึงอำนาจการนิยามทางชนชั้นของชนชั้น(หรือกลุ่ม)ที่ครองอำนาจนำ หรือเรียกได้ว่าถูกครอบงำนั่นเองในอีกด้านหนึ่งหากมองไปถึงสิ่งที่เรียกว่าการครอบงำในความหมายที่เป็นการยืนยันความมั่นคง เพราะหากปล่อยให้มีความหลากหลายนั่นคือมนุษย์จะต้องพบกับความไม่แน่นอน การถูกครอบงำด้วยเชื่อว่าเกิดความมั่นคงด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวคือทางเลือกของมนุษย์ในโลกสมัยใหม่ เช่น การที่มนุษย์พยายามสร้างกฎหมาย(the Rule of Law) มากกว่าการปกครองด้วยกฎมนุษย์(the Rule of Man)[15]  ดังเช่นความเชื่อที่ว่าความมั่นคงในชีวิตคือสิ่งที่มนุษย์ทุกคนอยากมี อยากเป็น อยากได้ ตั้งแต่ในยุคบุรพกาล(primitive) มนุษย์ต้องประสบกับภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดเดา การเคารพยำเกรงต่อธรรมชาติจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์โบราณสร้างขึ้นผ่านพิธีกรรม สิ่งที่ผลักดันมนุษย์โบราณให้แสดงอาการยอมแพ้(worship)ต่อธรรมชาติ ก็คือ ความกลัว และสิ่งที่สัมพันธ์กันก็คือ ความตาย หรือก็คือ กลัวตาย และมนุษย์ในสังคมสมัยใหม่จะเลือกเชื่อปัญญาชนก็เมื่อปัญญาชนยืนยันความมั่นคงให้มนุษย์ ปัญญาชนสร้างความเชื่อผ่านการใช้สถาบันเพื่อครอบงำความคิดของพลเมือง เช่น โรงเรียน กรัมชีเรียกสถาบันเหล่านี้ว่า ประชาสังคม(civil society) ซึ่งกรัมชีถือว่าเป็นหน่วย(unit)ที่เครื่องมือของการครอบงำทางอุดมการณ์ทำงานปลูกฝังให้อุดมการณ์ถูกรับรู้ในสถานะส่วนตัว(‘private’ civil society)อย่างมีคุณภาพ[16] โดยเป็นสถานที่ที่ปัญญาชนยืนยันความมั่นคงให้มนุษย์ เช่นนั้นแล้วหากมีชนชั้นใดที่มีการศึกษาและสามารถเข้าถึงอำนาจของรัฐในระดับนโยบายนั้น สามารถที่จะสร้างคำนิยามต่อทุกๆสิ่งในสังคมของตน ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างกับที่นักศึกษา(นักปรัชญา)แบบกรีกถามหาสังคมอุดมคติ และพยายามสร้างสังคมนั้นขึ้นมาให้เป็นจริง  การที่จะทำเช่นนี้ได้ต้องผ่านกระบวนการสร้างทางสังคมจากสถาบันต่างๆของภาคสังคมการเมือง หรือหากพูดภาษาสมัยใหม่หน่อยก็คือภาครัฐซึ่งผลิตอุดมการณ์หลักของสังคมมาชุดหนึ่ง(หากพูดภาษาแบบฟูโกต์ก็คือ วาทกรรมนั่นเอง) ในสภาพแบบนี้ มนุษย์กลุ่มเดียวที่จะสามารถกลายเป็นปัญญาชน(ผู้สร้างวาทกรรม)เพราะอำนาจการสร้างวาทกรรมนั้นถูกผูกขาดโดยชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งกรณีนี้กลุ่มอื่นๆ ที่มีบุคคลที่มีสมรรถนะ(potential)ที่จะสามารถกลายเป็นปัญญาชนได้ก็ถูกด้อยค่า(de-value) หรือไม่ก็ถูกกีดกันออกไป(exclude)

 

อ่านต่อตอนจบ

http://gotoknow.org/blog/iammean/144801



 

คำสำคัญ (Tags): #ปรัชญาสื่อ
หมายเลขบันทึก: 144360เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2007 15:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

mean...

อ่านยาก เพราะไม่มีย่อหน้าและไม่วรรคตอน...

ช่วยจัดย่อหน้า และวรรคตอนหน่อย....

เจริญพร 

ยังไม่เสร็จดีครับ พระคุณเจ้า

ผมคงต้องเอามาลงใหม่

 

เพราะนอกจากย่อหน้าจะเคลื่อนแล้ว

 

บทความยังหายไปเกือบครึ่ง

 

คิดว่าสัปดาห์หน้าคงจะเรียบร้อย

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท