ผ้าทอชาวโส้


ท่านที่ไม่คุ้นกับผ้ามุก (ที่เรียกว่า ยกมุก) ให้สังเกต ลายผ้าที่เป็นดอกเล็กๆ แคบๆ นับเส้นยืนได้ราว 10 เส้น อยู่ในแนวเดียวกันตลอด พื้นมักจะเรียบ ไม่ใส่ลวดลาย ลายผ้าจึงเด่นที่มุก บางแห่งเป็นดอกกลม บางแห่งเป็นกากบาท.... ที่เรียกว่า "ยกมุก" ก็เพราะเป็นเมื่อทอ ต้องยกเส้นด้ายยืนพิเศษให้ได้ลวดลายนั่นเอง

   ไม่ได้เล่าเรื่องผ้ามาหลายวัน ขึ้นเดือนใหม่แล้ว ตั้งใจจะเขียนบันทึกวันที่ 1 ของเดือนสักหน่อย น่าจะทัน เที่ยวนี้ขอเล่าเรื่องการเดินทางไปดูผ้าทอที่อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนมครับ เมื่อคืนเรานอนพักที่ตัวเมืองสกลนครด้วยความคุ้นเคย (เพราะช่วงนั้นไปสกลนครบ่อยมาก คนขับไม่หลงอีกแล้ว) ตื่นเช้าก็มุ่งหน้าไปอำเภอท่าอุเทน ช่วยกันดูแผนที่ บอกยุทธว่า ไปทางโพนสวรรค์ ก็ถึงท่าอุเทนได้ ไม่ต้องอ้อมที่นครพนม ตกลงไปตามนั้น ตามแผนที่แล้วเดินทางเพียง 40 กิโลเมตรเท่านั้น

ที่อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนมนี้ เดิมตั้งใจจะไปดูผ้าไทยญ้อ ที่ อ.ท่าอุเทน แต่มีปัญหาเล็กน้อย จึงไม่เจอไทยญ้อ มีแต่ชาวโส้ ตอนแรกก็ไม่ค่อยชอบใจนัก เพราะตั้งใจจะไปถ่ายผ้าไทยโส้ที่ อ.กุสุมาลย์ สกลนคร ซึ่งกลายเป็นว่าจะได้ผ้าโส้สองที่ แต่เมื่อได้ไปถึงก็ไม่ทำให้ผิดหวังแต่อย่างใด

ยุทธขับรถไปตามเส้นทาง ดูหมายเลขทางหลวงแล้วถูกต้องแน่นอน พอผ่านท่าแร่ พรรคพวกรีบบอกว่า อย่าแวะกินข้าวนะ กลัวจะไม่ได้เนื้อหมู ไม่ทราบว่าพูดจริงหรือพูดเล่น แต่ท่าทางหลายคนจะระแวงเนื้อหมูที่สกลนครเอามาก

จุดหมายปลายทางอยู่ที่ ที่ว่าการอำเภอท่าอุเทน แต่ตรงทางแยกจากทางหลัก เข้าไปนะสิ ถ้าเป็นลูกรังธรรมดาคงไม่กระไรนัก แต่นี่ทั้งหลุมทั้งบ่อ รถสวนกันก็ต้องแอบชะลอ ผ่านไปได้สิบกว่ากิโล ถามยุทธ คนขับรถ (ผู้ช่วยกล้องด้วยเป็นบางครั้ง) ว่าไหวไหม เขาบอกว่าไหว แต่ดูแผนที่แล้ว คิดว่าขากลับน่าจะมาทางนครพนมจะดีกว่า

ไปถึงที่ว่าการอำเภอท่าอุเทนประมาณ 9.00 น. ติดต่อเจ้าหน้าที่พัฒนาการอำเภออีกเหมือนกัน คอยครู่หนึ่ง มีเจ้าหน้าที่เข้ามา บอลเอาเอกสารให้ดู ว่าที่ติดต่อมาเรื่องจะถ่ายทำสารคดี ฯลฯ เขาอ่านจดหมายแล้ว ส่งให้อีกคนหนึ่งที่หน้าเครื่องถ่ายเอกสาร เจ้าหน้าที่คนนั้นไม่ฟังอีร้าค่าอีรม หยิบไปคว่ำบนเครื่องถ่าย กำลังจะกดปุ่ม คนที่ส่งให้บอกว่าไม่ใช่ๆ เขาจึงหยิบจดหมายมาอ่าน แล้วไปตามเจ้าหน้าที่อีกคน

พวกเขาขึ้นไปหานายอำเภอก่อน (แปลนที่ว่าการอำเภอที่ไหนๆ ก็เหมือนกันหมด) ท่านนายอำเภอพูดคุยสอบถาม และเล่าว่าที่นี่พบรอยเท้าไดโนเสาร์ เพิ่งพบใหม่ เร็วๆ นี้เอง ในห้องทำงานของท่านก็มีแท่งหินขนาดใหญ่ ที่มีรอยเท้าไดโนเสาร์ นายอำเภอบอกเจ้าหน้าที่ว่าผ้ามุกที่นี่เป็นเอกลักษณ์ อยากให้ทำเป็นลวดลายไดโนเสาร์ เจ้าหน้าที่ฟังแล้วรับปากว่าจะลองเสนอดู

<p>ผ้ามุกชาวโส้</p>จากนั้นก็ออกเดินทางไปยังหมู่บ้าน ใช้เวลาไม่นาน หนทางก็สะดวกกว่าที่ผ่านมามาก ในที่หมู่บ้าน ”พะทาย” ฟังชื่อแปลกๆ มีกลุ่มแม่บ้านทอผ้า บ้านหลังแรกทอผ้ามุก น่าสนใจ เพราะเรื่องผ้ามุกนี้แหละเกือบทำให้ผมต้องเสียหน้า เพราะเขียนข้อมูลผิดออกอากาศไปทั่วประเทศมาแล้ว

</font></font>

เรื่องมีอยู่ว่า ผ้ายกมุก หรือผ้ามุกนี้ อาศัยกรรมวิธีการทอแบบพิเศษ คือเพิ่มเส้นยืนพิเศษไปเหนือเส้นด้ายปกติ (หากเป็นการทอลวดลายอื่นๆ ส่วนใหญ่ใช้เส้นด้ายพุ่งพิเศษ) แต่จะต้องมีการยกตะกอด้ายยืนพวกนี้ไว้ให้ลอยอยู่ตลอด ในหนังสือเล่มหนึ่งบอกว่า ต้องมีตัวถ่วงน้ำหนัก ผมก็เขียนไปอย่างนั้น แต่พอไปเห็นจริงๆ ที่ศรีสัชนาลัย (หาดเสี้ยว) สุโขทัย กลับไม่ใช่ เขาใช้ยางคอยดึง (จำไม่ได้ว่าเป็นยางเส้นใหญ่ๆ ที่เอาไว้รัดท้ายรถมอเตอร์ไซค์ หรือเป็นยางในจักรยาน) ต้องรีบแก้บท ครั้นมาเห็นที่นี่ ก็พบว่ามีการใช้ลูกตุ้มถ่วงให้ตะกอ ยกลอยไว้ น่าสนใจมาก และการทอลายก็ไม่ต้องอาศัยคานเหยียบ แต่ใช้มือยกหรือกดตะกอที่ต้องการ ลูกตุ้มของที่นี่เป็นซีเมนต์หล่อกลมเท่ากับลูกเทนนิส ไม่หนักมาก

ผ้าที่ทอส่วนมากเป็นสีน้ำเงินม่วง ลายมุกสีขาว เหมือนที่พี่ตุ๊กกี้ (สุขุมาล บุญยะกร, นามสกุลตอนนั้น) ให้ยืมมาถ่ายเมื่อตอนไปน่าน เข้าใจว่าคงจะได้มากจากที่นี่ เพราะพี่เขาบอกว่ามาจากนครพนม แต่ที่บอกว่าผ้ามุกเป็นผ้าโดดเด่นของที่นี่ยังสงสัยอยู่ เพราะในที่สุด ทราบว่ามีหลายที่ที่ทอผ้ามุก เช่น คูบัว ราชบุรี (ไทยยวน), สีคิ้ว นครราชสีมา (ไทยยวนเหมือนกัน, ไม่ใช่ยวนยาเหลนะครับ), ศรีสัชนาลัย สุโขทัย (นี่เป็นไทยพวน) แล้วก็บ้านนาอ้อ เลย (ไม่ทราบว่ากลุ่มไหน) สุดท้ายก็มาเจอที่บ้านพะทาย ท่าอุเทนนี่ ที่น่าสงสัยก็เพราะการทอยกมุกนั้นกรรมวิธียากกว่าการทอขิด ต้องยกเส้นยืนลอย ถ้าไม่ใช่เจ้าตำรับจริง ไม่น่าจะเสียเวลามาทำ ลวดลายก็เล็กๆ แคบๆ ดังนั้นจึงต้องค้นคว้าต่อไป ว่ายกมุกมีต้นตอจากที่ไหนกันแน่

ท่านที่ไม่คุ้นกับผ้ามุก (ที่เรียกว่า ยกมุก) ให้สังเกต ลายผ้าที่เป็นดอกเล็กๆ แคบๆ นับเส้นยืนได้ราว 10 เส้น อยู่ในแนวเดียวกันตลอด พื้นมักจะเรียบ ไม่ใส่ลวดลาย ลายผ้าจึงเด่นที่มุก บางแห่งเป็นดอกกลม บางแห่งเป็นกากบาท (ไว้ค่อยนำภาพมาให้ชมกัน, ติดค้างหลายครั้งแล้วเนี่ย อิๆ)

แม่บ้านที่มานี้สวมเสื้อลายมุกกันหลายคน ส่วนผ้านุ่งนั้นเป็นซิ่นหมี่ย้อมคราม ก็เลยสงสัยอีกว่า มัดหมี่ย้อมครามคงจะมีแพร่หลายในหลายท้องถิ่นเหมือนกัน มาอีสานเที่ยวนี้ เริ่มจะจับเค้าผ้าได้หลายอย่างแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำแผนที่ คุยกับอาจารย์ธวัช ปุณโณทก ท่านว่า เรื่องแบบนี้บางทีก็บังเอิญสอดคล้องกัน หรือแลกเปลี่ยนถ่ายทอดกัน ได้ทั้งนั้น สังเกตลายช้างลายม้าบนผ้าขิดสิ เห็นหลายที่ และมีหลายแห่งที่ใช้ลายเดียวกัน (จำนวนเส้นยืนเส้นพุ่งเท่ากันเลย) แต่ถ้าเป็นช่างทอ เห็นลายขิดพวกนี้แล้วจะนำไปทอบ้างไม่ใช่เรื่องยากอะไร

พวกเราถ่ายทำที่บ้านหลังแรกครู่หนึ่ง แล้วขอให้แม่บ้านนั่งบนตั่ง เพราะเห็นซิ่นสวยดี จากนั้นก็ยกอุปกรณ์ไปถ่ายทำที่บ้านอีกหลัง ที่มีการทอผ้ามัดหมี่ และกรอด้าย

ข้างๆ นั้นชาวบ้านสานเสื่อ ช่วยกันสองสามคน คนหนึ่งคอยสาน อีกคงส่งตอก ตอกย้อมสีต่างๆ ทำได้เร็วเพราะช่วยกัน ต่างจากทอเสื่อที่บ้านเขว้า เพราะตอกเส้นใหญ่ (เขาเรียกตอกหรือเปล่าก็ลืมถาม) บนกี่มีกระติบข้าวจิ๋วแขวนไว้ ทำไว้ขายเป็นของที่ระลึก ระหว่างนั้น ยุทธวิ่งหน้าตื่นมา บอกว่าแย่แล้ว ลืมกุญแจไว้ในรถ ล็อกรถเรียบร้อย ชาวบ้านก็ช่วยตามช่างมาให้ พวกเรายังถ่ายทำกันต่อ

ชาวโส้ หรือไทยโส้นั้น เป็นชาวไทยอีกกลุ่มหนึ่ง ตั้งถิ่นฐานกันแถวนครพนม สกลนคร ชาวพะทายที่นี่ส่วนใหญ่เป็นชาวโส้ และพูดภาษาโส้กัน แต่พวกเราฟังไม่ออก คล้ายภาษาเขมร ตอนแรกตั้งใจว่าจะกลับไปที่กุสุมาลย์ต่อ แต่เมื่อรถยังไม่พร้อม จึงเดินทางไปที่ศูนย์เย็บผ้าของกลุ่มแม่บ้าน ที่อยู่ใกล้สำนักงาน อบต. อาศัยรถของเจ้าหน้าที่พัฒนาการอำเภอกับของชาวบ้านเอง ส่วนคนขับรถก็ทิ้งไว้ที่หมู่บ้าน บอกว่าถ้าเปิดประตูรถได้ก็ให้ตามมา ที่ศูนย์แม่บ้านนี้มีผ้าทอทั้งผ้ามุกและผ้าอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีเสื้อผ้าที่ตัดเย็บแล้ว ข้างหลังมีตุ๊กตาดินเผา รูปช้างม้าวัวควายน่ารักดี

ก่อนจะกลับ กลุ่มแม่บ้านและสภา อบต. มอบของที่ระลึกให้ เป็นผ้าทอยกมุกผืนหนึ่ง และผ้าสไบขิดลายนาคอีกผืนหนึ่ง สวยงามมาก พื้นสีแดง ลายนาคสีขาวสลับเขียว ตรงชายเป็นด้ายยืนสีขาวราวคืบหนึ่ง

กำลังจะเดินทางไปดูรอยเท้าไดโนเสาร์ ยุทธก็ขับรถตู้ตามมาพอดี เราถ่ายรถไปนั่งรถตู้ ส่วนกลุ่มแม่บ้านก็แยกย้ายกันกลับ เจ้าหน้าที่พาเราไปดูรอยเท้าไดโนเสาร์ ถ่ายภาพไว้เกือบทั้งหมด แต่สงสัยอยู่ว่าจะเขียนบทยังไงหนอ ถึงจะได้นำมาเกี่ยวกับผ้าได้ ตอนนี้ยังไม่ได้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแต่อย่างใด

หมายเลขบันทึก: 143599เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2007 22:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)
  • สวัสดีค่ะ
  • อยากเห็นรูปจังเลยค่ะ ว่าเป็นผ้ามุกเป็นอย่างไร ว่าป้าแดง มีสะสมไว้บ้างรึยัง
  • ขอบคุณค่ะ
สวัสดีครับ ป้าแดง จะพยายามหาภาพถ่ายงามๆ มาฝากนะครับ ตอนนี้รบกวนแวะดูที่นี่ ผ้ามุกสกลนคร ไปก่อนนะครับ ขอบคุณครับ

มาตามอ่านค่ะ

ขอบคุณที่นำสิ่งดีดี มาให้ความรู้ค่ะ

  • สวัสดีค่ะ
  • ดีจัง
  • บันทึกนี้ไม่มีหลง
  • อิอิอิ
  • ไม่มีภาพให้ดูอีกแล้ว
  • มาทวงภาพด้วยค่ะ
สวัสดีครับ พี่อุบล จ๋วงพานิช ตอนนี้ลองค้นๆ ตามเว็บไซต์ เห็นผลิตภัณฑ์ของบ้านพะทายมีชื่อเสียงมากเหมือนกันครับ ผ้ามุกมีทอไม่กี่ที่ แต่ก็พอจะหาได้ไม่ยากเท่าไหร่นะครับ
สวัสดีครับ คุณหอยโข่ง ทวงภาพอีกแล้ว สงสัยต้องไปตระเวนอีกรอบ อิๆ ก็มีโครงการอยู่นะครับ ว่าจะวิจัยส่วนตัว (ระดมทุนก่อน) ภาพเพิ่มเติม ถ้าด่วน ก็อาจต้องรบกวนญาติๆ ใน GotoKnow นี่แหละครับ ;)
  • เขียนได้ดีจังค่ะ 
  • จินตนาการตามได้เลย
  • แต่ยังไงก็ยังคิดเหมือนท่านอื่น ๆ
  • อยากเห็นภาพค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ
  • อยากเห็นภาพแบบอาจารย์รักว่า
  • ทำอย่างไรจะได้เห็นภาพครับ
  • อิอิอิๆ
สวัสดีครับ ทุกๆ ท่าน

โอ๋ย มากดดันอีหลีเนาะ

ทนไม่ได้แล้ว ต้องหารูปมาแปะ พอได้เห็นภาพเลาๆ กันไปก่อนนะครับ

เที่ยวหน้าไม่ต้องห่วง ผมถอดผ้าขาวม้ามาถ่ายโชว์กันเลย (ถ้าไม่เชื่อไปดูในไฟล์อัลบั้มก่อนก็ได้ ท้าให้ดู! http://gotoknow.org/file/thaipoet อิๆ)

คุณ RAK-NA ก็สนใจเรื่องผ้าเหมือนกันเหรอครับ เจอแหล่งผ้าน่าสนใจที่ไหน มาบอกข่าวกันบ้างนะครับ ;)

อาจารย์ขจิตล่ะครับ มีผ้าขาวม้าร้อยสีหรือยังครับ รบกวนอาจารย์ช่วยแนะนำ theme เหมาะๆ กับบล็อกผ้าหน่อยสิครับ ขอบคุณล่วงหน้าครับผม

  • ผ้าพื้นเมืองมีแต่สวยๆนะคะ...ชาวบ้านที่ทอเองนี่มีมานะอดทนดีจริง...จะติดก็ตรงที่สีมักจะตก  ต้องซักด้วยมือแล้วแยกออกไม่ปนกัน  ตากในที่ร่ม  ลมโชย  จะได้ยืดอายุความงามของผ้า...น่าชื่นชมคนทอผ้าด้วยมือมากๆค่ะ
  • ขอบคุณสำหรับบันทึกค่ะ

สวัสดีครับ คุณพี่กฤษณา สำเร็จ

ผ้าทอมือย้อมเอง บางทีก็เจอปัญหาสีตกครับ เห็นหลายฝ่ายเข้ามาช่วยปรับปรุงเรื่องนี้ ไม่ทราบว่าไปถึงไหน เคยไปที่ศรีสะเกษ พี่ๆ เขาย้อมสีเคมี เลยทนทาน

ผ้าสวยๆ พอสั่งทอ เอาแบบนี้ โดยมากไม่ค่อยจะได้ตามที่สั่ง ต้องทำใจ แต่ว่าดีตรงที่ มีผืนเดียวในโลกครับ ;)

สวัสดีครับ

เคยแวะมาชมผ้าไทโส้ดงหลวงหรือยังครับ

ที่มี่ผู้หญิงรุ่นกลางคนขึ้นไป มักใส่ผ้าถุงลายเฉพาะของโส้ บรรยายไม่ถูกว่าเป็นลายนาคใหญ่ หรือไม่ เป็นผ้าฝ้ายมัดหมี่ครับ(น่าจะใช่)

ชมรมฯ(อะไรหนอ) ที่มุกดาหารเคยทำหนังสือรวบรวมผ้าทอแปดชนเผ่าของมุกดาหาร ผมได้ซื้อไปแจกกลุ่มแม่บ้านหลายกลุ่มเพื่อแกะลวดลายเก่าๆ เลยได้มีโอกาสเปิดอ่านผ่านๆบ้างครับ เห็นมีรูปถ่ายผ้าเก่าสวยๆ น่าสนใจดีครับ

สวัสดีครับ P คุณ paleeyon

ผมยังไม่ได้แวะดูผ้าชาวโส้ที่ดงหลวงเลยครับ เอ นึกที่ดงหลวงจะมีแต่ผู้ไท ตอนนั้นออกจากสกลนครไปมุกดาหาร ผ่านดงหลวงเห็นเด็กนักเรียนใส่ผ้าพื้นเมืองเดินมั่ง ถีบจักรยานมั่ง กลับจากโรงเรียนดูน่ารัก

เคยเห็นผ้าชาวโส้เป็นมัดหมี่ย้อมครามลายนาค สวยครับ แต่ยังไม่เห็นหนังสือรวมภาพลาย น่าสนใจมากครับ ถ้าสะดวกนำมาเผยแพร่กันต่อ จะได้รู้จักกันมากขึ้นครับ

ขอบคุณครับ

  • สวัสดีค่ะ
  • ตามมาดูรูป
  • อิอิอิ
  • อย่าลืมตามไปใส่ภาพ
  • ในบทความเก่าๆ ด้วยนะ
  • จะได้รู้จักกันให้หมด
  • แวะเข้ามาดูภาพที่คนใจดีจัดให้ค่ะ
  • สีม่วงสวยงามมาก
  • ขอบคุณค่ะ
  • ตามมาชมภาพและผ้าทอสวยๆแล้วคะ

อาจารย์จับงานเป็นเอกลักษณ์  เสนอได้เยี่ยม ขอชื่นชมอย่างมาก

สวัสดีครับ

P อิๆ คุณกาแฟตามมาดูอีกแน่ะ อิๆ ขอบคุณนะครับที่ช่วยแนะนำ ก็ว่าจะนำภาพแผนที่ สถานที่ และผ้าที่เกี่ยวข้องมาใส่ให้ครบ คงต้องใช้เวลาสักหน่อยครับ

P คุณRAK-NA อยากได้ผ้ามุกบ้างไหมครับ เอาไปอวดใครๆ ได้เลย ในตลาดทั่วไปคงจะหายาก เพราะวิธีการทอเป็นภูมิปัญญาเฉพาะกลุ่มจริงๆ

 

สวัสดีครับ

 P ครูบา สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์

  • ขอบคุณมากครับที่แวะมาอ่านครับ
  • พอดีว่า ผมมีข้อมูลเรื่องผ้าไทยอยู่พอสมควร มีเวลาจึงนำมาเล่าแลกเปลี่ยนกันครับ ก็พบว่าหลายท่านใน G2K ก็ศึกษาและสมเรื่องผ้าจริงๆ จังๆ สนุกดีครับ

P คุณnaree suwan ขอบคุณมากนะครับ ที่อุดหนุน เอ้ย สนับสนุนกันมาตลอด ช่วงนี้ไปตะลอนที่ไหนหรือเปล่าครับ อิๆ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท