นักเรียน ร.ร.คุณอำนวย จะช่วยอะไรเกษตรกรได้บ้าง ?


นักเรียนโรงเรียนคุณอำนวยเมืองคอน จะช่วยอะไรเขาได้บ้าง นี่คือคำถามทิ้งท้าย ผมกับ ดร.สมหมาย ก็ได้ช่วยอธิบายไปพอสมควร คิดว่าทุกคนคงจะพอใจ

พี่ชำนาญ (พ.ต.ชำนาญ  รัตนมูณี) ประธานเครือข่ายเกษตรอินทรีย์และปุ๋ยหมักอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชเคยมาพบผมครั้งหนึ่งแล้วที่ร้านมิกกะ(ชื่อญี่ปุ่นๆ) อยู่หน้าศาลากลางจังหวัดนครศรีฯหลังใหม่ ในวันที่ 16 ต.ค. วันที่มีการประชุมถอดบทเรียนโรงเรียนคุณอำนวยเมืองคอนภาคราชการ ซึ่งผมเองยังไม่ได้เล่ากิจกรรมวันนั้นเลย แต่น้องเล็ก พรรษกร ได้เล่าไปบ้างแล้วที่นี่ ต่อยอด "โรงเรียนคุณอำนวย"จากการหารือวันที่ 16 ตุลาคม 50

วันนั้นพี่ชำนาญมาพร้อมกับพี่โกศล สองเกษตรกร จากหมู่ที่ 12 บ้านหนองน้ำมนต์ ตำบลท่าเรือ  อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช มาเล่างานเกษตรอินทรีย์ที่ทำอยู่และที่กำลังจะทำต่อไป วันนั้นคุยอะไรได้ไม่มากนัก การบ้านวันนั้นผมจำได้ให้ท่านทั้งสองไปต่อความคิดกับคนในพื้นที่เรื่องการทำนาอินทรีย์

มาวันที่ 19 ต.ค.เวลาบ่ายโมง เรานัดเจอกันอีกครั้ง ครั้งนี้เจอกันที่ร้านโกปี้ ข้างศาลากลางจังหวัดนครศรีฯ (วนเวียนอยู่แถวๆศาลากลางนี่แหละเป็นไงไม่รู้) ผมเองนัด ดร.สมหมาย คชนูช จาก มทร.ศรีวิชัย ไว้แล้ว ก็ได้พบกับพี่ชำนาญและพี่โกศล แต่วันนั้น พี่ชำนาญกับพี่โกศล ได้ชวนคนคอเดียวจาก ม.12 มาร่วมคุยด้วยอีกหนึ่งคน คือ พี่สมนึก และยังได้ต่อความคิดกับนี้กับเกษตรกรหมู่ที่ 1 บ้านมะขามเรียง ตำบลบางจาก อำเภอเมืองนครศรีฯ คือน้องติ่ง หรือน้องสมวิศว์ จู้พันธ์ รางวัลจตุรพลัง ยอดคุณกิจ จาก สคส.ที่ปรึกษากลุ่มปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกอง การทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกองระบบกองเติมอากาศ

เป้าหมายการพูดคุยวันนั้นมีสองประการคือมุ่งกระชับความสัมพันธ์และความรู้สึกที่ดีที่จะทำงานร่วมกัน และกำหนดเป้าหมายแนวทางการทำงาน เครื่องมือบางอย่างที่จะต้องใช้ในการทำงานร่วมกัน สิ่งดีๆที่มีเป็นทุน สิ่งที่ทำได้อยู่แล้ว เป็นต้น และการนัดหมายเพื่อการพูดคุยกันในพื้นที่

พี่ชำนาญ เป็นประธานเครือข่ายเกษตรอินทรีย์และปุ๋ยหมักอำเภอเมืองนครศรีฯ และมีประสบการณ์การวิจัยชุมชน ล่าสุดได้รับเลือกเป็นสมาชิก อบต.ตำบลท่าเรือ จากหมู่ที่ 12

พี่โกศล เป็นเกษตรกรในพื้นที่ที่มีความมุ่งมันตั้งใจ และเป็นที่เชื่อถือยอมรับของคนในหมู่บ้าน

พี่สมนึก ชอบแนวคิดเกษตรอินทรีย์ ทำกิจกรรมเกษตรอินทรีย์บางอย่างอยู่แล้ว ล่าสุดได้รับเลือกเป็น สมาชิก อบต.ท่าเรือ จากหมู่ที่ 12 เช่นกัน

ส่วนน้องติ่ง ยอดคุณกิจจาก สคส. เกษตรกรจาก หมู่ที่ 1 บ้านมะขามเรียง ตำบลบางจาก รายนี้ไม่ต้องบรรยายสรรพคุณ

ฟังว่าท่านทั้งหลายกำลังจะทำวิจัยเกี่ยวกับนาอินทรีย์ เพราะพื้นที่สองตำบลดังกล่าวเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ เกษตรกรทำนาก็จริง แต่ซื้อข้าวสารกิน ไม่กินไม่บริโภคข้าวที่ทำเอง ที่คุยกันมากคือเกษตรกรใช้สารเคมีกันมาก หาแนวร่วมเพื่อทำนาอินทรีย์ไม่ค่อยได้.......ฯลฯ

นักเรียนโรงเรียนคุณอำนวยเมืองคอน จะช่วยอะไรเขาได้บ้าง นี่คือคำถามทิ้งท้าย ผมกับ ดร.สมหมาย ก็ได้ช่วยอธิบายไปพอสมควร คิดว่าทุกคนคงจะพอใจ

ผมว่าจะเป็นพื้นที่ใด ประเด็นใด หรือกับกลุ่มเป้าหมายใดก็แล้วแต่ คุณอำนวยก็สามารถที่จะแทรกเป็นยาดำได้เสมอ หากว่าจะได้เข้าใจบทบาทคุณอำนวย

มีภาพบรรยากาศการพูดคุยมาฝากครับ

หมายเลขบันทึก: 140997เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2007 21:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • หวัดดีครับครู
  • ยาดำนี้ ถึงจะขม แต่ก็เข้ายาทุกขนานเลยนะครับ ดีกว่ายาหอมซะอีก แก้ลมได้อย่างเดียว. 555
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีครับครูนง

            ผมเคยไปดูผลงาน"ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง" ของศูนย์การเรียนชุมชนตำบลสมเด็จเจริญ

โดยศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอหนองปรือ กาญจนบุรี

            ก็ดูเข้าท่าดีแหละ เหมือนกับที่ชาวบ้านกำลังจัดทำ แต่เขามีแนวร่วมอยู่ครอบครัวเดียว กับนักเรียน กศน.ที่ลงปฏิบัติ

            แต่ดูทีมงานบ้านเราน่าจะทำได้ดีหวา เห็นหัวแรงแก่งๆ ทั้งนั้น

            ขอให้สำเร็จผลยั่งยืนนะครับ มีไหรให้ผมช่วยได้ บอกมาละกันครับ

สวัสดีน้องชัยพร หนุ่มร้อยเกาะ

                   พี่ก็คิดว่าประสบการณ์ของน้องก็คล้ายๆนี้ ใช่ไหมครับ

อ.ภัทรพล คำสุวรรณ์ ครับ

               ค่อยๆปรับเปลี่ยนรูปไปตามสถานการ์ครับ สูตรตายตัวหามีไม่ พลาดมาก็เยอะ เอามาเป็นบทเรียนครับ

               ขอบคุณที่มีใจช่วยเหลือแบ่งปัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท