เรียนอย่างไรให้รู้จริง?


ในแต่ละครั้งของการเรียนการสอน เรามักตั้งประเด็นหรือ "โจทย์" ให้ลูกศิษย์ไปหาคำตอบ...
สมุดบันทึก

เกือบห้าร้อยเล่ม

หลากสีสันหลายสไตล์วางรวมกันเป็นกองใหญ่อยู่ที่มุมหนึ่งของห้องทำงาน

สมุดเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของ การบ้าน หรือ “Take Home” ที่ว่าด้วยการเสริมพลังของกลุ่มและองค์กรชุมชน ซึ่งเป็นหัวข้อหนึ่งในรายวิชาบังคับพื้นฐานด้านการส่งเสริมการเกษตรที่นิสิตปริญญาตรีของคณะเกษตรกำแพงแสนทุกคนต้องลงทะเบียนเรียน  

เราช่วยดูแลรายวิชานี้อยู่หลายหัวข้อ นับแต่...การเกษตรไทย โครงสร้างและชุมชนเกษตรกรรม... กลุ่ม/ผู้นำ/ความเข้มแข็งขององค์กรในการส่งเสริมการเกษตรและการเสริมพลังกลุ่ม... งานวิจัยกับงานส่งเสริมการเกษตร... การส่งเสริมการเกษตรเปรียบเทียบในภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน... ตลอดจนการพัฒนาการเกษตรของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในทวีปยุโรป  

ลูกศิษย์ที่ลงเรียนวิชานี้ส่วนใหญ่เป็นนิสิตชั้นปีที่ 2 มีบางส่วนเป็นปี 3 และสำหรับในภาคปลายบางครั้งก็มีน้องปี 1 บางส่วนมาลงเรียนด้วย ลูกศิษย์อาจยังไม่คุ้นชินกับการศึกษาในลักษณะของการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองเพื่อให้ "รู้จริง" และ "รู้แจ้ง"...หลายครั้งเราจึงมักได้ยินเสียงลูกศิษย์บอกกันว่า... อาจารย์ทิพวัลย์ให้งานเยอะจังเลย...

เพราะในแต่ละครั้งของการเรียนการสอนเรามักตั้งประเด็นหรือ โจทย์ ให้ลูกศิษย์ไปหาคำตอบ ซึ่งลูกศิษย์เราต้องไปค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลความรู้ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากตำรา หนังสือ เอกสาร รายงาน และ Website ต่าง ๆ ตลอดจนข้อมูลจากประสบการณ์ตรงทั้งของตัวนิสิตเองและของผู้คนรอบข้าง ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลทั้งจากแหล่งของ "ความรู้ชัดแจ้ง" และ "ความรู้ฝังลึก" เมื่อทั้ง "ค้น" และทั้ง "คว้า" มาได้แล้ว ก็ให้ส่งเป็นรายงานสั้น ๆ ประมาณ 3-5 หน้าในแต่ละหัวข้อ... ทั้งนี้จะเขียนด้วยลายมือหรือจะพิมพ์ก็สุดแท้แต่ว่าลูกศิษย์แต่ละคนจะสะดวกแบบไหน

สำหรับการเรียนการสอนในบางชั่วโมงที่เราใช้สารคดีเป็น "สื่อ" ประกอบการเรียนการสอนนั้น ลูกศิษย์เราต้องทำการบ้านส่งทุกครั้งว่า ได้ "เรียนรู้" อะไรบ้างจากสารคดี และสิ่งที่ได้เรียนรู้นี้จะสามารถนำไปใช้ให้เกิด "ประโยชน์" ในการพัฒนาภาคการเกษตรโดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ตลอดจนการพัฒนาสังคมโดยรวมได้อย่างไรบ้าง   

นอกจากการบ้านและรายงานที่ต้องทำส่งแล้ว สิ่งที่เราคิดว่าสำคัญมากต่อการเรียนรู้ของลูกศิษย์คือ การลงมือ ปฏิบัติจริง หากเนื่องจากรายวิชานี้เป็นรายวิชาที่อยู่ในสาขาของวิทยาศาสตร์ทางสังคม (Social Science) อีกทั้งมีนิสิตลงเรียนเป็นจำนวนมาก ในแต่ละภาคการศึกษามีจำนวนประมาณกว่า 200 คน ดังนั้นการจะพาลูกศิษย์ลงไปในพื้นที่เพื่อสร้าง "กระบวนการเรียนรู้" โดยให้ลูกศิษย์ได้เห็นตัวอย่างจริงและลงมือทำงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรด้วยตนเองนั้น จึงเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยากต่อการบริหารจัดการโดยเฉพาะเงื่อนไขด้าน เวลา ของการเรียนการสอน 

งานที่เรามอบหมายให้ลูกศิษย์ที่ลงเรียนวิชานี้ทำอย่างต่อเนื่องตลอดภาคการศึกษาคือ การทำสมุด "บัญชีรายรับ-รายจ่าย" ซึ่งลูกศิษย์จะต้องลงข้อมูลการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอย่างละเอียด เรียกได้ว่า จดทุกครั้งที่จ่าย ซึ่งจะทำให้ได้เรียนรู้ในเรื่องของ "เศรษฐกิจครัวเรือน"  โดยนิสิตแต่ละคนจะมีสมุดบันทึกรายรับ-รายจ่ายของตนเอง เป็นการทำบัญชีแบบง่าย มีตารางอยู่ 5 ช่อง คือ วันเดือนปี รายการ รายรับ รายจ่าย และเงินคงเหลือ จากนั้นให้สรุปว่า ในแต่ละเดือนมีรายรับจากไหนเท่าใด มีรายจ่ายในเรื่องใดเท่าใด กำหนดส่งงานคือ อาทิตย์สุดท้ายของการเรียนการสอน โดยต้องสรุปด้วยว่าหลังจากการบันทึกรายรับ-รายจ่ายตลอดภาคการศึกษาคือประมาณ 4 เดือนแล้วนั้น ลูกศิษย์มี "เงินออม" หรือมี "หนี้สิน" แค่ไหน อย่างไร 

สมุดอีกเล่มหนึ่งที่ลูกศิษย์ต้องส่งคู่กันกับสมุดบัญชีรายรับ-รายจ่าย คือ สมุดบันทึก ความดี การบ้านเรื่องนี้เป็นไปเพื่อให้ลูกศิษย์ได้เรียนรู้ในเรื่องของ พลังในการขับเคลื่อนทางสังคม เรามอบหมายให้ลูกศิษย์จดบันทึกความดีในทุก ๆ วัน ทั้งที่เป็นความดีของตนเองและของผู้คนรอบข้าง โดยเริ่มจากการบันทึกความดีของ ตัวเอง ให้ได้อย่างน้อยวันละ 3 ข้อ จากนั้นให้บันทึกความดีของ “Roomate” หรือเพื่อนร่วมห้องอีก 2 คน ๆ ละ 1 ข้อ และความดีของผู้คนทั่วไปในสังคมที่เราได้ประสบพบเห็น ซึ่งจะเป็น "ใครก็ได้" อีกอย่างน้อย 1 คน ๆ ละ 1 ข้อ รวมแล้วในแต่ละวัน...ลูกศิษย์มีเรื่องราวของความดีที่ต้องจดบันทึกอยู่ประมาณ 6 ข้อ...  

การบ้านทั้ง 2 ข้อคือ "สมุดบัญชีรายรับ-รายจ่าย" และ "สมุดบันทึกความดี" นี้จะส่งผลอย่างไรบ้างต่อการเรียนรู้ของลูกศิษย์ และเราในฐานะ ครู ผู้สอนได้เรียนรู้อะไรและรู้สึกอย่างไรบ้าง...วันนี้คงเขียนเรื่องนี้ไม่จบเสียแล้ว...

 โปรดติดตามตอนต่อไป....

หมายเลขบันทึก: 140571เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2007 14:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 14:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีครับ อ.ทิพวัลย์

           เยี่ยมมากเลยครับ ไม่น่าเชื่อว่า อ.จะเอาวิธีใกล้ตัวและมีรูปแบบง่าย ๆ ( แต่ทำได้ยาก ) มาสอนนักศึกษาครับ

           ผมเองเคยทำตอนเด็ก ๆ แต่ก็ไม่เคยทำต่อเนื่อง เพียงแต่ใส่ใจเรื่องความประหยัดอยู่เสมอ

           อาจารย์ครับ  น่าจะมีบันทึกของความไม่ดีด้วยนะครับ ลองเปรียบเทียบกับความดีไงครับ และเป็นการเปิดความคิดของผู้นั้นด้วย

           ทุกวันผมเขียนบันทึกครับ มีเรื่องราวดีบ้างไม่ดีบ้างของตัวเองอยู่ในนั้น กลับมาอ่านดูบางทีก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผมคิดทบทวนได้ดีครับ

เห็นด้วยครับ...

ผมเองก็เขียนบันทึกเรื่องร้าย ๆ ไว้เตือนใจตนเองเยอะเหมือนกัน

เพราะชีวิตของคนเรามีริ้วรอยบาดแผลแห่งอดีตกันทั้งนั้น

....

ขอบคุณบันทึกดี ๆ ... บันทึกนี้มากครับ

จะรออ่านครับ

นี่เป็นประเด็นใหญ่ของชาติเลยครับ

อยากฟังมุมมองที่อาจจะ work

ในสังคมที่อ่อนแอด้านการเรียนรู้ มีแต่การรับรู้ที่ไปไม่รอดแน่นอน

ช่วยกันหน่อยนะครับ

ถ้าแบ่งเป็นตอนๆก็ดีนะครับจะได้อ่านง่าย

ที่เขียนมาดูปนนๆกันอยู่หลายประเด็น

คนอ่านอาจโฟกัสลำบากครับ

โดยเฉพาะคนที่ไม่ค่อยจะเรียนเท่าไหร่ จะรับรู้อย่างเดียวจะยิ่งยากครับ

ขอบคุณมากครับ

P ขอบคุณมากค่ะคุณสุมิตรชัย

ความดี....นึกถึงครั้งใดก็ "ปลื้มใจ" ครั้งนั้น

การบันทึกความไม่ดีเพื่อ "จับผิด" ตัวเอง ...เพื่อแก้ไขปรับปรุงตัวเอง... ก็เป็นสิ่งที่ควรทำดังที่คุณสุมิตรชัยบอกมาค่ะ...เพียงแต่ว่าไม่อยากให้ความไม่ดีที่ได้บันทึกนั้น "บั่นทอน" ผู้บันทึก เพราะหากนำสิ่งไม่ดีนั้นมานึกถึงแล้วจิตจะเศร้าหมองค่ะ

ช่วงนี้เลยให้ลูกศิษย์ฝึก "จับดี" ตัวเองและผู้คนรอบข้างไปก่อน จะได้มีความหวัง...มีกำลังใจ...มีชีวิตที่สร้างสรรท่ามกลางสังคมที่สับสนวุ่นวายในวันนี้ค่ะ

P คุณแผ่นดินคะ

พวกเรามี "บาดแผลชีวิต" กันทุกคนค่ะ... มากบ้าง... น้อยบ้าง....ขึ้นกับความ "รู้" และความ "ไม่รู้" ในแต่ละช่วงวัยของชีวิต

เพียงขอให้ในวันนี้...ริ้วรอยบาดแผลเหล่านั้นเป็นดั่ง "บทเรียน" สำคัญของชีวิต ที่จะช่วยให้เราดำเนินชีวิตในเส้นทางที่ไม่ผิดพลาด "ซ้ำรอย" เดิม...

ไม่อยากให้นำเรื่องราวแห่งอดีตที่ผิดพลาดพราะ "ความไม่รู้" มานึกถึงอีกนะคะ...คงต้อง "หลอกตัวเอง" บ้างค่ะ ทำเสมือนหนึ่งว่า "ไม่เคยทำ" เรื่องเหล่านั้นมาก่อนค่ะ และตั้งใจมั่นว่าเราจะไม่ทำในสิ่งที่ไม่ดีอย่างเด็ดขาดค่ะ

P สวัสดีค่ะอาจารย์แสวง

ขอบคุณมากนะคะสำหรับข้อคิดเห็นของท่านอาจารย์ ตุ้มจะพยายามแบ่งเวลาจากการทำงานภาคสนามมาเขียนเรื่องเหล่านี้เพิ่มขึ้นค่ะ 

เผื่อว่าอาจจะเป็นประโยชน์ได้บ้างค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท