Magandang Umaga Sa Inyong Lahat


ผมเริ่มต้นทักทายคนที่เข้ามาฟังผมบรรยายที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ด้วยภาษาตากาล็อกที่ผมให้ Gene เพื่อนชาวฟิลิปปินส์สอน แปลว่า อรุณสวัสด์ทุกท่าน

มุขนี้ได้ผลเสมอครับ คนในห้องพึมพัมตอบสวัสดีผมกลับทันที และมีข้อดีอื่นๆหลายอย่าง

  • มันแสดงว่าเราสนใจเขา ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมของเขา มิตรภาพปรากฏในแววตาทันที
  • ถ้าพูดผิด มักได้รับการให้อภัยเสมอ แล้วสามารถปล่อยมุขให้เขาสอนเราพูดให้ถูก ตอนนั้นเลย คราวนี้จะจำได้ไปตลอด
  • ช่วยลดบรรยากาศที่น่าตื่นเต้นไปได้มาก

ที่ผมมาฟิลิปปินส์คราวนี้ ผมต้องมาบรรยายเรื่อง spinal cord compression หรือ ไขสันหลังถูกกดทับ ให้หมอที่นี่ฟัง เป็นการบรรยายในช่วงก่อนการประชุมใหญ่ หรือ Pre-conference lecture วันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๐ ก่อนการประชุมจริงๆ Asia Pacific Hospice Conference ซึ่งจัดทุก ๒ ปี  และครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๗ ที่ฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพ ในช่วง ๒๗-๒๙ กันยายน  

ผมค่อนข้างตื่นเต้นกับการบรรยายครั้งนี้มาก เพราะถึงจะเคยบรรยายเป็นภาษาอังกฤษให้ต่างชาติฟังมาบ้างแล้วแต่ก็ไม่ใช่เรื่องวิชาการโดยตรง ครั้งนี้จึงนับเป็นครั้งแรกของผม สำหรับการบรรยายทางวิชาการเป็นภาษาอังกฤษยาวถึงชั่วโมง ที่ไม่ใช่การนำเสนอผลงาน หรือการพูดเรื่องทั่วๆไปให้ชาวต่างชาติฟังในต่างประเทศ ที่หนักใจก็เพราะจะต้องพูดให้ชาวฟิลิปปินส์ซึ่งนับว่ามีพื้นฐานทางภาษานี้ดีกว่าบ้านเราหลายขุม

ตอนแรกผมเตรียมการบรรยายเป็น script หรือมีบทพูดแล้วกะว่าจะมาอ่าน ทำท่าก้มๆเงยๆเหมือนที่เคยเห็นผู้บรรยายหลายคนทำ แต่พอมานึกอีกทึ ผมรู้สึกว่า มันขาดชีวิตชีวาไปถ้าทำอย่างนั้น จึงตัดสินใจบรรยายแบบไม่ใช้ script แต่ใช้วิธีจำ คำสำคัญ หรือ keyword ที่จะต้องพูดในแต่ละ slide แล้วพยายามนึกคำประโยคในระหว่างบรรยายแทน

ผมไม่ค่อยถูกใจการบรรยายครั้งนี้ของตัวเองเท่าไร เพราะรู้สึกว่า ลืม พูดตกหล่นประเด็นสำคัญไปหลายประเด็น โดยเฉพาะผมเน้นเรื่อง hard sciences หรือหลักฐานเชิงประจักษ์มากไป เรียกได้ว่า พูดกันถึง level of evidence เลยทีเดียว แต่พูดถึง soft sciences หรือเรื่องราวของผู้ป่วย ความรู้สึกอารมณ์ของผู้ป่วยที่ผมนำเสนอควบคู่กันไปน้อยกว่าที่ตั้งใจ เพราะคิดว่า กลุ่มคนที่มาฟังครั้งนี้น่าจะเป็นคนที่ชอบฟังเรื่องหลังมากกว่า จุดอ่อนอีกข้อที่ผมรู้สึกคือ ผมเตรียมเนื้อหามามากไป ทำให้ต้องรีบคิด รีบพูดให้เสร็จในเวลา

ใครมีกลเม็ดดีๆ เวลาบรรยายเป็นภาษาต่างชาติ ช่วยแนะนำด้วยครับ

๒๖ ​กันยายน ๒๕๕๐

หมายเลขบันทึก: 139891เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2007 20:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 21:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
P

นาย เต็มศักดิ์ พึ่งรัศมี

อ่านๆ ไป ก็นึกถึงการเทศน์...

การเอาคำัภีร์มาอ่าน ถ้าจังหวะทำนองดี ออกเสียงชัดเจนก็น่าฟัง เพราะเนื้อเรื่องได้รับการขัดเกลาแล้ว...

การเทศน์ด้วยอาศัยภูมิรู้ของนักเทศก์ น่าฟังและได้อรรถรสกว่า แต่ถ้านักเทศก์ไร้ภูมิรู้หรือขาดศิลปะ ก็น่าเบื่อหน่ายยิ่งกว่า.... 

เจริญพร   

P

  • ได้กลับมากราบนมัสการพระอาจารย์ที่เมืองไทยแล้ว
  • ถ้าผมเปรียบเทียบ การพูดตามบทหรือ script ของผม กับ การเอาคัมภีร์มาอ่าน ของพระอาจารย์ ถ้่าผมทำให้จังหวะการก้มๆเงยๆของผม มองหน้าคนฟังบ้าง ไม่ให้ดูเหมือน มาอ่านให้ฟังอย่างเดียว ก็น่าจะดีใช่มั๊ยครับ
  • กราบ ๓ หน

แวะมาอ่านครับ บางครั้งเวลาเราเตรียมไปพูดอะไร เอาเข้าจริงก็ไม่ได้เป็นอย่างที่ตั้งใจ แต่ที่แน่ๆ จริงถ้ามาจากความใจ+ประสบการณ์จริงมักได้รับการตอบสนองที่ดีเป็นส่วนใหญ่

ได้ข่าวว่า session ของอาจารย์คนถามกันเยอะมากใช่ไหมครับ

P

  • ครับ คนถามผมมากสุด  ไม่รู้เพราะฟังไม่รู้เรื่อง หรือเพราะเป็นรายการสุดท้ายช่วงเช้า
เคยเขียนเล่าไว้เกี่ยวกับการ present งานให้ฝรั่งฟังค่ะ และคิดว่าคำสอนของอาจารย์ Prof. Roger Taylor ท่านน่าจะใช้ได้เสมอค่ะ สำหรับพวกเราชาวต่างชาติที่ภาษาอังกฤษเป็น second language แต่ระดับอาจารย์เต็มนี่ คงจะพูดได้ตามสบายมากกว่าค่ะ เพราะเท่าที่เคยไปร่วมงานใหญ่ๆสมัยเรียน แล้วเขาเชิญผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆที่ไม่ใช่ native English speaker เขาก็พูดตามสบายของเขาแหละนะคะ คนจะสนใจ content มากกว่าอยู่แล้ว แต่สิ่งที่สำคัญน่าจะเป็นอย่างที่อ.เต็มว่านั่นแหละค่ะ คือ เนื้อหาต้องไม่มากจนเกินไป คนรับจะ overload แต่ควรให้ในลักษณะของภาพใหญ่ๆเข้าไว้ และสื่อให้เขารู้ว่า detail ที่ลึกลงไป เขาจะติดตามหาได้ที่เราอย่างไร เช่นการให้ email address ไว้บน slide หรือ Handout ที่แจกประกอบ

P

  • โอ้โห ขอบคุณคุณโอ๋มากๆเลย ไปตามอ่านมาแล้ว ได้อีกกลเม็ดนึง จริงๆครับ จริง เวลาเราไม่มั่นใจ เราจะพูดเหมือนพึมพำอยู่ในลำคอ ทำให้ยิ่งฟังยากเข้าไปอีก ผมเป็นบ่อยแฮะ โดยเฉพาะเวลาพูดภาษาประกิต
  • การพูดอย่างชัดถ้อยชัดคำ ดังพอประมาณ สำคัญมากครับ
  •  แหะๆ แต่คงไม่ต้องถึงกับไปยืนตะโกนมาจากหลังชั้นแบบคุณโอ๋หรอกนะครับ 

ไม่มีประสบการณ์บรรยายเป็นภาษาอังกฤษ มีแต่เป็นผู้ฟัง เคยฟังบรรยายของอาจารย์หลายครั้งเป็นภาษาไทย ทุกครั้ง อาจารย์มักบรรยายได้อย่างน่าสนใจ ทั้งเนื้อหา และหน้าตาของสไลด์ เชื่อว่าการบรรยายเป็นภาษาอังกฤษของอาจารย์คงไม่แตกต่าง ไม่งั้นคงไม่มีคำถามเยอะ เพราะอาจารย์ ไม่ใช่เป็นเพียงอาจารย์ แต่อาจารย์คือปรามาจารย์ต่างหากค่ะ

P

  • สวัสดีครับ คุณเกศ
  • ไอ้ปรมาจารย์นี่ ดูเก่าๆแก่ๆยังไงพิกล ขอเป็นแค่อาจารย์ดีกว่าครับ 

อยากให้อาจารย์ไป lecture ที่ขอนแก่นบ้าง เพราะ

palliative มอ. หนึ่งในตองอูค่ะ

P

  • คุณเกศครับ
  • ถ้าไม่นับตองอูในผู้ชนะสิบทิศ
  • เมืองนี้ ก็เมืองหลวงโบราณของประเทศที่ได้ชื่อว่าล้าหลังที่สุดในโลกประเทศหนึ่งนะครับ 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท