การประชุมเครือข่ายฯสัญจร (3.2) ต่อ


ถ้าไม่มีทีมงาน งานก็คงไม่สำเร็จ ดังนั้น เราต้องทำงานเป็นทีม
      วันนี้ต้องเข้าห้องเรียนฟังบรรยายในกระบวนวิชา สส.204 แนวความคิดว่าด้วยการพัฒนา ทั้งวันเลย ขนาดไม่ได้สอนเองทั้งหมดยังเหนื่อยขนาดนี้ ถ้าสอนเองทั้งหมดคงจะไม่มีพละกำลังที่จะทำอะไรแน่เลย แต่ไม่เป็นอะไร เพราะ วันนี้ตอน 6 โมงเย็นเราจะไปทานหมูกะทะกัน อาจารย์นิ่มเป็นผู้เสนอไอเดียว่าห้ามพูดคุยกันเรื่องที่ทำงานในวงหมูกะทะอย่างเด็ดขาด ถ้าใคร (เผลอ) พูดจะต้องถูกปรับ ส่วนผู้วิจัยเสนอว่า (อาจารย์) ท่านใดที่มีอายุขึ้นเลข 3 แล้วไปทานกับพวกเราในวันนี้ต้องเป็นเจ้ามือเลี้ยงพวกเรา ปรากฎว่ามีอาจารย์หลายคนยิ้มให้ผู้วิจัย (แต่ผู้วิจัยสงสัยว่ากำลังถูก…ในใจ) งานนี้เลยมีเพื่อนอาจารย์หลายคนต่างขันอาสาที่จะโทรไปชวนเพื่อนอาจารย์คนอื่นที่ยังไม่รู้ว่าพวกเรานัดกันในวันนี้ให้มาทานหมูกะทะด้วยกัน โดยเฉพาะอาจารย์ที่มีเลข 3 นำหน้านั้นได้รับการเชิญชวนเป็นพิเศษ

       เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาจะขอเล่าเรื่องการประชุมสัญจรต่อเลยก็แล้วกันนะคะ เรื่องราวในวันนี้ยังอยู่ในวาระที่ 3 เรื่องสืบเนื่องอยู่ วาระนี้ยาวมาก ยังไม่รู้เลยค่ะว่าต้องใช้เวลาอีกกี่วันจึงจะเล่าจบ นี่ขนาดตัดตอนออกไปบางส่วนแล้วนะคะ (ที่ตัดออกไป เพราะว่าไม่ได้ยินเสียงผู้พูดค่ะ มีอยู่ 2-3 คน ได้แก่ อ.ชุติกาญจน์ , อ.ชวนพิศ , ลุงมนุษย์) เมื่อวานนี้เล่าค้างไว้ในช่วงที่พี่นกแสดงความคิดเห็นค่ะ ขอต่อเลยนะคะ

         พี่นก กล่าวต่อไปว่า ภายในเวลา 6 เดือน (ระยะเวลาที่เหลือสำหรับโครงการวิจัย) คิดว่าตรงไหนที่พร้อมจะนำร่องขยายก็เสนอมา อยากให้กลุ่มใหม่เข้ามาแล้วเห็นว่าเครือข่ายจังหวัดมีความพร้อม ไม่ใช่ว่าพอกลุ่มใหม่เข้ามาแล้วเกิดความสงสัย หรือความไม่ชัดเจน ตรงนี้อยากให้เครือข่ายจัดการให้เรียบร้อย

       จากนั้น อ.นวภัทร ยกมือขึ้นเสนอต่อว่า อยากให้ตั้งกลุ่มขึ้นมากลุ่มหนึ่งเพื่อทำหน้าที่เป็นวิทยากร เป็นแกนนำ แล้วให้ไปศึกษาที่กลุ่มที่ประสบความสำเร็จ อาจเป็นที่เถิน หรือที่สงขลาก็ได้ จากนั้นมาดูว่าโซนใดของลำปางที่มีความพร้อม ซึ่งความพร้อมในที่นี้ คือ มีชุมชน/คนที่ต้องการจัดตั้งกลุ่มสวัสดิการ สมมติว่าเป็นโซนใต้ หากสามารถระดมสมาชิกได้ประมาณ 10,000 คน ทีมวิทยากรก็ลงไปจัดตั้งกลุ่มให้เลย แล้วเอาโซนนี้เป็นตัวอย่างให้โซนอื่นต่อไป เอาชาวบ้านในโซนนี้มาพูดเลย เพื่อให้โซนอื่นคล้อยตาม

         ประธานฯ สรุปว่า หากจะให้คณะกรรมการมีความรู้ ความเข้าใจ คงจะต้องจัดให้มี การอบรมขึ้น โดยเริ่มต้นจากคณะกรรมการบริหาร 6 คนก่อน ให้คณะกรรมการเหล่านี้มีความเข้าใจ หลังจากนั้นทั้ง 6 คนนี้ก็จะไปถ่ายทอดความรู้ให้กับคณะกรรมการเครือข่ายฯที่ดูแลกองทุนต่างๆ 20 คน (20 คนนี้มาจากตัวแทนของกลุ่มต่างๆ ครบเกือบทุกกลุ่มค่ะ) จากนั้นคน 20 กลุ่มก็จะไปอบรมให้กลุ่มต่างๆ ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าการอบรมจะมีทั้งสิ้น 3 ระดับ นอกจากนี้แล้วยังต้องมีการศึกษาดูงานแล้วกลับมาทำงาน การไปดูงานนอกสถานที่จะช่วยเสริมความรู้ รวมทั้งต้องมีคู่มือในการทำงาน โดยเฉพาะคู่มือในการขยายผลมีความสำคัญมาก เพราะ ถ้าทีมวิทยากรลงไปแล้วพูดไม่ได้ ก็จะเกิดปัญหาความเชื่อมั่นทั้งกับชาวบ้านและหน่วยงานสนับสนุน ถ้าสร้าง คู่มือเสร็จแล้วแผนต่อไป คือ ลงไปปฏิบัติการในพื้นที่ ต้องมีการทำงานเป็นทีม

         เมื่อประธานฯสรุปจบ อ.นวภัทร ได้ยกมือขึ้นเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติมว่าในส่วนของ ผู้นำนั้นอยากให้เป็น 20 คน (ซึ่งเป็นตัวแทนจาก 20 กลุ่ม มุ่งเป้าหมายไปที่ประธานกลุ่ม) เพราะ คนที่รู้จริงในหมู่บ้านของตนเอง คือ ประธานกลุ่ม เนื่องจากในแต่ละหมู่บ้านจะมีลักษณะทางประชากร แนวคิด ทรัพยากร กลุ่มคนที่แตกต่างกัน ดังนั้น การอบรมผู้นำจึงควรเอาประธานกลุ่มทุกกลุ่มมาอบรม เพราะ คนพวกนี้จะมีความรู้ในพื้นที่ของตนเองมาก นอกจากนี้แล้วยังควรเอาทั้ง 20 คนนี้มาร่างระเบียบ โดยยึดระเบียบเดิม

        ประธานฯ บอกว่า คน 20 คนที่ตั้งไว้ก็มาจาก 20 กลุ่มอยู่แล้ว (สำหรับผู้วิจัยเห็นว่าทั้งประธานฯ และอ.นวภัทร กำลังถกเถียงกันอยู่ เนื่องจากแม้เป็น 20 คนเหมือนกัน แต่ 20 คนในความหมายของประธานฯนั้น คือ คณะกรรมการเครือข่ายฯ ซึ่งไม่ได้เป็นประธานฯกลุ่มทั้งหมด รวมทั้งบางกลุ่มก็ไม่มีคณะกรรมการอยู่ในโครงสร้างนี้ ส่วนอ.นวภัทรานั้นเห็นว่าควรเป็น 20 คน เหมือนกับที่ประธานฯเสนอ แต่เป็น 20 คนที่มาจากประธานฯของแต่ละกลุ่ม) ส่วน 100 คน ก็มาจาก 20 กลุ่มๆละ 5 คน ดังนั้น การถ่ายทอดจะมี 3 ระดับ คือ 6-20-100 ผมเชื่อว่าแผนที่ภาคสวรรค์จะต้องถูกถ่ายทอด ต้องถ่ายทอดลงไปให้คน 100 คนให้ได้เพื่อให้เขาไปถ่ายทอดต่อให้กับกรรมการทั้ง 15 คนในกลุ่มตนเอง ต่อจากนั้นคณะกรรมการแต่ละกลุ่มก็จะต้องไปถ่ายทอดให้กับสมาชิกได้ทราบ (ถ้ามีกลุ่มเพิ่มขึ้น จำนวนคน 100 คนก็จะเพิ่มขึ้นด้วย เพราะ ทุกกลุ่มต้องส่งคนมากลุ่มละ 5 คน) ดังนั้น สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้น คือ

        1.อบรมผู้นำ

        2.ศึกษาดูงาน

        3.สร้างคู่มือ

        4.ลงพื้นที่ปฏิบัติการ

        จากนั้นคุณกู้กิจได้ยกมือขึ้นขออนุญาตแสดงความคิดเห็นว่า ขอเท้าความไปว่าเมื่อประมาณปลายปี 2547 ได้มีการนำตัวแทนจาก 100 ตำบลมาที่ (โรงแรม) ทิพย์ช้าง ผู้ตรวจราชการของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็มาร่วมงานด้วย ทีนี้โครงการนั้นหายไปและไม่ต่อเนื่อง พอไม่ต่อเนื่องมันก็หายเข้ากลีบเมฆ เป็นอย่างนี้ทุกปี ไม่มีความต่อเนื่อง ถ้าตอนนี้จะอบรมผู้นำ ไปดูงาน สร้างคู่มืออีก ก็จะซ้ำรอยเดิมเหมือนกับทุกปี ตรงนี้ขอทักท้วง เหมือนกับเอาหนังเก่ามาฉายใหม่

        ประธานฯ บอกว่า เวทีที่คุณกู้กิจพูดถึงนั้นจัดขึ้นในวันที่ 9 ตุลาคม 2547 (จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าผู้วิจัยกับอาจารย์พิมพ์ได้ไปร่วมงานด้วย รู้สึกว่างานจะจัด 2-3 วัน แต่ผู้วิจัยกับอาจารย์พิมพ์ไม่ได้ไปร่วมงานทุกวันนะคะ พวกเราไปร่วมงานวันสุดแรกหรือวันสุดท้ายนี่แหละค่ะ วันนั้นยกขบวนไปที่เถิน คนมาร่วมงานมากมาย แต่วันที่จัดที่โรงแรมทิพย์ช้าง ผู้วิจัยกับอาจารย์พิมพ์ไม่ว่าง มีสอน ก็เลยไม่ได้ไปร่วมงานด้วย) เป็นเวทีของสภาเครือข่าย องค์กรชุมชนจังหวัดลำปาง ขยายผลร่วมกับศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความ ยากจนภาคประชาชน ซึ่งตรงส่วนนั้นมีแผนยุทธศาสตร์การทำงานอยู่ 4 เรื่อง คือ

         1.การเงินการคลังเพื่อสังคม

         2.แผนแม่บทชุมชน

         3.วิสาหกิจชุมชน

         4.อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม

       ทีนี้ขอโยงลงมาที่เถิน ที่เราเอาผู้ตรวจราชการของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ลงไปที่เถิน (กลุ่มบ้านดอนไชย) นั้นเป็นการสร้างพลังภายใน เอาพลังภายนอกไปเสริมให้กับพลังภายใน เอาเถินเป็นต้นแบบ ที่บอกว่ามันเงียบไปนั้น ความจริงไม่ได้เงียบ พวกเรากลับมาเคลื่อนแต่เป็นการเคลื่อนแบบต๊อกๆแต๊กๆ คนที่รับก็รับ คนที่ไม่รับก็ไม่รับ ลำพังตัวผมเองก็บอกเลยว่าผมทำงานอย่างจริงจัง ไม่ได้รับเงินทอง เข้ามาดูได้ ประเด็น คือ เราไม่สามารถไปบังคับคนได้ แต่อยากขอความร่วมมือว่าเราจะหนุนเสริมกันได้อย่างไร ให้กำลังใจกันได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ในเมื่อเรื่องนี้เกิดขึ้นมาแล้ว เกิดขึ้นมาจากความตั้งอกตั้งใจก็อยากให้เดินต่อไป เราพยายามหาแหล่งทุนต่างๆ กิจกรรมต่างๆเข้ามาช่วย เข้ามาเสริม อย่างที่เราได้งบประมาณจาก สกว. มา เราจะต้องมาวางแผนร่วมกัน ไม่ใช่ทำงานไปเรื่อยเปื่อย ผลประโยชน์ต่างๆ นั้นไม่ได้ตกที่พวกเรา แต่ตกอยู่ที่องค์กร อยู่ที่สมาชิก

         เราลองมาช่วยกันคิดสิว่าถ้าเราจะอบรมวิทยากร เราจะทำอย่างไร ที่ไหน ใช้งบประมาณเท่าไหร่ ถ้าจะไปดูงาน จะไปที่ไหน ใช้งบประมาณเท่าไหร่ และถ้าจะสร้างคู่มือ จะทำอย่างไร สุดท้ายการกำหนดพื้นที่ปฏิบัติการ ต้องกำหนดออกมาเลยว่าจะลงพื้นที่แต่ละอำเภอกี่แห่ง ภายใต้กำลังที่เรามีอยู่

        เมื่อประธานฯ กล่าวจบ อ.นวภัทร ได้ยกมือขึ้นขออนุญาตแสดงความคิดเห็นว่า ตนเองยังติดใจเรื่อง 6 คน กับ 20 คนอยู่ อยากให้การอบรมอยู่ที่ 20 คน ไม่ใช่ 6 คน เพราะ ประธานกลุ่มแต่ละกลุ่มนั้นอยู่กับปัญหา อยู่กับพื้นที่ย่อมรู้ดี เข้าใจดี และในเรื่องศักยภาพต้องคิดดูให้ดีระหว่าง 6 คน กับ 20 คน อย่าลืมว่า 6 คน คือ ผู้กุมนโยบาย ถ้านโยบายออกมาดีก็ดี ถ้าไม่ดีก็เขว เพราะฉะนั้นจึงอยากเอาหัวหน้ากลุ่มทั้ง 20 กลุ่มมาอบรม

 

     ประธานฯบอกว่าเดี๋ยวจะเขียนภาพให้ดูว่าจะเดินทางอย่างไร 6 20 100 (ขออธิบายสั้นๆก็แล้วกันนะคะ เพราะ อธิบายมาหลายครั้งแล้ว 6 คน คือ กรรมการบริหารของ เครือข่ายฯ ต้องถ่ายทอดความรู้ไปให้กับ 20 คนซึ่งเป็นคณะกรรมการเครือข่ายฯดูแลกองทุนต่างๆ คนทั้ง 20 คนนี้เป็นตัวแทนมาจาก (แทบ) ทุกกลุ่ม หลังจากนั้นคณะกรรมการทั้ง 20 คนนี้ก็จะไปถ่ายทอดให้ 100 คนที่มาจากกลุ่มละ 5 คนต่อไป ทีนี้ถามว่า 5 คนของแต่ละกลุ่มเป็นใครบ้าง 5 คนนี้ก็คือ คณะกรรมการของแต่ละละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นประธานฯ รองประธานฯ เลขา หรือคณะกรรมการกองทุนต่างๆ) ประธานฯบอกว่าที่ต้องส่งต่อเป็นทอดๆแบบนี้ เพราะ ถ้าเอาคน 100 คนมาอบรมคงไม่ค่อยได้ผล เนื่องจาก มีคนจำนวนมากเกินไป ดังนั้น จึงต้องอบรมแบบส่งต่ออย่างนี้ เราไม่ได้ทอดทิ้งประธานกลุ่ม แต่คิดว่าประธานกลุ่มคนเดียวไม่สามารถที่จะถ่ายทอดได้ทั้งหมด ถ้า 6 คน (คณะกรรมการบริหาร) แข็ง ผมเชื่อว่าเครือข่ายฯจะไปรอด แต่ถ้า 6 คนไม่แข็ง เครือข่ายฯจะไปไม่รอด

 

        จากนั้นประธานฯถามความคิดเห็นในที่ประชุม คุณกู้กิจยกมือขึ้นเสนอความคิดเห็นว่า ปี 2549 เราต้องก้าวหน้า ต้องเห็นภาพเครือข่ายฯระดับจังหวัดที่ชัดเจน อยากให้ทุกคนเปิดใจแสดงความคิดเห็น

       พี่นก กล่าวต่อจากคุณกู้กิจว่า คู่มือที่เราจะเขียนขึ้นมานั้น ในความเป็นจริงแล้วถ้าเราทำตลอด ทำเป็นประจำ ทำบ่อยๆ มันคือคู่มือของเรา อย่างที่เถินทำและประสบความสำเร็จนั้น เพราะ เราทำบ่อย ทำตลอด ทำแล้วปรับปรุงไปเรื่อยๆ เราก็จะได้คู่มือของเราขึ้นมา คู่มือนี้เกิดจากบทเรียนของเรา คนที่รับคู่มือไปบางคนก็ไม่ได้ศึกษา รับไปอย่างนั้นเอง ดังนั้น คิดว่าประเด็นก็คือจะทำอย่างไรให้คนทำงานมีขวัญกำลังใจ อยากทำงาน เพราะ เขามีรายได้ ตอนนี้กลุ่มของเราสร้างร้านค้าสวัสดิการชุมชนสำหรับคนทำงานขึ้นมา จากที่เขามาทำงานให้เรา 1 วันแล้วไม่ได้อะไร ตอนนี้คนทำงานได้รับเงินแล้วครั้งละ 200 บาท ดังนั้น ต้องคิดต่อว่ากลุ่มอื่นจะทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดรายได้ตรงนี้ อาจไม่ทำอย่างเถินก็ได้ เราต้องคิดต่อโดยดูจากแผนที่ภาคสวรรค์ ทุกวันนี้เวลาเดินไปไหนก็จะคิดไปเรื่อยๆว่าจะทำอะไร (เหมือนผู้วิจัยเลย ฮิ! ฮิ!) ตอนนี้มีงบเข้ามาหลายทาง เช่น SML เป็นต้น ดังนั้น มันไม่ยากเลยถ้าเราจะคิดทำอะไรขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง นอกจากนี้แล้วยังอยากฝากอีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องเครือข่ายฯจังหวัด ถ้าแกนนำทั้ง 6 คนนี้ฝ่าตรงนี้ไปได้ ทำให้มันชัดเจนได้ คิดว่าทุกคนมีอะไรอยู่ในใจ ขอให้พูดออกมา จะได้ฟันฝ่าไปด้วยกันได้

        คุณกู้กิจกล่าวต่อจากพี่นกในประเด็น SML ว่าในกรณีของเถินนั้น ตอนนี้เรายังเช่าบ้านเพื่อทำเป็นร้านค้าสวัสดิการชุมชนอยู่ แต่ถ้ามีงบ SML (ระลอกที่2) ตนเองจองเอาไว้แล้ว 3 แสนบาทจะนำมาสร้างร้านค้าชุมชน ตอนนี้ประธานชมรมผู้สูงอายุได้รับปากแล้วว่าจะบริจาค 20,000 บาท

        จากนั้นคุณอุทัย (ซึ่งนั่งเงียบมานาน เนื่องจากวันนี้กลุ่มตนเองเป็นเจ้าภาพ) ได้กล่าวว่า คิดว่าทุกกลุ่มย่อมมีปัญหาแต่อาจไม่เหมือนกัน อย่างกลุ่มแม่ทะนั้นแต่ก่อนก็มีปัญหาเหมือนกัน เราก็ค่อยๆแก้ปัญหากันไป ถ้าเราทำจริง สื่อให้ชัดเจน สมาชิกก็จะเกิดความเชื่อมั่น พูดกันปากต่อปาก จำนวนสมาชิกก็จะเพิ่มมากขึ้นไปเอง อย่างตอนนี้ทางกลุ่มก็ได้ไปประสานกับทาง เทศบาล ตอนแรกก็ไปกัน 2-3 คน ต่อมาก็ยกพวกกันไป นายกฯเปิดห้องของเทศบาลคุยกันเลย เชิญปลัดมาคุยด้วย นายกฯเสนอว่าขอให้ทางกลุ่มใช้ชื่อของเทศบาลเป็นชื่อกลุ่ม ผมจึงมาปรึกษากับเครือข่ายฯ ประธานฯ (คุณสามารถ) บอกว่าได้เลย ทางกลุ่มของเราจึงพ่วงชื่อเทศบาลมาด้วย ดังนั้น ในการทำงานเราต้องถามตัวเองว่าเราเราสู้หรือเปล่า เราทำจริงหรือเปล่า อย่างตัวผมต้องทำงานในเมือง พักอยู่ในเมือง วันเสาร์-อาทิตย์จึงได้กลับบ้าน แต่ถ้ามีอะไร ผมก็จะโทรมาประสานงานกับคณะกรรมการกลุ่ม ให้ช่วยกันจัดเตรียมงาน ถ้าไม่มีทีมงาน งานก็คงไม่สำเร็จ ดังนั้น เราต้องทำงานเป็นทีม

          ต่อจากคุณอุทัย ประธานฯ ได้เชิญคุณสุภัตรา (ภรรยาประธานฯ) กล่าวแสดงความคิดเห็น ซึ่งคุณสุภัตรากล่าวว่า ปี 2549 เราต้องเดินหน้าต่อ อย่างกลุ่มนาก่วมใต้พัฒนานั้นตอนนี้มีปัญหา คือ ไม่มีที่ทำการ เวลาใครไปใครมาย่อมส่งผลต่อหน้าตา ความเชื่อมั่นที่มีต่อกลุ่ม แต่ตอนนี้เจรจากับเทศบาลแล้ว วันที่ 12 เดือนหน้า (กุมภาพันธ์) จะประชุมกันเรื่องโรงเรียนนาก่วมใต้ ถ้าได้ก็จะนำมาเป็นที่ทำการ ถ้าไม่ได้ก็ต้องหาทางอื่น เพราะ เรามีจุดอ่อนตรงนี้

          ไอ้หยา ! ถึงเวลานัดแล้ว ต้องขอตัวก่อนนะคะ ขออภัยที่เล่ายังไม่จบ พรุ่งนี้จะมาเล่าใหม่ก็แล้วกันนะคะ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13922เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2006 18:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

รู้สึกว่าการประชุมเครือข่ายคึกคักดีนะ

ผมเห็นว่าแผนพัฒนาควรเข้าใจบทบาทของแต่ละระดับ

แต่ละระดับต้องใช้ความรู้ต่างกัน ผู้บริหาร6คนอาจต้องการความรู้คนละชุดกับฝ่ายเผยแพร่จัดตั้ง หลักการจัดการความรู้ที่สำคัญคือ

1)รู้โครงสร้าง หน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องในขบวนการ

2)ใส่คนให้ตรงกับความชอบและความสามารถ

3)วิเคราะห์สมรรถนะ/ความสามารถคนทำงานในแต่ละบทบาทหน้าที่

4)พัฒนาความสามารถคนทำงานให้เพิ่มสูงขึ้นทั้งจากการอบรมเพิ่มเติม การเรียนรู้จากงานและการเรียนรู้ระหว่างกัน

ผมเห็นว่า

6คนต้องเรียนหลักสูตรบริหาร

20คนของพี่สามารถต้องเรียนการจัดการเครือข่ายในฝ่ายที่ตนเองรับผิดชอบ ทำให้ดีที่สุด แบ่งการทำงานกันอย่างไรบ้าง?

20คนของอ.นวภัทรต้องเรียนหลักสูตรบริหารในฐานะประธานกลุ่ม

งานเผยแพร่จัดตั้งกลุ่มน่าจะเป็นกิจกรรมฝ่ายหนึ่งของกรรมการเครือข่าย20คน รับผิดชอบโดยกรรมการบริหาร 6คน(คนใดคนหนึ่ง)

ก็ให้ฝ่ายนั้นสรรหาคนทำงานที่มีหน่วยก้านสนใจและมีทักษะในเรื่องนี้บ้างแล้ว(อาจมาจากประธานกลุ่ม แกนนำ กรรมการก็ได้) จัดอบรม จัดวงเรียนรู้ภายใน เรียนรู้จากงานที่ลงไปจัดตั้งกลุ่ม จัดระบบการทำงาน(แบ่งโซน)ทำไปสักพักก็จะได้กลุ่มเพิ่มขึ้น ได้ทักษะเพิ่มพูนขึ้น และได้ชุดความรู้(บันทึกสรุปการทำงาน ถอดบทเรียนอย่างต่อเนื่อง)

บทบาทอ.อ้อม

1)ต้องช่วยเสนอความเห็นเพิ่มเติมการดำเนินงานของประธานและกรรมการซึ่งค่อนข้างมีส่วนร่วมดีมาก

2)ทำให้บรรยากาศของการแสดงความคิดเห็นเป็นไปด้วยมิตรไมตรี

3)เชื่อมโยงสรุปภาพให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้เห็นภาพรวมเป็นช่วงๆจนกระทั่งสรุปภาพรวมสุดท้ายที่ได้

ที่จริงเป็นบทบาทของทีม3คน(1+2) โดยที่ตกลงกันว่าให้พี่สามารถเป็นคุณอำนวยนำกระบวนการ อ.อ้อมอ.พิมพ์บันทึกและเสริมรวมทั้งช่วยสรุป แต่อย่างที่เล่าพี่สามารถทำหน้าที่เป็นประธานเครือข่ายCKOแล้ว อยากให้คุยกันในทีม3คน ถ้าตามที่พี่สามารถบอกว่าจะให้กรรมการเครือข่ายมีส่วนร่วมมากขึ้น ตัวเองจะถอยออกมา นี่เป็นโอกาสดีมาก เพราะแกนนำตั้งใจมาก ให้เขาได้ร่วมคิด ร่วมทำ โดยทีม3คนทำหน้าที่กระตุ้น โยนคำถามข้อคิดเห็นจากฐานความรู้ให้ที่ประชุมพิจารณาเพื่อให้กลไกเครือข่ายทำงานด้วยตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพ เครือข่ายถึงจะเข้มแข็งขึ้นได้

อยากให้ความเห็นนี้ส่งถึงพี่สามารถด้วย แต่ไม่สามารถติดต่อทางเมล์ได้ ฝากอ.อ้อมด้วยครับ

ภีม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท