อยากรู้จริง...ต้องลงมือทำ


การจะเรียนให้รู้จริง "ต้องลงมือทำ"

          ผมมีเรื่องเล่าจากการเยี่ยมชมงานวิจัยชุมชน ที่ตำบลเรือง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน เป็นการไปเยี่ยมเป็นครั้งที่ 2 สิ่งที่ได้เรียนรู้จากชุมชนในการจัดกระบวนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ์นี้ ก็คือ การนำภูมิปัญญาเดิมของชุมชนมาถ่ายทอดให้พวกเราได้เรียนรู้ อย่างน้อย ก็ 2 เรื่องคือ

  1. การประกอบอาหารด้วยวิธีการดั้งเดิม คือการประกอบอาหารที่เรียกว่า "หลาม" ซึ่งผมเคยบันทึกมาแล้วครั้งหนึ่งแล้ว (ลิงค์) และ
  2. การถ่ายทอดภูมิปัญญาทางด้านสมุนไพร

         เกี่ยวกับองค์ความรู้ทางด้านสมุนไพรนี้ ผมได้มีโอกาสพูดคุยและซักถามกับคุณลุงเสาร์  คำพิมพ์ เจ้าของภูมิปัญญา และได้เรียนรู้จากลุงเสาร์ในหลายๆ เรื่อง เช่น

  • ยังมีผู้รู้เกี่ยวกับการใช้ยาสมุนไพรในหมู่บ้านอีกหลายๆ ท่าน
  • ผมถามลุงเสาร์ว่าคนรุ่นใหม่ มีความสนใจเกี่ยวกับสมุนไพรบ้างไหม คำตอบก็คือคนรุ่นใหม่ ไม่สนใจในด้านสมุนไพรพื้นบ้าน คือไม่มีคนสนใจอยากเรียนรู้
  • ถามต่อว่าหากไม่มีลุงแล้ว องค์ความรู้นี้จะหายไปไหม ได้รับคำตอบว่า "เขียนเป็นปั้บกะตืนไว้" (ตำรา) แต่ก็ให้ข้อคิดเพิ่มเติมว่า การจะเรียนให้รู้เรื่องพืชสมุนไพรจริง "ต้องลงมือทำ" คือต้องพาเดินและให้ได้เห็นและสัมผัสกับต้นสมุนไพร ต้นเป็นย่างไร/เก็บส่วนไหน ฯลฯ จึงจะเป็นการเรียนรู้จริงๆ อ่านตำราอย่างเดียวยังไม่พอ
  • และยังบอกด้วยว่าหากมีคนสนใจ ก็ยินดีที่จะถ่ายทอดความรู้ให้

          ท่านใดสนใจติดต่อได้นะครับ ที่บ้านลุงเสาร์  คำพิมพ์  บ้านเขที่ 47 หมู่ที่ 4 บ้านศรีนาป่าน ตำบลเรือง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน

          (ที่ตำบลน้ำเกี๋ยน ท่านนายก สนิท  สายรอคำ เล่าให้ฟังว่าทุกปี จะมีการนำเยาวชนขึ้นไปเรียนรู้เรื่องป่า และพืชสมุนไพร เพื่อเป็นการถ่ายทอดความรู้ฯ ให้แก่คนรุ่นใหม่ จัดมาหลายปีแล้ว ก็คงเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่จะสามารถอนุรักษ์องค์ความรู้และภูมิปัญญา และการถ่ายทอดเพื่อไม่ให้สูญหาย )

          เมื่อมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยียน ลุงเสาร์ จะต้องสะพายย่าม เดินเก็บสมุนไพรและหากสนใจก็จะอธิบายให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้พืชสมุนไพรตามเส้นทาง..

                                          อุ้ยเสาร์ หมอยาสมุนไพร ของตำบลเรือง อำเภอเมืองน่าน   

         

          เก็บสมุนไพรและต้มให้ดื่ม เป็นน้ำสมุนไพรสด

                                          สูตรเด็ด ต้มกันสดๆ ให้คณะได้ชิม

 

          สมุนไพร ของลุงเสาร์ ที่ประกอบและจำหน่าย

                                          ยาสมุนไพรที่ปรุงแต่งเสร็จแล้วพร้อมนำไปใช้ประโยชน์

          การนำสิ่งดีๆ ที่เป็นวัฒนธรรมของชุมชนมาถ่ายทอด เป็นทั้งการยกย่องและยอมรับในภูมิปัญญานั้นๆ ทำให้เกิดความเชื่อมั่น และเป็นทั้งการนำสิ่งเหล่านั้นนำกลับมาผลิตซ้ำ ให้คงอยู่และให้คนภายนอกได้รับรู้/เรียนรู้ เป็นอีกมุมมองหนึ่งในการพัฒนาที่อยู่บนฐานของวัฒนธรรม หรือสิ่งที่ดีๆ ในชุมชน  และนี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จากชุมชนแห่งนี้ครับ

          ขากลับ ลุงเสาร์ ได้มอบยาลูกกลอน "สูตรเด็ด" มาให้ประมาณ 10 กว่าเม็ด ผมได้ทานแค่ 2 เม็ดครับ ลืมไว้ในรถในวันกลับ หลังจากนั้นอีก 2 วัน ถามพี่สายัณห์ว่าเห็นยาลูกกลอนไหม พี่สายัณห์บอกว่า "พี่จัดการเรียบร้อยแล้ว" ไม่รู้ว่าสูตรเด็ดของลุงเสาร์เป็นอย่างไรบ้าง...

บันทึกมาเพื่อการ ลปรร. ครับ

วีรยุทธ  สมป่าสัก

หมายเลขบันทึก: 13582เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2006 16:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท