ธุรกิจ SME


ปัญหาปวดหัวของคนเบี้ยน้อย
 ใครๆ ถ้ามีโอกาสก็อยากมีกิจการเป็นของตนเองทั้งสิ้น ไม่ว่าจะร่ำเรียนมาทางสายอาชีพใด ยกเว้นผู้ที่มีบิดามารดาร่ำรวยอยู่แล้วก็ทำแค่เพียงต่อยอดธุรกิจ หรือนำเงินไปลงทุนทางด้านอื่นๆ ที่ตนคิดว่าทำได้ ซึ่งจะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ไม่เดือดร้อนมากนัก แต่สำหรับชนชั้นกลางลงไปที่ต้องการเป็นเจ้าของกิจการเรื่องทุนเป็นเรื่องใหญ่
       
       วันนี้จะมาคุยให้ฟังถึงว่า "วิธีการหาทุนและลงทุนในโลกแห่งความเป็นจริงเป็นอย่างไร" ก่อนอื่นที่จะหาทุนมาลงคงต้องเริ่มจากไอเดียว่าจะทำธุรกิจใด ประเภทที่ทำตามแบบคนอื่นแต่เรามีทุนน้อยให้เลิกคิด จงคิดถึงธุรกิจที่เงินทุนเพียงพอและแตกต่าง ลองนึกถึงโรตีสายไหมที่ขายตามข้างทาง ถ้าคุณไม่มีจุดขายที่ต่างกว่า ป่วยการที่จะคิดลงทุน
       
       เพราะเจ้าที่ขายอยู่คนซื้อก็ไม่รู้ว่าจะซื้อเจ้าไหนอยู่แล้ว แต่ถ้าในเงินทุนเดียวกัน คุณสามารถทำสายไหมรูปแบบที่ดึงดูดกว่า เช่น รูปดอกไม้ รูปสัตว์ อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามสะอาด อย่างนี้ค่อยน่า และถ้าคุณสามารถจัดวางตกแต่งให้ดึงดูดตาเด็กๆ คุณก็จะสร้างความโดดเด่นขึ้นมา แบบนี้ล่ะครับคือตัวอย่างของความน่าลงทุน คือเริ่มจากไอเดียที่มีโอกาสเป็นไปได้อยู่บนจุดแข็งและความพร้อมของผู้ลงทุน
       
       อย่างไรก็ตาม ในความจริงเงินที่จะใช้ในการลงทุนมาจาก 2 แหล่งคือ " เงินที่สะสมมา กับเงินกู้หรือเงินคนอื่น" สำหรับเงินออมมีหลักคิดแบบนี้ครับ ต้องถามตัวเองว่าเงินจำนวนเท่าใดที่เราใช้ลงทุนแล้วเจ๊งได้ เรียกว่าถ้าขาดทุนแล้วไม่เดือดร้อน หรือพอหาใหม่ได้ ผมไม่แนะนำให้เล่นหมดหน้าตัก คือต้องเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้บ้าง แต่ก็ขึ้นอยู่ที่ว่าชีวิตของคุณๆ อยู่ในช่วงใด บางคนมั่นใจตนเองสูง อายุยังน้อย อาจจะวางเดิมพันหมดหน้าตักแบบได้เสีย ซึ่งก็ไม่ผิดเพราะยังพอมีกำลังหาได้ใหม่
       
       แต่สำหรับคนมีครอบครัวหรือมีภาระ ก็ต้องเล่นอย่างระมัดระวังหน่อย มีอีกทางสำหรับการเล่นกับเงินสะสมที่ไม่มากคือ ระดมทุนหรือหาเพื่อนร่วมทุน หลายรายประสบความสำเร็จมาแล้ว เช่น หนังสือ A-day และยังมีอีกมากที่ทำแบบเดียวกัน คือพอมีเงินอยู่บ้างแต่ไม่พอ และมีธุรกิจหรือสินค้าที่พอมองเห็นโอกาส จึงประกาศหาเพื่อนร่วมลงทุน
       ถ้าคุณๆ มีไอเดียแล้ว แต่มีทุนไม่พอ และไม่รู้จักใครมาก ขอแนะนำให้มองหาระดมทุนจากพรรคพวกก่อน ตรงนี้ก็เป็นการวิจัยว่าไอเดียเราขายได้หรือไม่ เพราะเมื่อพูดถึงเงินผู้ลงทุนย่อมต้องการกำไรสูงสุด ถ้ามีคนยอมลงทุน นั่นก็แสดงว่าเขาเห็นโอกาสบางอย่าง เมื่อไม่ได้ลงทุนคนเดียว เป็นการระดมทุน ก็ต้องทำให้แน่ใจว่าเราคือเสียงเด็ดขาด หรือกลุ่มของเรามีเสียงข้างมาก ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่ทั้งกำไรและขาดทุนก็มีปัญหา
       
       แต่ต้องคิดไว้ในใจเสมอนะครับ คุณเอาเงินคนอื่นๆ มาลงทุน ผู้ลงทุนต้องได้ผลตอบแทนกรณีมีกำไร แต่เท่าที่เห็น เมื่อมีกำไรคนที่บริหารชอบคิดว่าเราทำเหนื่อยแทบตาย ผู้ถือหุ้นไม่เห็นได้ทำอะไรเลย พาลคิดว่าจะเบียดบังผลประโยชน์แบบนี้ถือว่าไม่สุจริตและจะมีปัญหาตามมามากมาย การระดมทุนดีตรงที่ว่าลดความเสี่ยง และมีพันธมิตรมาช่วยคิดหลายหัวมากขึ้น
       
       กลับมาที่เงินลงทุนจากเงินสะสมอีกที ให้ไอเดียง่ายๆ คือถ้าลงทุนได้เองคนเดียวประเสริฐสุด แต่ถ้าต้องระดมทุนให้มองหาจากพรรคพวก เพื่อลองขายไอเดียการลงทุนและป้องกันการโดนขโมยไอเดีย (ตอนนี้เวลาคุณจะขายความคิด กรุณาให้ผู้เข้าร่วมประชุมเซ็นสัญญาการรักษาความลับด้วยนะครับ เดี๋ยวไอเดียดีๆของคุณจะกลายเป็นของคนอื่นๆ อย่างนึกไม่ถึง) รวมไปถึงการมีสิทธิ์มีเสียงในการบริหารแบบตัดสินใจได้รวดเร็ว หรือบางกรณีที่มีปัญหาต้องใช้เสียงข้างมากในการตัดสิน
       
       อีกแหล่งหนึ่งของเงินคือ การกู้หรือใช้เงินคนอื่น นี่ผมหมายถึงการใช้เงินกู้มาเพื่อการลงทุน โดยคุณๆไม่มีทุนอยู่เลย ข้อพิจารณาแรกสุดคือการได้มาซึ่งการอนุมัติเงินกู้ซึ่งต้องทำเป็นโครงการไม่ว่าจะเป็นกู้จากธนาคาร หรือพวกเงินทุน (Capital Venture) แต่ก็กลับมาที่จุดตั้งต้น ธนาคารจะถามว่ามีหลักทรัพย์ใด (ซึ่งส่วนใหญ่จะให้กู้ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของหลักทรัพย์ ยกเว้นอสังหาริมทรัพย์) จะนำมาค้ำประกัน ซึ่งถ้าคุณไม่มีธนาคารจะปิดประตูใส่หน้าคุณ
       
       แต่สำหรับพวกเงินทุนจะพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการ ฝีมือและชื่อเสียงของคุณว่าก็ว่าเถอะครับ ไอ้เจ้าการสร้างฝีมือและชื่อเสียงนี่ยากกว่าการหาเงินทุนซะอีก เพราะเวลาที่คุณมีชื่อเสียงและฝีมือ คุณย่อมมีทุนอยู่แล้ว ปัญหาก็กลับมาตั้งต้น ณ จุดเดิม แล้วควรทำอย่างไร ให้นึกถึงเอสเอ็มอีแบงก์ไว้ในเบื้องต้น พูดง่ายๆ ว่าพยายามเอาเงินในระบบซะก่อน เพราะนอกระบบอัตราดอกเบี้ยมันแพงมาก
       
       แต่ถ้าในระบบไม่ได้จริงๆ ก่อนคิดกู้นอกระบบลองใช้ระบบแชร์ซึ่งดอกดูเหมือนจะถูกกว่า และยังการันตีได้ว่าคุณๆ ยังคงพอมีเครดิต อีกทางสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่อยากจะเป็นเถ้าแก่คือ พวกสินเชื่อบุคคล (ดอกเบี้ยสูงสุด 18% ต่อปี ไม่รวมค่าธรรมเนียม) ซึ่งดอกเบี้ยดูเหมือนสูง แต่ยังดีกว่าเงินกู้นอกระบบอยู่มาก
       
       สรุปว่าการกู้เงินควรใช้ระบบการเงินในระบบธนาคาร หรือแย่สุดก็คือพวกสินเชื่อบุคคล และพึงสังวรณ์ว่าดอกเบี้ยขึ้นทุกวัน กำไรที่ได้มาต้องใช้หนี้ให้หมดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แล้วกลับมาใช้กำไรหมุนในบริษัทให้ได้
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13868เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2006 11:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท