โครงการฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา


ทะเลสาบสงขลาเป็นทะเลสาบแบบลากูน ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 117 แห่งในโลก

โครงการฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา
1. ความสำคัญของทะเลสาบสงขลา
ทะเลสาบสงขลาเป็นทะเลสาบแบบลากูน ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 117 แห่งในโลก (Lake Biwa Research Institute and International Lake Environment Committee, 1989)  ตั้งอยู่ที่เส้นรุ้ง 7 องศา 08 ลิบดา - 7 องศา 50 ลิบดาเหนือ และเส้นแวง 100 องศา 07 ลิบดา - 100 องศา 37 ลิบดาตะวันออกครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง และจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ มีความยาว 75 กิโลเมตร และความกว้าง 20 กิโลเมตร  มีลักษณะแตกต่างจากทะเลสาบน้ำจืดอื่นๆในประเทศไทยเนื่องจากมีทางเปิดออกสู่ทะเลน้ำในทะเลสาบสงขลาจึงได้รับอิทธิพลจากกระแสน้ำขึ้นลงจากอ่าวไทยตลอดเวลา จากลักษณะทางกายภาพสามารถแบ่งทะเลสาบสงขลาเป็น 3 ส่วน คือ ทะเลน้อย มีพื้นที่ผิวน้ำ 27.2 ตารางกิโลเมตร  ทะเลสาบตอนใน หรือตอนกลาง หรือทะเลหลวง มีพื้นที่ผิวน้ำ 829.6 ตารางกิโลเมตร และทะเลสาบสงขลาตอนนอกหรือทะเลสาบ มีพื้นที่ผิวน้ำ 185.8 ตารางกิโลเมตร (บริษัท เทสโก้ และคณะ, 2537;  ไพโรจน์ และคณะ, 2542)จากการที่ทะเลสาบสงขลาได้รับอิทธิพลจากกระแสน้ำขึ้นลงจากอ่าวไทยตลอดเวลา ประกอบกับมีปริมาณน้ำฝนหรือน้ำจืดจากบนบกรอบทะเลสาบสงขลาซึ่งทั้งสองประการนั้นเป็นปัจจัยพื้นฐานทำให้ความเค็มของน้ำในทะเลสาบสงขลาแต่ละพื้นที่และช่วงเวลาแตกต่างกัน ส่งผลให้ลักษณะทางนิเวศวิทยาของทะเลสาบสงขลามีความซับซ้อนกว่าปากแม่น้ำทั่วไป มีระบบนิเวศวิทยาย่อยที่แตกต่างกันภายในระบบนิเวศใหญ่ เช่น ป่าชายเลน หญ้าทะเล พืชน้ำจืด พื้นเลนและพื้นกรวดพืชและสัตว์ในทะเลสาบสงขลาจึงมีทั้งกลุ่มที่เป็นน้ำเค็มใกล้เคียงกับน้ำทะเล กลุ่มน้ำกร่อยซึ่งสามารถทนได้ในความเค็มช่วงกว้าง และกลุ่มน้ำจืด ความหลากหลายทางชีวภาพโดยรวมจึงมีมากแม้ว่าบางชนิดอาจมีปริมาณน้อย ประเภทพวกที่อาศัยอยู่ประจำและพวกที่อพยพมาจากทะเลเพื่อหาอาหารเป็นครั้งคราวตามกระแสน้ำขึ้นน้ำลงพัดพาไป ได้แก่พวกแพลงก์ตอนบางชนิด หรือเข้าไปด้วยตัวเองตามฤดูกาลได้แก่ เช่น ปลา กุ้ง เป็นต้นในปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์จากทะเลสาบสงขลาหลายด้านรวมทั้งการพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำนี้ โดยไม่ได้ดูแลอย่างจริงจัง จึงเป็นเหตุให้ทรัพยากรธรรมชาติมีแนวโน้มลดลงอย่างน่าเป็นห่วงสภาพนิเวศวิทยาที่ซับซ้อนดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตในทะเลสาบสงขลามีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เช่น แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์  และสัตว์หน้าดินโดยสัตว์น้ำพบปลาประมาณ 450 ชนิด กุ้งทะเลและกุ้งน้ำจืดรวมกัน 30 ชนิด (ไพโรจน์ และคณะ, 2542) นอกจากนี้ยังพบโลมาหัวบาตรซึ่งเป็นสัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์อาศัยอยู่ในทะเลสาบสงขลาตอนในด้วย (ไพโรจน์ และธเนศ, 2538)
2.สภาพปัญหาที่เกิดขึ้น
สถานการณ์ปัจจุบันของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามีความเสื่อมโทรมมากในด้านการใช้ทรัพยากรแหล่งน้ำ การทิ้งสิ่งปฏิกูลลงแหล่งน้ำ การบุกรุกป่าชายเลน มีการใช้เครื่องมือประมงประเภทโพงพางและไซนั่ง (ลอบยืน) ครอบคลุมเกือบเต็มพื้นที่ทะเลสาบสงขลา โดยเฉพาะทะเลสาบสงขลาตอนนอก ในปี พ.ศ. 2527  มีจำนวนไซนั่ง 900 ลูก (ไพโรจน์ และคณะ, 2527) ปี พ.ศ. 2538 มีจำนวน 5,250 ลูก (อังสุนีย์ และคณะ, 2539)  ปี พ.ศ. 2540 มีเพิ่มขึ้นถึง 8,500 ลูก (สำนักงานประมงจังหวัดสงขลา, 2540) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก ปัจจุบันรัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญจึงได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อปรับปรุงพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาขึ้น โดยมี ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี (พลเอกชวลิต  ยงใจยุทธ) เป็นประธานคณะกรรมการ มีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการและเลขานุการในส่วนของกรมประมงได้แต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด คือ คณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาในด้านการประมง ซึ่งมีนายเรวัติย์  ฤทธาภรณ์  รองอธิบดีกรมประมง  เป็นประธานคณะกรรมการ และคณะทำงานดำเนินงานโครงการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยมีนายวิเชียร  เปล่งฉวี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและแผน (งานประมง) ประจำเขต 12 เป็นประธานคณะทำงาน  และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยตอนล่าง (สงขลา) เป็นคณะทำงานและเลขานุการ
3.โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (ในส่วนของกรมประมง)
ผลจากการประชุมคณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2546 ณ โรงแรมบีพีสมิหลาบีช สรุปได้ว่างานที่กรมประมงจะต้องดำเนินการ คือ
1)สำรวจ จดทะเบียนชาวประมงและเครื่องมือประมงทุกประเภท
2)โครงการจัดระเบียบเครื่องมือประมง เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และประสานงานการดำเนินการกับคณะอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และประชาสัมพันธ์
 และจากการประชุมของคณะทำงานดำเนินการโครงการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ครั้งที่ 1/2546 วันที่ 11 กรกฎาคม 2546 ณ สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง  ได้กำหนดให้มีการวางแผนการปฏิบัติงานตามโครงการจัดระเบียบเครื่องมือประมง ทั้งหมด 4 ด้าน คือ
1)การสำรวจเพื่อจัดระเบียบเครื่องมือประมง
2)การจัดระเบียบเครื่องมือ
3)การฟื้นฟูทรัพยากรประมง
4)การควบคุมทำการประมง
4.โครงการวิจัยที่ศูนย์มีส่วนเกี่ยวข้อง
การสำรวจเพื่อจัดระเบียบเครื่องมือประมงนั้น มีสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมด้วยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพัทลุง และศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยตอนล่าง (สงขลา)  โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยตอนล่าง (สงขลา) จะเน้นการสำรวจเฉพาะทรัพยากรสัตว์น้ำบริเวณทะเลสาบสงขลาตอนนอก (ปากทะเลสาบสงขลาถึงบริเวณปากรอ) ซึ่งปีงบประมาณ 2547 ศูนย์ฯ กำหนดให้มีการศึกษาทั้งหมด 4 โครงการ ดังนี้
1)สภาวะทรัพยากรกุ้งตะกาดบริเวณทะเลสาบสงขลาตอนนอก
2)องค์ประกอบชนิดสัตว์น้ำบริเวณทะเลสาบสงขลาตอนนอก
3)ชนิดและการแพร่กระจายของปลาวัยอ่อนบริเวณทะเลสาบสงขลาตอนนอก
4)ชนิดและการแพร่กระจายของกุ้งวัยอ่อนบริเวณทะเลสาบสงขลาตอนนอก
แหล่งที่มา
http://smdec.com/menu/project/songkhal_lake/songkhal_lake.htm

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13861เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2006 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 19:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท