การปฏิบัติงานพระราชทานปริญญาฝ่ายเครื่องเสียงและถ่ายทอดโทรทัศน์(ตอน 2)


ตอนปัญหาจากการปฏิบัติงาน

ความเดิม การปฏิบัติงานพระราชทานปริญญาฝ่ายเครื่องเสียงและถ่ายทอดโทรทัศน์(ตอน 1)

ซึ่งในระหว่างดำเนินกิจกรรมได้พบปัญหาจากการปฏิบัติงานต่างๆ ดังนี้

  1.  ปัญหาเสียงฮัมที่สนามกีฬาในโดม ซึ่งเกิดจากการต่อเชื่อมสายเสียงจากห้องพระราชทานเชื่อมมาในโดม โดยเดิมเราใช้สายออกแบบแจ๊คโฟนและแปลงเป็น RCA พบว่ามีปัญหาเสียงฮัม ในปีนี้เราประสานงานกับบริษัท สาธิตขอให้คุณปรีชามาช่วย ก็พบว่าเป็นปัญหาการต่อสาย แบบ Unbalance ข้อมูลเพิ่มเติม 1 2
  2. ปัญหาจากการจองที่พัก ทุกครั้งจะจองที่โรงแรมแกรนด์ริเวอร์ไซต์ แต่ปีนี้เปลี่ยนเป็นท็อปแลนด์ แต่ก็พลาดจนได้ไม่รู้ว่าทำไมตอนที่เจ้าหน้าที่เข้าพักจริงๆ ทางโรงแรมแจ้งว่าไม่ได้จองไว้
  3. ปัญหาการไม่มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์
    (จำได้ว่าในการทำงานระหว่างกรมประชาสัมพันธ์มาติดตั้งเครื่องเสียง มีคณะทำงานเสนอว่าทำไมเราไม่ซื้ออุปกรณ์เครื่องเสียงแบบกรมประชาสัมพันธ์ไว้สักชุด จะได้ไม่ต้องประสานงานขอยืมเครื่องมือต่างๆ จากหลาย คณะทั่วมหาวิทยาลัยให้เสียเวลา ผมก็พูดแบบทีเล่นทีจริงว่า การที่เรายืมอุปกรณ์จากหน่วยงานต่างๆ ทำให้เราเกิดเครือข่าย เกิดการติดต่อสื่อสารกัน และเราก็ได้คนมาทำงาน และที่สำคัญคือเราได้ใช้เครื่องมือเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์เต็มที่ และคนที่รู้ว่าคณะต่างๆ มีอุปกรณ์อะไรบ้าง ต้องยกให้ อ.กมเลศ ซึ่งมาช่วยงานเราทุกปี )
      
  4. ปัญหาเรื่องของสายที่ใช้เป็นสายที่ไม่เหมาะสม อิมพีแดนซ์ไม่ได้ สายสำหรับภาพ และเสียงแตกต่างกัน สายภาพก็อย่างหนึ่ง สายสัญญาณเสียงก็อย่างหนึ่ง สายลำโพงก็อีกแบบหนึ่ง ใช้แตกต่างกัน แต่ที่ทางกรมประชาสัมพันธ์ใช้เดินสายลำโพง ผมพบเห็นอย่างหนึ่งคือ เค้าใช้สายไฟธรรมดา แบบสายอ่อน ขนาดหน้าตัด 2.5 มม.มาทำเป็นสายลำโพง
  5. ปัญหาเรื่องสัญญาณภาพเป็นเส้นริ้วๆ บนหน้าจอ ปัญหาดังกล่าววันที่ทำการทดลองทั้ง 3 วันไม่มีปัญหาแต่วันจริงพบว่ามีปัญหา ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาของสายสัญญาณภาพจาก หลังเครื่องที่ห้องพระราชทานปริญญา ไปยังโดม(ปีหน้าอาจต้องตั้งงบประมาณเพื่อเปลี่ยนสายเส้นนี้)
  6. ปัญหาไฟของช่างกล้องถ่ายภาพบนเวทีช๊อตเกิดไฟลุกไหม้พรมในช่วงเช้า จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สายกล้องของกล้อง 1 ถูกความร้อนละลาย ซึ่งอาจเป็นผลทำให้เกิดการรบกวน ซึ่งถ้าสายเส้นดังกล่าวขาด พบว่าไม่มีการเตรียมสายทดแทนไว้ ปีหน้าอาจต้องให้ทีม Citcoms เตรียมการรองรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไว้ด้วย
  7. ควรมีอุปกรณ์ direct box กราวด์สัญญาณเสียงและลดการรบกวนสัญญาณเสียง โดยผมได้สอบถามจากคุณปรีชา พบว่าในปีนี้เราใช้ Mixer มาใช้เป็นตัวเชื่อต่อสัญญาณเสียงซึ่งก็ใช้ได้ เพราะจะเป็นการแก้ปัญหาการต่อแบบ Balancd Unbalance ได้ด้วย
  8. ปัญหาการปรับแต่งสัญญาณ AV ที่ผ่าน distributor พบว่าในงานนี้มีการขยายสัญญาณภาพผ่าน Distributor หลายตัว (ในห้องพระราชทาน 2 เครื่อง ในโดม 2 เครื่อง จุดถ่ายทอดอินเทอร์เน็ต 1 เครื่อง )แต่ละเครื่องมีการปรับจูนเร่งสัญญาณกันโดยไม่มีความแน่นอนว่าสัญญาณภาพที่ส่งมามีความเข้มเพียงพอหรือยัง คือใช้หลักสุ่มๆ ถ้าเป็นสถานีโทรทัศน์ ผมเห็นเค้าจะมีอุกรณ์ที่เรียกว่า Vector Scope ตรวจสอบสี หรือ ความเข้มของสัญญาณภาพ ซึ่งหลายคนก็อาจจะเถียงว่างานระดับเรามีความจำเป็นหรือยังที่จะต้องซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวที่มีราคาหลายแสนบาท แต่จากปัญหาในการปฏิบัติงานที่ผ่านมาก็ทำให้รู้ว่าเมื่อไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าวเราก็ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าอะไรคือความเที่ยงตรง เป็นมาตรฐาน
  9. ปัญหาการที่ไม่มีไดรอะแกรม หรือผังวงจรการต่อสาย จากการปฏิบัติงานครั้งนี้ เราใช้ความรู้และประสบการณ์ในการทำงานกันจริงๆ โดยไม่ได้มีการเขียนแผนโครงสร้างการต่อเชื่อมสายและอุปกรณ์ คือถ้าทีมชุดนี้ไม่ได้ทำงาน พบว่าผู้ที่เข้ามาทำใหม่จะต้องเริ่มจากศูนย์ และเมื่อเกิดปัญหาเกิดขึ้นคนอื่นจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้เพราะไม่รู้ว่าสายเส้นใดเชื่อมกับจุดใด และนิสิตที่มาช่วยงานก็ไม่เกิดการเรียนรู้เรื่องการทำวงจรปิดจริงๆ ว่าเค้าทำกันอย่างไร ต้องต่อสายนี้ทำไม นิสิตก็จะได้แต่วิชา ยกของ ปีนป่าย แปะแล็คซีน
  10. ปัญหาอาหารกล่อง ปีนี้เราแจ้งเรื่องอาหารกล่องในวันพระราชทานปริญญา ไป 65 กล่อง เพราะเรานับเจ้าหน้าที่ รวมนิสิตทั้งหมด แต่วันจริงมีนิสิตเข้ามาช่วยงานเพียง 2 คนทำให้ข้าวกล่องเหลือเยอะมาก ผมยังแซว หัวหน้าฝ่ายโสตฯ ห้องสมุดว่ามาปีแรกแต่เรียนรู้งานได้ไว ที่ว่าไว คือผมทำงานพระราชทานมา หลายปี กว่าจะรู้ว่าเค้ามีการจัดเตรียมอาหารรับรอไว้ ก็เมื่อปีที่แล้วเอง ทานข้าวกล่องเสียหลายปี แต่หัวหน้าฝ่ายโสตฯ มาปีเดียวได้ทานอาหารรับรองเลย 5555 แต่ก๋วยเตี๋ยววัดมะกอกเค้าอร่อยจริงๆ นะ 
    ฝากทีมงานช่วยๆ กันเสนอปัญหานะครับ เพราะถือว่าเป็นการนำปัญหามาแก้ไขปรับปรุงการทำงานกัน
หมายเลขบันทึก: 13863เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2006 11:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ไดอะแกรม หรือผังวงจรการต่อสาย ผมมีความคิดเห็นว่าสำคัญมาก สัญญาณภาพที่เกิดการรบกวนในวันพระราชทานนั้นเท่าที่รู้เกิดจากสัญญาณเสียงของกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อตอนเลิกงานถ่ายทอดดึงแจ๊คสายสัญญาณเสียงของกรมประชาสัมพันธ์ออก ปรากฏว่าภาพไม่ไหลหรือไม่กระพริบ  มีหลายอย่างที่เป็นอุปสรรคที่มองข้ามไปคือ
      1. การทดสอบระบบเสียงและสัญญาณภาพดำเนินการ 3 วัน คือวันซ้อม 2 วัน วันซ้อมใหญ่ 1 วัน ระบบเสียงและสัญญาณภาพปกติ  แต่หลังจากซ้อมใหญ่เสร็จ มีงานอื่นๆเข้ามาสมทบอีก เช่น เครื่องเสียงประชาสัมพันธ์, ร้านถ่ายรูป, สถานีวิทยุ ทำให้เกิดมีกวนสัญญาณกันเกิดขึ้นบ้างเป็นครั้งคราว

     2. สิ่งสำคัญที่สุดของงานพระราชทานคือ ระบบไฟฟ้า ถ้าระบบไฟไม่ดี งานอย่างอื่นก็แทบจะล้มเหลว ควรมีการจัดการเรื่องระบบไฟว่าใครต้องใช้ไฟจากจุดใด และต้องใช้สายขนาดไหน ต้องกำหนดให้ตายตัวเลย จุดนี้จะเป็นจุดที่แก้ปัญหาได้อย่างมาก บางจุดไฟไม่พอเกิดการทริป เช่น จุดถ่ายทอดสัญญาณภาพ จากการที่สถานีวิทยุมาติดตั้ง และดึงไฟแย่งกัน เมื่อแจ้งผู้ดูแล ได้รับคำตอบว่าไม่มีอุปกรณ์ ต้องหาอุปกรณ์มาเพิ่มเอง ซึ่งงานแบบนี้ฝ่ายดูแลเรื่องระบบไฟ น่าจะมีอุปกรณ์ที่เตรียมพร้อมมากกว่านี้ (ในกรณีที่เกิดการใช้ไฟเพิ่มเติม)
      3. ระบบที่สำคัญรองลงมาคือระบบเสียง เสียงที่ออกมาในวันพระราชทานก็ถือว่าโอเคในระดับหนึ่ง แต่ศักยภาพของมหาวิทยาลัยน่าจะทำได้ดีกว่านี้ เพราะอุปกรณ์ต่างๆในมหาวิทยาลัยมีมากมายที่ยังไม่ได้นำมาใช้ เพียงแต่ขาดความร่วมมือและการประสานงานกันอย่างเป็นรูปธรรม
      4. ระบบที่สำคัญรองลงมาอีกคือ ระบบภาพ การถ่ายทอดสัญญาณภาพนับเป็นเรื่องสำคัญ เพราะผู้รับย่อมต้องการภาพและบรรยากาศในการรับพระราชทานปริญญาบัตร หลังจากรับเสร็จแล้ว ปีนี้ต้องยอมรับว่าสัญญาณภาพไม่ดี เพราะหลังจากซ้อมใหญ่แล้วภาพยังดีอยู่ แต่เช้าวันรับจริงปัญหาเรื่องภาพแก้ไม่ได้ เพราะไม่มีโอกาสได้วิเคราะห์ความเป็นไปได้ ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไปก่อน คืออย่างไรก็ต้องถ่ายทอดสัญญาณภาพ ซึ่งจากการที่ภาพออกมาไม่ดี ทำให้การถ่ายทอด Internet ออกมาไม่ดีด้วย ซึ่งระบบ Internet ได้ดึงสัญญาณจากหน่วยถ่ายทอดสัญญาณภาพไป ซึ่งระบบถ่ายทอด Internet ปีหน้าคงต้องแก้ปัญหาด้วยการดึงสัญญาณเอง
      ซึ่งจากปัญหาที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่างานใหญ่ระดับนี้ ทำไมไม่มีการติดตั้งระบบทุกอย่างให้แล้วเสร็จก่อนวันซ้อมใหญ่ คือหลังจากวันซ้อมใหญ่แล้ว ไม่สมควรให้หน่วยงานใดไปติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม ที่ผ่านมาคือ ซ้อมใหญ่เสร็จแล้วจึงจะติดตั้งอุปกรณ์ที่ใช้จริงทั้งหมด ซึ่งวันรับจริงยังไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น น่ากลัวนะ

      ทุกอย่างทำได้ทั้งหมดเท่าที่ท่านคิดมา    "แต่ทำยาก"   รู้มั๊ยว่าต้องใช้สมองในการคิดเท่าไร ทำทุกปีก็จริงแต่ปัญหาแต่ละปีไม่เหมือนกันซักปี  ผลประโยชน์ก็ได้เท่าเดิม ที่ทำไม่ใช่เพราะหน้าที่อย่างเดียวหรอก แต่ที่ทำทำด้วยใจรักในอาชีพเทคโนฯและความรู้ความสามารถที่มีอยู่เท่านั้น

        ไดอะแกรม หรือผังวงจรการต่อสาย ใครมีความรู้ก็เขียนให้หน่อยดิ (ผมไม่เป็น)

         ในส่วนของนิสิตขึ้นอยู่กับความสนใจ บางคนสนใจเค้าก็ได้ ปีหน้า อาจารย์ผู้สอนก็กำหนดงานให้เด็กเลยว่าจะให้เด็กรู้อะไรบ้าง รู้อย่างไร น่าจะตรงประเด็นกว่า แต่จะให้มาทำเองคงไม่ได้เพราะเป็นงานสำคัญ ต้องมีพี่เลี้ยงคอยกำกับดูแล

        การทำงานต้องอาศัยศาสตร์และศิลป์ การพึ่งพาอาศัยกัน การแชร์ความรู้ซึ่งกันและกัน ไม่มีใครเก่งที่สุดหรอก แต่ที่สำคัญคือการวางแผนและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยอาศัยหลักการและทฤษฎี และที่สำคัญที่สุดของที่สุดคือ "ารทำงานอย่างเข้าใจกัน" เท่านั้นเป็นพอ

ผมเป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสได้เข้าการปฏิบัติงานพระราชทานปริญญาฝ่ายเครื่องเสียงและถ่ายทอดโทรทัศน์ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผมได้เข้าร่วมปฏิบัติงานในนามของ นิสิต ซึ่งก็คงเป็นหนึ่งในสองคนที่อาจารย์หนึ่งได้เขียนถึงปัญหาไว้ในข้อ 10 ของปัญหาทั้งหมด ดังนั้นในกรณีดังกล่าวและด้วยความเคารพจึงขอชี้แจงดังนี้

      1.เหตุผลที่มีนิสิตอยู่ในงานพระราชทานฯวันจริงเพียง 2 คนจากความจริงน่าจะมีสิบกว่าคนนั้น ความจริงแล้วนิสิตทุกคนต้องการเข้าร่วมปฏิบัติงานแต่นิสิตหลายๆคนไม่ได้รับบัตรอนุญาตจึงไม่สามารถเข้างานได้

      2.ในกรณีวันซ้อมทั้ง 3 วันก็มิได้มีเพียงนิสิตเพียง 2คนเท่านั้นที่ทำงาน นิสิตที่ได้รับมอบหมายก็มาแทบทุกคน เพียงแต่ในวันพระราชทานจริงนั้นไม่สามารถเข้ามาภายในพื้นที่ได้เพราะไม่มีบัตรอนุญาต

ดังนั้นจึงขอชี้แจงไว้ ณ ที่นี้ด้วยความเคารพว่าในนามนิสิตผมมีความเคารพและมีความนับถือต่ออาจารย์และเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ปฏิบัติงาน หากว่าการชี้แจงนี้ไม่เหมาะสมหรือมีความเห็นประการใดในนามนิสิตขอรับการเรียนรู้จากอาจารย์และเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่พร้อมเป็นแบบอย่างที่ดี

ส่วในกรณีข้อ 9 นั้นผมเห็นว่าผมและเพื่อนๆหลายคนได้มากกว่าวิชา ปีนป่าย ยกของ และแปะแลกซีน แม้ว่าเพื่อนบางคนที่ไม่มาหรือมาน้อยกว่าผมจะไม่ได้เท่าผมกับเพื่อนบางคนก็ตาม

ผมเห็นด้วยกับคุณ sanama ในหลายความเห็น โดยเฉพาะกับความภูมิใจในวิชาชีพเทคโนฯ ที่พร้อมจะก้าวไปพร้อมความรู้และประสบการณ์ในโลกแห่งการทำงานในอนาคต และผมเรียนว่าผมศรัทธาในทุกๆคนที่ตั้งใจและในทุกๆความรู้สึก แม้ประสบการณ์ของผมจะมีเพียงแค่นกฮูกตัวเล็กๆที่พึ่งเริ่มจะหัดบินแต่ในกรณีผมได้รับการพาดพิงก็ขอให้ลูกนกฮูกตัวนี้ได้ร้องบ้างนะครับ

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท