ชาวเพลงดีใจได้พบศิลปิน (ตอนที่ 5) ยากแท้แค่หาคำร้องด้น


ถึงจะมีความพยายามแค่ไหน แต่เวลาเป็นอุปสรรคในการพัฒนาความรู้ความสามารถของมนุษย์ เพราะเวลามีแต่จะหมดไปในแต่ละวินาทีอย่างน่าเสียดาย

 

ชาวเพลงของผม

ได้ต้อนรับสมาชิกใหม่แล้ว

เป็นศิลปินชื่อดัง

เข้ามาขอฝึกหัดเพลงพื้นบ้าน

ตอนที่ 5 (ยากแท้แค่หาคำร้องด้น) 

          ผมแนะนำวิธีการจัดหาคามาร้องว่า ให้มองไปที่หัวข้อบังคับที่เราตั้งเอาไว้ก่อนเสมอว่า เรากำลังจะนำเสนอในเรื่องอะไร เช่นจะร้องเรื่องของ แม่ยก ก็จะต้องมองไปที่คนใกล้ตัว ขื่ออะไร มาจากไหน ติดตามไปดูเราที่ไหนบ้าง ให้อะไรกับเราบ้าง มีความผูกพันกันอย่างไร หมายถึง ว่า ผู้ร้องจะต้องมีข้อมูลอยู่ภายในมากพอที่จะนำเอาออกมาเป็นคำร้องได้ ซึ่งในระยะแรก ๆ นี้ ขอเพียง ให้ได้คำร้องออกมา บังคับว่า ถ้าเป็นกลอนผูกแบบ  6 คำ ก็ร้องออกมาให้ได้ วรรคละ 6 คำ โดยไม่ต้องมีสัมผัสใน แต่ผู้ร้องจะต้องร้องส่งสัมผัสจากวรรคแรกไปยังวรรคที่  2 ให้ได้ ดังเช่น

          ได้พบหน้า....มาจากไหน     เพื่ออะไร  ได้แถลง  

          เปิดเผยใจ   ให้ชี้แจง          รักสีแสง    หรือแสร้งทำ 

             คำที่จะต้องส่งสัมผัสในวรรคที่ 1 คือ แถลง ส่งสัมผัสไปยังวรรคที่ 2 คือคำว่า แจง ส่วนคำสัมผัสในทั้งหมดให้ตัดไปก่อน ยังไม่ต้องไปคำนึง (เราก็จะห่วงคำร้องที่ต้องคิดเพียงที่เดียว) ส่วนคำส่งสัมผัสยังบทต่อไป อันนี้จำเป็นครับจะต้องมี ไม่เช่นนั้นจะไม่ลงกลอนและไม่เกิดความไพเราะ เช่น

           ได้พบหน้า....มาจากไหน     เพื่ออะไร  ได้แถลง

           เปิดเผยใจ    ให้ชี้แจง         รักสีแสง    หรือแสร้งทำ  

           จากนักแสดง แปลงเป็นร้อง  ฝึกทำนอง  ที่สูงล้ำ         

           ด้นกลอนสด  ไม่จดคำ        เราต้องนำ  ปฏิภาณ   

           คำลงสุดท้ายของบทแรก คือ หรือแสร้งทำ เมื่อขึ้นบทต่อไปหาคำที่มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกันมาร้องแต่ในวรรคที่ 3 คำสุดท้ายต้องรับสัมผัสกับบทที่ 1 ที่ลงไว้ นั่นคือคำทีจะมาเชื่อมสัมผัสได้ก็จะเป็น จากนักแสดง  แปลงเป็นร้อง ฝึกทำนอง  ที่สูงล้ำ แสร้งทำ สัมผัสกับ สูงล้ำและการส่งสัมผัสต่อไปยังวรรคที่ 3 ก็เช่นเดียวกับในวรรคที่ 1 กับ 2  พอร้องได้อย่างคล่องแคล่วแล้ว จึงมาเน้นคำที่มีสัมผัสในต่อไป     

           ส่วนวิธีหาคำมาร้องเพลงแหล่แบบกลอนเดียวนั้น ผมแนะนำว่า ให้มองไปที่หัวข้อบังคับที่เราตั้งเอาไว้เช่นเดียวกัน เช่นจะร้องเรื่องของ การด้นสด’” ก็จะต้องมองไปที่คำใกล้ตัว ขื่อคนที่เราคุ้นเคย  อาหารที่เราชอบ สถานที่ที่เราไปบ่อย ๆ  หรือผลไม้ที่ชื่นชอบ ส่วนการร้องจะต้องมีข้อมูลอยู่ภายในมากพอที่จะนำเอาออกมาเป็นคำร้องได้ ซึ่งในระยะแรก ๆ นี้ ขอเพียงให้ได้คำร้องออกมา บังคับว่า ถ้าเป็นกลอนเดียว ควรแบ่งคำร้องออกเป็น 2 วรรค คือ วรรคที่ 1 กับวรรคที่ 2 คือ วรรคขึ้นต้นกับวรรคลงท้าย  ร้องออกมาให้ได้ วรรคละ  8-10 คำ หรืออาจจะมากกว่านั้นก็ได้และจะต้องจำคำลงในวรรคที่ 2 ของบทแรกเอาไว้ว่าลงด้วยสระอะไร เช่นลงไว้เป็นเสียงสระไอ ในบทต่อไป วรรคที่ 2 ก็จะต้องลงด้วยเสียงสระไอ เช่น ไป ใจ ใด ไกล ไหน ได้ ไหว  เป็นต้น โดยไม่ต้องมีสัมผัสใน เพียงแต่ผู้ร้องจะต้องร้องส่งสัมผัสจากวรรคแรกไปยังวรรคที่  2 ให้ได้  ดังเช่น  

          เมื่อได้มา   รับรู้       ได้มาดู  ถึงที่  (วรรคที่ 1 คำขึ้นต้น) 

          สิ่งที่คิด   ไว้ว่าดี      ถึงตอนนี้  คิดใหม่  (วรรคที่ 2 คำลงกลอน) 

          ส่วนพอไปถึงบทต่อ ๆ ไปผู้ร้องจะต้องจำคำลงเอาไว้ทุกลงเพราะนอกจากจะต้องใช้เสียงสระเดียวกันแล้ว ยังจะต้องมีความหมายเกี่ยวข้องต่อเนื่องกันไปด้วย ดังเช่น   

          เมื่อได้มา   รับรู้         ได้มาดู ถึงที่     

          สิ่งที่คิด  ไว้ว่าดี         ถึงตรงนี้  คิดใหม่    

          นักร้อง  เพลงแหล่      ตั้งแต่รุ่น  เก่าก่อน  

          เขาต้องมี ครูสอน       ฝึกกลอน  ร้องให้  

          ผมส่งไมโครโฟนให้ศิลปินไป 1 ตัว อีกตัวหนึ่งผมขึ้นต้นร้องด้นสดสั้น ๆ ให้เขาฟัง และหยุดนิดหนึ่งบอกว่า ลองฝึกร้องตั้งแต่คำขึ้นต้นคำแรกดูซิ ครับ แล้วก็ได้ยินเสียงร้องดังขึ้น เสียงดีครับ จังหวะแหล่ก็ลงตัว เพียงแต่คำร้องหลุดออกมาช้าไปหน่อย (ไม่มีคำให้นำเอามาใช้) มองหาในอากาศยังไม่เจอ  ผมยุให้ร้องต่อ ส่วนผมนิ่งฟังไปก่อน ศิลปินร้องด้นอยู่นานพอสมควร น่าจะ 10-15 นาที ก็ไปได้ดีนะ เพียงแต่เป็นการแสดงความสามารถครั้งแรก ๆ จากคนที่ด้นสดไม่เป็น และก็ไม่เคยเลย ทำได้ขนาดนี้ นับว่ามีความสามารถสูงและน่าที่จะไปได้ดี ถ้ามีการฝึกซ้อมมากกว่านี้  

เพลงกำเนิดของคน (นำเอามาบางส่วนมาให้ฝึกหัดร้อง) 

          จะกล่าวกำเนิด     เกิดปฏิสนธิ      

          จะเกิดเป็นคน      ทั้งผู้หญิง  ผู้ชาย

          เขาว่าพวกผู้ชาย   ก่อนจะได้มาเกิด    

          นั้นเอากำเนิด       มาจากพรึงไพร

          ส่วนว่าผู้หญิง       ที่จะมาเกิด               

          เขามีกำเนิด         มาจากผู้ชาย

          เป็นลูกเจ้าฟ้า       หรือเจ้าแผ่นดิน    

          เขาดีดด้วยพิณ     ขึ้นมาสามสาย

          จะก่อกำเนิด        จะเกิดเป็นตัว 

          พ่อคุณทูนหัว       จะเกิดเป็นกาย

          เกิดสีแดง ๆ         เป็นแสงอัคคี    

          คล้ายกับพวกผี     เรียกว่าผีพุ่งใต้

          พุ่งทางหน้าต่าง    ไปค้างยอดตอง   

          ไปเกาะท้องน่อง   ของมารดาไทย  (ยังมีต่อ) 

          (บทประพันธ์ของ  การเวก  เสียงทอง)  

           

          แต่ก็ถือได้ว่า ได้ไปพอสมควรและทางศิลปินเขาก็ได้มีการบันทึกวีดีโอเอาไปศึกษาด้วย ขอซาวด์จังหวะเอาไปฝึก ผมให้ไปทั้ง 2 แบบ ตลอดเวลา 2 ชั่วโมงเศษ (13.35-15.55 น.) เป็นเวลาที่ผมมองเห็นความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวที่คนคนหนึ่งใช้ความพยายามที่จะทำให้ได้  แต่เวลาต่างหากที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาความรู้ความสามารถของมนุษย์  เพราะเวลามีแต่จะหมดไป หมดไปในแต่ละวินาทีอย่างน่าเสียดาย  

          อาจารย์ครับ วันนี้ผมคงต้องลาอาจารย์กลับไปก่อน เพราะผมจะต้องไปทำบุญกับเพื่อน ๆ ที่สองพี่น้องด้วยครับ  ผมกะว่าแค่มาชิมลางดูก่อนว่า ผมจะทำได้ไหม เอาเป็นว่าผมจะต้องกลับมาหาอาจารย์อีกและจะฝึกจนผมสามารถร้องได้  ขอบพระคุณท่านอาจารย์มากและน้องๆ ทุกคนด้วย ครับ 

(โปรดติดตามเรื่องราวในการฝึกหัดเพลงแหล่ของศิลปินคนดังต่อไปได้ ครับ)                      

ชำเลือง  มณีวงษ์ : ผู้มีผลงานดีเด่นด้านศิลปวัฒนธรรม สาขาการแสดงเพลงพื้นบ้าน ปี 2547

 

 

หมายเลขบันทึก: 138236เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2007 20:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กันยายน 2012 04:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ

P

คนที่ร้องได้ดี น่าจะต้องมีพรสวรรค์ด้านว่ากลอนเป็นด้วยนะคะ

เพราะก็ไม่ง่ายนักค่ะ

สวัสดีครับ คุณ ศศินันท์

  • ใช่ ครับ คนที่จะร้องได้ดี จะต้องมีพรสวรรค์ มีไหวพริบด้านร้องกลอนอย่างมาก
  • ผมจะพยายามถ่ายทอดความสามารถที่ผมพอมีอยู่ทางด้านนี้
  • เพราะว่า ศิลปินมีความประสงค์ที่จะดำเนินโครงการใหญ่นะครับ จึงต้องมีการฝึกวิทยายุทธกันอย่างเอาจริงเอาจัง
  • รอให้เห็นผลงานความก้าวหน้าอีกนิด จะนำมารายงานให้ทราบ ขอบพระคุณมาก ๆ ครับ

 

ครูชำเลืองคับ ผมเป็นครูใต้คับ แต่สนใจเพลงพื้นบ้านภาคกลางที่ใช้ไหวพริบปฏิภาณในการร้องโต้ตอบ และลีลาการร้องของเพลงภาคกลางคับ ผมเคยเล่นเพลงฉ่อยในหลายโอกาส (เพื่อความบันเทิง) แต่ผมรู้ว่าไม่ใช่รูปแบบวิธีที่ถูกต้อง อีกอย่างผมอยากมีครูคับ อยากจะสืบทอด การละเล่นพื้นบ้านครับ ผมมีพื้นฐานการด้นกลอนสดอยู่บ้างครับ

สวัสดีครับ คุณครูสามารถ

  • ดีใจครับที่ครูให้ความสนใจในศิลปะพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นภาคไหน ๆ ก็เป็นของไทยทั้งนั้น
  • ความถูกต้องของศิลปะการแสดงเพลงพื้นบ้าน อยู่ที่ตัวเราได้รับการถ่ายทอดมาจากใคร ถ้าที่มา ได้มาจากต้นฉบับก็ถือว่า มีความถูกต้องตามต้นแบบ ครับ ส่วนความต่างหรือความเหมือนบางครั้งขึ้นอยู่กับอัตลักษณ์ของแต่ละบุคคลด้วย
  • ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และให้คำแนะนำในสิ่งที่พอจะให้ได้ ถ้าชอบก็ขอให้ฝึกปฏิบัติต่อไปนาน ๆ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท