ชาวเพลงดีใจได้พบศิลปิน (ตอนที่ 1) ได้รับการติดต่อ


ได้รับการติดต่อว่า จะมีคนมาขอคำปรึกษา

 

ชาวเพลงของผม

ได้ต้อนรับสมาชิกใหม่แล้ว

เป็นศิลปินชื่อดัง

เข้ามาขอฝึกหัดเพลงพื้นบ้าน

ตอนที่ 1  (ได้รับการติดต่อ) 

          เมื่อวันที่  28 กันยายน 2550 ผมได้รับโทรศัพท์จากบุคคลผู้หนึ่ง เป็นเลขาฯ ของศิลปินนักแสดง นักพูดและนักเขียนที่มีชื่อเสียงมากท่านหนึ่ง โดยข้อความที่สนทนาทางโทรศัพท์กับผม เธอบอกกับผมว่า คุณ..... มีความสนใจในตัวของท่านอาจารย์มาก ต้องการที่จะไปพบกับท่านอาจารย์ที่ดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ อาจารย์จะพอมีเวลาว่างในช่วงไหนบ้าง พอที่จะให้พี่เขาเดินทางไปหาท่านอาจารย์ได้ 

          ในคำสนทนาต่อ ๆ มา คุณเลขาพูดกับผมว่า อาจารย์เคยร้องเพลงแหล่ปนกับเพลงแร็ป บ้างไหม และเพลงพื้นบ้านชนิดใดบ้างที่สามารถนำเอามาร้องกับเพลงประเภทแร็ปได้ โดยการร้องต่อ ๆ กันไปเหมือนอย่างเป็นเพลงเดียวกัน คำถามหรือคำปรึกษานี้ทำให้ผมต้องใช้เวลาคิดว่า ผู้ที่จะร้องเพลงประเภทนี้เป็นใครกันแน่  เพราะโดยปกติศิลปินที่ขึ้นไปแสดงบนเวที เช่น นักร้อง เขาก็จะร้องเพลงเพียงประเภทเดียว ตามแนวของเขา คือแนวใครแนวมัน ร้องตามความถนัด 

          แต่ว่าครั้งนี้ ผมได้โจทย์ที่แปลกไปกว่าที่เคยพบ คือ นักแสดงผู้ที่จะขึ้นไปร้องเพลงแบบนี้ได้ หมายถึงเริ่มต้นร้องเพลงแหล่ แล้วตามด้วยเพลงทำนองแร็ปซึ่งมันก็จะคล้าย ๆ กัน ในท่วงท่าทำนอง  แต่จังหวะอาจจะปีนกันไปบ้างนิด ๆ  หรือจะยืนจังหวะแร็ปยาวไปเลย ในทำนองเดียวกันจะยืนจังหวะที่รองรับทำนองเพลงแหล่ (3 ช่า หรือจังหวะหน้าทับ) ไปอย่างเดียวเลย  หรือแนว ทางที่ 3  ร้องทำนองแหล่ก็ใช้จังหวะสำหรับเพลงแหล่ พอเปลี่ยนไปร้องแร็ปก็เปลี่ยนจังหวะเป็นแร็ป ถ้าอย่างนี้ก็จะสนุก แต่นั่นก็คือจะต้องใช้วงดนตรี บรรเลงกันสด ๆ 

           สิ่งที่ผมต้องคิดต่อไปก็คือ  การที่นักแสดงคนหนึ่งขึ้นไปแสดงความสามารถบนเวทีด้วยลีลา บทร้องที่หลากหลาย หากเขาผู้นั้นจะต้องจัดเตรียมบทร้องนำเอาไปแสดง คงจะต้องมีคนเขียนบท และผู้แสดงคงจะต้องท่องจำเนื้อเพลงให้ได้เสียก่อน แต่ถ้าผู้แสดงมีความสามารถที่สูงกว่านั้นคือ มีความสามารถด้นกลอนสดได้ทั้งเพลงแหล่ และเพลงแร็ป รวมทั้งสามารถด้นกลอนสดเพลงพื้นบ้านในทำนองหรือประเภทอื่น ๆ ได้อีกหลาย ๆ อย่าง การแสดงในครั้งนั้นก็คงจะน่าดูมาก กว่า เพราะการที่ศิลปินคนหนึ่ง มีความสามารถในการแสดงพื้นบ้านได้เป็นอย่างดี น่าทึ่งมาก และก็ไม่ค่อยที่จะได้พบกันบ่อยนักบนเวที จะมีก็เพียงแต่ศิลปินที่ฝึกหัดเพื่อขึ้นไปแสดงครั้งเดียวแล้วก็เลิกไป  ใส่เนื้อถ้อยสำนวน กระบวนความยังไม่ถึงขั้นเป็นเพลงก็ขึ้นไปร้องเสียแล้ว 

          โดยเฉพาะนักร้อง นักแสดงที่มีชื่อเสียง เป็นคนดังมาก ๆ มักจะใช้ความดังเป็นตัวเบิกทางทั้งที่ บางครั้งเพลงพื้นบ้านที่เขาร้อง ผิดพลาดบกพร่อง ทั้งเนื้อร้อง ทำนอง และประเภทของเพลงด้วย  แต่เขาก็ยังหากินได้ ขายผลงานได้เป็นว่าเล่น ร่ำรวยกันไปหลายคน  

          

         ในวันต่อมา เลขาฯ ของศิลปินนักแสดงท่านนี้ก็ต่อโทรศัพท์ถึงผมอีกครั้ง โดยเธอนัดหมายกับผมว่า ในวันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม 2550  เวลา 13.00 น. อาจารย์มีเวลาว่างไหม พี่เขาจะเข้าไปพบ อาจารย์ที่ดอนเจดีย์ โดยที่ พอขับรถไปถึงจะโทรบอกท่านอาจารย์อีกครั้งหนึ่ง  ผมบอกว่า ในช่วงระยะเวลาของการปิดเทอม ประมาณ 1 สัปดาห์ เด็ก ๆในวงเพลงของผมจะมาฝึกซ้อมกันเกือบทุกวัน ถ้าไม่เป็นอุปสรรคในการสนทนาก็มาได้ ยินดีที่จะให้คำปรึกษา (ซึ่งผมก็ยังไม่ทราบว่าเป็นเรื่องอะไร)  

          เมื่อถึงวันที่ 8 ตุลาคม 2550 ผมไปทำหน้าที่ ที่โรงเรียนตามปกติ  โดยในวันนี้มีเด็ก ๆ มาฝึกซ้อมเพลงพื้นบ้าน เตรียมการแสดงไปเล่นที่กำแพงแสน ในวันที่ 18 ตุลาคม 2550 เด็กก็มากันหลายคน รวมทั้งรุ่นพี่ที่จบออกไปแล้วด้วย  เริ่มทำการฝึกซ้อมกันตามปกติ โดยมีรุ่นพี่ที่เป็นหัวหน้าวงควบคุมดูแล ผมคอยกำกับอยู่วงนอกห่าง ๆ วันนี้มีฝนตกลงมากพอสมควร เด็ก ๆ กลับบ้านกันตอนบ่าย บ่ายโมงกว่า (รอให้ฝนขาดเม็ดเสียก่อน)

 

หมายเลขบันทึก: 138230เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2007 19:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท