ความเที่ยง (Reliability)


การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย

 ความเที่ยง  (Reliability)  
หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าความเชื่อมั่นเป็นคุณสมบัติที่สำคัญอีกประการหนึ่งของเครื่องมือที่ดี      การที่เครื่องมือใดมีความเที่ยงมาก หมายความว่าเครื่องมือนั้นมีระดับความคงที่ในการวัดมาก ถ้านำเครื่องมือนั้นไปวัดซ้ำจะได้ค่าความแตกต่างของการวัดซ้ำน้อย แสดงว่าเครื่องมือนั้นมีความเที่ยงสูงวิธีตรวจสอบค่าความเที่ยงมีหลายวิธี ที่นิยมใช้มีดังนี้

2.1)  การวัดความคงที่ (Measure of Stability) วิธีนี้เป็นการวัดซ้ำโดยให้ผู้ตอบกลุ่มเดียวกันตอบแบบสอบถามชุดเดียวกันสองครั้ง โดยเว้นระยะห่างประมาณ 2-3 สัปดาห์ การวัดโดยวิธีนี้มีหลักว่าถ้าแบบทดสอบมีความเที่ยงชนิดที่วัดความคงที่ของผู้ตอบได้จริงแล้ว ผลการตอบทั้งสองครั้งควรจะมีลักษณะใกล้เคียงกัน ดัชนีความเที่ยงใช้วัดความคงที่ คือ ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของผลการตอบแบบสอบถามทั้งสองชุด ข้อจำกัดของการหาดัชนีความเที่ยงโดยการวัดซ้ำ อยู่ที่ว่าต้องรอเว้นระยะเวลาหลังจากการตอบครั้งที่  1 ซึ่งผู้ตอบอาจได้มีโอกาสเรียนรู้ในช่วงเวลาดังกล่าวทำให้มีผลต่อการตอบครั้งที่ 2 ซึ่งคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

2.2) การวัดความเท่ากัน (Measure of equivalence) วิธีนี้เป็นการวัดค่าความเที่ยงโดยการประมาณค่าความเท่าเทียมกันของการใช้เครื่องมือ 2 ฉบับ ที่สร้างขึ้นให้มีคุณสมบัติเหมือนกัน เมื่อนำไปวัดคนกลุ่มเดิมในเวลาเดียวกัน คะแนนที่ได้จากจากทั้งสองฉบับจะมีความสัมพันธ์กันสูง ถ้าเครื่องมือนั้นมีความเที่ยงสูง ในทางตรงกันข้ามถ้าคะแนนที่ได้ไม่สัมพันธ์กัน แสดงว่าเครื่องมือสองฉบับไม่มีความเท่าเทียมกันใช้แทนกันไม่ได้ในทางปฏิบัติ การสร้างเครื่องมือสองชุดให้วัดของสิ่งเดียวกัน มีวัตถุประสงค์เหมือนกัน  ความยากง่ายใกล้เคียงกัน ซึ่งเรียกว่า แบบคู่ขนานนั้นทำได้ยาก การวัดความเที่ยงวิธีนี้จึงไม่ค่อยมีรายงานการใช้ แต่วิธีนี้แก้ปัญหาวิธีแรกในเรื่องของระยะเวลา

2.3)  การวัดความคงที่ภายใน (Measure of internal consistency) การหาค่าดัชนีของความเที่ยงในข้อ 2.1 และ 2.2 ที่กล่าวมาแล้วต้องอาศัยการทดสอบ 2 ครั้ง ซึ่งอาจเกิดความไม่สะดวก ดังนั้นการวัดความคงที่ภายในจะเป็นการหาค่าความเที่ยงของแบบทดสอบ โดยการทดสอบเพียงครั้งเดียว ซึ่งคำนวณหาค่าดัชนีความเที่ยงได้หลายวิธีดังนี้

2.3.1) วิธีแบ่งครึ่ง (Split-half method) เป็นการวัดความสอดคล้องภายในของเครื่องมือ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่แสดงว่าเครื่องมือมีความเที่ยงอีกลักษณะหนึ่ง โดยปกติเครื่องมือวิจัยมักประกอบด้วยรายการข้อคำถามจำนวนหนึ่งที่ถามเพื่อจะวัดลักษณะเดียวกัน การที่รายการข้อคำถามแต่ละข้อ ถามในประเด็นที่จะนำไปถึงลักษณะที่ต้องการจะวัดทั้งหมด  แสดงว่าเครื่องมือนั้นมีความสอดคล้องภายในสูง การหาความเที่ยงแบบนี้ทำได้โดยการนำคะแนนที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างแต่ละคนมาแยกเป็น 2 ส่วน วิธีทั่ว ๆ ไปใช้กันอยู่เพียงแต่แบ่งสอบถามออกเป็น 2 ส่วน โดยถือว่าข้อสอบสองส่วนนั้นวัดสิ่งเดียวกัน แบ่งออกเป็นข้อคู่และข้อคี่คำนวณค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน จะได้ค่าความเที่ยงแบบวัดครึ่งฉบับ ต่อจากนั้นนำไปหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เต็มฉบับ โดยใช้สูตรสเปียร์แมน บราวน์ (Spearman – Brown) ค่าที่ได้จะเป็นค่าความเที่ยงของเครื่องมือที่ต้องการ

2.3.2)  วิธีของคูเดอร์  ริชาร์ดสัน (Kuder-Richardson) การหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจจะไม่ได้วัดในสิ่งเดียวกันสามารถทำได้โดยวิธีของ (Kuder-Richardson) ซึ่งมี 2 สูตร คือ KR – 20 และ KR – 21 เป็นการวัดค่าความสอดคล้องภายในอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งแบบวัดที่จะนำมาหาค่าความเที่ยงด้วยวิธีนี้ต้องมีการให้คะแนนเป็น 0 กับ 1 หรือเป็นการวัดที่มีการแจกแจงได้เพียง  2 ลักษณะ

 2.3.3) วิธีของคร์อนบาร์ช (Cronbach) การหาความเที่ยงโดยใช้สัมประสิทธิ์อัลฟ่า (Alpha  coefficient) สูตรนี้ดัดแปลงมาจาก KR – 20 ดังนั้นจึงเป็นการหาความเที่ยงในลักษณะของความสอดคล้องภายในเช่นเดียวกัน การดัดแปลงมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้มีใช้ไม่จำกัดเฉพาะแบบวัดที่มีคะแนนเป็น 0 กับ 1 เท่านั้น ซึ่งมีผู้นิยมใช้สัมประสิทธิ์อัลฟ่ากันอย่างกว้างขวางในการหาความเที่ยงของเครื่องมือวิจัย 

หมายเลขบันทึก: 13800เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2006 15:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 00:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ส่งมาให้อ่านเสริมความรู้

ขอบคุณมากค่ะ สรุปได้ดี อ่านแล้วเข้าใจมากขึ้นค่ะ ^^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท