สรุปแบบทดสอบ


บทสรุป

ความจริงแบบสอบถามก็เหมือน ๆ กับแบบทดสอบนั่นเอง แต่จะมีความแตกต่างกันที่ แบบสอบถามมักจะมีคำตอบที่ไม่แน่นอนว่าข้อใดควรจะตอบอย่างไรจึงจะดี แต่ต้องการรู้ว่าใครมีอะไรอยู่มากน้อยเพียงใดมากกว่า  คือ  ประเภทที่ถามข้อเท็จจริง  (Fact)  ต่าง ๆ  เช่น เพศอะไร  อายุเท่าไร จบการศึกษาชั้นไหน แต่งงานแล้วหรือยัง  มีรายได้เท่าไร ฯลฯ เป็นต้น การตั้งคำถามในส่วนนี้ ขอให้ดูวัตถุประสงค์ของการวิจัยเป็นหลักว่ามีอะไรบ้างที่จะศึกษาหรือวิจัย ถามเท่าที่จำเป็นเท่านั้นก็พอ
ข้อคำถามอีกประเภทหนึ่งของแบบสอบถามที่วัดส่วนที่เป็นความเห็น ความรู้สึก หรือการประเมินสภาพ มีลักษณะคล้ายคลึงกับแบบวัดทัศนคติ เนื่องจากสามารถประเมินค่าหรือให้คะแนนออกมาเป็นระดับต่าง ๆ ได้  เรียกว่า ลิเคิทสเกล (Likert scale) เช่น
ความเห็นหรือทัศนะที่มีต่ออะไรบางอย่าง สามารถประเมินออกมาเป็น

5

หมายถึง

เห็นด้วยอย่างยิ่ง

4

หมายถึง

เห็นด้วย

3

หมายถึง

เฉย ๆ (หรือไม่แน่ใจว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย)

2

หมายถึง

ไม่เห็นด้วย

1

หมายถึง

ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง

คำตอบ 4 และ 5 เป็นความเห็นหรือทัศนะทางบวก ส่วนคำตอบ 1 และ 2 เป็น
ความเห็นหรือทัศนะทางลบ สำหรับคำตอบ 3 จะไม่ถือว่าเป็นบวกหรือลบ คือเป็นกลางนั่นเอง

การประเมินสภาพ หรือระดับการปฏิบัติ สามารถประเมินออกเป็น

5

หมายถึง

มากที่สุด

4

หมายถึง

มาก

3

หมายถึง

ปานกลาง

2

หมายถึง

น้อย

1

หมายถึง

น้อยที่สุด

คำตอบที่ได้จากคำถามประเภทหลังนี้ จะไม่แปลความหมายเป็นบวกหรือลบ แต่เป็นการบอกปริมาณว่ามากน้อยเท่าใด ในการให้ผู้ตอบประเมินค่า อาจเติมคำสำคัญลงไปในคำลงท้ายคำถามว่า มากน้อยเพียงใด
เช่น
- ท่านชอบอาชีพต่อไปนี้มากน้อยเพียงใด
- ท่านเห็นด้วยกับคำกล่าวหรือข้อความในแต่ละข้อต่อไปนี้มากน้อยเพียงใด

ในการแปลความหมายของคำตอบที่ได้จากแบบสอบถามประเภทให้แสดงความคิดเห็น หรือประเมินค่าเป็นระดับนี้ มักนิยมให้เป็นคะแนนตามลำดับความเข้ม หรือความหนักเบา หรือทิศทางของคำตอบ โดยให้คะแนนเป็น 1  2  3   4   และ  5  ตามลำดับ  เช่น  เห็นด้วยอย่างยิ่งหรือมากที่สุด เป็น 5 คะแนน แล้วให้ลดหลั่นลงไปถึง ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง หรือน้อยที่สุด เป็น             1 คะแนน ดังนั้นจึงมักเรียกแบบสอบถามประเภทนี้ว่าเป็นแบบ มาตราส่วนประเมินค่า (Rating scale)
อย่างไรก็ตามในเรื่องของการให้คะแนนนี้ ถ้าหากมีข้อคำถามหรือข้อความเชิงลบการให้คะแนนก็จะต้องปรับตามด้วย เช่น
ข้อความ
 1.  การออกกำลังทุกวันทำให้อารมณ์ดีขึ้น


 2.  การออกกำลังทุกวันเป็นเรื่องน่าเบื่อ

ข้อ 1 ควรให้ 5 คะแนนสำหรับคำตอบ “เห็นด้วยอย่างยิ่ง” และ 1 คะแนนสำหรับ “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง” แต่ข้อ 2 ควรเป็นตรงกันข้าม คือ ให้ 1 คะแนนสำหรับ “เห็นด้วยอย่างยิ่ง” และ 5 คะแนนสำหรับคำตอบ  “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง”

ลิเคิท สเกล มีจุดดี คือ สร้างง่าย ใช้ได้สะดวก แต่มีข้อเสียในด้านการตีความหมายคะแนนรวมที่ได้ เนื่องจากผู้ตอบมักมีความโน้มเอียงที่จะตอบเป็นกลาง ๆ ทำให้ไม่ทราบทัศนคติที่แท้จริงของผู้ตอบ อาจเนื่องจากสาเหตุต่อไปนี้ (บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์ 2531 : 88)

1.      ความรู้สึกในเรื่องการเสี่ยง บางคนจึงพยายามตอบเป็นกลาง ๆ ไว้ป้องกันการเสียหาย
2.      ความเข้าใจความหมายของภาษาไม่ตรงกัน
3.      ขาดแรงจูงใจในการตอบ จึงไม่ตั้งใจตอบ
4.   การยอมรับเรื่องหรือข้อความที่ถาม ถ้าผู้ตอบเห็นด้วยกับเรื่องที่ถามจะตอบได้ถูกต้องตรงความเป็นจริงมากกว่าไม่ยอมรับเรื่องที่ถาม
5.      เวลาที่ให้ตอบ ถ้ามีเวลาจำกัดผู้ตอบอาจไม่ถี่ถ้วนรอบคอบ
6.      ผู้ตอบมักพยายามปิดบังความรู้สึกที่แท้จริงของตน จึงแสดงออกเฉพาะลักษณะที่ดีของตน

หมายเลขบันทึก: 13797เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2006 14:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 14:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท