ปลาบึกสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์


ปลาบึกจัดอยู่ในบัญชีใกล้สูญพันธุ์ของ IUCN และมติการประชุมการจัดสถานภาพของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ โดยผู้เชี่ยวชาญและสำนักนโยบายและสิ่งแวดล้อม ปี 2539อยู่ในบัญชี CITES Appendix I
ปลาบึก
  ในบัญชีใกล้สูญพันธุ์ (จาก Humphrey & Baim-1990, บัญชีรายชื่อสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ของ IUCN และมติการประชุมการจัดสถานภาพของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ โดยผู้เชี่ยวชาญและสำนักนโยบายและสิ่งแวดล้อม ปี 2539) อยู่ในบัญชี CITES Appendix I
  ปลาบึก เป็นปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้รับสมญานามว่า เจ้าพ่อแห่งลุ่มน้ำโขง เพราะมีถิ่นอาศัยแหล่งเดียว ณ ที่นั้น ชาวไทยและชาวลาวรู้จักปลาชนิดนี้มาแต่ดึกดำบรรพ์ในชื่อ “บึก” คำว่า “บึก” เพี้ยนมาจากคำว่า “หึก” ซึ่งเป็นคำในภาษาของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณสองฝั่งโขง ได้แก่ ไทย เหนือ ไทยอีสานและลาว หมายถึงใหญ่ ดังนั้นจึงเรียกปลาที่มีขนาดมหึมาชนิดนี้ว่า “ปลาหึก” นานๆ ไปเสียง เพี้ยนกลายเป็น “ปลาบึก” จนทุกวันนี้ชาวตะวันตกเรียกปลาชนิดนี้ว่า huge fish หรือ Mekong giant catfish ชาวเขมรเรียก “เตร-เร-อัค”
  ปลาบึกอยู่ในวงศ์เดียวกับปลาสวาย เทโพ สังกะวาด เหลือง (Family Pangasidae) เป็นวงศ์ที่มีประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ ปลาในวงศ์นี้พบเฉพาะในเขตอนุทวีปอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำสินธุ คงคา จนถึงลุ่มแม่น้ำโขง และบอร์เนียว รวม 24 ชนิด แต่ในลุ่มแม่น้ำโขงและในประเทศไทยมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์มากที่สุดถึง 13 ชนิด
  ปลาบึกเป็นปลาไม่มีเกล็ดหรือที่เรียกกันว่า ปลาหนัง (catfish) ที่ใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่งของโลก และอาจนับเป็นปลาน้ำจืดที่มีน้ำหนักมากที่สุดอีกชนิดหนึ่ง ลำตัวยาว ด้านข้างแบน หัวค่อนข้างเล็ก จะงอยปากสั้นทู่ ตามีขนาดเล็กและอยู่ในระดับเดียวกับมุมปาก มีหนวดสั้นมากอยู่ 2 คู่ ปากเล็ก ปลาวัยอ่อนจะมีฟันอยู่บนขากรรไกร เมื่อปลาเจริญวัยฟันจะหลุดหายไป ลำตัวมีสีเทาปนดำ บริเวณหลังด้านท้องใต้แนวเส้นข้างตัวเป็นสีเหลือง ส่วนล่างสุดจะมีสีขาวเงิน ขนาดใหญ่สุดมีความ ยาว 2.5 เมตร แต่มีรายงานบางแห่งบันทึกไว้ว่ายาวถึง 3.0 เมตร หนักกว่า 300 กิโลกรัม มักชอบอาศัยในน้ำลึก อุณหภูมิประมาณ 24 – 26 องศาเซลเซียสที่มีน้ำไหลตลอด โดยกินสาหร่ายเป็นหลัก แต่ถ้านำมาเลี้ยงในบ่อจะกินไม่เลือก คนจีนเรียกชื่อปลาบึกว่า ปลาขงเบ้ง เชื่อว่ากินแล้วจะฉลาดเหมือนขงเบ้ง เนื้อปลามีรสดีและราคาแพงมาก
  สีของปลาบึก ขนาดเล็กจะเป็นสีเหลือบเขียวอมเหลือง มีแถบสีคล้ำที่ครีบหาง ทั้งแฉกบนและล่าง ปลาบึกขนาดใหญ่กว่า 20 เซ็นติเมตร ลำตัวจะเป็นสีเทาอมเหลืองหรือน้ำตาลอ่อนเหลือบเงิน ด้านท้องสีจาง และในปลาขนาดใหญ่กว่า 1 เมตรขึ้นไป ลำตัวจะกลายเป็นสีเทานวลหรือน้ำตาลอ่อน ด้านข้างเป็นสีเหลือบเงินจางๆ ในปลาตัวโตบางตัวอาจมีจุดประสีคล้ำเรียก “แต้มน้ำหมึก” ที่ข้างลำตัวเล็กน้อยด้วย
  ปลาบึกมีอุปนิสัยรักสงบ ตื่นตกใจง่าย ชอบอยู่รวมกัน เป็นฝูงบริเวณเขตน้ำลึกที่มีกระแสน้ำไหล เชื่อว่าฤดูวางไข่ของปลาบึกจะตกอยู่ราวเดือนกุมภาพันธ์ โดยปลาบึกจะว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่เหนือขึ้นไปจากประเทศไทย บริเวณหลวงพระบางในประเทศลาวซึ่งเป็นบริเวณน้ำลึกมีเกาะแก่งมาก สะดวกในการผสมพันธุ์และวางไข่ในฤดูแล้ง พอถึงฤดูน้ำหลากมันจะว่ายตามน้ำลงมายังแม่น้ำโขงตอนล่าง
  มีตำนานเล่าขานสืบต่อมาเป็นเวลาร้อยปี ชาวเขมรและลาวเชื่อกันว่าปลาบึกตัวเมียอาศัยอยู่เฉพาะในทะเลสาบเขมรเท่านั้น เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์จะเดินทางขึ้นไปตามลำน้ำโขงผ่านประเทศลาว ไทย พม่า ขึ้นถึงทะเลสาบตาลีในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อผสมกับตัวผู้ซึ่งอาศัยอยู่ในทะเลสาบดังกล่าว โดยปลาบึกตัวผู้มีลักษณะพิสดารกว่าตัวเมีย คือจะมีเกล็ดสีทอง

  ประเทศไทย โดยทางกรมประมงได้ผสมเทียมปลาบึก เป็นผลสำเร็จตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 และสามารถเพาะพันธุ์ได้เป็นจำนวนมากพอที่จะปล่อยในแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ ปรากฏว่าปลาบึกเจริญเติบโตได้ดี แต่ยังไม่ทราบว่าจะผสมพันธุ์วางไข่ได้หรือไม่ ทุกปีจะมีเทศกาลจับปลาบึกขึ้นที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ทำให้ปลาบึกที่โตเต็มที่พร้อมผสมพันธุ์ถูกจับปีละนับร้อยตัว เพื่อนำเอามาขายเป็นอาหารราคาแพง ทำให้ปริมาณของปลาบึกในแม่น้ำโขงลดจำนวนลงทุกปีๆ 

                แหล่งที่มา         http://www.muslimthaihealth.com/nuke/modules.php?name=News&file=article&sid=128
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13689เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2006 22:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 10:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท