เครื่องมือการวิจัย การตรวจสอบคุณภาพ และการรวบรวมข้อมูล


สรุปจากเอกสารประกอบบทเรียนสอนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มรรยาท รุจิวิทย์

เครื่องมือการวิจัย การตรวจสอบคุณภาพ และการรวบรวมข้อมูล

I. เครื่องมือการวิจัย ความหมาย ชนิด ประเภทของเครื่องมือ

II. การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือวิจัย ความตรง ความเที่ยง ค่าอำนาจจำแนก

ความเป็นปรนัย ความไว ความมีประสิทธิภาพ

III. การรวบรวมข้อมูล ขั้นตอนการรวบรวมข้อมูล วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล

การควบคุมคุณภาพของข้อมูล

การพิทักษ์สิทธิ์กลุ่มตัวอย่าง

I. เครื่องมือการวิจัย

1. ความหมาย

     การวิจัยใด ๆ ก็ตาม นักวิจัยพยายามวัดค่าของตัวแปรให้ออกมาเป็นตัวเลขจึงเป็นความจำเป็น

ที่นักวิจัยต้องวัดค่าของตัวแปรออกมาให้ได้ถูกต้องมากที่สุดค่าของตัวแปรที่วัดได้ คือ ข้อมูลใน

การวิจัยเชิงปริมาณ และสื่อที่ใช้ในการกำหนดค่าของตัวแปรให้เป็นตัวเลข คือ เครื่องมือวิจัย

2. ชนิดตัวแปรที่นักวิจัยสนใจศึกษามีหลายประเภท ตัวแปรต่าง ๆ ต่างก็ให้ค่าออกมาเป็นข้อมูล

ต่างชนิดกัน ชนิดของเครื่องมือวิจัยที่แบ่งตามลักษณะของข้อมูล แบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 2

ประเภท คือ เครื่องมือที่วัดค่าของตัวแปรได้โดยตรง กับเครื่องมือที่วัดค่าของตัวแปรโดยอ้อม

1) เครื่องมือที่วัดค่าของตัวแปรได้โดยตรง ได้แก่ เครื่องมือเชิงกลทั้งหลาย เช่น เครื่องชั่ง

ตวง วัด ทั้งหลายที่ใช้วัดความสูง น้ำหนัก อุณหภูมิ ความดันโลหิต หรือเครื่องมือที่ใช้คลื่นไฟฟ้า

2) เครื่องมือที่วัดค่าของตัวแปรได้โดยทางอ้อม มีตัวแปรหลายประเภทที่นักวิจัยสนใจที่จะ

ศึกษา แต่ไม่สามารถจะวัดค่าออกมาได้โดยตรง เช่นเดียวกับตัวแปรที่กล่าวถึงในข้อ

2.1 ตัวแปรเหล่านี้ ได้แก่ คุณลักษณะของคน เช่น ความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติ ความเชื่อ

ความวิตกกังวล ฯลฯ พฤติกรรมต่าง ๆ ความถนัด ระดับสติปัญหา การรับรู้

และความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ตัวแปรเหล่านี้จะทราบค่าได้ ต้องสร้างเครื่องมือไปทำหน้าที่เป็นตัว

กระตุ้น ให้ผู้ตอบแสดงคุณลักษณะที่ต้องการทราบค่าออกมา โดยกำหนดเกณฑ์ในการให้ค่าเป็นตัวเลข แล้วแปลความหมายของตัวเลขที่วัดได้ ออกมาเป็นค่าแสดงความมากน้อยของคุณลักษณะที่วัดอีกครั้งหนึ่ง เครื่องมือที่วัดค่าของตัวแปรได้โดยทางอ้อมนี้มีหลายชนิด ขึ้นอยู่กับแนวคิดและโครงสร้างทางทฤษฎีของตัวแปร นั้น ๆ ถ้าจัดหมวดหมู่ของตัวแปรเหล่านั้น

เป็นกลุ่ม ๆ จะได้ประเภทของเครื่องมือวัดค่าตัวแปรได้โดยทางอ้อม ดังนี้

3. ประเภทของเครื่องมือ

1) แบบสังเกต(Observational form) เป็นเทคนิคอย่างหนึ่งในการเก็บรวบรวมข้อมูลในการวิจัย

ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการสอบถามตรง ๆ

จากผู้ที่เราต้องการศึกษาอย่างเช่นวิธีอื่น ๆ และเป็นเทคนิคที่เกี่ยวกับการใช้ประสาทสัมผัสอย่างใดอย่างหนึ่ง

หรือหลายอย่างพร้อมกัน เช่น ใช้ตาดู ใช้หูฟัง การสังเกต จึงมีความหมายครอบคลุมถึง

การใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า

อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และกายเพื่อศึกษาให้ทราบถึงพฤติกรรมหรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

อันเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการวิจัย ข้อควรพิจารณาในการใช้วิธีการสังเกต

ก่อนเลือกใช้วิธีสังเกต ควรตอบคำถามต่อไปนี้ให้ได้ก่อน คือ

1. จะเลือกพฤติกรรมแบบใดสำหรับการศึกษา และบันทึกพฤติกรรมเช่นใดบ้าง

2. จะใช้วิธีสังเกตกับสถานการณ์แบบใด สถานการณ์ที่ควรสังเกตมีเค้าโครงอย่างไร

3. จะสรุปสิ่งที่ได้สังเกตออกมาในรูปข้อมูลเชิงปริมาณได้ไหม ทำเป็นคะแนนหรือวัดได้หรือไม่

4. มีหลักฐานแสดงความเป็นเอกภาพของกระบวนการในสังคมหรือไม่

ความเป็นเอกภาพของกระบวนการหรือพฤติกรรมที่สังเกตนั้นหมายความถึง

(1) การเกิด การเปลี่ยนแปลงพร้อม ๆ กัน

(2) กระบวนการเปลี่ยนแปลง อันที่หนึ่งมักขึ้นอยู่กับกระบวนการเปลี่ยนแปลงอันที่สอง

มีความเกี่ยวพันกัน เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน 5. อะไรคือ

ลักษณะและความหมายของกระบวนการที่เราจะสังเกตมีความเที่ยงตรง (Validity)

หรือไม่ ระดับความเชื่อถือของการสังเกต แต่ละครั้งนั้นมีความมากพอหรือไม่

ประเภทของการสังเกตการสังเกตที่ใช้สำหรับการรวบรวมข้อมูลในการวิจัยทางสังคมศาสตร์

แบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 2 ประเภทดังนี้ 1. การสังเกตโดยเข้าไปร่วม

(Participant Observation)

วิธีนี้ผู้สังเกตจะเข้าไปร่วมและทำกิจกรรมร่วมกับผู้ถูกสังเกต ซึ่งการเข้าไปร่วมนี้ มี 2 ลักษณะ

1.1 การเข้าไปร่วมโดยสมบูรณ์ (Complete participant)

กล่าวคือ ผู้สังเกตจะเป็นสมาชิกผู้หนึ่งของกลุ่ม ร่วมในทุกกิจกรรมเป็นไปตามธรรมชาติ

เข้าถึงทุกเหตุการณ์หรือทุกสถานการณ์ ผู้ถูกสังเกตจะไม่รู้ตัวเลยว่า กำลังถูกสังเกตพฤติกรรม

1.2 การเข้าไปร่วมแบบไม่สมบูรณ์ (Incomplete participant) กล่าวคือ ผู้สังเกตจะเข้าร่วมและมีส่วนในกิจกรรมบ้าง ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้สังเกตกับ ผู้ถูกสังเกตให้เกิดความสนิทสนมคุ้นเคยกัน วิธีนี้ต่างจากการสังเกตที่เข้าร่วมโดยสมบูรณ์ตรงที่ ผู้ถูกสังเกตจะรู้ตัวว่ากำลังถูกสังเกต

2. การสังเกตโดยไม่เข้าไปร่วม (Non-participant observation) วิธีนี้ผู้สังเกตจะอยู่วงนอกของผู้ถูกสังเกต กระทำตนเป็นบุคคลภายนอก โดยไม่เข้าไปร่วมกิจกรรมของกลุ่มเลย ซึ่งจะกระทำโดยอยู่ในบริเวณเดียวกับผู้ถูกสังเกต หรืออยู่ข้างนอกเลยก็ได้ หรือจะสังเกต

โดยให้ผู้ถูกสังเกตรู้ตัวหรือไม่ให้รู้ตัวก็ได้ ทั้งนี้แล้วแต่ว่า การสังเกตให้ผู้ถูกสังเกตรู้ตัว

จะทำให้พฤติกรรมของผู้ถูกสังเกตเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใดหรือไม่ถ้าหากรู้ตัว

ผู้ถูกสังเกตจะแสร้งแสดงพฤติกรรมให้ผิดไปจากความเป็นจริงแล้ว การสังเกตก็ไม่ควรทำโดยให้รู้ตัว

ซึ่งอาจจะทำได้โดยผู้สังเกตอยู่ในที่ซึ่งผู้ถูกสังเกตไม่อาจเห็นผู้สังเกตได้ เช่น

มีกระจกมองเห็นด้านเดียว หรือใช้โทรทัศน์วงจรปิด เป็นต้น

การสังเกตเป็นวิธีที่เข้าไปร่วมหรือไม่เข้าไปร่วมก็ตาม หากพิจารณาถึงโครงสร้างของวิธี

การสังเกตแล้ว แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือการสังเกตที่มีเค้าโครงล่วงหน้า (Structured observation) ผู้สังเกตได้กำหนดเรื่อง และวางเค้าโครงสำหรับใช้เป็นหลักในการสังเกตอย่างแน่นอน การสังเกตแบบนี้จึงมีเครื่องมือช่วยสังเกตหรือบันทึกเตรียมไว้ เช่น แบบตรวจสอบรายการ มาตราประมาณค่า เป็นต้น 2. การสังเกตที่ไม่มีเค้าโครงล่วงหน้า (Unstructured observation) การสังเกตลักษณะนี้เป็นการสังเกตอย่างอิสระ ผู้สังเกตไม่ได้กำหนดล่วงหน้าว่าจะสังเกตอะไรบ้าง

มีพฤติกรรมหรือปรากฏการณ์อะไรเกิดขึ้นก็สังเกตเอาไว้ วิธีการสังเกตแบบนี้ถือว่าเป็นการพัฒนาไปสู่การแยกประเภทและจัดหมวดหมู่ข้อมูล เพื่อกำหนดเค้าโครงของการสังเกตแบบมีเค้าโครงต่อไป

หลักการสังเกตที่ดีการสังเกตที่ถือว่าเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ใช้สำหรับรวบรวมข้อมูลในการวิจัยได้นั้น จะต้องมีหลักในการสังเกตดังนี้

1. ต้องมีจุดมุ่งหมายเฉพาะเจาะจง และแคบที่สุดเท่าที่จะแคบได้ ทั้งนี้ได้มุ่งสังเกตปรากฏการณ์นั้น ๆ โดยเฉพาะ เพื่อจะได้แยกแยะปรากฏการณ์ ต่าง ๆ ได้ถูกต้อง

2. วิธีการสังเกตจะต้องเป็นระบบ มีระเบียบแบบแผนกล่าว คือ จะต้องมีการวางแผนดำเนินการสังเกตไว้อย่างเป็นระบบ ตลอดจนเตรียมเครื่องมือต่าง ๆ ที่จะช่วยในการสังเกตไว้ให้เรียบร้อยพร้อมที่จะใช้งานได้ทันที

3. ข้อเท็จจริงที่สังเกตได้ควรเป็นแบบปริมาณ คือ สามารถวัดได้ ชั่ง ตวง ออกมาเป็นปริมาณหรือคะแนนได้ เพื่อจะได้นำไปศึกษาเปรียบเทียบ หรือหาความสัมพันธ์กันได้นั้น คือ การสังเกตจะต้องใช้เครื่องมือช่วยสังเกต ซึ่งอาจทำเป็นแบบตรวจสอบรายการ ซึ่งกำหนดรายการของปรากฏการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นไว้ แล้วการสังเกตก็เพียงแต่ทำเครื่องหมายไว้ ซึ่งสามารถนับเครื่องหมายเป็นคะแนนได้

4. ต้องบันทึกผลการสังเกตทันทีหรือโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงความจำ ความคิดเห็นและความเชื่อของผู้สังเกตที่จะมีอิทธิพล ทำให้ข้อมูลบิดเบือนจากความจริงไป การบันทึกที่จะทำได้ทันทีหรือรวดเร็วที่สุดนั้น ผู้สังเกตอาจจะต้องใช้อุปกรณ์และเครื่องมือช่วยบันทึก ซึ่งผู้สังเกตจะต้องฝึกการใช้อุปกรณ์และเครื่องมือนั้น ให้เกิดความชำนาญ มีความคล่องแคล่ว จริง ๆ ก่อนจะเริ่มลงมือสังเกต และหากจะต้องมีการสังเกตหลาย ๆ คนพร้อมกันก็ควรมีการพิจารณาอภิปรายตกลงกัน เพื่อให้การบันทึกเป็นแนวเดียวกัน

5. ต้องรอบรู้ในเรื่องที่สังเกต ผู้สังเกตควรศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องหรือปรากฏการณ์ที่จะสังเกตไว้ก่อนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ถ้ามีความรู้ในเรื่องนั้นมากเท่าใดหรือผู้สังเกตไปสังเกตในสิ่งที่ตนถนัด รู้อย่างแจ่มแจ้ง การสังเกตจะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง และเชื่อถือได้มาก

6. หลักการสังเกตแล้วควรมีการตรวจสอบผลการสังเกต ซึ่งอาจจะทำโดยการเปรียบเทียบผลการสังเกตของตนกับของคนอื่น หรืออาจจะสังเกตซ้ำใหม่

สภาพการณ์ที่จำเป็นของผู้สังเกตที่จะให้ได้ผลดีผลของการสังเกตขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถของผู้สังเกตเป็นส่วนใหญ่ การที่จะให้ผลการสังเกตเชื่อถือได้ และได้ผลครบสมบูรณ์จริง ๆ นั้น ผู้สังเกตควรมีลักษณะดังนี้

1. ผู้สังเกตต้องมีประสาทสัมผัสไว ต้องมีความไวที่จะประเมินพฤติกรรมหรือปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้ถูกต้องและแม่นยำ

2. จะต้องมีความพร้อมที่จะสังเกต

3. จะต้องมีความสามารถในการควบคุมความลำเอียงของตนไม่ให้มีส่วนหรือมีอิทธิพลเหนือสิ่งที่จะสังเกต

4. จะต้องมีภาวะทางกายและจิตใจที่สมบูรณ์ เช่น ไม่เป็นไข้ ไม่สติฟั่นเฟือน

5. จะต้องมีความสามารถแยกประเด็นที่จะสังเกตกับที่ไม่สังเกตออกจากกันได้เครื่องมือที่ใช้ในการสังเกต

ส่วนมาก ได้แก่ แบบตรวจสอบรายการ มาตราประเมินค่า แบบจัดประเภท การจะใช้เครื่องมือชนิดใดขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของการวิจัย และสถานการณ์ที่จะสังเกต หรืออาจจะใช้หลายวิธีผสมกันก็ได้ แล้วแต่ความเหมาะสม

ข้อดีและข้อเสียของการสังเกต

1. ได้ข้อเท็จจริงด้วยวิธีการโดยตรง เพราะได้ศึกษาและสังเกตประเด็นต่าง ๆ ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์นั้น ๆ โดยตรง ช่วยให้ได้ข้อเท็จจริงที่ไม่บิดเบือน เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่เก็บได้โดยบุคคลหรือสิ่งนั้น ๆ โดยไม่มีโอกาสที่จะต้องนึกคิดเปลี่ยนแปลงทำให้ได้ข้อมูลที่มีความเชื่อถือได้สูง

2. ช่วยให้ได้ข้อมูลที่เป็นตัวแทนพฤติกรรมในสถานการณ์และสภาวะการณ์ต่างๆ อย่างแท้จริง ซึ่งจะมีความหมายลึกซึ้งกว่าข้อมูลที่ได้จากวิธีอื่น ๆ

3. สามารถบันทึกข้อเท็จจริงได้ในระหว่างที่ปรากฏการณ์ที่ต้องสังเกตกำลังเกิดขึ้นจริงๆ

4. ช่วยให้สามารถรวบรวมข้อมูลบางชนิดที่ผู้ถูกสังเกตไม่เต็มใจบอก หรือเป็นข้อมูลที่เป็นความลับบางอย่างได้เช่นข้อมูลที่ผู้ถูกสังเกตไม่แน่ใจ หรือเพราะกลัวว่าการบอกข้อเท็จจริงนั้นจะเป็นภัยต่อตนเอง หรือเป็นการผิดกฎเกณฑ์ ข้อบังคับหรืออาจจะเป็นไปในลักษณะที่ผู้ถูกสังเกตไม่สามารถให้ข้อมูลได้

5. ช่วยรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมที่เป็นผลพลอยได้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นระหว่างการสังเกต เพื่อช่วยเสริมความรู้ความเข้าใจในข้อมูลให้ชัดเจนถูกต้องยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี การสังเกตมีจุดอ่อน หรือข้อเสียหลายประการเช่น

1. ผลของการสังเกตขึ้นอยู่กับความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ของผู้สังเกตเป็นสำคัญ ถ้าผู้สังเกตไม่มีความรู้ในเรื่องที่จะสังเกตดีพอ หรือไม่มีความเข้าใจ ในวิธีการสังเกตการสังเกตจะได้ผลน้อย

2. เสียเวลามาก เพราะพฤติกรรมบางอย่างที่ต้องการสังเกตอาจไม่เกิดขึ้น ในระยะเวลาอันสั้น แต่ต้องรอเวลาระยะหนึ่ง จึงจะเกิดพฤติกรรมหรือปรากฏการณ์ นั้น

3. อาจมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น ทำให้ไม่มีโอกาสสังเกต เพราะเหตุการณ์หรือกิจกรรมที่เกิดขันนั้นยากที่จะคาดคะเนให้ได้แน่นอน

4. เหตุการณ์หรือปรากฏการณ์บางอย่างอาจยากที่จะไปสังเกตได้ เช่น กิจกรรมส่วนตัวของบุคคล เป็นต้น

5. เหตุการณ์หรือปรากฏการณ์บางอย่างไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จึงไม่สามารถบันทึกผลได้

6. ผู้ถูกสังเกต ถ้ารู้ตัวว่ากำลังถูกสังเกต อาจจะพยายามแสร้งทำหรือสร้างรอยประทับใจ เป็นพิเศษให้แก่ผู้สังเกต จนทำให้ผู้สังเกตได้ข้อมูล หรือข้อเท็จจริงไม่ตรงได้

บทสรุป การสังเกตนั้นมีขีดจำกัด และความไม่สมบูรณ์ในตัวเอง เช่นเดียวกับวิธีการเก็บรวบรวม ข้อมูลวิธีอื่น ๆ การสังเกตจะใช้ได้ผลดี เมื่อใช้ร่วมกับวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบอื่น ดังนั้น การสังเกตจึงนำไปสู่การพัฒนาทฤษฎีที่เหมาะสมกับประชากรกลุ่มนั้น และเพื่อประโยชน์ต่อการสร้างแบบสัมภาษณ์และการเลือกใช้เครื่องมือสำหรับการวิจัยที่มีประสิทธิภาพเพราะช่วยให้ผู้วิจัยมีความรู้ ความเข้าใจต่อกิจกรรมหรือสภาวะการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลได้ละเอียดมากกว่าวิธีการสัมภาษณ์ ซึ่งเป็นการบอกเล่าเท่านั้น

เนื่องจากการสังเกตมีความเกี่ยวเนื่องกับวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลวิธีอื่น ผู้วิจัยจึงไม่ จำเป็นต้องตัดสินใจเลือกเอาวิธีการใดวิธีการหนึ่งนั้น เช่น ไม่จำเป็นต้องใช้การสัมภาษณ์ อย่างเดียวหรือการสังเกตอย่างเดียว ทั้งสองวิธีอาจใช้ร่วมกันได้ ทำให้ข้อมูลที่ได้มามีส่วนสนับสนุนซึ่งกันและกัน การสัมภาษณ์โดยทั่ว ๆ ไป เป็นวิธีการที่ดีในสภาพการณ์ที่ผู้ให้สัมภาษณ์ไม่มีเหตุผลอะไรต้องบิดเบือนลักษณะที่แสดงออก การสัมภาษณ์จึงสามารถกำหนดเป้าหมายออกมาอย่างชัเดจนแต่ในสถานการณ์ที่ผู้ให้สัมภาษณ์พยายามบิดเบือนลักษณะของตนเอง ผู้วิจัยควรใช้วิธีการสังเกตแทน โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลายาวนานนั้น วิธีการสังเกตน่าจะได้ประโยชน์มากกว่าเพราะผู้ถูกสังเกตจะไม่สามารถคงไว้ซึ่งความบิดเบือนนั้นได้ตลอดไปเป็นเวลานาน ๆ

2) แบบสัมภาษณ์

(Interview schedule)

การสัมภาษณ์ เป็นวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลในการทำวิจัย โดยมีการเผชิญหน้ากันระหว่างผู้สัมภาษณ์กับผู้ถูกสัมภาษณ์ ในลักษณะการถามตอบแบบปากเปล่า เพื่อให้ได้ข้อมูลในการแก้ปัญหาในการทำวิจัย

ประเภทของการสัมภาษณ์การสัมภาษณ์เพื่อการวิจัย ถ้าพิจารณาในแง่เตรียมการของผู้สัมภาษณ์อาจแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1. การสัมภาษณ์แบบมีเค้าโครง หรือแบบมาตรฐาน (Structured interview or standardized interview) คือ การสัมภาษณ์ที่ผู้สัมภาษณ์มีแบบสอบถามที่กำหนดคำถามคำตอบไว้แน่นอน ผู้ถูกสัมภาษณ์ทุกคนจะได้รับคำถามเช่นเดียวกันนี้เหมือนกันทุกคน

ข้อดีของการสัมภาษณ์แบบนี้ คือ ให้ความสะดวกสำหรับผู้สัมภาษณ์ ส่วนข้อเสียคือในกรณีที่ใช้คำถามแบบปิด (closed end) อาจกำหนดคำตอบไว้ไม่ครอบคลุมถึงข้อเท็จจริงที่ผู้ตอบจะเลือกทำให้ข้อมูลที่ได้ไม่ตรงกับความจริง

2. การสัมภาษณ์แบบมีเค้าโครงน้อย หรือไม่มีเค้าโครงเลย (Less structured interview) คือ การสัมภาษณ์แบบที่ไม่มีการกำหนดคำถามคำตอบไว้ตายตัวแน่นอนมีความยืดหยุ่นได้ ผู้สัมภาษณ์ต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญเช้าช่วยโดยอาศัยวัตถุประสงค์ในการวิจัยเป็นหลักว่าต้องการค้นหาข้อเท็จจริงในเรื่องใดก็ดำเนินการต่าง ๆ ตามนั้น และสร้างบรรยากาศเป็นหลักว่าต้องการค้นหาข้อเท็จจริงในเรื่องใดก็ดำเนินการต่าง ๆ ตามนั้น และสร้างบรรยากาศในการสัมภาษณ์ให้เหมาะสม ทำให้ผู้สัมภาษณ์ ได้ความจริงตามต้องการ

กล่าวโดยสรุปได้ว่า คำถามที่จะใช้ในการสัมภาษณ์มี 2 ชนิด คือ

1. คำถาม ที่มีคำตอบกำหนดไว้ให้ผู้ตอบเลือกตอบตายตัว (Fixed-al ternative or closed end) อาจเป็น 2-3 คำตอบหรือมากกว่าก็ได้

2. คำถามที่ไม่มีคำตอบกำหนดไว้ (Open end) เป็นโอกาสให้ผู้ตอบแสดงความคิดเห็น ความรู้สึกอย่างเต็มที่

การเขียนคำถามสำหรับแบบสัมภาษณ์มีหลักเกณฑ์ ดังนี้

1. คำถามต้องสัมพันธ์กับเรื่องที่จะทำวิจัย และตรงกับวัตถุประสงค์ของการวิจัยเรื่องนั้น ๆ สามารถค้นหาข้อเท็จจริงเพื่อนำมาทดสอบสมมติฐานที่วางไว้ได้

ต้องชัดเจนดี ไม่คลุมเครือ

ต้องเป็นคำถามที่ถูกต้อง และเหมาะสมกับเรื่องที่ทำวิจัย

ขั้นตอนในการสัมภาษณ์ในการสัมภาษณ์เป็นที่ยอมรับกันว่าต้องการทักษะ ความชำนาญอย่างมากของ ผู้สัมภาษณ์ จึงจะทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับทัศนคติ ความรู้สึก ความคิดเห็นได้อย่างถูกต้องจากผู้ให้สัมภาษณ์ซึ่งประกอบด้วย

1. การเตรียมการสัมภาษณ์

1.1 ทำการศึกษาหาความรู้เรื่องที่จะสัมภาษณ์ แล้วกำหนดว่าจะไปสัมภาษณ์เรื่องอะไร มีวัตถุประสงค์และขอบเขตแค่ไหน ต้องการข้อมูลอะไรบ้าง เพื่อให้ได้ข้อมูลตรงตามต้องการ และในการที่จะแสวงหาข้อเท็จจริงนั้นจะต้องสร้างทัศนคติกับผู้ให้สัมภาษณ์ทำนองใด จะดำเนินการอย่างไรในการกระตุ้นให้ผู้สัมภาษณ์เกิดความกระตือรือร้นที่จะให้สัมภาษณ์

1.2 การเลือกตัวผู้ถูกสัมภาษณ์ จะต้องพิจารณาว่าผู้ใดบ้างที่จะทราบ และสามารถตอบข้อเท็จจริงที่เราต้องการได้ นอกจากนี้จะต้องกำหนดจำนวนของผู้ถูกสัมภาษณ์ที่เพียงพอที่จะสรุปอย่างกว้าง ๆ (Generalization) เกี่ยวกับข้อเท็จจริงได้

1.3 การติดต่อผู้ถูกสัมภาษณ์ ก่อนทำการสัมภาษณ์ผู้สัมภาษณ์ควรพยายามหาทางติดต่อกับผู้ถูกสัมภาษณ์ โดยผ่านคนที่รู้จักกับผู้ถูกสัมภาษณ์ เพื่อแจ้งวัตถุประสงค์และเหตุผลของการสัมภาษณ์ จะทำให้ได้รับความร่วมมือยิ่งขึ้น อาจมีจดหมายแนะนำตัวผู้สัมภาษณ์ ถ้าเป็นไปได้ควรไปพบด้วยตนเอง นอกจากนั้นต้องกำหนดวัน เวลา และสถานที่ให้แน่นอน

การเก็บข้อมูลในชุมชน จะต้องบอกผู้นำท้องถิ่นเช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พร้อมทั้งสำรวจพื้นที่ที่จะไปสัมภาษณ์ ว่ามีลักษณะอย่างไร มีขนบธรรมเนียมประเพณี ความปลอดภัยตลอดจนการคมนาคมสะดวกมากน้อยเพียงใด พร้อมทั้งนัดหมายว่าต้องการสัมภาษณ์ใครบ้างวันที่เท่าใด เวลาใด และที่ไหน

1.4 นำแบบสัมภาษณ์หาความตรงตามเนื้อหา หลังจากนั้นนำไปหาความเที่ยงโดยนำไปทดลองใช้กับกลุ่มที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับกลุ่มตัวอย่างที่จะศึกษา ถ้าได้ค่าความเที่ยงต่ำจะต้องนำแบบสัมภาษณ์มาแก้ไขปรับปรุงใหม่ จนกว่าจะเป็นที่พอใจจึงจะนำไปใช้ได้

1.5 ฝึกอบรมผู้สัมภาษณ์ ในกรณีที่มีผู้สัมภาษณ์หลายคนให้ทราบถึงวัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย สภาพท้องถิ่น ภาษาและวัฒนธรรมของสถานที่ที่จะไปสัมภาษณ์ อธิบายถึงเทคนิคและขั้นตอนการสัมภาษณ์ ความเข้าใจในแต่ละข้อความ และวิธีการจดบันทึกผลการสัมภาษณ์ เป็นต้น

การเริ่มต้นการสัมภาษณ์

2.1 สร้างบรรยากาศให้ผู้ถูกสัมภาษณ์มีความรู้สึกเป็นกันเอง และไว้ใจในตัวผู้ถูกสัมภาษณ์

2.2 คำถามแรก ๆ ควรเป็นคำถามที่กว้าง ๆ และเป็นกลาง ๆ แล้วค่อยเข้าสู่คำถามที่เป็นเรื่องส่วนตัว

ระหว่างการสัมภาษณ์

3.1 พยายามทำให้การสัมภาษณ์เป็นแบบบทสนทนา เพื่อให้เป็นกันเอง

3.2 พยายามให้การสนทนาอยู่ในแนวที่ต้องการและให้ผู้สัมภาษณ์พูดให้มากที่สุด

3.3 สอบถามเที่ยงตรง และความแน่นอนของคำตอบที่ได้โดยผู้สัมภาษณ์ทวนคำตอบ นั้น ๆ อีกครั้งหนึ่ง เพื่อยืนยันความแน่ใจ หรือตั้งคำถามอื่นให้ใกล้เคียง

3.4 การบันทึกผล ในระหว่างการสัมภาษณ์ผู้สัมภาษณ์ควรจดบันทึกข้อความสั้นๆ และนำไปเขียนให้สมบูรณ์หลังการสัมภาษณ์ ไม่ควรจดบ่อย ๆ เพราะจะทำให้การสัมภาษณ์หยุดชะงักและไม่เป็นกันเอง

การปิดสัมภาษณ์

4.1 ในระยะที่ควรจะปิดการสัมภาษณ์ ไม่ควรจะนำเรื่องใหม่เข้ามาพูดถ้าหากยังมีเรื่องอีกมาก ควรจะกำหนดวันที่จะสัมภาษณ์ในครั้งต่อไป

4.2 คำถามในระยะปิดการสัมภาษณ์ต้องแคบ จำกัดให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ตอบเฉพาะซึ่งตรงกันข้ามกับคำถาม ในการเปิดการสัมภาษณ์

เทคนิคในการสัมภาษณ์มีดังนี้

1. ขั้นแรกผู้สัมภาษณ์ต้องมีความมั่นใจที่จะพยายามทำให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ให้ความร่วมมือโดยการสร้างบรรยากาศความเป็นกันเอง (Rapport) พูดคุยกันแบบเพื่อน และพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องที่น่าสนใจเป็นเรื่องทั่ว ๆ ไปไม่เฉพาะเจาะจง

2. ผู้สัมภาษณ์ต้องให้ผู้ถูกสัมภาษณ์มีอิสระในการบรรยายเกี่ยวกับคำตอบ หรือข้อมูลถ้าเป็นแบบสัมภาษณ์ที่มีคำตอบกำหนดไว้ก็ให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ตอบตามที่กำหนดไว้ในแบบสัมภาษณ์

3. การตั้งคำถาม ต้องเป็นคำถามง่าย ๆ ใช้ภาษารัดกุม ถ้อยคำสุภาพ สื่อความหมายได้ดี ไม่กำกวม ไม่ควรย้อนข้อความที่ได้รับจากผู้ถูกสัมภาษณ์ หรือถามซ้ำ ๆ ซึ่งแสดงว่าไม่แน่ใจใน คำตอบที่ได้รับ

4. การสังเกตและการฟัง ผู้สัมภาษณ์จะต้องใช้การสังเกตและการฟังที่ดี ควรฝึกทักษะในการตั้งใจฟัง จับใจความหรือสาระสำคัญให้ได้ ไม่พูดสอดแทรกหรือโต้แย้งประเมินข้อความที่ได้โดยใช้เหตุผล ไม่ใส่อารมณ์ หรือความคิดความเชื่อของตนเข้าไปด้วย สิ่งที่ผู้สัมภาษณ์ควรกระทำ คือ การชักจูงหัวข้อของการพูด สังเกตที่มีไหวพริบ และการใช้ วิจารณญาณที่ดี สิ่งที่สำคัญยิ่งสำหรับการสัมภาษณ์ คือ ผู้สัมภาษณ์ต้องใช้เหตุผล และความเป็นกลางอยู่ตลอดเวลาการสัมภาษณ์

5. การจดบันทึกการสัมภาษณ์ ควรจดข้อความสำคัญ ๆ ย่อย ๆ ขณะสัมภาษณ์และเรียบเรียงใหม่หลังการสัมภาษณ์ นอกจากนี้ข้อมูลที่บันทึกต้องชัดเจน และจดตามความเป็นจริง

ข้อดีและข้อเสียของการสัมภาษณ์การรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์มีข้อดี ดังนี้

เป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่งที่จะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคุณลักษณะส่วนตัวของบุคคล

เป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่งที่จะช่วยแยกแยะปัญหาที่เกี่ยวกับแนวความคิดและสภาพทางอารมณ์

เป็นวิธีที่ช่วยให้รู้จักข้อเท็จจริงบางอย่างเพิ่มเติมในขณะสัมภาษณ์ อาจจะได้จากการสังเกตสีหน้า ท่าทาง การพูดจา ตอบคำถามก็ได้

เป็นวิธีที่สามารถรวบรวมข้อมูลได้จากบุคคลทุกประเภท ทุกเพศ ทุกวัยแม้แต่ผู้ที่อ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ก็รวบรวมข้อมูลจากเขาได้

การสัมภาษณ์สามารถสืบสวนหาข้อเท็จจริงที่ยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งแอบแฝงอยู่ในอุปนิสัย อารมณ์ และความรู้สึกของผู้ถูกสัมภาษณ์ได้

ส่วนข้อเสียของการสัมภาษณ์ก็มีหลายประการ เช่น

มักสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย แรงงาน และเวลามาก

ผลของการสัมภาษณ์จะได้ข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้เพียงใดขึ้นอยู่กับความรู้และประสบการณ์ของผู้สัมภาษณ์เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการตั้งคำถาม ถ้าใช้คำถามที่เข้าใจยาก ผู้ถูกสัมภาษณ์ไม่เข้าใจ หรือผู้สัมภาษณ์ไม่เข้าใจถาม ผู้ถูกสัมภาษณ์อาจปกปิดหรือบิดเบือนความจริงไว้ ทำให้ไม่ได้ข้อมูลที่แท้จริง

เป็นปัญหายุ่งยากในการขจัดความลำเอียงของผู้สัมภาษณ์

อาจได้ข้อมูลที่ต้องไม่ครบถ้วน เพราะผู้สัมภาษณ์และ/หรือผู้ถูกสัมภาษณ์อาจจะมีความเครียด กระวนกระวายใจ ลืมถามคำถามบางคำถามไป

ถ้าใช้ผู้สัมภาษณ์หลายคน การควบคุมให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกันย่อมทำได้ยาก

ที่ตั้งหรือที่อยู่ของผู้ถูกสัมภาษณ์มักจะอยู่กระจัดกระจาย การคมนาคมไปมาไม่สะดวก และภาษาพูดอาจแตกต่างกัน ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อการสัมภาษณ์ อาจจะทำให้โครงการวิจัยต้องล่าช้าหรือล้มเหลวลงไปได้

บทสรุป

โดยสรุปแล้วลักษณะในการสัมภาษณ์ที่ดีนั้น ผู้วิจัยควรปฏิบัติดังนี้ คือ ควรฟังผู้ถูกสัมภาษณ์อย่างตั้งอกตั้งใจ ให้ความสำคัญด้วยท่าทีที่เป็นมิตรและเป็นกันเอง ไม่ควรโต้แย้งหรือไม่ควรแสดงออกมาให้เห็นว่า ไม่พอใจต่อคำพูดของผู้ถูกสัมภาษณ์ ไม่ควรชี้แนะหรือมีท่าที่อันใดที่จะมีผลต่อคำตอบ

ควรพูดหรือถามคำถามในทำนองที่กระตุ้นให้คู่สนทนามีส่วนร่วมในการสนทนาหรือทำให้คู่สนทนา

มีความสนุกสนานในการพูดคุยมากขึ้น ควรทำหน้าที่เพียงประมวลความจริงไม่ใช่แต่งหรือแปลความหมายให้ผู้ถูกสัมภาษณ์เสียเอง และพึงระลึกเสมอว่าคำตอบจากการสัมภาษณ์ไม่ใช่เป็นเพียงคำพูดหรือน้ำเสียงเพียงอย่างเดียว แต่ท่าทีความรู้สึกที่แสดงออกมาทางสีหน้าประกายตา ตลอดจนพฤติกรรมต่าง ๆ

ที่ผู้ถูกสัมภาษณ์แสดงออก ถือว่าเป็นคำตอบด้วยเช่นเดียวกัน

หมายเลขบันทึก: 13686เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2006 21:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 11:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท