การบริหารงานวิจัยสไตล์ มน. (๒)


ต่อมาจากการบริหารงานวิจัยสไตล์ มน. (๑)

               งานประชุมวิชาการ “นเรศวรวิจัย” เป็นไฮไลท์ ประจำปีของงานวิจัยในมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดการประชุมมาแล้ว 3 ครั้ง คือ พ.ศ. 2548 “นเรศวรวิจัย ครั้งที่ 1” ในหัวข้อกระบวนการทัศน์ใหม่ของการบริหารงานวิจัย  พ.ศ. 2549 ”นเรศวรวิจัย ครั้งที่ 2”  ในหัวข้อความสำเร็จของการพัฒนาชุดโครงการ” และ พ.ศ. 2550 “นเรศวรวิจัย ครั้งที่ 3” ในหัวข้อความสำเร็จของการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์  ซึ่งทั้งสามครั้งประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ได้รับการตอบรับจากนักวิจัย และผู้สนใจทั้งในมหาวิทยาลัยนเรศวรและทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก  โดยสังเกตได้จากผู้เข้าร่วมงานที่มากขึ้นทุกๆปี และจำนวนผลงานวิจัยที่นำเสนอในงานก็เพิ่มมากขึ้นทุกๆปี เช่นกัน  อย่างไรก็ตามการสร้างมาตรฐานการจัดการประชุม และมาตรฐานผลงานวิจัยที่มานำเสนอในงาน “นเรศวรวิจัย” เป็นประเด็นที่เราให้ความสำคัญอย่างมาก ที่ผ่านมาเราได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกที่เป็นนักวิจัยอาชีพ หรือนักวิจัยอาวุโส มาร่วมเป็นผู้วิพากษ์ ให้ข้อเสนอแนะและพิจารณาผลงานวิจัยก่อนการเผยแพร่ผลงานลงใน “Proceedings นเรศวรวิจัย” ซึ่งเป็นการยกระดับการจัดการประชุมวิชาการให้เป็นที่ยอมรับ  นอกจากนี้เวทีวิชาการ “นเรศวรวิจัย” ยังเป็นเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิจัยด้วยกันเอง นักวิจัยรุ่นใหม่กับนักวิจัยอาวุโส นักวิจัยกับผู้ใช้ผลงาน นิสิตกับอาจารย์นักวิจัย เป็นต้น ซึ่งการพบปะดังกล่าวจะนำมาซึ่งความร่วมมือ และการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่มีคุณค่ายิ่งๆขึ้นไป

การให้รางวัลและเชิดชูเกียรติ
               การสร้างขวัญ กำลังใจ และแรงจูงใจสำหรับนักวิจัย เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการที่จะสนับสนุนให้อาจารย์ นักวิจัย เป็นนักวิจัยมืออาชีพ ไม่ใช่เป็นนักวิจัยตามภาระงาน  ที่ผ่านมาการให้ความสำคัญกับนักวิจัย หรือการเชิดชูเกียรติยังไม่ค่อยเห็นมากนักในมหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมๆ กับการจัดงานนเรศวรวิจัยครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ.2548  ในปีดังกล่าวเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยได้มอบรางวัลนักวิจัยดีเด่นในสาขาต่างๆ ดังนี้
               1. นักวิจัยที่สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย 
               2. นักวิจัยที่มีการตีพิมพ์ผลงานในวารสารที่มีค่า impact factor สูงสุด  
               3. นักวิจัยที่มีผลงานตีพิมพ์ที่ได้รับการอ้างอิง (citation) สูงสุด 
               4.  นักวิจัยที่มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติต่อปีสูงสุด  
               5. นักวิจัยที่สามารถจดอนุสิทธิบัตรหรือสิทธิบัตรได้ 
               6. นักวิจัยที่มีผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนได้จริง

               ซึ่งการประกาศรางวัลนักวิจัยดังกล่าวเป็นแรงกระตุ้นให้นักวิจัยเหล่านั้นได้พัฒนาผลงานของตนเองอย่างต่อเนื่องต่อไป  ตลอดจนนักวิจัยท่านอื่นๆ ของมหาวิทยาลับจะได้ทราบข้อมูล หรือใช้เป็นแบบอย่างในการทำวิจัย หรือสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยต่อไป

               นอกจากนี้ในการประชุมวิชาการ “นเรศวรวิจัย” ยังมีการพิจารณาผลงานวิจัย เพื่อให้รางวัลผลงานวิจัยดีเด่นในสาขาต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างกำลังใจแก่ผู้วิจัย และสร้างมาตรฐานผลงานวิจัยให้เกิดขึ้น

               แรงเสริมที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การให้ความสำคัญจากผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยต่อนักวิจัย  โดยท่านอาจารย์วิบูลย์  ได้ให้มีการเผยแพร่ประวัติและผลงานวิจัยของนักวิจัยดีเด่น ลงบนรายงานประจำปีของมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นประจำทุกปี ท่านนายกสภามหาวิทยาลัยคนปัจจุบัน         ศ.เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ และท่านอธิการบดี รศ.ดร.มณฑล  สงวนเสริมศรี  ได้ให้นักวิจัยดีเด่นในแต่ละปีเข้ารับมอบเหรียญเชิดชูเกียรติจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในวันพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งนับเป็นเกียรติประวัติที่น่าภาคภูมิใจยิ่งของนักวิจัย

               การให้รางวัลสนับสนุนการเผยแพร่ผลงานวิจัย ก็เป็นอีกหนึ่งแรงเสริมที่สำคัญที่จะผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์ หรือเผยแพร่ผลงานวิจัยให้มากยิ่งขึ้น  โดยที่ผ่านมามหาวิทยาลัยนเรศวรได้ออก “ประกาศมหาวิทยาลัยนเรศวร เรื่อง รางวัลการเผยแพร่ผลงานวิจัย พ.ศ.2548” เพื่อให้รางวัลสนับสนุนการเผยแพร่ผลงานวิจัยในรูปแบบต่างๆ ผลจากการออกประกาศดังกล่าวทำให้มีการผลิตผลงานวิจัย ตีพิมพ์ เผยแพร่  เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา  จนมหาวิทยาลัยนเรศวรสามารถบรรลุผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายในคำรับรองการปฏิบัติราชการ (กพร.) ด้านการวิจัยที่เสนอไว้กับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และผลจากการจัดอับดับมหาวิทยาลัยไทยที่ผ่านเกณฑ์ก็สะท้อนให้เห็นถึงผลงานวิจัยของนักวิจัยในมหาวิทยาลัยนเรศวรได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมหาวิทยาลัยนเรศวรถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม “ดีเยี่ยม” ด้านการวิจัย โดยผลประเมินสูงสุดมาจากการมีสัดส่วนที่ดีของผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ เผยแพร่ ต่อจำนวนอาจารย์ประจำ

          6. KM กับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การวิจัยในระดับคณะ
               การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การวิจัย  มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อมุ่งสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย” อย่างยั่งยืน  การดำเนินงานไม่ได้ดำเนินเฉพาะในระดับมหาวิทยาลัยเท่านั้น  ยุทธศาสตร์การวิจัยทั้ง 6 ยุทธศาสตร์  ได้ถูกผลักดันให้มีการดำเนินการในระดับคณะ  อย่างไรก็ตามการเดินบนเส้นทางยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ยุทธศาสตร์  ของแต่ละคณะ  ย่อมมีทั้งความเหมือนและความต่างเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน  ซึ่งความเหมือนและความต่างเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ดีและทำให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (KM)  ถึงการบริหารงานวิจัยบนยุทธศาสตร์การวิจัยทั้ง 6 ยุทธศาสตร์  ได้เป็นอย่างดี

               ในระดับคณะก็เช่นเดียวกัน ยุทธศาสตร์การวิจัยก็ถูกผลักดันลงไปสู่การปฏิบัติในระดับภาควิชา ในหลายๆ คณะ  พร้อมทั้งมีการกำหนดตัวชี้วัด และผู้รับผิดชอบตัวชี้วัดด้านการวิจัยอย่างชัดเจน ซึ่งการดำเนินงานในยุทธศาสตร์นี้ไม่ค่อยมีความแตกต่างกันมากนักในระดับคณะ  ความต่างมักพอมีให้เห็นบ้างก็คือ กลยุทธ์การให้แรงเสริมเชิงบวกแก่ผู้บริหาร หรือนักวิจัยที่ทำผลงานดีเด่น ก็จะมีความต่างกันบ้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ ด้านของแต่ละคณะ ทั้งด้านศักยภาพของบุคลากร ความพร้อมด้านงบประมาณ เป็นต้น

          7. สรุป
               ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเพียงบางส่วนของการประยุกต์ใช้ KM กับการดำเนินงานบนเส้นทางยุทธศาสตร์ 6 ยุทธศาสตร์ พื่อก้าวไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย ของมหาวิทยาลัยนเรศวร

          การตั้ง “สถาบันการบริหารการวิจัยและพัฒนา” และดำเนินการอย่างที่ มน. ทำ เป็นนวัตกรรมของการจัดการงานวิจัยในสังคมไทยครับ

วิจารณ์ พานิช
๑ ต.ค. ๕๐
 

 

หมายเลขบันทึก: 136267เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2007 15:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยคะกับแนวคิดที่ให้กำลังใจนักวิจัยไทยของบ้านเมืองเรา  เพราะน้อยคนมากที่จะให้ความสำคัญและรำลึกถึง

ส่วนการนำKm มาใช้กับงานวิจัยไทย ขณะนี้ไม่ทราบว่าในวงการสถาบันอุดมศึกษาหรือหน่วยงานใดนำมาใช้บ้างคะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท