การบริหารงานวิจัยสไตล์ มน. (๑)


           ผมชื่นชมการบริหารงานวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวรมาก     จึงขอคัดลอกบทหนึ่งของหนังสือ “วิถี KM ไท   เรียนรู้ KM จากเรื่องเล่าชาว มน.” มาเผยแพร่     ข้อความนี้ผมได้มาจากต้นฉบับก่อนจะปรับปรุงอีกครั้งหนึ่ง     ดังนั้นข้อความและรูปจะมีส่วนที่ไม่ตรงกับในหนังสืออยู่บ้าง     ผู้สนใจจริงๆ ต้องอ่านจากหนังสือ ซึ่งมีจำหน่ายที่ มน. และที่ สคส. ราคา ๑๘๐ บาท

 

KM  กับการบริหารจัดการงานวิจัย


ผศ.ดร.เสมอ   ถาน้อย
ผู้อำนวยการสถาบันบริหารการวิจัยและพัฒนา

          1. จาก Messenger สู่ Manager ด้วย KM

               นับจากปี พ.ศ. 2533 จนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยนเรศวร มีอายุครบรอบ 17 ปี ของการก่อตั้งมหาวิทยาลัย แต่หากมองถึงหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการด้านงานวิจัย เริ่มมีขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2543 โดยเดิมเป็นฝ่ายเล็กๆ อยู่ในงานพัฒนาวิชาการ กองบริการการศึกษา และอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแลของรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ในขณะนั้น  รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย คนแรกของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเมื่อ 20 มกราคม 2544 ในวาระการดำรงตำแหน่งอธิการบดีสมัยที่ 1 ของ  รศ.ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี ในคราวนั้นเราได้ ศ.ดร. บรรพต สุวรรณประเสริฐ จากภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มาดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2547 ได้มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย เป็นรองอธิการบดี ฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพ  ซึ่งก็ได้ ผศ.ดร.วิบูลย์ วัฒนาธร จากคณะเภสัชศาสตร์ มาดำรงตำแหน่งดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามในแง่ของโครงสร้าง การบริหารงานวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร หน่วยงานที่รับผิดชอบงาน ด้านนี้ก็ยังอยู่กับกองบริการการศึกษา
               จนกระทั่งปี พ.ศ. 2547 ซึ่งในขณะนั้น ท่านองคมนตรี ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย ท่านดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้มีดำริต่อที่ประชุมถึงทิศทางของมหาวิทยาลัยนเรศวร ในอนาคตว่า ควรมุ่งสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยวิจัย” (Research University) ซึ่งที่ประชุมสภาก็เห็นชอบกับแนวคิดดังกล่าว และได้มอบหมายให้ ผศ.ดร.วิบูลย์ วัฒนาธร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพ ได้มาจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัย เพื่อการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยและนำเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยต่อไป นโยบายแผนยุทธศาสตร์ด้านวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร (พ.ศ.2547-2550) ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2547 และมหาวิทยาลัยนเรศวรโดยท่านอธิการบดี รศ.ดร. มณฑล สงวนเสริมศรี ก็ประกาศนโยบายของการก้าวหน้าไปสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย” (Research – based University) ภายในปี พ.ศ. 2550 นับเนื่อง จากวันนั้นเป็นต้นมา แรงผลักดันมหาวิทยาลัยนเรศวรสู่การเป็น มหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยก็เริ่มขึ้นตามลำดับ โดยมีนโยบาย ยุทธศาสตร์การวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวร (พ.ศ.2547-2550) เป็นเหมือนคัมภีร์การดำเนินงาน ซึ่งมีทั้งหมด 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
               1. ยกระดับและปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการบริหารจัดการงานวิจัย
               2. พัฒนาความพร้อมของ ปัจจัยต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนงานวิจัย
               3. สนับสนุนให้อาจารย์ทุกคนทำวิจัย
               4. กำหนดให้นิสิตทุกหลักสูตรทำการศึกษา/วิจัยโดยให้เป็นเงื่อนไขสำหรับการสำเร็จการศึกษา
               5. ส่งเสริมให้ข้าราชการ/พนักงาน(ที่ไม่ใช่อาจารย์) ทำการศึกษา/วิจัย เพื่อพัฒนางาน
               6. กำหนดให้มีกลไกความรับผิดชอบ (responsibility) และความรับผิดรับชอบ(accountability)

               จากยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ สิ่งแรกที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ก็คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การยกระดับและปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการบริหารจัดการงานวิจัย สิ่งแรกที่   ผศ.ดร. วิบูลย์ วัฒนาธร เริ่มต้นก็คือ การปรับพฤติกรรมการทำงานของบุคลากร ในฝ่ายวิจัย จากการเป็นแค่คนส่งผ่านข้อมูล (Messenger) มาเป็นผู้จัดการงานบริหารงานวิจัยและระบบข้อมูล (Manager) และได้ชักชวนกระผม ผศ.ดร.เสมอ ถาน้อย ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง รองคณบดีฝ่ายแผนงาน และวิจัย คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้เข้ามาช่วยงานเพื่อการผลักดันยุทธศาสตร์การวิจัยทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ ในตำแหน่ง ผู้ช่วยอธิการบดี การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานจากการเป็น messenger ไปสู่การเป็น manager ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และน่าจะใช้เวลาค่อนข้างยาวนาน แต่โชคดีที่เราได้ ผศ.ดร. วิบูลย์ วัฒนาธร ซึ่งนอกจากท่านจะเป็นนักบริหารงานวิจัยแล้ว ท่านยังมีความรู้ความชำนาญด้านการจัดการความรู้ (Knowledge Management ; KM) ท่านจึงได้ใช้ KM มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าวให้ได้ผลดีและเร็วขึ้นกว่าที่ควรเป็น

               ประการที่ 2 ที่มีการปรับเปลี่ยนก็คือ หน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการด้านงานวิจัย ซึ่งท่าน ผศ.ดร.วิบูลย์ วัฒนาธร เห็นว่าหากหน่วยงานยังคงอยู่ในรูปแบบเดิม ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนางานวิจัยของมหาวิทยาลัย เนื่องจากนักวิจัยและการทำวิจัยมีธรรมชาติ และลักษณะที่เฉพาะแตกต่างจากงานอื่นๆ นักวิจัยต้องการอิสระในการคิด ในการทำ หากต้องยึดติดกับระเบียบ ข้อบังคับ และขั้นตอนพิธีการที่สลับซับซ้อน ย่อมไม่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยได้ ดังนั้นหน่วยงานที่จะมาทำหน้าที่บริหารจัดการงานวิจัยของมหาวิทยาลัยต้องเป็นหน่วยงานที่ค่อนข้างมีอิสระ คล่องตัว และกะทัดรัด ในลักษณะของ one stop service เพื่อจะดำเนินการทุกอย่างให้เอื้อแก่การพัฒนานักวิจัย งานวิจัยและระบบบริหารงานวิจัยของมหาวิทยาลัย ดังนั้น ผศ.ดร.วิบูลย์ และผม จึงได้จัดทำโครงการตั้งหน่วยงานใหม่ ชื่อว่า “ศูนย์บริหารการวิจัยและพัฒนา” ซึ่งมีโครงสร้างเป็นหน่วยงานระดับกอง  (เทียบเท่าภาควิชา) สังกัดสำนักงานอธิการบดี เสนอต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย เพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน สิ่งที่เหนือความคาดหมายก็เกิดขึ้นจากมติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ซึ่งมี ศ.เกียรติคุณคุณหญิงไขศรี  ศรีอรุณ  เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย ได้มีมติให้ปรับฐานะจากหน่วยงานระดับกอง เป็นหน่วยงานระดับคณะ โดยให้ตั้งเป็น “สถาบันบริหารการวิจัยและพัฒนา” เพื่อให้สอดรับกับการมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย
 

               สถาบันบริหารการวิจัยและพัฒนา หรือ Institute of Research and Development Administration (IRDA) ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 โดยมีผม (ผศ.ดร.เสมอ ถาน้อย) ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันฯ

               สถาบันบริหารการวิจัยและพัฒนา (IRDA) จะเป็นหน่วยงานขนาดเล็ก ทั้งนี้เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และมีความแตกต่างจากสถาบันวิจัยและพัฒนาในมหาวิทยาลัย หรือสถาบันอื่นๆ ตรงที่ IRDA จะเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเท่านั้น IRDA จะไม่เป็นหน่วยงานที่ทำวิจัยเสียเอง ดังนั้น IRDA จะไม่มีนักวิจัยเป็นบุคลากรอยู่ในสังกัดเลย แต่เราจะมีนักวิจัยเป็นเครือข่ายการทำงาน

               IRDA ตั้งขึ้นมาโดยมีปณิธานร่วมกันว่า “พัฒนาคน พัฒนาผลงาน และระบบบริหารงานวิจัย เพื่อการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยอย่างยั่งยืน” จากปณิธานดังกล่าว จะสามารถสะท้อนบทบาทของ IRDA ได้เป็น 3 ด้านหลักๆ คือ
               1.พัฒนาคน โดยคนในที่นี้ หมายถึง นักวิจัย ซึ่งได้แก่  ผู้บริหาร อาจารย์ บุคลากรสายสนับสนุน และนิสิต เพื่อให้คนเหล่านี้มีทักษะและความเชี่ยวชาญในด้านการวิจัยในสาขาของตน
               2.พัฒนาผลงาน หมายถึง การพัฒนาผลงานวิจัย จากกลุ่มคนที่เราพูดถึงในข้อแรก เพื่อให้ได้ผลงานวิจัยที่ดี มีประโยชน์ต่อการนำไปใช้ สามารถเผยแพร่ ตีพิมพ์ หรือต่อยอดในเชิงธุรกิจหรืออุตสาหกรรมได้
               3.พัฒนาระบบบริหารงานวิจัย หมายถึง การพัฒนาหน่วยงานและบุคลากรที่ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการงานวิจัย ตั้งแต่ระดับภาควิชา จนมาถึงระดับคณะ และมหาวิทยาลัย ซึ่งประเด็นนี้จะเป็นประเด็นที่ถูกมองข้ามมาโดยตลอด และเป็นประเด็นสำคัญมากหากไม่ได้รับการใส่ใจและพัฒนา เนื่องจากไม่มีบทเรียนหรือหลักสูตรใดในประเทศไทยเลยที่สอนเกี่ยวกับการเป็นนักบริหารจัดการงานวิจัย คนที่มาเป็นผู้บริหารงานวิจัย เช่น รองคณบดีฝ่ายวิจัย หรือรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ในหลายๆมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่ก็มาจากนักวิจัยหรืออาจารย์ของมหาวิทยาลัยนั้นๆ ซึ่งก็มีความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการงานวิจัยที่แตกต่างกันไป ดังนั้นการพัฒนาระบบการบริหารงานวิจัย จึงน่าจะเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ได้รับการพัฒนา เพื่อความยั่งยืนของการพัฒนางานวิจัยของมหาวิทยาลัย

          2. สถาบันบริหารการวิจัยและพัฒนา (IRDA) กับการเป็น Chaordic Organization
                ครั้งแรกที่ผมได้ยินคำว่า “Chaordic Organization” เป็นคำที่สร้างความงุนงง สงสัยให้ผมเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นคำที่ยอมรับว่าไม่เคยคุ้นหูมาก่อนเลย จนกระทั่งท่าน อ.วิบูลย์ ได้ถ่ายเอกสารบทความที่เขียนโดยอาจารย์หมอวิจารณ์ ในหนังสือเรื่อง “รู้จัก....สกว.” มาให้อ่าน เลยทำให้เข้าใจความหมายของ Chaordic มากยิ่งขึ้น และยิ่งมีความเข้าใจมากขึ้น เมื่อได้ฟังการบรรยายจากอาจารย์หมอวิจารณ์เกี่ยวกับ Chaordic Organization ในคราวเข้าร่วมประชุมเครือข่ายการจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย ครั้ง 8 (UKM 8) เมื่อวันที่ 3 – 4 พฤศจิกายน 2549 ณ โรงแรมไพลิน จังหวัดสุโขทัย ซึ่งการบรรยายของท่านในวันนั้นทำให้ผมเห็นภาพ และอนาคตความสำเร็จ หากนำเอารูปแบบการบริหารองค์กรแบบ Chaordic มาใช้กับสถาบันบริหารการวิจัยและพัฒนา (IRDA) ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดตั้งใหม่มีอายุเพียง 1 เดือนเศษๆ ในวันนั้น

               ผมจะขอกล่าวถึงความหมายของ Chaordic Organization ตามความเข้าใจของผม ซึ่งอาจจะไม่ถูกต้องครบถ้วนทั้งหมด แต่ก็คงทำให้หลายๆ ท่านได้เห็นภาพ และความแตกต่างขององค์กรต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ดังแสดงในแผนภูมิที่ 1

       ก่อนจะพูดถึงการเป็น Chaordic organization ผมจะขอพูดถึงลักษณะขององค์กรที่เราสามารถพบได้ทั่วไปในระบบราชการไทย ก็คือ องค์กรในลักษณะ Ortrolic organization ซึ่งเป็นองค์กรที่รวมเอาระบบ ระเบียบ (order) และการควบคุม สั่งการ (control) มาไว้ด้วยกัน จึงกลายเป็นระบบ Ortrolic organization ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดเจนในหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม ซึ่งระบบการบริหารองค์ในรูปแบบนี้จะเหมาะสมกับระบบตำรวจ และทหาร ซึ่งต้องการความเป็น Unity และ Seniority ค่อนข้างสูง ตลอดจนต้องมีระเบียบวินัยที่เคร่งครัด
               แต่หากนำระบบนี้มาใช้ในระบบราชการอื่นๆ หรือการบริหารงานภาคเอกชน ย่อมทำให้ขาดประสิทธิภาพการทำงานในบางด้านของบุคลากรทั่วไป โดยเฉพาะด้านอิสระในการคิดสร้างสรรค์ Chaordic organization จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของระบบบริหารแบบใหม่ที่ผสมผสานระหว่างความไม่เป็นระเบียบ (chaos) กับความเป็นระเบียบ (order) เข้าด้วยกัน จึงกลายเป็นหน่วยงานที่มีลักษณะ “ไม่เป็นระเบียบ แต่ก็ไม่ไร้ระเบียบ” เสียเลยทีเดียว

แผนภูมิที่ 2 Chaordic organization  ในสถาบันบริหารการวิจัยและพัฒนา (IRDA)มหาวิทยาลัยนเรศวร


 
               IRDA ได้กำหนดองค์ประกอบของการเป็น Chaordic organization ทั้ง 6 องค์ประกอบ (แผนภูมิที่ 2) ดังนี้
               1. Purpose คือ “พัฒนาคน พัฒนาผลงาน และระบบบริหารงานวิจัย เพื่อการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยที่ยั่งยืน” นี่คือเป้าหมายสูงสุดของ IRDA ในการที่จะปฏิบัติภารกิจทั้ง 3 ด้าน คือ พัฒนาคน พัฒนาผลงาน และพัฒนาระบบบริหารงานวิจัย เพื่อมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย (Research-Based University) อย่างยั่งยืน
               2. Core principles คือ หลักปฏิบัติของบุคลากรใน IRDA ประกอบด้วย การทำงานในลักษณะการคิด-ทำร่วมกัน (Share vision) ภายใต้เป้าหมายสูงสุด (purpose) เดียวกัน การทำงานส่วนใหญ่จะเหมือนกับการ “ลงแขก” เกี่ยวข้าว เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นในงานของคนอื่น และเรียนรู้งานของคนอื่น และวิธีการทำงานของเพื่อนร่วมงานไปในทิศทางเดียวกัน
               การคิดสร้างสรรค์ (Creativity) บุคลากรใน IRDA จะมีอิสระในการคิดสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาการทำงานของตนเอง ดังนั้นขั้นตอนการทำงานจะสั้นลง การพิจารณาว่าแนวคิดนี้ควร หรือไม่ควรปฏิบัติ จะใช้การแสดงความคิดเห็นร่วมกันในที่ประชุมแทนการตัดสินใจของผู้บริหารคนใดคนหนึ่ง
               การกระจายอำนาจ (Empowerment) เป็นการให้อิสระในการคิด การตัดสินใจ ภายใต้ความรับผิดชอบ และความเชื่อมั่นที่สั่งสมอยู่ในคนนั้นๆ เพื่อสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพ และมีความเชื่อมั่นในตนเอง ซึ่งคนเหล่านี้แท้จริงแล้ว เขาคืนคนที่ทราบรายละเอียดของข้อมูลได้ดีกว่าผู้บริหารเสียอีก
               3. Participants ได้แก่ นิสิต อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และระบบบริหารงานวิจัยของมหาวิทยาลัย ซึ่งเราจะต้องให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วน
               4. Organization Concepts อาจารย์หมอวิจารณ์ แนะนำว่าหน่วยงานหรือองค์กรที่ดีต้องมีคุณสมบัติเป็น Complex adaptive system (CAS) คือมีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม เช่นเดียวกับการบริหารงานของ IRDA เน้นให้บุคลากรทำงานบนพื้นฐานของ CAS และต้องมีคุณสมบัติที่ดีในด้านการจัดระบบงานของตนเอง (Self organization) และการควบคุมรับผิดชอบต่อตนเอง (Self governing) เนื่องจากหน่วยงานในลักษณะ Chaordic organization จะลดบทบาทของระบบการควบคุมการสั่งการลง ดังนั้นความรับผิดชอบต่อตนเองของบุคลากรจะเป็นสิ่งที่สำคัญสูงสุด องค์กรจะประสบความสำเร็จได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าบุคลากรส่วนใหญ่มีคุณสมบัติเหล่านี้ดีเพียงใด นอกจากนี้บุคลากรย่อมมีความสามารถปรับตัวได้ดีกับสถานการณ์ การเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา (Diversity and adaptive)
               5. Constitution หรือ ธรรมนูญ เปรียบเสมือนบทบัญญัติที่ใช้เป็นแนวทางในการทำงานของสถาบัน ซึ่ง ณ ปัจจุบัน IRDA ใช้ยุทธศาสตร์การวิจัยมหาวิทยาลัยนเรศวร (พ.ศ.2547-2550) ทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ เป็นธรรมนูญในการทำงาน
               6. Practice   คือการนำไปสู่การปฏิบัติ  ซึ่งบุคลากรของ IRDA ทุกคนจะต้องเข้าใจในบทบาทของตนเอง  บทบาทของหน่วยงาน และความเป็น Chaordic organization  เพื่อที่จะสามารถปรับตัว และใช้ในการทำงานให้เหมาะสม  และสามารถสนองตอบต่อจุดมุ่งหมายหลักขององค์กร  สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การวิจัยของมหาวิทยาลัย และได้ผลงานเป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้  รวมทั้งมีความสามารถที่จะปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา (flexibility) เพื่อให้การทำงาน และองค์กรเป็นองค์กรในลักษณะ Chaordic organization  อย่างสมบูรณ์แบบ  และตอบสนองต่อปณิธานของ IRDA ที่ว่า “พัฒนาคน พัฒนาผลงาน  และระบบบริหารงานวิจัย เพื่อการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยที่ยั่งยืน”

          3. KM กับการพัฒนาผู้บริหารงานวิจัย
               ปัญหาความสำคัญของการบริหารจัดการงานวิจัยทั้งระดับประเทศ ระดับมหาวิทยาลัย ก็คือ ไม่มีผู้บริหารงานวิจัยที่เป็นนักบริหารด้านนี้โดยตรง เนื่องจากไม่มีหลักสูตรผลิตนักบริหารงานวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวรก็ประสบปัญหาด้านนี้มาตลอด การได้มาซึ่งผู้บริหาร เช่น รองอธิการบดี รองคณบดี ที่กำกับดูแลงานด้านวิจัยของมหาวิทยาลัย หรือคณะก็จะมาจากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่เรียนจบมาจากสาขาที่ตนเองสนใจทำวิจัย หรือสนใจที่จะมาสอน ไม่มีใครจบมาทางด้านการบริหารงานวิจัยโดยตรงเลย ดังนั้นการได้มาซึ่งผู้บริหารงานวิจัยทั้งในระดับมหาวิทยาลัยหรือระดับคณะ ส่วนใหญ่จะได้มาจากนักวิจัยที่มีฝีมือซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย

               ข้อดี ซึ่งอาจจะมีน้อย ก็คือ เราอาจจะค้นพบว่าในที่สุดแล้ว ท่านอาจารย์หรือนักวิจัยที่มีฝีมือ ท่านนั้นสามารถที่จะเป็นนักบริหารงานวิจัยที่มีฝีมือได้ หากได้รับการพัฒนาต่อ และจะเป็นกำลังสำคัญของมหาวิทยาลัยต่อไป ในทางกลับกัน ถ้ามองในแง่ผลเสีย ซึ่งมักจะพบได้มากกว่าข้อดี ก็คือ หากอาจารย์และนักวิจัยท่านนั้นมาเป็นผู้บริหารงานวิจัยแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นก็คือ เราจะสูญเสียอาจารย์ นักวิจัยฝีมือดีๆไปแล้ว 1 คน เนื่องจากเขาได้หลุดพ้นจากวงจรการเป็นนักวิจัยมาแล้วระยะหนึ่ง และผลที่ตามมาก็คือ ระบบบริหารจัดการงานวิจัยโดยภาพรวมของคณะและมหาวิทยาลัยก็จะไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่

               อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่มหาวิทยาลัยนเรศวร และหลายๆมหาวิทยาลัยยังต้องเผชิญกันอีกต่อไป แต่สิ่งที่มหาวิทยาลัยนเรศวรคิดและกำลังดำเนินการอยู่ก็คือ ในเมื่ออาจารย์ นักวิจัยเหล่านั้นสนใจและอาสาที่จะเข้ามาช่วยทำงาน เพื่อพัฒนาระบบบริหารงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแล้ว เราต้องส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาทักษะการเป็นผู้บริหารงานวิจัยให้กับบุคคลเหล่านั้น เพื่อแลกกับการสูญเสียนักวิจัยดีๆ หลายๆ คนที่จะเข้ามาสู่ในระบบนี้ ให้เกิดความสมดุลอย่างคุ้มค่า “หลักสูตรฝึกอบรมนักบริหารงานวิจัย” จึงเกิดขึ้น ซึ่งหลักสูตรนี้จะเป็นเหมือนโรงเรียนของผู้ที่สนใจจะเข้ามาเป็นนักบริหารงานวิจัย และจะเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน (Knowledge sharing) จากความสำเร็จที่ผ่านมา และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้บริหารหน่วยงานบริหารจัดการงานวิจัยระดับประเทศและระดับนานาชาติ ซึ่งผู้บริหารที่ได้ผ่านการอบรมหลักสูตรดังกล่าว น่าจะเกิดแนวคิดด้านการบริหารงานวิจัยที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับหน่วยงานของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการทำงานแบบลองผิด ลองถูก อย่างที่เป็นมา

 

          4. KM กับการพัฒนาผู้ประสานงานวิจัย
               ผู้ประสานงานวิจัยที่อยู่ตามคณะหรือภาควิชา น่าจะเป็นคนที่สำคัญที่สุดในการสร้างความเข้มแข็ง และยั่งยืนในการพัฒนาระบบการบริหารงานวิจัย เนื่องจากบุคลากรเหล่านี้เปรียบเสมือนบุคลากรประจำที่ต้องรับผิดชอบในงานด้านนี้ไปตลอดอายุการทำงานของตนเอง และหากมีการพัฒนาบุคลากรกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง ความเข้มแข็งย่อมเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน ที่จะแตกต่างจากผู้บริหารงานวิจัยระดับมหาวิทยาลัยและระดับคณะ ที่มีวาระการทำงาน 4 ปี หรือเต็มที่ก็ 8 ปี แล้วก็ต้องเปลี่ยนคนใหม่มาทำงานแทน ความเข้มแข็งและยั่งยืนอาจจะไม่เท่ากับการพัฒนางานให้กับผู้ประสานงานวิจัย

              มหาวิทยาลัยนเรศวรเล็งเห็นถึงความสำคัญของบุคลากรกลุ่มนี้ จึงได้จัดกิจกรรมเพื่อการพัฒนาทักษะการทำงานให้กับบุคลากรกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการสร้างความรู้สึกเป็น Team work เพื่อให้ทุกคนมีความรู้สึกเดียวกันว่าเราทำงาน เพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน และเป็นทีมงานเดียวกัน จากนั้นก็ฝึกอบรมทักษะการทำงาน การทำวิจัยสถาบันควบคู่ไปกับการทำงาน และนำผลวิจัยมาใช้พัฒนางานของตน จนทำให้บุคลากรกลุ่มนี้มีความเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น และเข้าใจขบวนการทำวิจัยด้วยตนเอง และสามารถเข้าใจลักษณะงานของตนเองได้ดียิ่งขึ้น

การใช้ KM กับการสร้างเครือข่ายผู้ประสานงานวิจัย
               การจัดการความรู้ (knowledge management) เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการทำงานร่วมกับกลุ่มผู้ประสานงานวิจัยของทุกคณะในมหาวิทยาลัยนเรศวร การจัดกิจกรรมเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และปลุกจิตสำนึกถึงความเป็นเครือข่ายเดียวกัน หรือทีมเดียวกัน ทำให้การทำงานและการประสานงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การที่บุคคลเหล่านี้มีลักษณะงานที่ต้องทำเหมือนกัน แต่ด้วยวิธีการทำงานที่แตกต่างกันในแต่ละคณะ หากเขาได้สามารถถอดบทเรียนที่เป็นความรู้ฝังลึก (tacit knowledge) ที่เป็นความสำเร็จของตนเองขึ้นมาแลกเปลี่ยนกับคนอื่นๆจะทำให้เกิดองค์ความรู้และแนวทางการทำงานที่ดีร่วมกัน ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยนเรศวรได้จัดกิจกรรมให้ผู้ประสานงานวิจัยได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และหาแนวทางการทำงานในภารกิจเดียวกันให้มีประสิทธิภาพ เช่น การเตรียมข้อมูลด้านวิจัย เพื่อรับการประเมินจากหน่วยงานต่างๆ เช่น สมศ. กพร. หรือสกอ. หรือการจัดการข้อมูลด้านวิจัย ซึ่งเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน และไม่สามารถหาข้อสรุปที่เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่แท้จริงได้ แต่จากการที่บุคคลเล่านี้ได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ทำให้เกิดวิธีการทำงานที่เป็นระบบมากยิ่งขึ้น และสามารถเรียกใช้ข้อมูลได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น และมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวชี้วัดต่างๆที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยที่เขาเหล่านั้นต้องเผชิญมากยิ่งขึ้น และจากการที่เขาเหล่านั้นต้องเผชิญกับการเตรียมข้อมูลเพื่อรองรับการประเมินต่างๆนั้น หากเขาสามารถกำหนดเป็นโจทย์วิจัยขึ้นมาได้ในเวลาเดียวกัน ก็จะทำให้เขาสามารถทำวิจัยและทำงานประจำให้กลืนเป็นเนื้อเดียวกันได้ในลักษณะ “Routine to Research” (R2R)

               แรงจูงใจอีกประการหนึ่งในการเสริมกำลังใจให้กับบุคลากรสายสนับสนุนที่ทำวิจัยสถาบันก็คือ มหาวิทยาลัยนเรศวรได้ออกประกาศ “รางวัลการเผยแพร่ผลงานวิจัยสถาบัน” โดยจะให้รางวัล 5,000 บาท ต่อ 1 ผลงาน หากมีการนำผลงานวิจัยสถาบันไปนำเสนอ เผยแพร่ หรือตีพิมพ์ ซึ่งเป็นแรงจูงใจที่ดีอีกประการหนึ่ง และสิ่งที่เห็นการพัฒนาขึ้นมาตามลำดับก็คือ จากเมื่อก่อนทุนวิจัยจากเงินรายได้คณะของแต่ละคณะ ส่วนใหญ่จะจัดสรรให้เฉพาะอาจารย์ นักวิจัย ที่ทำวิจัยในเชิงวิชาการในลักษณะ basic research หรือ applied research แต่ปัจจุบันพบว่า เกือบทุกคณะได้จัดสรรงบประมาณดังกล่าวไว้สำหรับงานวิจัยสถาบัน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการทำวิจัยสถาบันขึ้นในกลุ่มบุคลากรสายสนับสนุนและเป็นข้อมูลสำหรับการบริหารจัดการภายในองค์กร

               บุคลากรสายสนับสนุน เปรียบเสมือนตัวจักรในการทำงาน ดังนั้นหากขาดการดูแล เอาใจใส่ บำรุงรักษาไว้ให้ดี การเคลื่อนตัวของการทำงาน หรือ การพัฒนาองค์กรก็ย่อมหยุดชะงักไปพร้อมกัน การเสริมความรู้ สร้างแรงจูงใจ ก็เปรียบเสมือน น้ำมันหล่อลื่น ที่จะทำให้ตัวจักรนี้เคลื่อนตัวได้อย่างคล่องตัว มีประสิทธิภาพ และคงทนถาวรต่อไป

          5. KM กับการพัฒนานักวิจัย 
               อาจารย์ในมหาวิทยาลัย เป็นมันสมองหลักที่จะผลักดันมหาวิทยาลัยไปสู่ความเข้มแข็งทางด้านวิชาการ เช่นเดียวกัน การก้าวไปสู่การเป็นมหาวิยาลัยแห่งการวิจัย จะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถพัฒนา ความเป็นอาจารย์ให้เป็นนักวิจัยไปพร้อมๆกันได้หรือไม่ ดังนั้นมหาวิทยาลัยนเรศวรจึงใช้หลักคิดของการพัฒนางานวิจัยในลักษณะ ”ต้นน้ำ – กลางน้ำ - ปลายน้ำ” มาเป็นกรอบแนวคิดในการพัฒนาอาจารย์นักวิจัย

               “ต้นน้ำ” เราพัฒนาอาจารย์จากการเสริมทักษะการทำวิจัย โดยจัดการอบรมสัมมนาให้กับนักวิจัย โดยการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ซึ่งเป็นนักวิจัยที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและระดับนานาชาติ มาบรรยาย แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวรที่ผ่านมามหาวิทยาลัยนเรศวรได้รับความอนุเคราะห์อย่างดียิ่งจากนักวิจัยผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ เช่น ศ.ดร.สุจินต์  จินายน  อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร  ศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล  เมธีวิจัยอาวุโสสกว.  รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ รองผู้อำนวยการด้านวิจัยและพัฒนาสกว. เป็นต้น มาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการวิจัย การพัฒนาโครงการวิจัย และชุดโครงการวิจัย


 

               การบริหารจัดการ ”ต้นน้ำ” ไม่ได้ดำเนินการเฉพาะการนำนักวิจัย มานั่งฟังบรรยายจากผู้ทรงวุฒิ แล้วก็แยกย้ายกันกลับเท่านั้น เราได้นำนักวิจัยไปลงมือปฏิบัติจริงในการพัฒนาโครงการวิจัย หรือชุดโครงการวิจัย และให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิร่วมกันวิพากษ์และให้ข้อเสนอแนะ รวมถึงการสร้างโจทย์วิจัยแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคีที่เกี่ยวข้อง (users) เช่น โครงการวิจัยเฉพาะพื้นที่ (สกว.) ซึ่งจากการดำเนินการดังกล่าว นอกจากนักวิจัยจะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อไปพัฒนาโครงการของตนเองแล้ว ยังได้โครงวิจัยที่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริงในพื้นที่  ทางมหาวิทยาลัยเองยังได้โครงการวิจัยดีๆ ที่พร้อมจะยื่นขอรับทุนสนันสนุน จากแหล่งทุนวิจัยต่างๆ ได้ในทันที  การบริหารจัดการด้าน “ต้นน้ำ” ยังรวมไปถึง การให้ความสำคัญกับการพิจารณาโครงการวิจัยเพื่อการสนับสนุนทุนวิจัย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งทุนงบประมาณเงินรายได้ หรือเงินอุดหนุนงบประมาณแผ่นดิน โดยจะให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการพิจารณาข้อเสนอโครงการวิจัยโดยใช้ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกทั้งหมด ในการพิจารณา เพื่อความโปร่งใสและได้มาตรฐานวิชาการนี้ อาจจะเสียค่าใช้จ่ายมาก ถ้ามองในแง่งบประมาณค่าตอบแทนผู้ทรงคุณวุฒิในการพิจารณาโครงการ แต่คุ้มค่ากับการลงทุน เนื่องจาก โครงการที่ผ่านการพิจารณาและได้รับการแก้ไขตามข้อเสนอแนะ จะเป็นผลดีต่อทั้งตัวนักวิจัย และมหาวิทยาลัยนเรศวร

               “กลางน้ำ” หมายถึง การติดตามดูแลนักวิจัยในช่วงระหว่างดำเนินการวิจัย เพื่อทราบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการวิจัย และหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน โดยที่ผ่านมาเราได้จัดทำโครงการ “วิจัยสัญจร” โดยท่านรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย และประกันคุณภาพ จะจัดทีมผู้ทรงคุณวุฒิ ไปพบปะกับนักวิจัยตามคณะและหน่วยงานต่างๆ เพื่อรับทราบผลการดำเนินงานตามโครงการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุน ตลอดจนนำข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากผู้ทรงคุณวุฒิมามอบกับนักวิจัย เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินการวิจัยในส่วนที่เหลือให้ประผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด   ตลอดจนสร้างบรรยากาศการวิจัยขึ้นทั่วมหาวิทยาลัย เนื่องจากจะมีการชักชวนนักวิจัยจากคณะต่างๆ นิสิตผู้สนใจ โดยเฉพาะนิสิตบัณฑิต การร่วมรับฟังความก้าวหน้าของโครงการวิจัยดังกล่าว นอกจากนี้ข้อดีที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ทำให้ผู้บริหารทางด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัยได้รู้จักกับนักวิจัยอย่างถ่องแท้มากขึ้น เพื่อที่จะสามารถนำข้อมูลที่ได้มาพิจารณาการร้องขอ หรือมีการสนับสนุนตามสาขาที่มีนักวิจัยในมหาวิทยาลัยมีความเชี่ยวชาญ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อทางจังหวัดตากร้องขอมาเพื่อให้นักวิจัยไปศึกษาวิจัยการตกค้างของแคดเมียมในข้าว ทางมหาวิทยาลัยก็จะมีข้อมูลว่านักวิจัยท่านใดที่จะมอบหมายให้ทำงานนี้ได้ดีที่สุด เป็นต้น

                “ปลายน้ำ” หมายถึง การสนับสนุนให้อาจารย์นักวิจัยนำผลงานวิจัยที่ตนเองผลิตได้ไปเผยแพร่หรือใช้ประโยชน์ ให้คุ้มค่ากับงบประมาณการวิจัยที่ใช้ไป โดยการจัดเวทีวิชาการ “นเรศวรวิจัย” เพื่อการเผยแพร่ผลงานวิจัย หรือการจัดการอบรมการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อนักวิจัยสะดวกยื่นขอลิขสิทธิ์ อนุสิทธิบัตร หรือสิทธิบัตรได้ รวมถึงการเชิญนักวิจัยมืออาชีพมาให้ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ การเขียนบทความวิจัย เพื่อการตีพิมพ์ในวารสารระดับสากล เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ประสานงานกับหน่วยทรัพย์สินทางปัญญา และศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ เพื่อการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์

(ต่อ)_การบริหารงานวิจัยสไตล์ มน. (๒)http://gotoknow.org/blog/council/136267

หมายเลขบันทึก: 136263เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2007 15:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 12:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท