การประเมินผลการฝึกอบรม


การประเมินผลการฝึกอบรม

การประเมิน หมายถึง กระบวนการพิจารณา วินิจฉัย เพื่อให้ทราบว่าการกระทำ กิจกรรมหรืองานต่างๆที่เราได้ทำไปนั้นเกิดผลอย่างไร โดยการสังเกตเก็บข้อมูลตัวเลขของผลที่ออกมานั้น แล้วเอามาเปรียบเทียบหรือวัดกันกับเกณฑ์วัตถุประสงค์หรือมาตรฐานที่เราอยู่หรือตั้งขึ้น จากนั้นเราก็สรุปหรือตัดสินใจว่าดีหรือไม่ดี สูงหรือต่ำกว่ามาตรฐานมากน้อยเพียงใด ควรปรับปรุงแก้ไขตรงไหน
สิ่งสำคัญในการประเมินผล 3 ประการ ที่จะต้องทำ คือ
    1. ต้องศึกษา สังเกต ตรวจสอบผลการดำเนินงาน คือ เก็บข้อมูลตัวเลขของการดำเนินงานว่าทำได้เพียงไร ตรงตามวัตถุแระสงค์ในด้านต่างๆที่เราตั้งไว้หรือไม่
    2. เอามาตรฐาน เป้าหมายเข้าจับ หรือวัดว่า สูงหรือต่ำกว่า เป้าหมายที่ตั้งไว้มากน้อยเพียงไร
    3. ประมวลผลรวมการตัดสิน สรุปว่า สูง ต่ำ ปานกลาง ใช้ได้หรือใช้ไม่ได้แล้วตัดสินใจจะปรับปรุงแก้ไขอย่างไร
วัตถุประสงค์ของการประเมินผลการอบรม
          1. เพื่อพิจารณาผลที่ได้รับหลังจากการเข้าร่วมฝึกอบรม
                2. เพื่อพิจารณาดูจุดดีและจุดบกพร่องของการฝึกอบรมเพื่อนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้น
                3. เพื่อให้ผู้บริหารตัดสินใจในการฝึกอบรมต่างๆ
                4. เพื่อดูความเหมาะสมของเนื้อหาวิชาและหลักสูตรว่าเหมาะสมกับผู้รับการอบรมหรือเปล่า
                5. เพื่อดูผลสำเร็จของผู้เข้ารับการอบรมว่าเข้าใจและพัฒนาศักยภาพหลังจากอบรมหรือไม่
                6. เพื่อตรวจสอบการดำเนินการ อุปกรณ์  วิทยากร เจ้าหน้าที่ หรือผู้ประสานงานการฝึกอบรมเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ
             วัตถุประสงค์การประเมินผลการอบรมตามแนวคิดของ ทนง ทองเต็ม เห็นว่าโดยปกติแล้ว การประเมินผลการฝึกอบรมนั้นก็เพื่อที่ต้องการจะทราบว่า
    1. ผู้เข้าอบรมมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางด้านความคิด อันได้แก่ ความรู้ ความเข้าใจ ความชำนาญ และความสามารถ ในการประเมิน วิเคราะห์ และสังเคราะห์เพียงใด
    2. ผู้เข้าอบรมมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางด้านความรู้สึก เช่น ความสนใจ ทัศนคติ ความเชื่อ ค่านิยม ในทิศทางใด ระดับใด
    3. ผู้เข้าอบรมมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางด้านการประพฤติปฏิบัติ ตลอดจน ผลการปฏิบัติงานภายหลัง การฝึกอบรมอย่างไร และเพียงใด
    4. การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวข้างต้นเป็นการเปลี่ยนแปลงซึ่งผู้รับผิดชอบการฝึกอบรมต้องการให้เปลี่ยนแปลงหรือไม่ และได้ผลดีกว่า การเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีการอื่นหรือไม่
    5. การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงเพียงชั่วคราวเท่านั้น
คุณภาพของการประเมิน
                การประเมินผลจะให้ได้ผลนั้น จะต้องมีความเข้าใจว่า ต้องการผลมาเพื่อการแก้ไขปรับปรุงการดำเนินงานและไม่ใช่เพียงแต่บอกว่าดี ไม่ดี พอใช้  แต่จะต้องกำกับให้การประเมินผลตรงเป้าหมาย เชื่อถือได้ความสมบรูณ์หรือวัดอย่างเพียงพอที่จะนำมาปรับปรุงงานได้
                ระดับของการประเมินผลอาจแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ
      1.  ระดับที่ตั้งเป้าหมายพื้นฐานว่าความรู้ที่เพิ่มขึ้น หรือความเจริญก้าวหน้าของผู้ได้รับการฝึกอบรมที่พอใจนั้นอยู่ที่ไหน ระดับไหน
      2.  การประเมินกระบวนการฝึกอบรมที่ใช้หรือวิธีการดำเนินการฝึกอบรม ว่าถูกต้องตามหลักทฤษฎีและวิธีดำเนินการส่งเสริมหรือไม่
      3.  ประเมินวิธีการสอนของวิทยาการแต่ละคน แต่ละกลุ่มว่าได้ผลดีไม่ดีเพียงไร ที่ดีจะได้เอาไว้เป็นแบบอย่าง
      4.  ประเมินความรู้ที่เพิ่มขึ้นหรือความก้าวหน้าของผู้รับการฝึกอบรม ว่าความรู้ของผู้เรียนที่ได้เพิ่มขึ้นจากการเรียนหรือการฝึกอบรมมากน้อยเพียงใด
ส่วนประกอบที่สำคัญของการประเมินผล
          การประเมินผลทางการอบรม คือการนำผลของความแตกต่างของระดับพฤติกรรมของผู้รับการฝึกอบรมและก่อนอบรม  ความสำคัญที่จะต้องกำหนด คือ
      1.  การตั้งระดับหรือเกณฑ์ สำหรับการอบรมแต่ละครั้งว่าระดับไหนหรือแค่ไหนจึงจะถือว่าเป็นความก้าวหน้าของการดำเนินการ
      2.  การวางแผนการประเมินผลการดำเนินการอบรม
      3.   การประเมินวิธีการฝึกอบรมแต่ละวิธี แต่ละเรื่อง ว่าจะใช้วิธีอะไรบ้าง อย่างไร
      4.   การประเมินผลความก้าวหน้าของการเรียนรู้ของผู้เข้าร่วมฝึกอบรม หรือารบรุถึงระดับความสำเร็จในการเรียนรู้ของผู้เข้าร่วมฝึกอบรม ว่าบรรลุที่แท้จริงหรือไม่
ระยะประเมินผลการฝึกอบรม
                ทำได้ 3 ระยะ คือ
                1. ก่อนการฝึกอบรม
                2. ระหว่างการฝึกอบรม
                3. ภายหลังการฝึกอบรม
     1. การประเมินผลก่อนการฝึกอบรมต้องทำการประเมินในสิ่งต่างๆว่าได้มาตรฐาน สูง ต่ำเป็นที่พอใจหรือไม่อย่างไร
     2. การประเมินผลระหว่างการฝึกอบรม มีความมุ่งหมายดังนี้
                - ต้องการทราบว่าการจัดการอบรม ผู้อบรม ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่เพียงใด
                - ต้องการทราบว่าผู้เข้ารับการอบรมเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากเดิมไปอย่างไรบ้าง
                - ต้องการทราบว่าผู้เข้ารับการฝึกอบรมบกพร่องในจุดประสงค์ใด ต้องได้รับการช่วยเหลือในการเรียนรู้อย่างไรบ้าง
                - เพื่อหาแนวทางการปรับปรุงแก้ไขการอบรม ของผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่มหรือจัดการอบรมซ่อมเสริม
                - เพื่อการปรับวิธีการสอน วัสดุการเรียนการสอนสถานที่อบรม บรรยากาศการฝึกอบรมหรือข้อบกพร่องในการจัดการฝึกอบรม เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น
     3. การประเมินผลหลังการฝึกอบรม คือ การประเมินภายหลังโครงการฝึกอบรมได้สิ้นสุดลง เป็นการประเมินผลรวม มีความมุ่งหมายเพื่อศึกษาผู้เข้ารับการอบรมได้รับความรู้เพิ่มเติมเพียงไร มีความรู้อยู่ในเกณฑ์ใด ดี พอ ใช้ หรือยังใช้ไม่ได้จะต้องปรับปรุงการสอน วิธีการฝึกอบรมโดยส่วนรวมหรือเฉพาะเรื่องเฉพาะวิชาอย่างไรหรือไม่
การประเมินทั้ง 3  ระยะ จะประเมินด้านต่างๆเหมือนกัน  ดังนี้    
    1.  สถานภาพการฝึกอบรม  เช่น  บรรยากาศ  ความเหมาะสมของอาคารสถานที่  เป็นต้น
    2.  วิทยากรผู้ทำการฝึกอบรม
    3.  ผู้เข้ารับการฝึกอบรม
    4.  หลักสูตรที่ทำการอบรม
    5.  สิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆในการฝึกอบรม
ลักษณะที่ดีของการวัดและประเมินผล
     1.  ยึดจุดประสงค์เป็นหลัก
     2.  ควรดำเนินการทั้ง 3 ช่วง
     3.  ควรปรับปรุงเครื่องมือการวัดอยู่เสมอ
     4.  แก้ไขข้อบกพร่องสำหรับผู้เข้าอบรมที่ต่ำกว่าเกณฑ์
     5.  นำผลที่ได้มาปรับปรุงการอบรม
ขั้นตอนและวิธีการในการประเมินผลการฝึกอบรม
   ขั้นตอนในการประเมินผลการฝึกอบรม
   ขั้นที่ 1   กำหนดวัตถุประสงค์การประเมิน
ข้อมูลที่จะนำมากำหนดเป็นวัตถุประสงค์ของการประเมินมาจาก วัตถุประสงค์ของการฝึกอบรม รวมกับ สิ่งที่ผู้บังคับบัญชาต้องการทราบ แล้วสรุปเป็นวัตถุประสงค์ของการประเมิน
   ขั้นที่ 2   ขั้นวางแผนการประเมิน
          ในขั้นนี้เป็นการนำวัตถุประสงค์ของการประเมินผล มากำหนดเป็นแผนการประเมิน 6 ขั้นตอน ได้แก่
    1)  กำหนดประเภท หรือ ระดับการประเมินที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การประเมิน
    2)  กำหนดคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องการทราบ
    3)  กำหนดแหล่งที่มา ของข้อมูล
    4)  กำหนดช่วงเวลาจัดเก็บข้อมูล
    5)  กำหนดเทคนิคหรือวิธีการและเครื่องมือในการจัดเก็บข้อมูล
    6)  กำหนดวิธีการ วิเคราะห์ข้อมูล
    ขั้นที่ 3  จัดเตรียมเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผล
คุณสมบัติที่ดีของเครื่องมือในการประเมินผล ซึ่งได้แก่
               1. ความเที่ยงตรง (Validity) หมายถึง ความสามารถในการวัดสิ่งที่เราต้องการจะวัดหรือประเมิน ไม่คลาดเคลื่อน เป็นการวัดสิ่งอื่น
              2. ความเชื่อมั่น (Reliability) หมายถึง ความเชื่อถือได้ว่าเมื่อนำเครื่องมือนั้นไปวัดแล้วนำไปวัดอีกกี่ครั้งก็ตาม ก็จะได้ผลลัพธ์คงที่ไม่เปลี่ยนแปลง
              3. ความเป็นกลางปราศจากอคติ (Objectivity) หมายถึง การที่จะไม่ลำเอียงหรือมีแนวโน้มที่จะคล้อย ตามไปทางใดทางหนึ่ง
              4. ความเหมาะสมที่จะนำไปใช้ (Practicability) หมายถึง ความสะดวกและเหมาะสมที่จะนำไปใช้ ทั้งในด้านเวลา ค่าใช้จ่าย และความคล่องตัว จนเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
              5. ความง่าย (Simplicity) หมายถึง การง่ายต่อความเข้าใจ ง่ายในการนำไปใช้งาน และง่ายในการดำเนินการเกี่ยวข้อง
       ขั้นที่ 4   ขั้นปฏิบัติตามแผน
เมื่อได้จัดเตรียมเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินแล้ว จึงเป็นการลงมือปฏิบัติตามแผน คือ ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล เช่น การสอบถามด้วยแบบสอบถาม หรือ การสัมภาษณ์ ตามช่วงเวลาที่ได้กำหนดไว้
       ขั้นที่ 5   ขั้นการวิเคราะห์ข้อมูลและสรุปรายงานการประเมินผล
       วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลตามลักษณะของเครื่องมือและเทคนิควิธีการประเมินได้ 4 วิธี             
   1. การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถาม
       1.1 เมื่อรวบรวมข้อมูลได้จากแบบสอบถามซึ่งมีลักษณะเป็นข้อคำถามแบบให้เลือกคำตอบหลายๆ คำตอบ และมีลักษณะ ของคำตอบแบบที่สามารถเรียงเป็นคะแนนตามลำดับความสำคัญได้ ดังที่ใช้กันในแบบประเมินโครงการหรือแบบประเมินรายวิชานั้น ผู้รับผิดชอบควรจะต้องนำข้อมูลที่ได้ไปเทียบค่าคะแนน แจงนับความถี่(Tally) และวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ ได้แก่ ค่าเฉลี่ย หรือที่เรียกว่าค่ามัธยมฐานเลขคณิต(Arithmetic Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน(Standard Deviation) เพื่อจะนำผล การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ไปเขียนเป็นรายงานสรุปต่อไป
       1.2 การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามแบบให้เลือกคำตอบโดยไม่จัดเรียงตามลำดับคะแนนความสำคัญ การวิเคราะห์ข้อมูลอาจทำได้ในลักษณะการเปรียบเทียบอัตราส่วนเป็นร้อยละ และอาจนำเสนอข้อมูลในรูปของตารางไขว้ (Cross Tabulations)ต่อไป
       1.3 การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามที่ให้ผู้ตอบเลือกคำตอบในลักษณะของการเปรียบเทียบก่อน-หลังการอบรม -สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ในลักษณะการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของคะแนนก่อนการอบรม และ ค่าเฉลี่ยของคะแนนหลังการอบรม และผลต่างของคะแนนก่อน-หลังการอบรม เพื่อจะสรุปรายงานโดยใช้ผลต่างของค่าเฉลี่ยของคะแนนก่อน-หลังการอบรมเป็นสำคัญ
        1.4 การวิเคราะห์ข้อมูลในกรณีแบบสอบถามเป็นคำถามปลายเปิด (Opened-ended Questions) อาจทำได้ด้วยการจัดหมวดหมู่และแยกประเภทข้อมูล และอาจดำเนินการแจกแจงความถี่ (Tally)ข้อมูล แล้วอาจคำนวณหาค่าร้อยละเพื่อนำเสนอเป็นรายงานต่อไป
      2. การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากแบบทดสอบก่อน-หลังการอบรม เป็นการวิเคราะห์ว่าความแตกต่าง ระหว่างผลการทดสอบ ก่อนการอบรม กับ หลังการอบรม มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจว่า คะแนนก่อน-หลังการอบรมมีความแตกต่างกันจริง และได้มีการเรียนรู้เกิดขึ้นจริง
      3.  การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการสอบถามหรือสัมภาษณ์เพื่อประเมินพฤติกรรมในการทำงาน ถึงแม้ว่าจะเป็นการใช้แบบ สอบถาม หรือแบบสัมภาษณ์ ซึ่งมีข้อคำถามให้เลือกหลายข้อแบบที่สามารถเรียงตามลำดับคะแนนได้  แต่ข้อมูลที่ได้เป็นข้อมูลซึ่งมักจะเป็นข้อมูลเชิงทัศนคติ หรือความคิดเห็น ซึ่งแตกต่างจากข้อมูลทั่วไป เมื่อแจงนับ ความถี่ของข้อมูลที่รวบรวมได้แล้ว จึงต้องทำการวิเคราะห์เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมก่อน-หลังการอบรมของผู้เข้าอบรมว่า มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติหรือไม่ โดยการใช้ค่า ไค-สแควร์ (chi-square)ช่วยในการวิเคราะห์
      4. การวิเคราะห์ข้อมูลในลักษณะของการประเมินผลลัพธ์ของการฝึกอบรม -หากทำสำรวจหาข้อมูลด้วยการสอบถาม หรือสัมภาษณ์ ซึ่งมีข้อคำถามลักษณะเดียวกับแบบต่างๆดังที่ได้ กล่าวมาแล้วข้างต้น ก็สามารถทำการวิเคราะห์ข้อมูล ในลักษณะเช่นเดียวกัน แต่ถ้าเป็นกรณีที่ทำการประเมินผลลัพธ์ของการฝึกอบรมด้วยวิธีการวิจัยเชิงทดลองโดยใช้กลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุม วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลจะขึ้นอยู่กับว่า เป็นการวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่าง
รายงานการประเมินผลการฝึกอบรม นั้น  ประกอบด้วย
              1. ชื่อการฝึกอบรมที่ประเมิน
              2. วัตถุประสงค์ของการประเมินผล
              3. วิธีการประเมินผล
                  3.1 ขอบเขตในการประเมินผล
                  3.2 วิธีการเก็บข้อมูล
                  3.3 วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลหรือสถิติที่เกี่ยวข้อง
              4. ผลการวิเคราะห์ข้อมูล
                  4.1 สรุปผลการวิเคราะห์ข้อมูลในประเด็นต่าง ๆ โดยอาจอยู่ในรูปของตารางพร้อมการอธิบายความ
            5. สรุปและข้อเสนอแนะ
                  5.1 สรุปผลการประเมินโดยส่วนรวมทั้งหมด
                  5.2 ข้อดี และข้อควรปรับปรุง
                  5.3 ข้อเสนอแนะจากผู้ประเมิน และหรือผู้รับผิดชอบการฝึกอบรม
              6. ภาคผนวก
                  6.1 รายละเอียดโครงการฝึกอบรม
                  6.2 รายชื่อผู้เข้าอบรม/ตำแหน่ง/หน่วยงานที่สังกัด (รวมทั้งสถิติการเข้าอบรม)
                  6.3 รายชื่อวิทยากร
                  6.4 แบบประเมิน หรือเครื่องมืออื่น ๆ ที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล
                  6.4 คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการฝึกอบรม หรือ ที่ปรึกษาการฝึกอบรม
                  6.5 เอกสารอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
วิจิตร   ธาระกุล   ( 2537 ). การฝึกอบรม.  พิมพ์ครั้งที่ 1.  ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ดร.นิรชรา  ทองธรรมชาติและคณะ  ( 2544 ). กลยุทธ์การฝึกอบรมและวิทยากรในยุคโลกาภิวัตน์ .
พิมพ์ครั้งที่ 1 . บริษัท ลินคอร์น โปรโมชั่น จำกัด

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13529เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2006 22:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 12:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท