แกล้งให้งาน


เรียนรู้จริง หลักฐานปรากฏใน Portfolio
วันนี้ปิด course ด้วยงานโชว์ e-portfolio ของผู้เรียน เพื่อการประเมินวิชา การประเมินคุณภาพการศึกษา (153513)   ระดับปริญญาโท นิสิตบางคนยังคงหลุดปากคำว่า Portfolio ว่า แฟ้มสะสมงาน  ครูภาวิณี ขอไว้ว่า ครูไม่ชอบคำแปลคำนี้ ขอให้ใช้คำว่า แฟ้มผลงาน ถ้าเราจะโชว์ผลงานที่บรรจงทำและคัดสรรด้วยความประณีต   หรือ เรียกว่าแฟ้มพัฒนาการเรียนรู้ เรื่อง ...... ถ้าต้องการแสดงให้เห็นกระบวนการพัฒนางานและผลสำเร็จที่ปรากฏ  จะเป็นเอกสารที่แสดงการเรียนรู้ของตนเองพร้อมที่จะเอื้อเฟื้อสิ่งที่เรียนรู้กับคนอื่นที่สนใจ            สำหรับวิชา 153513 เราได้ทำข้อตกลงระหว่างครูกับลูกศิษย์ที่เรียนตั้งแต่ชั่วโมงแรกว่า วันสุดท้าย ทุกคนจะแสดงให้เห็นการเรียนรู้ตามความคาดหวังของรายวิชานี้  และให้ครู เพื่อนประเมิน และผู้สนใจร่วมประเมินว่าผู้เสนอการเรียนรู้สมควรได้รับระดับการเรียนรู้วิชานี้ A  หรือ B  หรือ  C หรือ ? เราจะเรียกเอกสารนี้ว่า แฟ้มพัฒนาการเรียนรู้เพื่อการประเมินวิชาประเมินคุณภาพการศึกษา (153513)  สำหรับปีนี้ เราได้เรียนรู้เทคนิคทางคอมพิวเตอร์มากพอสมควรแล้ว เราจำนำเสนอเป็น e-Portfolio และขอให้แสดงถึงความเป็นนิสิตปริญญาโทที่พร้อมเป็นนักประเมินมืออาชีพอย่างสมภาคภูมิ           วิชานี้ 2 หน่วยกิต แต่เราต้องเร่งรัดตัวเราให้เรียนรู้อย่างจริงจัง ครูจะเป็นผู้ช่วย  (ช่วยชี้  ช่วยแนะ ชวนอ่าน  ทวงงาน  แกล้งสั่งเพิ่ม  )  ครูบอกนิสิตให้ใช้หลักเศรษฐศาสตร์มาจับ จะเห็นว่า ปริมาณที่มาก คุณภาพที่คับแก้ว เมื่อเทียบกับค่าลงทะเบียน 2 หน่วยกิต คุ้มสุดคุ้ม เป็นการทำให้มูลค่าเพิ่มทางการศึกษา ( คำนี้ดูใหม่ อาจจะตีความ เพี้ยนได้)          เหตุการณ์ที่ตั้งใจจะเล่า ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในห้องเรียนที่นิสิตขาดเรียน 2 คน ครูคิดหาเรื่องแกล้งเขา ให้ไปถอดเทปการบรรยายของครู เพียงหวังว่า อย่างน้อยเขาจะได้รู้จากการฟังว่ามีอะไร  แทนการถ่ายเอกสาร lecture note จากเพื่อนตามความเคยชินของนักเรียนยุคใหม่ เครื่องถ่ายพร้อมทุกมุมตึก แผ่นละ 50 สตางค์ ถูกแสนถูก  บางคนไม่รู้สึกเสียดายกับสิ่งที่ถ่ายมาแล้วไม่ได้อ่านเลย            ผลการแกล้งของครู ลูกศิษย์เอาจริง ถอดเทป เรียบเรียง และขยายความ  รู้เลยว่าทำเอง เพราะหลักฐานในอนุทินที่อยู่ใน portfolio เล่าถึงกระบวนการไปค้น ได้รายละเอียด ดังนี้ ..............  เจ้าของทฤษฎีที่ปรากฏ หน้าตาเป็นอย่างนี้  เอารูปและประวัติมาฝากเพื่อนได้รู้จัก     โอ้! เอาจริง  เขาบอกว่า เขาระลึกถึงคำพูดของอาจารย์ว่า จะอ้างถึงใคร เราต้องรู้จักและศรัทธาในความรู้ที่เขาสร้าง ทฤษฎีที่เขาพบ  ไม่ใช่คัดลอกตามกันมาหลายทอด  บางครั้งลอกผิด ๆ ยังไม่รู้อีก           การเสนอ e-portfolio ของนิสิตวันนี้  ได้รับคำชมจากอาจารย์ต่างภาควิชาที่รับคำเชิญมาร่วมเป็นประจักษ์พยาน ว่านิสิตเรียนรู้จริง หลักฐานปรากฏใน Portfolio  ครูรู้สึกขอบคุณนิสิตที่เอาจริงกับการเรียนรู้ของตัวเอง สมเป็นผู้ใหญ่ที่ครูจะฝากความไว้วางใจให้เป็นผู้นำน้อง ๆ และเยาวชนของชาติต่อไป  อยากบอกว่า วันนี้ครูมีความสุขมาก
หมายเลขบันทึก: 134699เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2007 02:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 21:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

สวัสดีคะอาจารย์

ดีใจคะที่อาจารย์เขียนบันทึกให้อ่านอีก ตามมาอ่านมาตามเก็บสิ่งดีๆ อ่านแล้วได้ประโยชน์มากคะ ขอบพระคุณอาจารย์นะค่ะ

สวัสดีครับครับอาจารย์

          ผมรู้สึกดีใจมากครับสำหรับคำติและคำชมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเรียนรู้ของตนเอง ที่อาจารย์มอบหมายงานให้ทำ แฟ้มพัฒนาการเรียนรู้ ในวิชาวิจัยสถาบัน พึ่งทราบจากอาจารย์วันนี้ว่า อาจารย์ใช้คำว่า "แกล้งให้งาน" จริงๆแล้วผมมีโอกาสเห็นทั้งเพื่อนและน้องๆแทบทุกคนตื่นตัวกับการทำ Potfolio แม้จะออกมาเป็นผลงานที่ยังไม่สมบูรณ์นัก แต่ก็เป็นงานที่พวกเราทุกคนตั้งใจทำอย่างเต็มที่ และก็ได้รับคำแนะนำให้พัฒนาให้มีผลงานดียิ่งขึ้นต่อไป

        ผมอยากให้อาจารย์แกล้งให้งานอย่างนี้บ่อยๆจังครับ เพราะทำให้รู้สึกว่าได้เรียนรู้จากงาน และได้เข้าใจในงานเพิ่มมากขึ้น ขอบพระคุณอาจารย์มากครับ

       

นิสิตวิจัยและประเมินผลการศึกษา ภาคพิเศษ รุ่น 2 ค่ะ  แอบมาเรียนรู้ประสบการณ์การทำ Portfolio ของรุ่นพี่ตามที่อาจารย์แนะนำค่ะ

นางสาวสุกัญญา นิ่มพันธุ์

สวัสดีค่ะอาจารย์

ตอนนี้โรงเรียนใกล้เลิกเรียนแล้วมานั่งเปิดเน็ตอ่านไปเรื่อย ๆ จนมาเจอสิ่งที่อาจารย์แนะนำให้มี สุ จิ ปุ ลิ มากๆ จึงจะเกิดการเรียนรู้ ขอบคุณค่ะอาจารย์

 

สวัสดีค่ะอาจารย์

นิสิตปริญญาโทวิจัยและประเมินผลการศึกษา (ภาคพิเศษ) ปีที่ 1 อ่านงานของอาจารย์แล้ว ได้ข้อคิดนำไปประขุกต์ใช้กับตนเองได้ค่ะ

จิรประวัติ ศรีวัฒนทรัพย์

ผมมีความคิดเห็นเดียวกับอาจารย์ครับในส่วนของความคุ้มค่าในการเรียน  มูลค่าเพิ่มทางการศึกษา ผมดีใจมากที่มีโอกาสเรียนกับอาจารย์ที่มีประสบการณ์แล้วสามารถทำให้ศิษย์พัฒนาตนเองด้วยกระบวนการแฟ้มพัฒนาการเรียนรู้ นำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานได้ตลอดชีวิต

ณัฏฐ์พิชา จันทร์ศรี

สวัสดีค่ะอาจารย์

ขอบพระคุณอาจารย์ ที่มีวิธีการให้งานนิสิตและคำแนะนำจากอาจารย์มีประโยชน์มากต่อการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะตอนนี้หัวหน้างานก็ใช้วิธีให้รายงานผลการปฏิบัติงานแต่ละสัปดาห์ส่งให้ทางอีเมลล์ทุกวันศุกร์ เพื่อฝึกการใช้เทคโนโลยี

สวัสดีค่ะ

   หนูได้มีโอกาสเข้ามาอ่านอยู่บ้างแล้วแต่ยังไม่เคยได้เข้ามาแสดงความคิดเห็น แต่วันนี้มีโอกาสค่ะ  จากที่อ่านเรื่องนี้แล้วและเป็นผู้อยู่ในห้องเรียนในรายวิชานี้ด้วย จะเห็นได้ว่าหลังจากที่อาจารย์ได้ "แกล้งให้งาน" เพื่อนๆไปนั้นเขาได้ทำการศึกษาค้นคว้าในเรื่องนี้อย่างจริงจัง  และปรับปรุงแก้ไขงานจากข้อเสนอแนะของอาจารย์  ทำให้เขาเรียนรู้กับงานชิ้นนี้ด้วยความสามารถของตนเอง  หนูจึงคิดว่าวิธีการให้งานของอาจารย์ในครั้งนี้ เป็นวิธีที่มีประโยชน์มาก  ทำให้ได้รับทั้งความรู้และประสบการณ์จากการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมอีกด้วย

 

สวัสดีค่ะอาจารย์

    หนูเองก็คือคนที่อาจารย์แกล้งให้งาน แต่การแกล้งให้งานครั้งนี้ก็ได้ผลดีมากค่ะ เพราะเราได้ฟังเอง ได้เรียนรู้เพิ่มขึ้น ซึ่งดีกว่าการcopy สมุดของเพื่อน อยากให้อาจารย์ได้ใช้วิธีนี้ต่อไป เป็นวิธีที่ดี ส่วนการทำe-portfolioนั้นก็ขอบคุณอาจารย์มากค่ะ จากการทำทำให้ได้เรียนรู้การใช้เทคโลยีมาใช้ในการทำportfolioให้น่าสนใจ เพราะสามารถปรับปรุงงานได้ตลอด ทำให้portfolioเราทันสมัยอยู่เสมอ

    

สวัสดีครับอาจารย์

คำว่า "มูลค่าเพิ่มทางการศึกษา" เป็นคำใหม่ที่อาจารย์บอกจริง ๆ และจำได้ว่าผมเคยได้ยินมาครั้งหนึ่งถึงที่มาของคำนี้ จากพี่วรยศ นิสิต ป.เอก สาขาการวิจัยและประเมินทางการศึกษา รุ่นแรก ได้เคยอธิบายให้ฟัง คำว่า "มูลค่าเพิ่มทางการศึกษา" ซึ่งผมไม่ทราบว่ามีนักการศึกษาได้เคยให้คำนิยามคำคำนี้ไว้บ้างหรือไม่ แต่ด้วยสายตาของนักสถิติและนักเศรษฐศาสตร์ซึ่งกำลังจะเป็นนักวิจัยในอนาคต ของพี่วรยศแล้วคำคำนี้ช่างมีความหมายเหลือเกิน ลองคิดดูนะครับว่าเพราะเหตุใดนักเรียนจึงพยายามที่จะเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนชื่อดัง มากกว่าที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนประจำอำเภอในต่างจังหวัด จะเป็นด้วย "มูลค่าเพิ่มทางการศึกษา" ที่แตกต่างกันระหว่างสองโรงเรียนนี้หรือเปล่า

และประเด็นคำถามว่า portfolio คืออะไร ผมก็ถูกอาจารย์ถามในห้องเช่นเดียวกัน และมองเห็นความแตกต่างแล้วครับระหว่างความทรงจำเดิมที่ว่า portfolio คือ แฟ้มสะสมงาน คำนี้ได้มาจากตำราบ้าง วิทยากรที่เป็รศึกษานิเทศก์บ้างทำให้ผมซึ่งเป็นครูเข้าใจอะไรที่มันไม่ชัดเจน แต่เมื่ออาจารย์บอกว่าให้ใช้คำว่า "แฟ้มผลงาน" แทนและอธิบายต่ออีกมากมายทำให้ผมเข้าใจแล้วครับว่าจริง ๆ แล้ว portfolio คืออะไร และจะพยายามทำ portfolio ของตนเองให้ดีที่สุดครับ

ในหน่วยงานมักจะใช้คำว่า "แฟ้มสะสมผลงาน" ทำให้ติดที่จะเรียกคำนั้น แต่เห็นด้วยกับอาจารย์เป็นอย่างยิ่งว่า ไม่ใช่แฟ้มสะสมงาน แต่เป็นแฟ้มที่สะสมการพัฒนาของผู้เก็บเอง การเปลี่ยนแปลงความหมายของคำคงต้องเริ่มจากกลุ่มเล็ก ๆ ก่อนแล้วค่อยขยายผลไปสู่กลุ่มใหญ่ต่อไป และหวังว่าสังคมจะเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้องในเร็ววัน (จะรอวันนั้นค่ะ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท