การเรียนรู้ตลอดชีวิตกับชาวนา (๑๒)


การเรียนรู้ตลอดชีวิตกับชาวนา (๑๒)


           ขอนำรายงานของมูลนิธิข้าวขวัญ ตอนที่ ๑๒ มาลงต่อนะครับ     คราวนี้เป็นเรื่องการไปดูดซับ (capture) ความรู้จากภายนอก    มองอีกมุมหนึ่ง เป็นกิจกรรม เพื่อนช่วยเพื่อน (peer assist) กลายๆ      โปรดสังเกตว่านักเรียนชาวนาเตรียมการณ์ไปดูดซับความรู้อย่างเป็นระบบ  มีการจัดทีมและแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน    มีการเตรียมคำถามไว้ล่วงหน้า     วางแผนกลับมาย่อยความรู้และแบ่งปันกันต่อที่สุพรรณบุรี 


ตอนที่  12  จากสุพรรณจรไกลไปพิจิตร
     กิจกรรมการศึกษาดูงานของโรงเรียนชาวนาเกิดขึ้นบ่อยครั้ง  ทั้งนี้ก็เพื่อให้นักเรียนชาวนาได้มีโอกาสไปเรียนรู้จากแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ  สำหรับในการศึกษาดูงานครั้งนี้  ได้นำพาให้ชุมชนชาวนาในจังหวัดสุพรรณบุรีไปพบปะพูดคุยกับชุนชนชาวนาในจังหวัดพิจิตร 
     ในช่วงเดือนตุลาคม  2547  ที่พึ่งผ่านมานี้  โรงเรียนชาวนาบ้านดอน  อำเภออู่ทอง  รวมกลุ่มเดินทางไกลไปหาความรู้เรื่องการเกษตร  โดยเป็นความต้องการและความคาดหวังของนักเรียนชาวนาที่ต้องการจะเรียนรู้เรื่องข้าว  โดยชี้เฉพาะเจาะจงในประเด็นสำคัญอันได้แก่  เรื่องการคัดพันธุ์ข้าวและขยายพันธุ์ข้าวโดยอาศัยภูมิปัญญาชาวบ้าน  การไปดูถึงแหล่งตัวอย่างที่ดีที่จังหวัดพิจิตร  ย่อมเกิดการเชื่อมความสัมพันธ์กิจกรรมที่ดีระหว่างกันด้วย  ระหว่างกลุ่มนักเรียนชาวนากับเครือข่ายชาวนาในชุมชนต่างทั่วประเทศ  นักเรียนชาวนาจึงได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีการรวมกลุ่มชาวนา  อย่างไรจึงจะเข้มแข็ง?  กลุ่มชาวนาจะสามารถร่วมกันจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ได้
     นอกจากนี้  การไปเรียนรู้ก็มีการจัดแบ่งกลุ่มกันรับผิดชอบงานในแต่ละประเด็น  อันจะทำให้นักเรียนชาวนาฝึกทักษะกระบวนการกลุ่มไปด้วยในตัว  เพราะกลุ่มใหญ่ก็ใหญ่ไป  ไม่สะดวก  จึงจัดกันเป็นกลุ่มย่อย  แบ่งกันศึกษาหาความรู้  แล้วค่อยนำความรู้ที่ได้มาเล่าสู่กันฟัง 
     กลุ่มย่อยมีทั้งหมด  8  กลุ่ม  และแบ่งประเด็นแยกกันไปศึกษา  ดังนี้
     กลุ่มที่  1  ศึกษาชนิดของพันธุ์ข้าวนาปรังนาปีของจังหวัดพิจิตร
     กลุ่มที่  2  ศึกษากรรมวิธีในการคัดเลือกพันธุ์ข้าวและขยายพันธุ์ข้าว
     กลุ่มที่  3  ศึกษาการรวมกลุ่มของสมาชิกชาวนา  การทำกิจกรรมและขยายเครือข่าย
     กลุ่มที่  4  ศึกษากิจกรรมเด่นๆของกลุ่มชาวนา
     กลุ่มที่  5  ศึกษาการแปรรูปผลผลิตข้าวในจังหวัดพิจิตร
     กลุ่มที่  6  ศึกษาถึงสถานการณ์ปัจจุบันในการใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยหมักชีวภาพในจังหวัดพิจิตร
     กลุ่มที่  7  ศึกษาความภูมิใจของชาวนาจังหวัดพิจิตร (กิจกรรมใดที่ภูมิใจ) และนักเรียนชาวนามีความประทับใจอะไรบ้างจากการที่ได้มาศึกษาดูงาน
     ทั้งหมดเป็นแผนการจัดการความรู้เพื่อชาวนา  ซึ่งอยู่ในหลักสูตรของนักเรียนชาวนาที่ต้องรู้ต้องศึกษา  และนำมาปรับใช้ในชีวิตจริงได้  การไปศึกษาก็เพื่อให้ได้พบ ได้สัมผัสกับผู้ปฏิบัติจริงคือชาวนากลุ่มก้าวหน้าจังหวัดพิจิตร  รวมทั้งได้เห็นกรรมวิธีคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวและขยายพันธุ์ข้าวปลูกต่างๆ เป็นต้น
     ผลจากการศึกษาของแต่ละกลุ่ม  มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
      กลุ่มที่  1  ศึกษาชนิดของพันธุ์ข้าวนาปรังนาปีของจังหวัดพิจิตร  มีอาจารย์นิพนธ์  คล้ายพุก  เป็นหัวหน้ากลุ่ม
     จากการศึกษาจึงทราบข้อมูลในเบื้องต้นว่า  จังหวัดพิจิตรเป็นจังหวัดอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง  อยู่ท่ามกลางวงล้อมของ  4  จังหวัด  คือ  
         ทิศเหนือ ติดกับ     จังหวัดพิษณุโลก  
         ทิศใต้     ติดกับ     จังหวัดนครสวรรค์  
         ทิศตะวันออก   ติดกับ     จังหวัดเพชรบูรณ์
         ทิศตะวันตก     ติดกับ     จังหวัดกำแพงเพชร
     จังหวัดพิจิตร  มีความหมายว่าเมืองงาม  เดิมชื่อโอฆะบุรี  เป็นถิ่นกำเนิดของพระสรรเพชรที่  8  หรือที่ประชาชนรู้จักกันในนามพระเจ้าเสือ  กษัตริย์องค์ที่  31  แห่งกรุงศรีอยุธยา  พิจิตรอยู่ห่างจากสุพรรณบุรี  ประมาณ  344  กิโลเมตร  มีพื้นที่ทั้งจังหวัดประมาณ  4,531,013  ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 12 อำเภอกับอีก 3 กิ่ง
     และที่กิ่งอำเภอบางนารางนี่เอง  เมื่อเวลา 07.40  น.  ของวันที่  24  ตุลาคม  2547  กลุ่มนักเรียนชาวนาบ้านดอน  ทั้งห้อง  ก  และห้อง  ข  ได้ถึงจุดหมายที่นัดไว้คือ  บ้านเลขที่  81/1  เป็นบ้านของคุณมนูญ  มณีโชติ  ซึ่งคุณมนูญเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของกลุ่มเกษตรยั่งยืนที่มีสมาชิกครบทั้ง  12  อำเภอ  และมีคุณสมศักดิ์  สภาพร   คุณผดุง  เครือบุบผา  และคุณสินชัย บุญอาจ  มาต้อนรับขับสู้ด้วยน้ำจิตน้ำใจไมตรีอันดี

                   
  ภาพที่  61  การไปศึกษาดูงานเรื่องกลุ่มเกษตรกรที่จังหวัดพิจิตร  ถือเป็นแหล่ง การเรียนรู้อีกแหล่งหนึ่ง
  ภาพที่  62  คุณมนูญ  มณีโชติ  เจ้าของบ้านทักทายนักเรียนชาวนา

     การนำเสนอข้อมูลต่างๆของคุณมนูญได้ใช้กุศโลบายเอาความเชื่อถือในวัฒนธรรมของชาวนามาชักนำโน้มน้าว  จนทำให้เกิดพลังแห่งการรวมกลุ่ม  นับเป็นยุทธวิธีที่ชาญฉลาด  แม้ตรงประเด็นนี้จะเป็นประเด็นที่ดี  แต่ไม่ใช่เป็นคำตอบเป้าหมายของกลุ่มที่ 1 เพราะได้รับมอบหมายให้มาค้นหาคำตอบว่า  ชนิดของพันธุ์ข้าวชาวนาพิจิตรมีพันธุ์ใดบ้าง  และที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน  คำตอบนั้น     อยู่ที่...
     คุณสมศักดิ์  สุภาพร  หนึ่งในคณะกรรมการของกลุ่มเกษตรยั่งยืนเปิดเผยว่า  เฉพาะสมาชิกในตำบลบางนารางมีทั้งหมด  115  คน มีจำนวนพื้นที่ทำนา  715  ไร่  มีทั้งการทำนาปีและนาปรัง เฉพาะนาปรังเริ่มทำเมื่อ  3  ปีที่แล้วนี่เอง  (พ.ศ.2544)  เมื่อก่อนจะทำเพียงแค่นาปี เพราะพิจิตรเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ  ถึงเวลาหน้าน้ำหลากน้ำจะมาเร็วมาก  จึงต้องใช้พันธุ์ข้าวที่หนีน้ำเก่ง ไม่ว่าน้ำจะสูงแค่ไหนรับรองได้ว่าน้ำไม่ท่วมรวงข้าวแน่
     นาปรังเริ่มทำเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา  ทำบนพื้นที่ดอน แก้ไขได้โดยวิธีขุดบ่อน้ำบาดาล  ในขณะนี้ใช้น้ำบาดาลปลูกข้าวถึง  35  บ่อ  ลงทุนบ่อละ  3,000  - 10,000  บาท  พันธุ์ข้าวปรังเริ่มแรกใช้พันธุ์ข้าว  กข.6 ,  กข.7 ,  กข.11  และ  กข.21 (กข.  ย่อมาจากคำว่า  กองข้าว  ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในสมัยนั้น)  ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นพันธุ์พวงทอง พันธุ์โพธิ์แก้ว  พันธุ์สุพรรณบุรี  1        ในปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนมาเป็นพันธุ์เหลืองทอง  สำหรับข้าวนาปีนั้น  ก็ยังทำอยู่เหมือนเดิม  ผลผลิตจะมีเพียงพันธุ์เหลืองทองเท่านั้น  ซึ่งได้ไร่ละเกิน 1 เกวียน ส่วนนอกเหนือจากนั้นยังไม่ได้ไม่เท่า  
     การเรียนรู้ของนักเรียนชาวนาบ้านดอนยังไม่หมดสิ้น  พอฟังบรรยายสรุปจากคุณมนูญจบแล้ว  ก็เดินทางต่อไปยังบ้านของนายผดุง  เครือบุบผา  บ้านเลขที่  242  หมู่  6  ตำบลหนองคูน  เมื่อถึงที่บ้านหลังดังกล่าวนี้  ก็พบว่าที่หน้าบ้านของคุณผดุงมีกระถางเพาะพันธุ์ข้าวเหลืองทอง  จำนวน  50  กระถาง  วางเรียงกันอยู่พร้อมกองปุ๋ยอินทรีย์  พันธุ์ข้าวที่ปลูกในกระถางกำลังแตกกอและที่ออกรวงแล้วก็มี
     จากการพูดคุยสอบถามประวัติของคุณผดุง เคยผ่านการอบรม วิทยากรกระบวนการ เปลี่ยนแปลงสู่การพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง  มีชื่อย่อว่า  วปอ.  อบรมมาเมื่อปี 2545 ระยะเวลาอบรม  4  คืน  5  วัน  เมื่ออบรมเสร็จก็กลับบ้านมาตั้งเครือข่าย  โดยเริ่มต้นจากมีสมาชิก  จำนวน 20 คน  ใช้ชื่อกลุ่มว่าเกษตรปลอดสารพิษ  จากนั้นก็ศึกษาเรื่องการใช้สมุนไพรในนาข้าวเรื่อยมา
     ความรู้ของคุณผดุงไม่ได้อยู่เฉพาะแปลงนาที่บ้าน  ได้ขยายไปสู่โรงเรียนระดับมัธยมอีกหลายๆโรงเรียนในตำบลบ้านเกิดของตนเอง  ดังตัวอย่างที่โรงเรียนวัดวังไคร้  ตำบลคลองคูน  ซึ่งคุณผดุงได้นำพันธุ์ข้าวเหลืองทองมาปลูกสอนเด็กนักเรียนโดยใช้วิธีดำนา  เป็นแปลงสาธิตบนพื้นที่ ไร่กว่าๆ  วันที่ไปศึกษาดูงานแล้วได้ดูข้าวกำลังอยู่ในระยะพลับพลึงเหลืองอร่าม  มองแล้วช่างงามจับตาจริงๆ
     นับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของการกระจายความรู้ไปสู่เยาวชนเป็นฐานแห่งความมั่นคงของชีวิตเลยทีเดียว  แต่เสียดายที่เวลามีน้อย  แต่ก็คุ้มค่า  สังเกตกลุ่มนักเรียนชาวนาบ้านดอนขณะเดินกลับขึ้นรถ  แต่ละคนล้วนนำพาความรู้จากผืนนามาจนเต็มแน่น  แถมหลายคนยังได้แอบเด็ดรวงข้าวที่เมล็ดโตๆ  ยาวๆ  ใส่กระเป๋ามาอีกคนละรวงสองรวง  
     บทสรุปของกลุ่มที่ 1 ในการมาศึกษาเรื่องพันธุ์ข้าวก็มาจบลงตรงมื้อเที่ยงที่บ้านหนองแก ตำบลหนองพยอม  โดยมีคุณสินชัย และคุณมนูญ เดินทางตามมาสรุปให้ฟังด้วย  การตอบการถามมีหลายแนวหลายความคิด  การแสดงความคิดเห็นของการมองคนละมุมก็มีบ้างเหตุเพราะคำถามมักจะวนเวียน
     ท้ายที่สุดของกลุ่มที่  1  ก็ได้รับความรู้ชนิดของพันธุ์ข้าวที่ชาวนาจังหวัดพิจิตรใช้อยู่  แม้จะไม่มีตัวอย่างมาแสดงให้เห็นถึงความหลากหลาย  ส่วนความแตกต่างระหว่างจังหวัดพิจิตรดีกว่าตำบลบ้านดอน  อำเภออู่ทอง  ก็ตรงที่มีการปลูกทั้งข้าวปีและข้าวปลัง  อีกทั้งข้าวเบา  90  วัน  และข้าวเบานี่แหละที่กำลังเป็นที่นิยมมีการขยายฐานการผลิตเพิ่มมากขึ้น  ในกลุ่มของสมาชิกเหล่านี้ยังไม่อยากจะมองภาพของธุรกิจเป็นตัวตั้ง  เพราะหากตั้งใจจะปลูกข้าวได้มากๆครั้งต่อปีนั้น  นั่นก็หมายถึงจะต้องกลับไปใช้ปุ๋ยและสารเคมีที่นิยมใช้เหมือนอย่างเก่าก่อน  แล้วอะไรจะเกิดขึ้น      ความตั้งใจและแรงใจที่เคยตั้งไว้จะหายไปไหม  ?
      กลุ่มที่  2  ศึกษากรรมวิธีในการคัดเลือกพันธุ์ข้าวและขยายพันธุ์ข้าว  มีอาจารย์พรหม            ภูธรานนท์  เป็นหัวหน้ากลุ่ม  กลุ่มได้ตั้งคำถามเพื่อไปค้นหาคำตอบ  อยู่ด้วยกัน  2  คำถามคือ
         (1)  มีอุปกรณ์อะไรบ้างในการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์  ?
         (2)  มีพันธุ์อะไรบ้างที่คัดเลือกได้แล้วในจังหวัดพิจิตร  ?

               
  ภาพที่  63  กลุ่มศึกษาพันธุ์ข้าว
  ภาพที่  64  เวทีการศึกษาดูงาน  พูดคุยและซักถาม  จากวิทยากรสู่นักเรียนชาวนา

     กรรมวิธีในการคัดเลือกพันธุ์ข้าว  มีดังนี้
     ขั้นตอนที่  1  กรรมวิธีการคัดเลือกพันธุ์ข้าว  เริ่มตั้งแต่การสังเกตต้นข้าวที่จะนำมาคัดทำพันธุ์ต้องเป็นต้นข้าวตั้งตรง  ใบดาบ  ใบตั้งตรงกลม  คอรวงตรงมีล้ม  มีระแง้ถี่  มีเมล็ดติดมากเป็นพวง  ยิ่งนับเมล็ดได้มากยิ่งดี  ต้องไม่เป็นโรค  ความสูงต่ำของต้นแปรไปตามสภาวะ  อย่างเช่น  ปลูกใน  ที่ลุ่มน้ำลึกก็เลือกจากต้นพันธุ์ที่ต้นสูง  ปลูกบนที่ดอน  น้ำไม่ท่วมก็เลือกต้นเตี้ย  แล้วจึงเลือกรวงที่แก่ได้ที่นำมาหรือเก็บเกี่ยวมารวมแขวนไว้  ทั้งรวงเป็นมัดๆพักตัวได้ประมาณ  30  วัน  จากนั้น
     ขั้นตอนที่  2  นำเอารวงข้าวที่คัดไว้นำมาแกะเปลือกออกเป็นเมล็ดข้าวกล้อง  ในแต่ละรวงเลือกเมล็ดตรงกลางๆของรวง  ส่วนโคนรวงและปลายรวงก็ทิ้งไปไม่เอาเมล็ดตรงส่วนนั้น  เตรียมไว้เป็นกำๆ  หรือเป็นลิตรเป็นถังก็ตามแต่สะดวก  ถ้าหากสามารถหาเมล็ดข้าวดีๆได้เพียง  1  เมล็ด ก็จะนำไปขยายได้แตกกอออกมา  บางครั้งก็ได้เป็นร้อยๆกอ ใน 1 กอ  มี 1 รวง และใน 1 รวง  มี  100  กว่าเมล็ด  รวมเมล็ดได้  7  กิโลกรัม  จึงนำไปตกกล้าดำนาได้  1  ไร่
     ขั้นตอนที่  3  คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวกล้องด้วยสายตา  เอาแต่เมล็ดใหญ่ๆยาวๆตรงๆ  เป็นมันขาวสะอาดตา  คัดแยกออกมาเป็นกอง  แยกเมล็ดที่ไม่ต้องการไปไว้อีกกองหนึ่งต่างหาก
     ขั้นตอนที่  4  ในขั้นตอนนี้มีความสำคัญมาก  เพราะใช้แว่นขยายหรือกล้องส่องพระเครื่องส่องขยายดูเมล็ดข้าวกล้อง   เพื่อคัดเลือกเอาที่สุดยอดที่สุดอีกครั้งหนึ่ง  เลือกเมล็ดขาวไม่ขุ่น ไม่เป็นท้องปลาซิว  เมล็ดยาวเป็นมัน  เกลี้ยง  และที่สำคัญจะงอยหรือขาดีดจะต้องเล็กๆ  อย่าให้ขนาดใหญ่  ถ้าขนาดใหญ่โรงสีจะไม่ชอบ  เพราะเมื่อเวลานำข้าวไปสี  เมล็ดข้าวจะแหว่งตรงส่วนหัวมาก  ตอนต้นเมล็ดข้าวจะขาดแหว่งไม่สวยและไม่ได้ราคา จึงต้องเลือกเมล็ดข้าวที่มีจะงอยเล็ก  เมื่อนำไปขยายพันธุ์เมล็ดที่ได้จะเหมือนเมล็ดพันธุ์แม่  97  %
     ขั้นตอนที่ 5  นำเมล็ดพันธุ์ในขั้นตอนที่  4  ซึ่งได้คัดเมล็ดข้าวแช่น้ำนาน  2  คืน  จากนั้นนำขึ้น สงทิ้งไว้อีก 1 คืน จึงนำเมล็ดที่กำลังงอกไปเพาะไว้ในกระทงแกลบเผาผสมทราย นาน  10 – 15  วัน เมล็ดข้าวจะงอกเป็นต้นเขียวขจี  จึงแยกไปใส่กระถางต้นละกระถาง เพื่อให้รากเดินและแตกกอได้เต็มที่
     ขั้นตอนที่  6  ใช้กระถางขนาดปากกว้าง  30 – 70  เซนติเมตร  ใส่ดินผสมปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก เท่าที่สังเกตดูจะใช้ดิน  3  ส่วน  ผสมมูลหมู  1  ส่วน  ใส่ลงไปในกระถาง  3  ใน  4  ส่วน  มูลหมูเก่าค้างปียิ่งดี  เพราะสลายตัวดี  แล้วค่อยๆแยกต้นกล้าในกระถางแกลบเผามาปลูก  ในกระถางดินผสมที่เตรียมไว้  อายุของต้นกล้าอยู่ในช่วง  10 – 15  วัน  ปลูกแล้วรดน้ำให้ชุ่ม  เฝ้าดูการเจริญเติบโต  ต้องใช้กระถางปลูก  ไม่ต่ำกว่า  50  ใบ  พร้อมๆไปกับการฝึกให้ต้นกล้าดูดซึมปุ๋ยหมัก  ปุ๋ยอินทรีย์  ถ้าหากกระถางไหนที่ไม่รับปุ๋ยหมักปุ๋ยอินทรีย์  ก็แสดงว่าไม่งาม  ให้ทิ้งไป  แล้วให้สังเกตการแตกกอ  ความสูง  ใบ  ความต้านทานโรค  และแมลง  คอรวงตั้ง  เมล็ดในรวงมากน้อย  ระแง้ถี่ห่าง  แล้วเลือกคุณสมบัติตามต้องการของต้นที่ดีที่สุดไปขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตกกล้า  ดำขยาย  ทำพันธุ์  ข้าวนาปรังหรือข้าวนาปีต่อไป  
     จึงเป็นอันครบเครื่องเรื่องการขยายพันธุ์ข้าวและการคัดเลือกพันธุ์ข้าวด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน
      กลุ่มที่  3  ศึกษาการรวมกลุ่มของสมาชิกชาวนา  การทำกิจกรรมและขยายเครือข่าย  มีอาจารย์สิทธิชัย  ยอดเกษา  เป็นหัวหน้ากลุ่ม
     เริ่มแรกตั้งข้อคำถามไว้ว่า  ชาวนาในจังหวัดพิจิตรรวมตัวกันอย่างไร ?  ขยายเครือข่ายกันอย่างไร ?  เพื่อตามหาคำตอบ  จึงได้ดังนี้
     ในลำดับแรกนั้น  มีการประชาสัมพันธ์โดยขับรถติดเครื่องขยายเสียงเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชน และในสถานศึกษาให้เข้าใจกันก่อน  และชาวนาที่ยังใช้ปุ๋ยเคมีอยู่นั้นเกิดเข้าใจถึงโทษภัยของปุ๋ยเคมีที่มีต่อสิ่งมีชีวิต  จึงได้แนะนำให้ประชาชนและเยาวชนที่เป็นนักเรียนได้มีจิตสำนึกเลิกการใช้ปุ๋ยเคมี  แล้วหันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพแทน  และให้เกิดการรวมตัวกันขยายเครือข่าย  เป็นกลุ่มๆตามความถนัดและสามารถนำมาร่วมกันเผยแพร่ความรู้ให้แก่กันและกัน  จุดที่สำคัญอยู่ตรงที่  แกนนำหรือผู้นำมี  ความเข้มแข็งมาก  สามารถประสานงานทั้งหน่วยงานราชการต่างๆ  ทั้งในระดับจังหวัด  ระดับอำเภอ  ตลอดจนลงมาระดับท้องถิ่น  องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)  อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน  (อสม.)  หมอสถานีอนามัย  มามีส่วนร่วมด้วยกัน  อีกทั้งยังได้ประสานงานกับนักการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดพิจิตรให้มาสนับสนุนผลักดันให้เกิดพลังเกษตรกรรมยั่งยืนขึ้นมา
     เมื่อแต่ละกลุ่มเครือข่ายรวมตัวกันมากเพิ่มขึ้นแล้ว  ก็จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์  รวมกลุ่มซื้อ      ปุ๋ยหมัก  คิดดอกเบี้ยต่ำ  ถุงละ  10  บาท  มีการระดมทุน  รวมหุ้นรายละ  20  บาทต่อเดือน  เมื่อสมาชิกกลุ่มหรือคนในชุมชนเสียชีวิตก็จะมีพวงหรีดไปเคารพศพด้วย
     นอกจากนี้  ก็มีการประชุมกลุ่มใหญ่ปีละครั้ง เพื่อจะได้ร่วมกันหาทางแก้ไขปรับปรุงในปีต่อไป  ซึ่งเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยหมัก  การคัดพันธุ์ข้าว  และการกำหนดราคาข้าวที่เป็นธรรมด้วย
     กลุ่มเครือข่ายเกษตรยั่งยืน  ประกอบด้วย  กลุ่มออมทรัพย์  กลุ่มเกษตร  กลุ่มวัฒนธรรม  กลุ่มเยาวชน  กลุ่มสิ่งแวดล้อม  และกลุ่มสื่อสารมวลชน  เพื่อกระจายข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวกับการเกษตรในจังหวัดพิจิตร ต่อไป
      กลุ่มที่  4  ศึกษากิจกรรมเด่นๆของกลุ่มชาวนา  มีคุณประทิน ห้อยมาลา  เป็นหัวหน้ากลุ่ม  ได้ทำเรียนรู้เรื่องกิจกรรมเด่นๆ  อันได้แก่  กิจกรรมการทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ชีวภาพ  การทำหัวเชื้อ          จุลินทรีย์  และการทำปุ๋ยน้ำ  โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับสูตรและวิธีการทำดังนี้
     การทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ชีวภาพ
         (1)  ใช้มูลวัว  รำชนิดละเอียด  รำชนิดหยาบ  คลุกเคล้าให้เข้ากัน  โดยที่ใช้
              -  มูลวัว         จำนวน    100   ถุง
             -  รำชนิดละเอียด       จำนวน      60   กิโลกรัม
             -  รำชนิดหยาบ   จำนวน    100   กิโลกรัม
         (2)  ใช้กากน้ำตาล  จำนวน  3  กิโลกรัม  และเชื้อจุลินทรีย์  จำนวน  1  ลิตร ต่อน้ำ จำนวน  200  ลิตร  หมักทิ้งไว้  3  เดือน  ระหว่างนั้นต้องกลับปุ๋ย  เพื่อให้ปุ๋ยเย็น  จึงนำไปใช้ได้
     การทำหัวเชื้อจุลินทรีย์ 
         สัดส่วนการทำหัวเชื้อจุลินทรีย์  ได้แก่
              -  เปลือกสัปรด   จำนวน        3   กิโลกรัม
              -  น้ำมะพร้าว   จำนวน        2   ลิตร
             -  กากน้ำตาล จำนวน        1  กิโลกรัม
                     (ถ้าไม่มีน้ำมะพร้าวสามารถใช้น้ำซาวข้าวแทน)
         ส่วนผสมเหล่านี้หมักร่วมกันไว้นาน  7  วัน
     วิธีทำปุ๋ยน้ำ 
         -  วัตถุดิบ  ได้แก่  เศษปลา  จำพวกก้างปลา  เลือดปลา  เมือกปลา  หอยเชอรี่  (หรือไข่)
         -  การหมักจะใช้กากน้ำตาล  1  ส่วน  ปลา  หอย  3 ส่วน  ใส่เชื้อจุลินทรีย์  1  ลิตร  หมักทิ้งไว้ประมาณ 30  วัน        
         -  การนำมาใช้  สามารถเทปล่อยไปตามน้ำหรือผสมน้ำฉีด  โดยผสมปุ๋ยน้ำ  1  ส่วน  ต่อ   น้ำเปล่า  500  ส่วน
         -  สถานที่นำไปใช้  ในนาข้าว  กับพืชผักไม้ผล  ได้ผลดีมาก 

             
  ภาพที่  65  กลุ่มศึกษาดูพันธุ์ข้าวในนา
  ภาพที่  66  กลุ่มศึกษาดูการทำปุ๋ย

     
กลุ่มที่  5  ศึกษาการแปรรูปผลผลิตข้าวในจังหวัดพิจิตร  มีคุณสุข  เชื้อหนองปรง  เป็นหัวหน้ากลุ่ม  ได้เรียนรู้เรื่องการแปรรูปผลผลิต  พบว่าชาวนาในจังหวัดพิจิตรส่วนมากปลูกข้าวขายให้กับโรงสี  เพื่อนำไปสีเป็นข้าวสาร  จึงไม่ค่อยมีการแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์อะไร  เท่าที่สังเกตก็ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า  ชาวนาพิจิตรสามารถผลิตพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ  สามารถขายเป็น     พันธุ์ข้าวให้กับกลุ่มชาวนาอื่นๆ  และมีราคาสูงกว่าการขายให้กับโรงสี
      กลุ่มที่  6  ศึกษาถึงสถานการณ์ปัจจุบันในการใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยหมักชีวภาพในจังหวัดพิจิตร  มีคุณศุภวิชญ์  วิลาโพธิ  เป็นหัวหน้ากลุ่ม  จากการเรียนรู้กับคุณมนูญ  มณีโชติ  และคุณผดุง เครือบุบผา 
     คุณมนูญ  มณีโชติ  เป็นชาวนาในนามกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรพิจิตร  เป็นผู้ให้ข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับการรวมกลุ่มของบ้านนาราง  
     ส่วนคุณผดุง  บ้านหนองแก  หมู่  2  ตำบลหนองพะยอม  อำเภอตะพานหิน  ได้เรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการของเกษตรกรชาวนาพิจิตร  และเรื่องการทดลองเปรียบเทียบการใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพในนาข้าว  โดยเฉพาะการทำปุ๋ยหมัก  ปุ๋ยชีวภาพ  จากวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น  สามารถประหยัดค่าใช้จ่าย  โดยไม่หันไปใช้ปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพงมาก  นอกจากนี้ก็ยังได้เรียนรู้วิธีการใช้     ปุ๋ยหมักชีวภาพในแปลงนาเพื่อปรับปรุงดินด้วย
      กลุ่มที่  7  ศึกษาความภูมิใจของชาวนาจังหวัดพิจิตร  (กิจกรรมใดที่ภูมิใจ)  และนักเรียนชาวนา  มีคุณอำไพ  แหวนเพชร  เป็นหัวหน้ากลุ่ม ได้เรียนรู้ในส่วนของความภูมิใจของคนพิจิตรว่ามีอะไรบ้าง  ? 
     สิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจก็คือ  การที่กลุ่มชาวนาพิจิตรมีพ่อแม่พี่น้องและสมาชิกรวมใจเป็นกลุ่มเป็นก้อน  และการทำนานั้น  ชาวนาไม่ใช้สารเคมี  ไม่ต้องพึ่งสารเคมี  มีการรวมตัวรวมใจกันเหนียวแน่น  หันมาทำปุ๋ยอินทรีย์ลดต้นทุน  ทำให้สามารถลงทุนน้อยได้  และมีกำไรมากขึ้น  รวมถึงขายข้าวได้ราคา  ซึ่งรัฐบาลสนใจหันมาให้การสนับสนุน
     การศึกษาดูงานในครั้งนี้  นับว่าได้ประโยชน์หลายประการ  นักเรียนชาวนาได้เรียนรู้สิ่งใหม่ในแหล่งการเรียนรู้จังหวัดพิจิตร  ได้พยายามเปรียบเทียบว่า  ข้อแตกต่างระหว่างการปลูกข้าวในจังหวัดสุพรรณบุรีกับจังหวัดพิจิตร  สิ่งใดที่เป็นข้อดีข้อเด่นก็จะนำไปประยุกต์ใช้  โดยยังแสดงเจตนาและจุดยืนอย่างชัดเจนว่าการเกษตรกรรมยั่งยืนที่ทางเลือกที่เหมาะสม  จะช่วยให้นักเรียนชาวนาได้วัฒนา  


           รายงานนี้บันทึกการเรียนรู้ในการไปดูงานอย่างชัดเจนและเป็นระบบดีมาก    แต่ไม่ได้บันทึกว่าระหว่างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชาวนาพิจิตรนั้น นักเรียนชาวนาสุพรรณมีการ “ปิ๊งแว้บ” อะไรบ้าง    มีการนำเอาความรู้ส่วนไหนบ้างมาลองปรับใช้  และเกิดผลอย่างไรบ้าง     บันทึกส่วนที่ขาดไปนี้ น่าจะได้มีการปรับปรุงในโอกาสต่อไป


วิจารณ์ พานิช
๕ มิ.ย. ๔๘

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 1343เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2005 15:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 09:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท