หมอบ้านนอกไปนอก(23): ดีเจสุขภาพ


“ พูดครั้งเดียวคนจะไม่ฟัง แต่ถ้าตอกย้ำ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากความคิดของคนพูด จะกลายเป็นความคิดของคนฟัง คนจะทำตามโดยอัตโนมัติ”

                 แอนท์เวิป เป็นเมืองใหญ่อันดับสองของเบลเยียมรองจากเมืองหลวงคือบรัสเซลส์ เป็นเมืองที่ติดทะเลมีท่าเรือขนาดใหญ่อยู่ มีแหล่งค้าขายเพชรที่มีชื่อเสียง ช๊อกโกแลตอร่อย เบียร์หลากหลายยี่ห้อ ถือเป็นเมืองแฟชั่นของเบลเยียมอากาศในเมืองแอนท์เวิป เป็นอะไรที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ บางทีเช้าฟ้าใส สายฟ้าครึ้ม บ่ายฝนตก เย็นแดดออกก็มี ช่วงนี้เป็นฤดูใบไม้ร่วง อากาศเย็นลงเรื่อยๆ วิถีชีวิตผู้คนก็เหมือนๆเดิม เช้าออกไปทำงาน เย็นกลับบ้าน ออกไปเดินออกกำลังกาย เดินกันเป็นกลุ่มบ้าง เป็นครอบครัวบ้าง เดินเดี่ยวๆกับหมาบ้าง ผมคิดว่าคนเบลเยียมคงเหงา จึงต้องเลี้ยงหมาเป็นเพื่อน บนถนนหนทางยามเย้นไม่มีกลุ่มวัยรุ่นมาจับกลุ่มกันแบบเมืองไทย มีระบบขนส่งมวลชนเป็นเครือข่ายทั้งรสบัสและรถรางไฟฟ้า ที่เห็นอีกอย่างก็คือการใช้จักรยานในการเดินทาง สวนสาธารณะมีน้อย ผมดูแล้วบ้านเราน่าอยู่กว่ามาก มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจเยอะ ยิ่งสนามกีฬาหายากมาก เป็นสนามในร่ม ต้องจอง ต้องเสียเงิน ในขณะที่บ้านเรามีสนามอยู่ทั่วไป อยากเล่นกีฬาก็ไม่ยาก

                วันนี้อังคารที่ 2 ตุลาคม เรียนกับอาจารย์บาร์ท ครีเอล ตลอดทั้งเช้า เป็นเรื่องการใช้บริการ (Utilization) ในระบบบริการสุขภาพในสถานบริการขั้นต้น (First line health service) โดยมีการพูดถึงงานด้านการรักษาที่จะพิจารณาจากอัตราการใช้บริการ (Utilization rate) ที่คิดจากผู้ป่วยใหม่ในปีของประชากรในเขตรับผิดชอบของสถานบริการ กับอัตราความครอบคลุม (Coverage rate) ของงานด้านส่งเสริมป้องกันโรค ในส่วนของการใช้บริการจะคิดเฉพาะผู้ป่วยรายใหม่ในปีเท่านั้น ไม่นับซ้ำ คนไหนมาหลายครั้งก็นับครั้งเดียวและไม่นับคนไข้ใหม่ในปีทีเป็นคนนอกเขตรับผิดชอบด้วย ซึ่งค่านี้ไม่น่าจะเกินหนึ่ง ถ้าเกินแสดงว่าอาจมีการนับซ้ำหรือนับคนไข้นอกเขตที่มารับบริการเข้าไปด้วย ถ้าค่าต่ำกว่าหนึ่งมากแสดงว่าการเข้าถึงบริการ การเข้ามาใช้บริการต่ำ อาจเนื่องมาจากระยะทาง กลุ่มอายุ มีหลายสถานบริการในพื้นที่ เป็นต้น

                  ผมนึกถึงตอนที่อยู่โรงพยาบาล เราจะเน้นจำนวนครั้งผู้ป่วยที่มารับบริการ (Visit) มากกว่าจำนวนผู้ป่วยใหม่ (new case) เราเน้นดูเพื่อหาปริมาณงานที่โรงพยาบาลทำ (Workload) มากกว่าดูว่าการเข้ามาใช้บริการของชาวบ้านในเขตรับผิดชอบเป็นอย่างไร ซึ่งข้อมูลที่เรามีมีทั้งผู้ป่วยใหม่ในปี (New case) และผู้มารับบริการนับครั้งทั้งหมด (Old case) ในการทำข้อมูลบางทีก็ไม่ได้แยกผู้ป่วยใหม่ในเขตกับนอกเขต หรือแยกแต่ไม่ได้เอามาทำอะไร นอกจากนี้ระบบสาธารณสุขในระดับอำเภอของเราก็ยังไม่เป็นระบบสาธารณสุขแบบบูรณาการ เนื่องจากยังมีการทับซ้อนกันในเรื่องบริการของสถานีอนามัยกับโรงพยาบาล

                 ช่วงบ่ายเป็นเหมือนชั่วโมงแนะแนว มีอาจารย์ประจำชั้นหรืออาจารย์แนะแนวที่คอยดูแลเรียกว่า Tutor of the Course คืออาจารย์วาลาเรีย ( Compos Da Silveira Valeria) เป็นคนบลาซิล ใจดีมาก คอยเป็นห่วงเป็นใยพวกเรา จะมีชั่วโมงแนะแนวเกือบทุกสัปดาห์ อาจารย์จะเน้นเรื่องความตรงเวลาในการเข้าเรียน การปิดโทรศัพท์มือถือ การเข้าออกสถาบันที่มีระบบความปลอดภัยอัตโนมัติโดยหลังหกโมงเย็นระบบจะล็อคอัตโนมัติ ถ้าออกจากอาคารแล้วจะเข้าไปอีกไม่ได้ ทุกคนจะได้บัตรเข้าอาคารที่ใช้เปิดประตูแบบอัตโนมัติ

                     ในบริเวณอาคารสามารถเข้าใช้อินเตอร์เน็ตได้ ทุกคนจะมีรหัสส่วนตัว และได้รับคอมพิวเตอร์โน็ตบุคส์เป็นสมบัติส่วนตัวคนละ 1 เครื่อง มีรหัสส่วนตัวในการเปิดใช้เครื่อง ในระบบกลางของสถาบันมีพื้นที่ส่วนตัวสำหรับทุกคนในการเก็บข้อมูลไว้ได้ มีกระดานสนทนาไว้คอยติดต่อกัน ส่งงานอาจารย์และส่งข่าวหรือสั่งงานของอาจารย์ ถ้าจะพิมพ์เอกสารก็ไปพมพ์ได้ฟรีที่ห้องคอมพิวเตอร์ เอกสารการบรรยายของอาจารย์ทุกท่านจะใส่ไว้ให้นักศึกษาดาวน์โหลดได้แต่หลังจากบรรยายเสร็จแล้วและมีการติดตามประเมินผลย้อนกลับการเรียนการสอนทุกสัปดาห์

                   อาจารย์ฌอง ปิแอร์ อังเกอร์ เคยบอกว่า แพทย์ที่เรียนและทำงานทางด้านสาธารณสุขศาสตร์ (Public health) ก็ถือเป็นแพทย์เฉพาะทาง (specialist) สาขาหนึ่งเหมือนกัน และมีความสำคัญไม่น้อยกว่าแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่นๆ เป็นแพทย์ที่จะดูแลปัญหาสุขภาพของชุมชนทั้งชุมชน ไม่ได้ดูเป็นรายบุคคล ซึ่งต้องอาศัยทักษะสำคัญมากอันหนึ่งคือทักษะในการสื่อสาร (Communication skill) ต้องสามารถสื่อสารกับชุมชนรู้เรื่อง เป็นการสื่อสารที่ขอบเขตกว้างกว่า อาจทำเป็นกลุ่มบุคคลหรือเป็นสื่อมวลชนเลยก็ได้

                   ตอนที่ผมทำงานในปีแรกๆ ก็คิดว่าถ้าคุยกับชาวบ้าน กับหน่วยงานอื่นๆ ไม่รู้เรื่อง ก็จะทำงานชุมชนได้ยาก ก็เลยตัดสินใจเรียนนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยเลือกเรียนเอกประชาสัมพันธ์ ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน เรียนทั้งหลักการ ทฤษฎีในการสื่อสาร การใช้สื่อต่างๆ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อทีวี รวมทั้งสื่อบุคคล มีการฝึกผลิตรายการวิทยุ รายการทีวี เขียนบทความ เขียนข่าว เขียนบทโฆษณา ฝึกพูดต่อหน้าชุมชน พูดแบบเตรียมตัว พูดแบบไม่เตรียมตัว จัดรายการวิทยุ เขียนบทละคร เรียนสนุกมาก เพื่อนๆในรุ่นส่วนใหญ่ทำงานในแวดวงโฆษณาประชาสัมพันธ์ พอรู้ว่าเป็นหมอ มักจะถามว่าจะเรียนไปทำไม ไม่เกี่ยวกัน แต่ผมว่าเกี่ยวข้องอย่างมาก

                   ในการเรียนนิเทศ จะมีการทำความเข้าใจกับคำ 4 คำคือ ประชาสัมพันธ์ (Public relation) โฆษณา (Advertise) โฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) ปฏิบัติการจิตวิทยา (ปจว) โดยประชาสัมพันธ์เป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องระหว่างหน่วยงานกับคนภายนอกและภายในองค์การ พูดเรื่องจริงทั้งหมด ส่วนโฆษณา เป็นการจูงใจให้คนภายนอกสนใจองค์การหรือสินค้าบริการของเราโดยเน้นพูดสิ่งที่ดีหรือจุดเด่นที่เป็นจริงเท่านั้น เรียกว่า พูดความจริงแต่พูดไม่หมด ส่วนโฆษณาชวนเชื่อ เป็นการพูดเรื่องไม่จริง เอาไปจูงใจให้คนอื่นๆที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเชื่อว่าดี ว่าจริงโดยสิ่งที่พูดไม่จริง ส่วนการปฏิบัติการจิตวิทยาจะเป็นลักษณะสร้างความมั่นใจให้กับกลุ่มเป้าหมายในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง

                    ผมนำหลักการประชาสัมพันธ์มาใช้ในโรงพยาบาลบ้านตาก โดยเน้นพูดเรื่องจริงของโรงพยาบาลเพื่อสร้างความเข้าใจ การยอมรับและให้ชาวบ้านทำใจ ไม่คาดหวังสูงมากเกินไปจากโรงพยาบาล พูดเท่าที่เราทำได้ ยอมรับความบกพร่องที่มีอยู่เพื่อหาแนวทางแก้ไข ไม่ใช้การโฆษณาด้วยรูปลักษณ์เลิศหรูภายนอกเพราะเกรงว่า ชาวบ้านจะคาดหวังสูงเกินไป จนเราตอบสนองให้เป็นจริงไม่ได้ การพูดความจริง เสนอเรื่องจริง ได้รางวัลอะไรมาบ้าง พัฒนาอะไรบ้าง ยังขาดอะไรบ้าง มีอะไรที่ยังต้องปรับปรุงบ้าง ทำได้แค่ไหนบ้าง ก็บอกชาวบ้านไปตามตรง ทำให้เขาเชื่อใจว่าเราไม่โกหกเขา

                    สื่อหนึ่งที่ผมคิดว่า เข้าถึงชาวบ้านในชนบทได้ง่ายคือสื่อวิทยุกระจายเสียง ถ้าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปจัดรายการเพื่อสุขภาพ จะเป็นที่สนใจของชาวบ้านมาก โดยเฉพาะถ้าแพทย์ไปจัดเอง แต่ต้องเลือกเวลาที่ไม่ตรงกับละครทีวี ผมก็ได้มีโอกาสใช้ประโยชน์ของรายการวิทยุกระจายเสียงในการให้ความรู้ด้านสุขภาพและแทรกการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของโรงพยาบาลไปในตัวด้วย แต่ต้องไม่ใช่การโฆษณาจนเด่นชัด เพราะคนจะไม่ค่อยเชื่อ เราต้องเน้นที่เนื้อหาความรู้เรื่องสุขภาพ แล้วแทรกกิจกรรมไปเป็นบางครั้ง ไม่มากเกินไป แต่ก็ต้องบ่อยครั้งแบบไม่ให้รู้ตัวว่าเรากำลังประชาสัมพันธ์โรงพยาบาลอยู่  

                  เวลาจัดรายการวิทยุ การใช้ภาษาพูดทางการแพทย์ ชาวบ้านจะเข้าใจยาก ต้องปรับให้เป็นภาษาง่ายๆ ที่ชาวบ้านคุ้นเคย ผมได้เรียนรู้ภาษาง่ายๆจากการอ่านวารสารหมอชาวบ้านและอ่านหนังสือการตรวจรักษาโรคทั่วไปของอาจารย์หมอสุรเกียรติ อาชานานุภาพ ทำให้สามารถใช้คำพูดง่ายๆในการพูดคุยสื่อสารกับชาวบ้านหรือประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงสาธารณสุขได้ง่ายขึ้น ผมได้มีโอกาสร่วมจัดรายการวิทยุกับดีเจสองคนคือ

                  คนแรกคุณสานิตย์ บุตรมางกูร เป็นคนชักนำผมเข้าสู่วงการเมื่อประมาณปี 2541 โดยพี่สานิตย์ จัดรายการตามปกติช่วง 8.00-9.00 น. ทุกวันที่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดตาก (สวท.ตาก) เชิญหน่วยงานต่างๆมาร่วมผลัดกันไป แต่ของสาธารณสุขผมเหมาจัดคนเดียวตลอดทุกวันพุธ จัดเป็นรายการสด มีการถามตอบปัญหาทางโทรศัพท์ได้เลย ยกหูโทรศัพท์ถามปัญหาได้เลย ช่วงเวลาดีมากเพราะคนฟังจะฟังได้ง่าย ข้าราชการก็กำลังขับรถไปทำงาน ฟังในรถได้ แม่บ้านก็อยู่ทำงานบ้าน ก็ฟังได้ ชาวไร่ชาวนาออกไปไร่ไปสวน ดูทีวีไม่ได้ก็ฟังวิทยุไปได้ ในแต่ละวันจะมีโทรศัพท์โทรมาประมาณ 3-4 สาย ถามสดตอบสด

                   ผมจะมีประเด็นเรื่องโรคไปคุยด้วย สัปดาห์ละหนึ่งโรค ตามสถานการณ์ การจัดรายการวิทยุแล้วมีการตอบปัญหาสดๆนี่ทำได้ง่ายกว่าในโทรทัศน์เพราะเราสามารถเปิดหนังสือ ตำราเพื่ออ้างอิงความถูกต้องของคำตอบเราได้ง่าย ผู้ฟังจะมองไม่เห็น ถ้าเปิดหายากก็คั่นรายการโดยการเปิดเพลงให้ฟังไปก่อนได้ แต่ก็ต้องไม่ตอบมากเกินกว่าที่ข้อมูลมีให้และไม่พาดพิงถึงแพทย์หรือสถานบริการสุขภาพอื่นๆ จัดได้สักสามปี สถานีต้องปรับผังรายการตามกรมประชาสัมพันธ์ ต้องไปจัดเวลาบ่าย ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่เวลาที่คนฟังเยอะ และพี่สานิตย์ก็ย้ายไปเพชรบูรณ์ด้วย ผมก็เลยหยุดทำ

                    หลังจากนั้นไม่กี่เดือน พี่ติ๋มหรือจุฑาวัลย์ บัวกลิ่น ซึ่งจัดรายการอยู่ที่สถานีวิทยุตำรวจตระเวนชายแดน จังหวัดตาก (ตชด. ตาก) ได้ชวนผมไปทำรายการแบบเดิมอีก เป็นทุกวันพุธ ช่วงบ่ายโมง ผมก็ไปร่วมทำรายการแบบเดิม ผู้ฟังก็ตามมาฟังเหมือนเดิม รวมทั้งผู้ฟังรายการของพี่จุฑาวัลย์ก็เยอะเพราะเป็นรายการเพลงด้วย แต่ทำไปได้สองปี ทางสถานีมีการประมูลผู้จัดรายใหม่ ค่าเช่าเวลาแพงมากขึ้น พี่จุฑาวัลย์ ก็เลยลดเวลาที่พี่เขาทำรายการลง ก็เหลือเวลาน้อยลง ผมคิดว่าไม่คุ้มค่าการเดินทาง ก็จะใช้วิธีโทรศัพท์ไปพูดคุยแทนการจัดรายการสด แต่ดูแล้วไม่ค่อยสนุก ประกอบกับผมเองก็งานมากขึ้น ก็เลยยุติไป

                   ในการประชาสัมพันธ์โรงพยาบาลทั้งทางสื่อบุคคลหรือสื่อมวลชน ผมจะใช้การพูดให้เขาทราบว่า เรากำลังจะทำอะไร โรงพยาบาลขาดอะไรบ้าง อยากพัฒนาอะไรบ้าง พูดบ่อยๆ ไม่ได้ขอบริจาค เป็นการแจ้งให้ทราบ แต่ปรากฏว่า มีผู้บริจาคหลายท่าน แสดงความจำนงมาบริจาคเงินเพื่อพัฒนาโรงพยาบาลโดยเราไม่ต้องขอ การไม่ต้องขอ ถือเป็นการให้ด้วยใจ อยากทำบุญ เขาจะไม่เรียกร้องว่า บริจาคให้โรงพยาบาลแล้ว ต้องได้อะไรตอบแทน การใช้เทคนิคแบบนี้ก็เป็นการใช้หลักปฏิบัติการจิตวิทยาอย่างหนึ่งที่กล่าวว่า  “ พูดครั้งเดียวคนจะไม่ฟัง แต่ถ้าตอกย้ำ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากความคิดของคนพูด จะกลายเป็นความคิดของคนฟัง คนจะทำตามโดยอัตโนมัติ”

               สิ่งที่เล่ามาก็เป็นประสบการณ์เล็กๆส่วนหนึ่งที่ผมเก็บเกี่ยวมาได้ ชีวิตช่วงนี้ ผมคิดว่าสบายกว่าตอนทำงานมาก ช่วงสามวันแรกที่เบลเยียม ผมรู้สึกว่า เวลาผ่านไปช้ามาก กว่าจะเคลื่อนข้ามแต่ละวันไปได้ แต่ตอนนี้ ผมกลับรู้สึกว่า เวลาแต่ละวันหมุนเร็วมาก พอเราปรับตัวได้ พอเรามีภารกิจที่ต้องทำ เราจะรู้สึกว่าเวลาที่มีอยู่ไม่มากเลย อาจารย์หมอผจญ วงษ์ตระหง่าน เคยสอนไว้ว่า แท้จริงความลำบากไม่มี มีแต่ความไม่เคยชิน พอเราชินกับมัน ทุกอย่างก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่ความลำบาก

                   ผมขอจบบันทึกนี้ด้วยเพลงวันเวลา ของพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ครับ

“วันเวลา หมุนเปลี่ยนเวียนไป สุขสดใสไม่เคยเดินตาม วันเวลาหมุนเปลี่ยนโมงยาม ต่างทับถมแต่ความทุกข์ทน ในเวลาเหงาเปลี่ยวกมล เอาความฝัน ของฉันต่อเติม บางเวลาได้มาช่วยเสริม สานเป็นความสดใส ไม่มากมาย ให้แค่มี

มีความหวังเป็นทางสร้างทำ มีความช้ำเป็นกำลังใจ เอาความจริงที่แตกสลาย ใส่เบ้าหลอมรวมเป็นพลัง เอาความเลวที่เกาะเกรอะกรัง กลั่นมันทิ้งกลิ้งเป็นตะกอน เอาน้ำตาที่เคยเปียกหมอน ไปราดลดร่างคนรุ่มร้อน ให้ชุ่มเย็น ไม่ย่ำยี

ฝันนั้นล่องลอย ดุจหิ่งห้อย แสงรับหรี่ ฝันนั้นยังมี สิ่งสดใสในคืนเดือนดับ รอตะวันรุ่งรา จะลาลับไม่รบกวนยามคุณร้าวรัญจวน ก็จะหวนแสงหิ่งห้อย ลอยเรืองรองในคืนข้างแรม”

พิเชฐ  บัญญัติ

Verbond straat 52

2000 Antwerp, Belgium

2 ตุลาคม 2550

18.35 น. ( 23.35 น.เมืองไทย )
หมายเลขบันทึก: 134253เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2007 23:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2012 21:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ตามมาอ่านค่ะ  คนอยู่ไกลบ้าน คงคิดถึงเมืองไทยน่าดู

 

สวัสดีครับอาจารย์รวิวรรณ

เชียงรายฝนตกมากไหมครับ ขอบคุณที่เข้ามาติดตามและให้กำลังใจครับ

ฝากสวัสดีอาจารย์ชำนาญ ด้วยครับ ผมได้เรียนรู้ประสบการณ์และวิธีการทำงานที่ดีๆจากอาจารย์ชำนาญ สมัยที่ท่านเป็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตากมากเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท