ดร.อุทัย อันพิมพ์
ดร. อุทัย ดร.อุทัย อันพิมพ์ อันพิมพ์

การจัดการความรู้เกษตรกรรมแบบประณีต ตอนที่ 2


เกษตรกรรมแบบประณีต เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ดังนั้นใครไม่เรียนรู้ก็ยากที่จะสำเร็จได้ในอาชีพ

ทำไมต้องเป็นเกษตรประณีต 1 ไร่?...               

 ความล้มเหลวในอาชีพซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวที่เกิดจากการรับวัฒนธรรมตะวันตกมาใช้ในการผลิตโดยหน่วยงานภาครัฐที่ครอบงำแบบเบ็ดเสร็จ การเน้นกระบวนการผลิตเพื่อหวังผลตอบแทนมากๆ สำหรับป้อนโรงงานอุตสาหกรรม จึงได้ทุ่มทุนและปัจจัยการผลิตทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี สารเคมีสำหรับตอบสนองตัณหาของตนเองจนกระเกิดภาวะหนี้สินตามมาอย่างมากมาย อีกทั้งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล หรือความล้มเหลวที่เกิดจากการผลิตตามกระแสนิยมจนกระทั่งภูมิปัญญาของตนถูกทำลายจนหมดสิ้นกระทั่งไม่มีความรู้เพียงพอในการประกอบอาชีพอีกต่อไป จากบทเรียนราคาแพงดังกล่าวจึงเป็นบ่อเกิดแห่งแนวคิดในการที่จะสร้างภูมิคุ้มกันและอาชีพที่มั่นคงให้กับตนเองและครอบครัว ได้มีเกษตรกรที่เป็นระดับปัจเจกบุคคล ที่มีความศรัทธาต่อแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ได้รวมตัวกันเรียกว่า ภูมิปัญญาพื้นบ้านในครั้งแรก และต่อมาเปลี่ยนเป็น ปราชญ์ชาวบ้านเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2538

ปราชญ์ชาวบ้าน เป็นกลุ่มคนที่ทำเกษตรผสมผสาน(Integrated Agriculture) มานานนับสิบปีกระจายอยู่ทั่วประเทศ สำหรับในจังหวัดบุรีรัมย์นั้นประกอบด้วย ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์, พ่อคำเดื่อง ภาษี, พ่อผาย   สร้อยสระกลาง, และพ่อทองหล่อ   เจนไธสง  ปราชญ์ชาวบ้านเหล่านี้ได้เปลี่ยนวิธีคิดจากกระแสความคิดเดิมเรื่องการพึ่งเงิน พึ่งตลาด พึ่งวัตถุและพึ่งคนอื่นแต่เพียงอย่างเดียว มาเป็นพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองอย่างสมดุลและมีความสุข โดยอาศัยการปรับตัวกับกระแสบริโภคนิยมที่มีความรุนแรงด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น อาศัยกระบวนการเรียนรู้และการจัดการสู่การพึ่งตนเอง ทำให้ตนเองและครอบครัวมีสุขภาพ คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น กล่าวคือมีปัจจัย 4 ครบ มีหลักประกันในชีวิตทั้งต้นไม้ใหญ่และทรัพย์สิน มีร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง มีครอบครัวที่อบอุ่น มีชุมชนที่เข้มแข็ง มีสิ่งแวดล้อมดี มีอิสรภาพในการคิด พูดและทำโดยไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่น มีความภาคภูมิใจ รวมทั้งเข้าถึงธรรมะและหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าด้วยการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม นับว่าเป็นการนำความคิดของบรรพบุรุษมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม จึงไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ต่อวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ที่ผ่านมา  สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข อีกทั้งได้เผยแพร่วิธีคิดต่างๆ ให้กับ ญาติพี่น้อง เพื่อนเกษตรกรด้วยกันเอง ตลอดทั้งลูกหลานของเกษตรกรที่สนใจเพื่อจะได้นำแนวคิดไปปฏิบัติอันจะนำมาซึ่งการพึ่งตนเองและพึ่งพาญาติพี่น้อง และชุมชนต่อไป

นอกจากนั้น ปราชญ์ชาวบ้าน ยังได้ร่วมคิด ร่วมเรียนรู้ และร่วมทำ ในเรื่องต่างๆ เช่น การตั้งกองทุนภูมิปัญญาชาวบ้านภาคอีสานกระตุ้นให้เครือข่ายของแต่ละศูนย์เรียนรู้จัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตนเอง อย่างไรก็ตามเมื่อเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดบุรีรัมย์จะนำไปบอกคนอื่นที่อยู่ในกระแสทุนนิยมมานานให้หันมาทำตามก็ไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าควรที่จะเริ่มต้นการผลิตอย่างไร ผลิตในพื้นที่เท่าไหร่ ควรที่จะปลูกอะไรบ้าง จำนวนเท่าไหร่ เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านจึงได้มีการพูดคุยกันและได้เริ่มต้นโครงการเกษตรกรรมแบบประณีต 1 ไร่ ขึ้นสำหรับที่จะหาคำตอบให้กับเกษตรกรที่ยังติดยึดกับกรอบความคิดเดิมว่าในการทำเกษตรผสมผสานนั้นไม่จำเป็นต้องมีที่ดินมาก ลงทุนมาก และแรงงานมาก เป็นการผลิตทั้งพืช และสัตว์ร่วมกันให้มีความหลากหลาย เพื่อประโยชน์ในการเกื้อกูลต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นการเริ่มต้นการผลิตจากพื้นที่น้อยๆ ลงทุนน้อย พึ่งพาตนเอง มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในไร่นาอย่างเหมาะสมเกิดประโยชน์สูงสุด  มีความสมดุลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและเกิดการเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติโดยมีความมุ่งหวังให้พี่น้องเกษตรกรอยู่อย่างพอเพียง และอยู่ดี มีสุข

ในปี 2546-2547 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุนงบประมาณให้เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสาน ในการดำเนินโครงการชุมชนเป็นสุขภาคอีสานในหมู่บ้านแกนกลาง 200 ชุมชน และร่วมกับองค์กรพันธมิตรขยายพื้นที่เครือข่าย โดยใช้ยุทธศาสตร์สร้างความรู้ การจัดการความรู้และการจัดการเครือข่าย ทำให้สมาชิกในหมู่บ้านแกนกลางกว่า 2,000 ครอบครัวและหมู่บ้านในเครือข่ายองค์กรพันธมิตรเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านวิธีคิด เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต ทำให้เกิดความสุขทั้งทางกาย ทางใจ ทางสังคม และทางปัญญา เครือข่ายได้ตกผลึกทางความคิดในการพัฒนา รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาเกษตรประณีต 1 ไร่  ซึ่งใช้ที่ดินน้อย แรงงานน้อย และลงทุนน้อย แต่สามารถพัฒนาให้เป็นครัวของครอบครัว และเป็นห้องเรียนรู้ของครอบครัว และของชุมชน ช่วยให้ลดรายจ่ายด้านอาหารการกินลงได้ รวมทั้งทำให้เกิดองค์ความรู้ การขยายผลการปลูกต้นไม้ยืนต้นในพื้นที่ที่เหลือ และเครือข่ายที่เหลือ ด้วยเหตุนี้เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสานจึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้น 

จุดเริ่มต้นในการประชุมระดมสมอง วันที่  30  สิงหาคม  2546  ที่ศูนย์เรียนรู้พ่อนิยม  จิตระดิษฐ์  เพื่อสร้างวิธีคิดและวิธีปฏิบัติในการทำเกษตรประณีตบนที่ดิน 1 ไร่  จนกระทั่งได้ข้อสรุปว่า  ถ้าจะทำเกษตรประณีต  1  ไร่  ให้สำเร็จจะต้องออมน้ำ  ซึ่งอาจจะขุดคลองรอบพื้นที่  ขุดสระ หรือเจาะบาดาล  ต้องออมความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วยการใส่ซากพืชซากสัตว์ลงไป  ไม่เปิดหน้าดิน  ไม่ทำลายไส้เดือนดินด้วยการใช้สารเคมีฆ่าหญ้า  ฆ่าแมลง  หรือปุ๋ยเคมีลงไป  การปลูกพืชตระกูลถั่วและไม้ยืนต้นที่หลากหลายรวมทั้งการใช้ปุ๋ยคอก  การทำปุ๋ยหมัก  ปุ๋ยหมักชีวภาพ  และน้ำหมักชีวภาพสูตรต่าง ๆ  เพื่อช่วยให้ดินดีขึ้นและเป็นผลให้ระบบนิเวศน์ดีขึ้นด้วย  ต้องออมสัตว์ ออมต้นไม้  โดยปลูกพืชยืนต้นที่หลากหลาย  แบ่งพื้นที่ปลูกข้าว  มีโรงเรือนเพาะเห็ด มีแปลงผักที่จะเก็บไว้บริโภค  และส่วนเกินไว้แจกไว้ขาย  อย่างน้อย  10  ชนิด  มีไม้ดอกไม้ประดับที่เจริญหูเจริญตา และไว้ไล่แมลง มีสมุนไพร รวมทั้งมีต้นชะอม  ตำลึงปลูกรอบรั้ว  ที่สำคัญต้องสั่งสมกัลยาณมิตร  และสั่งสมภูมิปัญญาในการแก้ปัญหาด้วยการหมั่นประชุมกันเป็นนิจ  เพื่อนำองค์ความรู้ และกระบวนการเรียนรู้ให้สามารถพัฒนาความคิดการพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองอย่างสมดุลและมีความสุข

โปรดติดตามตอนต่อไป และหากมีข้อเสนอแนะจะเป็นพระคุณยิ่งครับ

อุทัย อันพิมพ์

หมายเลขบันทึก: 133346เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2007 23:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • สวัสดีครับ อ่านแล้วบันทึกมีประโยชน์มากครับ
  • ขอบคุณครับ

อ่านแล้วดี มีประโยชน์อย่างมาก จะติดตามตอนต่อไปครับ

ขอบคุณมากครับ

 

  • หวัดดีอ้าย
  • เป็นจังใดเน้อ
  • คิดฮอดอ้ายหลายเด

สวัสดีค่ะ  

เป็นบันทึกที่มีประโยชน์มาก  ใช้สอนนักเรียนชั้น ม 6 ได้ด้วย ภาคเรียนที่ 2 /2550 นี้จะพานักเรียนเยี่ยมชมศูนย์พ่อคำเดื่อง  ต้องทำไงบ้างค่ะนี่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท