ใกล้ถึงเราแล้ว / เกษียณรำลึก ๕ / ครูอาชีพลองอ่านดู


สังคมไทยยังเป็นสังคมเชิงฐานานุภาพ

            ทศวรรศ ๒๕๒๐ และ ๒๕๓๐

                     อาชีวศึกษาและอุดมศึกษาของเราขยายตัวมาก แต่สังคมไทยยังเป็นสังคมเชิงฐานานุภาพ (Status Symbol) ให้คุณค่าปริญญาสูงกว่าความสามารถในการทำงานจริงและการทำงานด้วยมือ

                    ระบบราชการเป็นตัวนำให้ความสำคัญแก่ปริญญามากกว่าความสามารถหรือการทำงานด้วยมือ อาชีวศึกษาจึงยังไปไม่ถึงดวงดาวทั้งที่เป็นแกนของระบบเศรษฐกิจ พ่อแม่จึงคาดหวังให้ลูกเรียนอุดมศึกษา มัธยมศึกษาจึงถูกลากด้วยแรงอุดมศึกษา

                   ในช่วงเวลาเดียวกัน บ้านเมืองเราตื่นตัวและฟื้นตัวทางการเมือง การเมืองดึงครูไปเป็นหัวคะแนนเป็นฐานเสียง ครูของเราบางคนไต่เต้าขึ้นมาในระบบการศึกษาโดยใกล้ชิดการเมือง

                   ปัจจุบันมีนักการเมืองที่มีชื่อหลายคน ในวัยห้าสิบหกสิบเจ็ดสิบปีที่เริ่มชีวิตการทำงานจากครู วงการครูของเรามีครูหลายคนที่ใช้กระบวนการการเมือง

                   ในสถาบันครูมีการจัดตั้งที่เข้มแข็ง สถาบันครูถูกใช้เป็นฐาน เป็นเสมือนก้อนหิน ใช้เหยียบ ใช้เขย่ง เพื่ออำนาจของตนเองมากกว่าเพื่อการศึกษาของลูกหลาน

                   ผู้บริหารหลายคนถูกเพื่อนครูมองกันว่าเป็นเด็กฝากทางการเมือง

                  เราจะทบทวนเรื่องกันหรือไม่ ทำอย่างไรครูของเราที่ไปอยู่วงการเมือง จะทำสิ่งที่มีสาระด้านการศึกษาให้มากขึ้น

                  เราจะมีนักการเมืองที่เป็นรัฐบุรุษทางการศึกษากันบ้างหรือไม่ เราเห็นสัจธรรมที่ว่าอำนาจทำให้คนเสียและอำนาจสูงยิ่งทำให้คนเสียได้สูง เช่นกัน

                 ทำอย่างไรวงการครูของเราจะลดความเป็นองค์กรจัดตั้งทางการเมือง แต่เป็นองค์กรทางวิชาชีพครู หรือเราจะหวังไม่ได้เลย

                 กระทรวงศึกษาธิการเคยมีปูชนียบุคคล เช่น ม.ล. ปิ่น มาลากุล ปราชญ์ เช่น อาจารย์สุกิจ นิมมานเหมินทร์ นักการศึกษา เช่น อาจารย์ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ นักคิด เช่น อาจารย์สิปปนนท์ เกตุทัต ปฏิมากรการศึกษา อย่างอาจารย์วิจิตร ศรีสะอ้าน

                ทศวรรษสุดท้ายของการทำงานของเราคือ ทศวรรษ ๒๕๔๐ เราได้รัฐธรรมนูญที่เชื่อกันว่าเป็นฉบับที่ดี เราได้พรบ.การศึกษาแห่งชาติ ๒๕๔๒ รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ประกันสิทธิเสรีภาพสูงแก่คนไทย แต่คนของเราช่วงสามสิบสี่สิบปีหลัง ขาดการขัดเกลาเรื่องหน้าที่และความรับผิดชอบเช่นคนรุ่นเราที่ถูกบุพการีสั่งสอนมา บ้านเมืองไทยเลยสำลักสิทธิเสรีภาพ และโหยหาเรื่องหน้าที่ความรับผิดชอบ

               คงจะต้องดูกันว่าระบบการศึกษาของเรา ทำเรื่องหน้าที่ความรับผิดชอบตกหล่นไว้ที่ไหนหรือไม่

               พรบ.การศึกษาแห่งชาติ ๒๕๔๒ ทำให้เราตั้งธงเรื่องปฏิรูปการศึกษาได้ แต่เราขัดแย้งเรื่องอำนาจ โครงสร้าง ผลประโยชน์กันหลายปี จนสาระเรื่องการปฏิรูปการเรียนรู้ และการการดูแลสถานะภาพและการพัฒนาครูเป็นตัวตาม

               แปดปีผ่านมาเพิ่งตั้งหลักได้ การหลอมรวมกระทรวงและหน่วยงานเป็นหนึ่งกระทรวงและห้าองค์กรหลัก เป็นโครงสร้างที่ควรเกิดเอกภาพเชิงนโยบาย และเอื้อให้เกิดสัมฤทธิ์ผลถ้าได้เจ้ากระทรวงที่ดีและเข้าใจการใช้โครงสร้างนี้ แม้จะสะดุดเพราะวัฒนธรรมองค์กร และสภาพจัดตั้งที่ต่างกั เป็นเรื่องที่ต้องฝาน ถาก ขัด และเกลากันต่อไป

               สามสิบกว่าปีของการทำงาน เราคงทำผิดบ้าง ทำบาปบ้าง ต้องขออภัย เราคงทำชอบ ทำถูก ทำบุญ ทำประโยชน์ไว้พอสมควร ขอให้คนรุ่นต่อไปใช้ประโยชน์ให้เป็นเนื้อนาบุญสร้างการศึกษาเพื่อลูกหลานต่อไป

หมายเลขบันทึก: 133340เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2007 23:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท