แผนที่วัฒนธรรม:ทางออกของประเทศยุคโลกาภิวัตน์


ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งสร้างความมั่นคงด้านวัฒนธรรมของประเทศให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้ถูกกลืนและเดินสู่ความล่มสลาย

การเดินหน้าโครงการรวบรวมองค์ความรู้วัฒนธรรมเพื่อการจัดทำแผนที่ 4 ภูมิภาค

        ในการบรรยายพิเศษของ ศาสตราจารย์ปรีชา  ช้างขวัญยืน ประธานคณะกรรมการสาขาปรัชญา  สภาวิจัยแห่งชาติ  ท่านได้ชี้ให้เราได้ตระหนักถึงวิกฤตการณ์ทางวัฒนธรรมไว้น่าสนใจมาก  ท่านเริ่มด้วยประโยคที่น่าคิดว่า

 

         สังคมจะเห็นคุณค่าสิ่งใด ก็ต่อเมื่อสิ่งนั้นเป็นประโยชน์

 

         เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลง  คนก็เห็นคุณค่าของสิ่งต่างๆ  เปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมนั้นด้วย  

         วัฒนธรรมก็เช่นกัน คนในสังคมเห็นคุณค่าวัฒนธรรมบางสิ่งบางอย่างของตนน้อยลงเพราะไม่มีประโยชน์แก่การใช้สอยวัฒนธรรมใหม่เกิดขึ้นและทดแทนวัฒนธรรมเก่า

          วัฒนธรรมใหม่และเก่าต่างก็มีข้อดี ข้อเสียด้วยกัน ทุกอย่างย่อม เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมดาสรรพสิ่ง เพียงแต่เราจะเลือกอย่างไร

        ท่านเคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า    

         "ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในสภาวะถดถอยทางวัฒนธรรม โดยมีความเข้าใจผิดด้านวัฒนธรรมของประชาชน ที่แยกไม่ออกว่า สิ่งใดเป็นวัฒนธรรมของประเทศหรือต่างประเทศ

          ประกอบกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ให้ความสำคัญด้านวัฒนธรรมอย่างมาก ถึงขนาดตั้งอุตสาหกรรมวัฒนธรรมขึ้นแล้ว ซึ่งอาจขยายอิทธิพลวัฒนธรรมของจีนไปทั่วโลกได้

         ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งสร้างความมั่นคงด้านวัฒนธรรมของประเทศให้มากขึ้น เพื่อไม่ให้ถูกกลืนและเดินสู่ความล่มสลาย 


            ดังนั้นสภาวิจัยแห่งชาติจึงเดินหน้าสร้างองค์ความรู้และผนึกความรู้ด้านวัฒนธรรมในแต่ท้องที่ทั่วประเทศ เพื่อรวบรวมข้อมูล จัดทำเป็นแผนที่วัฒนธรรมขึ้น ให้หน่วยงานภาครัฐได้ใช้ประโยชน์ในการออกนโยบายบริหารประเทศ โดยไม่ลืมคำนึงถึงวัฒนธรรมที่ดีของประเทศด้วย ซึ่งขณะนี้การทำแผนที่วัฒนธรรม ยังอยู่ในระยะที่ 2 ที่ออกรวบรวมองค์ความรู้กับเจ้าของวัฒนธรรมทั่วประเทศ"

 

             เรื่องวัฒนธรรม  จึงเป็นเรื่องใหญ่  เป็นภารกิจของประเทศ  การที่สภาวิจัยแห่งชาติ โดยศาสตราจารย์ปรีชา  ช้างขวัญยืน ประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่าน พร้อมด้วยพิพิธภัณฑ์ความรู้แห่งชาติได้ออกมาดำเนินการ อย่างนี้จึงเป็นเรื่องที่โชคดี  นักวัฒนธรรมทั้งหลายที่ทำงานไม่ว่าจะแขนงใด  ก็ให้รู้เถิดว่า  ท่านเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในการกอบกู้ชาติก็ว่าได้ งานที่ท่านทำคือองค์ความรู้ที่จะนำไปสู่การทำแผนที่วัฒนธรรมของชาติในอนาคตได้  

หมายเลขบันทึก: 133241เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2007 15:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีด้วยความระลึกถึงยิ่งค่ะ พี่กรเพชร

หลังจากอ่านบันทึกที่น่าสนใจมากนี้เสร็จแล้ว  แอมแปร์ใช้เวลาตัดสินใจสิบสามวิ  ก่อนจะคลิก กดที่นี่เพื่อเพิ่มความคิดเห็น เนื่องจากรู้สึกว่าเรื่อง วัฒนธรรม นี้ เป็นเรื่องใหญ่และละเอียดอ่อนมาก  เกินความรู้ที่แอมแปร์มี แต่แอมแปร์ต้องทำหน้าที่สอนและฝึกเด็กในฐานะครูนิเทศศาสตร์และครูภาษาไทย

แอมแปร์จึงอยากสื่อสารกับผู้ใหญ่สักท่าน  ที่เป็นผู้รู้ (ที่รู้จักเราเพื่อเขาจะได้ไม่เข้าใจเราผิด)   เพื่อให้เขาช่วยชี้แนะ  แอมแปร์จะได้หายสับสนและจะได้เดินได้ถูกทาง 

ก็เลยมาลงตัวที่บันทึกนี้ของพี่กรเพชร  เพราะพี่เป็นพี่ของแอมแปร์ : )

ดังนั้นต่อไปนี้ จึงเป็นความเห็นจากใจของน้อง  ด้วยความเคารพนะคะ 

เมื่อก่อนความหมายของคำว่า วัฒนธรรม ที่แอมแปร์เรียนในห้องเรียน เป็นความหมายเชิงบวก คือบวกคำว่า "เจริญงอกงาม" เข้าไปด้วย  เวลาตอบข้อสอบปรนัยสมัยเรียน  จึงต้องเลือกข้อที่มีคำว่า "เจริญงอกงาม"  : )

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา(อันกำหนด วันที่ เดือน ปี เป็นที่แน่นอนมิได้) ความหมายของคำว่า วัฒนธรรม ในสังคมศาสตร์  ก็เปลี่ยนไป  ดูเหมือนว่าความหมายหลัก จะอยู่ที่คำว่า วิถี  ส่วนจะเป็นวิถีแบบใดนั้น  ก็ว่ากันไปตามปริบทแห่งกลุ่มชนนั้น

ความหมายของคำว่า วัฒนธรรม จึงดูขรึมขลังแต่คลุมเครือ (สำนวนท่านอาจารย์วิพุธ) อยู่ในบางครั้ง  เพราะหากมองว่าเป็นความเจริญงอกงาม  ก็ต้องอ้างอิงว่าอยู่ในปริบทใด  และของคนชุดใด  และความเจริญงอกงามนั้น  ให้คุณแก่ใคร และให้คุณ (หรือเป็นมงคล)อย่างไรบ้าง 

ขออนุญาตไม่ใช้คำว่า ประโยชน์ นะคะ เพราะเมื่อเพิ่มคำว่า ผล  เข้าไปข้างหน้า  วัฒนธรรม ก็จะถูกลดทอนเหลือเพียงแค่วิถี อันให้ประโยชน์ต่างตอบแทนเป็นตัวเงิน  ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับสินค้า  ผู้ผลิตวัฒนธรรม (ให้ผู้อื่นมาเยี่ยมชม)ที่เป็นมนุษย์ตาดำๆ  ก็จะถูกลดทอนความเป็นมนุษย์  ให้เหลือเพียงความเป็น product (ใช้คำนี้ได้อารมณ์ดี)  ซึ่งอันนี้แอมแปร์ไม่ทราบจะคุยอะไรต่อ

คืออะไรๆก็ตามในโลกนี้  ทันทีที่ซื้อขายกันได้ด้วยเงินแล้ว  ก็ออกจะมี มูลค่า   และดูจะลด คุณค่า  ทางจิตใจไปในทันที 

ถ้าเราสามารถสื่อสารกับเด็กๆของเราให้ชัดว่าวัฒนธรรมคืออะไร และวัฒนธรรมชุดใดบ้างที่เราพึงสืบทอด  (และกล้าบอกตรงๆว่าวัฒธรรมชุดใดที่เป็นวิถีการค้า ที่พึงคิดให้ดีก่อนรับเข้ามา บอกเด็กๆของเราตั้งแต่เล็ก อย่ารอให้อ่านไปสอบตอนโต) หากเราสร้างให้เกิดจิตสำนึกตระหนักรู้ และรู้เท่าทันได้ดังนี้  เราจึงจะ"สู้" กับวิถี  ทั้งวิถีที่ฝ่ายหนึ่งไม่อยากให้เป็น  ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งอยากให้เป็น  กับวิถีที่ที่ไม่พึงประสงค์  และไม่ควรเป็นในตอนนี้ได้   

รู้สึกเห็นด้วยกับพี่เป็นอย่างยิ่งว่า ถึงคราวที่ต้อง "กู้ชาติ" กันแล้วจริงๆ

และหากเชื่อตรงกันว่าภาษาส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม  หนังสือเรียนสำหรับเด็กอนุบาล ประถม และมัธยม ที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรม ต้องกล้าเปลี่ยนกันใหม่ทั้งกุรุส  ผู้เขียนต้องรู้วิธีเขียนเพื่อสร้างความหมายที่จับใจเด็ก   และต้องมีวิธีอธิบายความหมายที่ใจกว้างหน่อย  แต่ฉลาดลึกซึ้งที่จะบอกว่า อันความหลากหลายที่ว่ามาทั้งหมดนั้น  หนูเอ๋ย  แบบที่จะป็นคุณกับชีวิตหนูน่ะ   หน้าตาเป็นเช่นนี้   แลนา

แล้วครูก็มีหน้าที่ถามต่อจากหนังสือ(ดีๆเล่มนั้น)ว่า  หรือหนูคิดว่าไง  จากนั้นก็อภิปรายกันสนั่นหวั่นไหวในชั้นเรียน เพื่อให้เกิดความแตกฉาน(ที่ไม่ซ่านเซ็น)ทางสติปัญญา เด็กๆเขาจะได้กล้าที่จะไปคิดตั้งคำถามต่อ

หนังสือเรียนจะได้จับมือช่วยกันกับสื่ออื่นๆได้  ไม่ใช่หนังสือเรียนไปทาง  สื่อ(กระแสหลัก)ไปอีกทาง  แถมยังไปด้วยกันในทิศทางตรงกันข้ามอีกต่างหาก  : )

หนังสือเรียน(ขอประทานโทษนะคะ)แบบที่เขียนนิยามศัพท์มาให้ตอบได้เฉพาะตอนสอบเอ็นท์  โดยไม่ตระหนักถึงความลึกซึ้งของคำว่า วัฒนธรรม นั้น  น่าจะลดให้เหลือน้อยลง

แอมแปร์คิด(และยังเชื่อด้วยชีวิต)จนบัดนี้ว่า วัฒนธรรมไทย  (ซึ่งแอมแปร์ก็ไม่ใคร่เข้าใจลึกซึ้งนักว่าคืออะไรแน่) ที่ยังพอรับมือกับ "การถูกกลืนและความล่มสลาย" ได้นั้น คือวัฒนธรรมแบบ "ครอบครัวไทย"   ซึ่งก็อาจง่อนแง่นโงนเงนไปบ้างในบางจังหวะของบางครอบครัว   แต่ก็ยังเป็นเชือกเหนียวแน่นเส้นใหญ่  ที่ยึดโยงสังคมไทย(ส่วนมาก)ไว้

และยังคงอยู่ไปได้อีกนาน   ตราบเท่าที่เรายัง"ช่วยกันสร้างความตระหนักถึงความลึกซึ้งของความหมาย ของคำภาษาไทย ที่เราใช้สื่อสาร(เพื่อส่งผ่านความหมาย  และสร้างความหมายในใจของกันและกันของวัฒนธรรมครอบครัว)เพื่อพากันไปให้รอด" ไม่ใช่ต่างคนต่างเอาตัวรอดกันไป

แอมแปร์พิมพ์ประโยคอย่างยาวข้างต้นเพราะอยากสื่อให้ครบความนะคะ

ตัวอย่างชัดๆของการสื่อสารแบบสายใยครอบครัว ใน GotoKnow   หลังจากใช้คำว่าคุณ เพื่อแสดงความสุภาพและให้เกียรติแล้ว จากนั้นเมื่อเริ่มคุ้นเคย  ก็จะเริ่มใช้คำเครือญาติ  และนับเรียงพี่เรียงน้องกัน  ผิดบ้างถูกบ้างจนลงตัวอย่างน่ารัก 

แล้วก็นำไปสู่การสื่อสารกันเป็นเครือข่าย  ที่สามารถจะทำให้เกิดสิ่งดีๆในสังคมไทยได้อีกมากมาย  ดังบันทึกความในใจ ของคุณสิงห์ป่าสัก บันทึกนี้ (แอมแปร์เลือกบันทึกนี้เป็นตัวแทนบันทึกอีกนับร้อย ของพ่อครูบาสุทธินันท์และของพี่ๆน้องๆอีกหลายท่าน  ที่สื่อความไปในทิศทางดีงามเดียวกันนี้)

การสื่อสารแบบสายใยครอบครัว ยังคงเป็นรากแก้วของการสื่อสารสารแบบไทย  คำเครือญาติจะยังช่วยยึดโยงการผลิตซ้ำความหมาย  และความสัมพันธ์แบบเครือญาติ ในสังคมไทยไปได้อีกนาน  (คือแอมแปร์ยังหวังว่าจะได้อีกนาน)ทั้งสังคมชาวบ้านและสังคมชาวเมือง ไม่ว่าจะอยู่ชนชั้นใดก็ตาม

แต่ผู้สื่อสาร จำต้องตระหนักในคุณค่าของความหมาย ของคำที่พูดออกมาด้วย  และหากฝึกนิสัย "การตระหนักรู้ และเห็นคุณค่าของความหมาย" ของคำที่เลือกมาพูด (หรือสื่อสาร)ให้เกิดขึ้นได้  ก็จะเป็นคุณูปการเหลือคณานับ 

แอมแปร์เคยสงสัยว่าทำไมหลายๆครั้ง ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ จึงต้องอรรถาธิบายคำหนึ่งคำ อย่างยืดยาว  เห็นทั้งที่มาที่ไป เห็นการกลืนกลายความหมาย  เห็นไปถึงผลที่เกิดขึ้นเมื่อความหมายนั้น "กลาย" ไปเสียแล้ว  ทำให้เห็นว่า"ผล"ที่เกิดจากการ "กลาย" โดย....ไม่สนใจที่มา  ไม่รู้ที่ไป  และอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนั้นก็ไม่สนใจ.... นั้น  น่ากลัวนัก   เพราะคนที่ฉลาดกว่า เขาก็จะบิดเบือนความหมายเอาโดยง่าย

เพราะ ..."คนเราจะรู้และคิดได้เท่ากับภาษาและสัญลักษณ์ที่เรามี"....

บันทึกของท่านอาจารย์พิสูจน์ เรื่อง การเขียนอักษรย่อ จึงเป็นกรณีตัวอย่างหนึ่งทางภาษา และวิธีคิดทางภาษาที่น่าสนใจนะคะ  ถึงจุดๆหนึ่ง ความนิยมของคนหมู่มากจะเป็นที่ยอมรับ  ที่เคยผิดอาจจะกลายเป็นถูก

วัฒนธรรมการเรียนรู้ภาษา ก็คงต้องเปิดกว้างขึ้น  มองภาษาในเชิงวัฒนธรรมมากขึ้น  ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรฝึกคนในชาติให้มีวิธีคิดวิเคราะห์ พิจารณา ไตร่ตรอง  มิใช่เพื่อให้ต่อต้านความเปลี่ยนแปลงอย่างไม่รู้คิด  แต่เพื่อให้รู้เท่าทัน  และรู้วิธีรับมือกับความเปลี่ยนแปลง  อย่าง"ตระหนักรู้ถึงผลอันจะเกิดจากความเปลี่ยนแปลงนั้น  ทั้งผลที่เกิดขึ้นตรงๆ  ผลกระทบทางอ้อม  และผลที่จะสืบเนื่องไปถึงลูกถึงหลานของเราด้วย
"เพราะคนเราจะรู้และคิดได้เท่ากับภาษาและสัญลักษณ์ที่เรามี"  (พ่อบอกว่ามีใครคนหนึ่งกล่าวไว้ อ้างอิงไม่ถูก  แต่แอมแปร์ชอบใจนัก)

 นอกจากถ้อยคำภาษาที่ใช้แทนการสร้างความหมาย เพื่อสื่อสารกัน เพื่อส่งต่อและสืบทอดความหมายของ "วัฒนธรรมครอบครัว  รากแก้วของสังคมไทย"แล้ว  ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนชุดต่างๆในสังคม(อันเนื่องมาจากสภาพสังคมปัจจุบัน)  ก็ยังส่งผลต่อ "วัฒนธรรมครอบครัว รากแก้วของสังคมไทย" อย่างลึกซึ้ง รวดเร็ว และอาจจะรุนแรงด้วย(ในอนาคต)  ดังบันทึกเรื่องผู้สูงอายุ ของคุณศศินันท์

(แอมแปร์ดีใจจริงๆที่คุณศศินันท์เข้ามาสื่อสารในโกทูโนว์นะคะ) 

คืออย่างนี้นะคะพี่กรเพชร  พอพ้นจากเรื่อง(วัฒนธรรมทาง)ภาษาและการสื่อสารแล้ว  แอมแปร์ก็เริ่มจะหมดมุก   เพราะวัฒนธรรมนั้นมีรูปแบบที่หลากหลายนัก  แต่เนื้อหาคือการสืบทอดอะไรบางอย่าง เพื่ออะไรอีกหลายๆอย่าง  

นอกเหนือจากการบอกให้รู้ว่า มีอะไรอยู่ที่ไหนบ้างแล้ว  ถ้ามีวิธีทำให้ (คือแปลให้) คนที่กำลังผลิตวัฒนธรรมเหล่านี้  มองเห็นความหมายอันลึกซึ้งของเนื้อหา  เขาจะเห็นคุณค่าที่แท้ ที่อยู่เบื้องหลังรูปแบบ และส่งไม้ต่อมือกันได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง  และวัฒนธรรมชุดนั้นๆ  ในถิ่นนั้นๆจะค่อยๆปรับปรนจนเกิดการตระหนักรู้ในคุณค่าอย่างต่อเนื่องไปเอง     

เรื่องการทำแผนที่ทางวัฒนธรรมนี้ แอมแปร์ยังไม่มีความรู้  ดังนั้นแอมแปร์จะรีบไปหาความรู้อย่างรวดเร็ว   แนวคิดพิพิธภัณฑ์ความรู้แห่งชาติ ซึ่งปรากฏเป็นรูปธรรมแล้วนั้นก็มีคุณค่านัก  แอมแปร์ก็ต้องไปหาความรู้และไปคิดต่อว่าแอมแปร์จะทำอะไรในที่ๆแอมแปร์อยู่ได้บ้าง  เท่าที่กำลังจะพอมี  อะไรที่ทำเพื่อชาติได้ในตอนนี้ แอมแปร์ก็เชื่อว่าทุกคนยินดีทำ

สุดท้ายนี้ขอบพระคุณพี่กรเพชรมากๆนะคะ ที่เขียนบันทึกดีๆให้ได้อ่าน ได้รับทราบว่าผู้ใหญ่ในบ้านเมืองท่านกำลังหาแนวทางอย่างดีที่สุดในการสืบทอด"ความเป็นชาติ"ไทยของเรา  ขอบคุณพี่อีกที ที่กรุณาอ่านมาจนถึงบรรทัดนี้  แม้ว่าแอมแปร์จะเขียนวนๆแบบหาทิศไม่ใคร่เจอ    และขออภัยท่านที่แวะเข้ามาอ่าน ที่ความเห็นนี้ยืดยาวเกินไป  ...แต่หากท่านกรุณาอ่านจนจบก็ขอขอบพระคุณยิ่งนะคะ   : )

เพิ่มเติมความเห็น สักเล็กน้อย

วัฒนธรรม ยังคงต้องพิจารณาจาก ความงอกงามเป็นหลัก  ที่คุณแอมแปร์ กล่าวแสดงความคิดเห็นทั้งหมดนี้ ดูแล้วเหมือนจะได้ความรู้มากมาย ถ้าไม่ติดหล่มภาษา  และยึดแน่นกับหลักคิดของการสื่อสาร 

วัฒนธรรม มีความหมายที่เรียบง่าย คือวิถีที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ความงอกงาม  ..ส่วนจะเป็นของใครน้น ก็ต้องตอบว่า เป็นของเจ้าของวัฒนธรรม  ต้นไม้แตกกิ่งก้านได้หลากหลายฉันใด   วัฒนธรรมก็แตกกิ่งก้านได้คล้ายกัน

การเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรม ไม่มีถูกหรือผิด ไม่มีในกระแสหรือนอกกระแส  กระแสหลัก หรือกระแสรอง สิ่งเหล่านี้ เป็นคำพูด ที่ปั้นขึ้นมาเพื่ออธิบายความหมาย / ความคิดของผู้ที่จะพยายามให้คำตอบกับสิ่งที่ตนยังไม่เข้าใจ  เรียกได้ว่า กำลังปักหมุดเป็นระยะ ๆ เพื่อเวลามองย้อนกลับมาจะได้ทำความเข้าใจได้ทีละขั้นทีละตอน  เหมือนหลักวิชาการวิจัยที่ นิยมสอนกันในโรงเรียนใหญ่ ๆ หรือมหาวิทยาลัย  

ความเหมาะสมของวัฒนธรรม จะพิสุจน์ได้อย่างจริงแท้ ด้วยชีวิตความเป็นอยู่ สิ่งใดเหมาะสมกับความเป็นอยู่ ก็จะเป็นวัฒนธรรมที่งอกออกไป  ถ้าช่วยให้คนอยู่รอดได้อย่างเหมาะสม ตามเหตุและปัจจัย การนั้นก็เรียกว่า งอกงาม บางอย่างถ้าจงใจปั้นให้งอกออกไป มันก็เกินความต้องการปกติ  นานไปสิ่งนั้นก็หายไปเอง การงอกเช่นนี้ของวัฒนธรรม ก็เป็นการงอกเกิน ไม่ใช่งอกงาม

 น่าเสียดายที่โรงเรียนใหญ่ ๆ หลายแห่ง สอนตามตัวหนังสือ สรุปเอาตามตรรกะของ ภาษา มากกว่ามองความเป็นจริง ตามเหตุและปัจจัยความจริง

ตอนนี้ สสส.  เอย  สวช. หรือกระทั่งสำนักนายกฯ กำลังเกิดอาการ สำลัก วัฒนธรรม  นึกว่าต้องสร้าง ต้องปั้น ต้องหนุนกันสุดฤทธิ์ วัฒนธรรมไทยจึงจะอยู่รอดได้

คำพูดเก๋  ๆ ที่ว่า อุตสาหกรรมวัฒนธรรมนั้น เป็นเพียงคำจำกัดความของสินค้าชนิดหนึ่ง ที่มีความเป็นมาใกล้ชิดและอธิบายได้ตามประวัติศาสตร์ของชนชาตินั้น ๆ แต่ความเป็นวิถีชีวิตเหล่านั้นจะนำมาผลิตเป็นสินค้าไม่ได้หรอก  สิ่งที่เอามาขายกัน เป็นเพียงข้าวของเครื่องใช้ ในรอยทางชีวิตช่วงหนึ่ง ๆ ของสังคมนั้น ๆ   เป็นส่วนหนึ่งในร้อยของวิถีวัฒนธรรม

ถ้าเราสร้างข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้ มากเกินไป เร็วเกินไป เราจึงก้าวไปสู่ความหมายของการสร้าง อุตสาหกรรมวัฒนธรรมจริง ๆ  ซึ่งถึงวันนี้ วัฒนธรรมก็ล่มสลายพอดี

เมืองไทยวันนี้ จึงไม่เหลืออะไรทีเป็นของไทย หรือแม้แต่ของที่จะสะท้อนความเป็นไทย เรามีของที่ทำในเมืองไทย ทำโดยคนไทย แต่ไม่มีของไทยไทย เหลือแล้ว หรือมีก็น้อยมาก 

  • สุดยอดครับท่านอาจารย์
  • น่าจะมีประโยชน์มาก
  • ผมเองรวบรวมแผนที่วัฒนธรรมเรื่อง จิตรกรรมฝาผนังอีสานเอาไว้
  • หวังว่าจะได้รับรู้เรื่องอื่น ๆ จากงานอาจารย์ครับ

สวัสดีน้องP  

สวัสดีคุณอริยทัศน์

สวัสดีคุณP

                    ผมเห็นทุกท่านเขียนแสดงความคิดเห็นในบันทึกนี้แล้วตะลึงครับ  เพราะนี่เป็นบันทึกแรกที่มีผู้เขียนความเห็นยาวมากๆ และน่าสนใจในแง่มุมมองความคิดของทุกท่าน

                    พี่เห็นด้วยกับน้องแอมแปร์ที่พยายามสื่อถึงวัฒนธรรมใน Go to Know  ซึ่งเป็นวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้  ที่สุภาพ เป็นวิชาการ  เคารพสิทธิผู้อื่น ให้ความห่วงใย  ให้กำลังใจกัน  ช่วยเหลือกัน หรือไปมาหาสู่กัน  นี่คือ  วิถีชีวิตและความเจริญงอกงาม ตามที่คุณอริยทัศน์ กล่าวไว้  ถูกต้องแล้วครับ  ซึ่งต้องเป็นสิ่งที่ดีงามนะครับ  (ตามทรรศนะของเจ้าของวัฒนธรรม)  เพราะถ้าใครไปชี้ว่าของคุณไม่ดี ไม่งาม ไม่ใช่วัฒนธรรมนะ  เลิกเถอะ   เห็นถ้าจะไม่ใช่

                  วัฒนธรรม  เป็นเรื่องของแต่ละกลุ่มชน วิถีชีวิตของกลุ่มชนเป็นอย่างไร ก็ต้องปล่อยไปตามวิถีนั้นๆ    แต่นั่นแหละครับ  เมื่อใดก็ตามที่กลุ่มชนหนึ่ง มีวัฒนธรรมหนึ่งแต่อยู่ท่ามกลางวัฒนธรรมแวดล้อม โอกาสแห่งการถูกกลืน เปลี่ยนแปลงไปก็มีสูง  ทั้งถูกบังคับโดยกลุ่มชนที่มีอิทธิพลเหนือกว่า  หรือไม่ก็เปลี่ยนไปเพราะเห็นว่า วัฒนธรรมที่ทรงอิทธิพลดีกว่า จึงทำให้กลุ่มชนเกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา ทำให้รู้สึกว่า  แล้วจะแปลกตรงไหน ถ้าเขาเห็นวัฒนธรรมอื่นดีกว่า  อย่างวัยรุ่นกำลังนิยมเกาหลี ญี่ปุ่น ฝรั่ง  เด็กๆ คงจะย้อนถามผู้ใหญ่เหมือนกันว่า  มัเลวร้ายตรงไหน?    

             มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยให้ข้อคิดว่า  การแนะนำ หรือชี้แนะเขาให้เข้าใจตัวตนที่แท้จริงก็คือการชี้ไปที่วัฒนธรรม  ความเป็นมาของวัฒนธรรม  ตราบใดที่เขายังเรียกตนเองว่าเป็นกลุ่มชนไหน เช่น คนไทย  คนพวน คนลัวะ ไทยใหญ่ฯลฯ สุดแล้วแต่ เราก็หนีความเป็นกลุ่มชนนั้นๆ ไม่ได้  ดังนั้นให้เขาคิดเองว่า อะไรคือสิ่งที่จะรักษาความเป็นกลุ่มชนของเขาไว้ได้ ก็ต้องภูมิใจ และใช้วัฒนธรรมนั้นๆ ในการดำรงชีวิตปัจจุบัน   รับวัฒนธรรมอื่นมาใช้ได้ แต่ให้เขารู้จักเลือกว่ามันช่วยเสริมช่วยสร้างความเป็นกลุ่มชนไว้ได้หรือไม่  เป็นต้น

          ขอบคุณทุกๆ ท่านอีกครั้งครับ  ขอให้อ่านบันึกต่อไปอีกครับ คิดว่าเราน่ามองเห็นภาพอะไรร่วมหรือต่างกันเพื่อความงอกงามทางวิชาการ อันจะเป็นประโยชน์ต่อวงการศึกษา วัฒนธรรมของพวกเรา และเด็กๆ ก็จะได้แนวทาง แบบอย่างที่ดี กว้างไกลไปด้วย ขอบคุณจริงๆ ครับ

ขออนุญาตแก้คำที่เขียนผิด ตกหล่นครับ

  มัเลวร้ายตรงไหน?   แก้เป็น  มันเลวร้ายตรงไหน

ขอให้อ่านบันึกต่อไป  แก้เป็น  ขอให้อ่านบันทึกต่อไป

สวัสดีค่ะ

อาจารย์ สบายดีนะคะ

เห็นด้วยมากๆค่ะ           เรื่องวัฒนธรรม  จึงเป็นเรื่องใหญ่  เป็นภารกิจของประเทศ  การที่สภาวิจัยแห่งชาติ โดยศาสตราจารย์ปรีชา  ช้างขวัญยืน ประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่าน พร้อมด้วยพิพิธภัณฑ์ความรู้แห่งชาติได้ออกมาดำเนินการ อย่างนี้จึงเป็นเรื่องที่โชคดี 

พอดีได้มีโอกาสถ่ายรูปกับท่าน เลยขอเอามาฝาก จะคุยกับท่านยาวๆก็ เวลาน้อยค่ะ ไว้วันหลัง มีเรื่องขอความรู้ท่านมากค่ะ

สวัสดีครับP

         ช่วงนี้งานค่อนข้างยุ่งครับ ผมเลยไม่ค่อยได้ท่องเที่ยวไปแวะเวียนทักทายใครเลย ได้แต่ประคองเขียนบันทึกช่วงกลางคืนสั้นๆ และตอบบันทึกบ้างก็ค่อนข้างจะแย่ แต่ขอบคุณคุณsasinandaมากครับที่ยังไม่ลืมมาแวะทักทายให้ความเห็น ขอบคุณครับสำหรับความห่วงใย

สิ่งที่ผมรู้ คือ ผมไม่รู้อะไรเลย

จึงต้องสืบเสาะเคาะสมองให้เบิกบานจากท่านผู้มีบารมี

ขอบพระคุณอย่างสุดครับ

สำหรับวาท

และอักขรพรรณนาในนี้

ต่อยอดทางสมองให้วิวัฒน์ได้มากโข

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท