การใช้ทฤษฎี “การรักษาสมดุลชีวิต” ในการป้องกันภาวะกระดูกพรุน


การรักษาสมดุลชีวิตเป็นการสร้างเสริมความแข็งแกร่งขององค์รวมที่สามารถป้องกันภาวะกระดูกพรุนได้ด้วยวิถีธรรมชาติโดยเน้นการสร้างเนื้อกระดูกทดแทนที่สัมพันธ์กับการสูญเสียเนื้อกระดูก

ภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis) คือการที่เนื้อกระดูกมีจำนวนน้อยลง ทำให้ความหนาแน่นของกระดูกลดลง บริเวณกระดูกแข็งมีรูพรุนมากขึ้น กระดูกจะโปร่งบาง ส่งผลให้โครงสร้างภายในกระดูกเสียไปและเสี่ยงต่อการหักของกระดูกหรือกระดูกยุบตัวได้ง่าย โดยเฉพาะกระดูกสะโพก กระดูกสันหลัง และกระดูกข้อมือ พบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่พบมากในหญิงสูงอายุ ภาวะกระดูกพรุนเกิดจากการที่ร่างกายมีอัตราการสร้างเนื้อกระดูกน้อยกว่าอัตราการทำลายเนื้อกระดูก โดยที่ธรรมชาติของกระดูกมีทั้งการสร้างและทำลายในอัตราส่วนที่สมดุลอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย ภาวะกระดูกพรุนจึงสามารถป้องกันและบำบัดรักษาได้ด้วยธรรมชาติบำบัด เพียงแต่เราต้องทำความเข้าใจในธรรมชาติของกระดูก การทำงานของร่างกายเพื่อรักษาภาวะสมดุล และปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะกระดูกพรุน

 การใช้ทฤษฎี การรักษาสมดุลชีวิตในการป้องกันภาวะกระดูกพรุน

ขั้นที่ 1 ทำความรู้จักตัวเอง

ศึกษาธรรมชาติของตนเองให้เข้าใจ ตรวจสอบความจำเป็นพื้นฐานทุกตัวว่าสมดุลหรือไม่ ตัวไหนขาดตัวไหนเกินเพราะอะไร ในแต่ละช่วงวัย ในแต่ละบทบาท และในแต่ละสภาพแวดล้อม

              ความจำเป็นพื้นฐานของร่างกายที่เกี่ยวข้องกับภาวะกระดูกพรุน

1.       หน้าที่การทำงานของร่างกาย - ความแข็งแรงของกระดูกเป็นอย่างไร ต้องตรวจร่างกายและความหนาแน่นของกระดูก

2.       ความรู้สึกสุนทรีย์ ความเครียดหรือไม่ มากน้อยเพียงไร จากอะไร ความเครียดจะกระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมนหลายตัวที่กดการทำหน้าที่ของฮอร์โมนเจริญเติบโต (Growth Hormone) จึงทำกับยับยั้งการสร้างเซลล์รวมทั้งเซลล์กระดูก ความเครียดต่อเนื่องเป็นเวลานานจึงส่งผลให้กระดูกบางหรือพรุนได้

3.       ความรักและความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง คุณรักตัวเองเพียงใด ปรารถนาจะให้ร่างกายแข็งแรงและมีบุคลิกภาพที่ดี กระดูกแข็งแรงช่วยในเรื่องบุคลิกและภาพลักษณ์ที่ดี ซึ่งหมายถึงการมีโครงสร้างที่ดี ไม่เสื่อมโทรม หรือมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของร่างกายเพราะกระดูกยุบตัว ต้องคิดเสมอว่ากระดูกเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายที่มีชีวิตต้องการการดูแลเอาใจใส่ นอกจากนี้ การขาดความรักและความรู้สึกที่ตนไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอะไรทำให้เกิดความเครียด ส่งผลให้เนื้อกระดูกบาง

4.       คุณค่าในตนเองและการได้รับการยอมรับ คุณเห็นคุณค่าในตัวเองหรือไม่ เห็นความสำคัญในการดูแลสุขภาพตัวเองเพียงใด การไม่รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าจะทำให้ไม่สนใจดูแลสุขภาพหรือความสนใจในการดูแลสุขภาพลดลง ไม่ตั้งใจ ไม่ใส่ใจ อาจทำให้มีการเคลื่อนไหวน้อยจนมีการสลายของแคลเซียมมากเกินไป ซึ่งเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน หรือใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่ออันตราย นอกจากนี้ คุณได้รับการยอมรับจากใครบ้าง ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจทำให้ไม่มีความสุข คิดมาก คิดแต่สิ่งไม่ดีที่มีแต่จะบั่นทอนร่างกาย ทำให้เกิดความเครียด ส่งผลให้เนื้อกระดูกบาง

5.       ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย ตนเองมีความมั่นคงปลอดภัยเพียงใดจากภาวะกระดูกพรุน มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ เสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บ กระดูกแขนขาหักง่ายหรือไม่ กระดูกที่แข็งแรงช่วยให้ปลอดภัยจากภาวะกระดูกพรุนซึ่งเสี่ยงต่อการหัก คุณมีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ คุณมีความกลัวความวิตกกังวลสูงเพียงใด มีความศรัทธาเชื่อมั่นในอะไรบ้าง ความกลัวและความวิตกกังวลทำให้เกิดความเครียด  

6.       การรับรู้และการเรียนรู้ คุณรับรู้ว่าตนเองอยู่ในภาวะใดของโรคกระดูกพรุนหรือไม่ มีความรู้ความเข้าในธรรมชาติของกระดูกเพียงใด อะไรที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนบ้าง อาการและปัญหาของกระดูกพรุนมีอะไรบ้าง การดูแลให้กระดูกมีความแข็งแรงทำอย่างไร การเปลี่ยนแปลงของกระดูกในวัยต่างๆ และสถานการณ์ต่างๆ เป็นอย่างไร7.       การรู้จักตนเอง -  คุณรู้หรือไม่ว่าสุขภาพตนเองอยู่ภาวะใด จุด่อนจุดแข็งของสุขภาพคุณมีอะไรบ้าง คุณอยู่ในวัยใดและกระดูกในวัยของคุณมีลักษณะอย่างไร คุณมีความเป็นตัวของตัวเองหรือไม่ มีวิธีจัดการกับสุขภาพตนเองอย่างไร

ขั้นที่ 2 ศึกษาสิ่งแวดล้อม

ศึกษาว่าอะไรที่เป็นอันตราย เป็นพิษ เป็นภัยคุกคาม และอะไรที่เป็นความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนของตนเอง วิทยาการก้าวหน้าของการป้องกันรักษาโรคกระดูกพรุนมีอะไรบ้าง

             ปัจจัยเสริมภาวะกระดูกพรุน

1.       สารนิโคตินในบุหรี่ ทำให้เลือดมีภาวะเป็นกรดมาก ร่างกายจะมีกลไกปรับค่ากรด-ด่างในเลือดให้สมดุล โดยสลายแคลเซียมออกมาสะเทินฤทธิ์กรดจากบุหรี่ การสูบบุหรี่จึงทำให้กระดูกสูญเสียแคลเซียม

2.       แอลกอฮอล์จะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม และส่งผลต่อตับในการกระตุ้นวิตามินดีที่ช่วยในการดูดซึมแคลเซียม

3.       สารคาเฟอีนกระตุ้นให้ถ่ายปัสสาวะมาก จึงขับแคลเซียมออกไปจากร่างกายมากด้วย คนที่ดื่มชา กาแฟ หรือ ช็อคโกแลตเป็นประจำ ร่างกายจึงสูญเสียแคลเซียมมาก ถ้ารับประทานแคลเซียมทดแทนไม่พอก็จะส่งผลต่อเนื้อกระดูกให้บางลง

4.       เกลือทำให้แคลเซียมสลายตัว การรับประทานอาหารเค็มจัดจึงทำให้ร่างกายสูญเสียแคลเซียม

5.       กรดฟอสฟูริกที่ผสมในน้ำอัดลมทำให้มีการสลายของแคลเซียมจากกระดูกมากขึ้น เพราะสมดุลของแคลเซียมกับฟอสฟอรัสอยู่ที่ 2 : 1 ถ้าฟอสฟอรัสมากไปร่างกายก็จะต้องสลายแคลเซียมออกมาให้อยู่ในสัดส่วนนี้ คนนี้ดื่มน้ำอัดลมมากๆ ร่างกายจึงสูญเสียแคลเซียม

6.       ยาลูกกลอนที่ส่วนใหญ่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์กระตุ้นการสลายแคลเซียมจากเนื้อกระดูก

7.       ยาที่มีส่วนผสมของคอร์ติโซนสำหรับโรคหืดและไขข้ออักเสบ และยาเฮพารินสำหรับโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ ทำให้มีกานสลายแคลเซียมมากขึ้น

8.       การลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนในหญิงวัยหมดประจำเดือนทำให้การดูดซึมแคลเซียมในร่างกายลดลง

9.       แสงแดดช่วยกระตุ้นการสร้างวิตามินดีที่มีฤทธิ์ช่วยในการดูดซึมของธาตุแคลเซียมเข้าสู่ร่างกาย การขาดวิตามินดีจึงส่งผลให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้

10.    ยาเคลือบกระเพาะส่วนใหญ่มีสารอะลูมีเนียมผสมอยู่ มีฤทธิ์เร่งให้ร่างกายขับแคลเซียมมากขึ้น การรับประทานยาเคลือบกระเพาะนานๆ จึงทำให้ร่างกายขาดแคลเซียม 

ขั้นที่ 3 ประเมินคุณภาพชีวิตของตนเอง

จะต้องค้นหาว่าแต่ละมิติของการดำเนินชีวิตของเราอ่อนแอหรือแข็งแกร่งอย่างไร ค้นหาตัวเองให้พบ ดูว่าคุณภาพชีวิตของเรามีความสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม ณ เวลานั้นหรือไม่อย่างไร แล้วถามตัวเองว่าเรามีปัญหาอะไรที่ต้องแก้ไข ปรับปรุง หรือฟื้นฟู อะไรที่ต้องส่งเสริมและป้องกัน จะได้รู้ว่าควรจะลุยไปข้างหน้าหรือจะถอย จะไปทางซ้ายหรือไปทางขวา ขึ้นข้างบนหรือลงข้างล่าง ต้องขอให้ใครซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญช่วยเหลือเราหรือไม่

1.       มิติร่างกาย สุขภาพร่างกายของคุณเป็นอย่าง มีความแข็งแรง ทนทาน กระฉับกระเฉง กระปรี้กระเปร่าหรือไม่ สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้เหมาะสมกับวัยและปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้หรือไม่ การเพิ่มเนื้อกระดูกอย่างถูกต้องร่างกายจะต้องได้รับอาหารที่เหมาะสมและการออกกำลังกายที่เน้นการสร้างเซลล์กระดูก การไม่เคลื่อนไหวหรือเคลื่อนไหวไม่พอทำให้มีการสลายของแคลเซียมจากเนื้อกระดูก ส่งผลให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้

2.       มิติจิต ความมีสติ การรู้จักสถานะสุขภาพของตนเอง การรู้จักวัย การรู้จักสถานที่ การมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความแข็งแรงของกระดูกและภาวะกระดูกพรุน

                 ธรรมชาติของกระดูกกระดูกเป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกายที่ต้องการเลือดไปหล่อเลี้ยง เป็นเนื้อเยื่อที่มีการปรับเปลี่ยนตัวเองอยู่ตลอดเวลาเพื่อรักษาสมดุลของเนื้อกระดูก และสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย โดยจะมีการสร้างและสลายเนื้อกระดูกอยู่ตลอดเวลา ในผู้ใหญ่ที่ร่างกายยังไม่มีความเสื่อมเกิดขึ้นและยังไม่มีการลดลงของฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโตและฮอร์โมนเพศ (ประมาณก่อนอายุ 35 ปี) อัตราการเพิ่มเซลล์ใหม่ของกระดูกจะมีประมาณ 4% ของผิวกระดูกทั้งหมด ส่วนอัตราการสลายของเนื้อกระดูกจะมีเพียง 1% ในกระบวนการปรับสมดุลของเนื้อกระดูก (ยกเว้นในระยะที่กระดูกกำลังมีการเจริญเติบโต) อัตราของเซลล์กระดูกที่ถูกสร้างขึ้นใหม่จะเท่ากับอัตราของเซลล์เก่าที่ตายไป ดังนั้น ปริมาณของเนื้อกระดูกจึงคงที่ แต่ถ้าเมื่อใดที่การสลายของเนื้อกระดูกมีมากกว่าการสร้างเนื้อกระดูกทดแทน เมื่อนั้นภาวะกระดูกพรุนจะเกิดขึ้น ซึ่งทั้งในผู้หญิงและผู้ชายจะเริ่มตอนอายุประมาณ 40 ปี โดยผู้หญิงจะสูญเสียเนื้อกระดูกมากกว่าผู้ชายกระดูกประกอบไปด้วยส่วนที่เป็นส่วนที่เป็นอนินทรีย์สารโดยเฉพาะแคลเซียม ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้กระดูกแข็ง กับส่วนที่เป็นอินทรีย์สาร ได้แก่ เซลล์กระดูกและเส้นใยคอลลาเจนซึ่งเป็นโปรทีนที่ทำให้กระดูกสามารถทนต่อแรงดึง แรงเค้น และแรงกดได้ เซลล์กระดูกมี 3 ชนิดคือ เซลล์ที่สร้างเซลล์กระดูกใหม่และเซลล์ที่ทำให้กระดูกแข็ง ซึ่งเซลล์ 2 ชนิดนี้มีบทบาทในการสร้างเนื้อกระดูกทั้งเพื่อการเจริญ เติบโต การซ่อมแซม และการปรับสมดุลของเนื้อกระดูก ส่วนชนิดที่ 3 คือเซลล์ที่ทำหน้าที่สลายเนื้อกระดูกเพื่อปล่อยเซลล์กระดูกที่ตายแล้วออกไปให้ร่างกายจัดการ และปล่อยเกลือแคลเซียมออกมาให้ร่างกายนำไปใช้ยามที่ต้องการ เช่น ในยามที่ร่างกายได้รับแคลเซียมจากอาหารไม่พอเพียง โดยเฉพาะในหญิงมีครรภ์ที่ต้องใช้แคลเซียมไปสร้างเนื้อกระดูกให้ลูก และในคนที่ต้องใช้แรงจากกล้ามเนื้อมากๆการสร้างเนื้อกระดูกจะเริ่มเมื่อกระดูกได้รับการกระตุ้นจากฮอร์โมน แรงกด และยาบางชนิด โยจะมีการสร้างเซลล์กระดูกใหม่แล้วก็จะมีเกลือแคลเซียมมาเกาะเพื่อให้กระดูกแข็ง ถ้ากระบวนการสร้างเนื้อกระดูกไม่สมบูรณ์ ภาวะกระดูกพรุนก็จะเกิดขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจากการที่เซลล์กระดูกที่เกิดใหม่ไม่ได้รับอาหารเพียงพอหรือมีเกลือแคลเซียมไปเกาะไม่พอที่สำคัญที่สุดคือกระดูกจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบกับแรงดึง แรงเค้น และแรงกดที่กระทำต่อกระดูก เมื่อมีน้ำหนักกดลงบนกระดูกจะทำให้กระดูกนั้นมีความหมาและแข็งแกร่งขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากแรงเหล่านั้นกระตุ้นให้มีการสร้างเซลล์กระดูกขึ้นใหม่ ปกติร่างกายจะมีการสลายของเนื้อกระดูกเพื่อให้เซลล์กระดูกเก่าที่เสื่อมสภาพและตายแล้วหลุดออกมากลับเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งหมายถึงแคลเซียมก็จะหลุดออกมาด้วย เมื่อร่างกายมีการขยับตัวเคลื่อนไหวก็ทำให้มีแรงเค้นไปกระตุ้นกระดูกให้สร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทน ซึ่งระยะนี้ร่างกายต้องการโปรทีนด้วย เมื่อมีเซลล์ใหม่เกิดขึ้นก็ต้องการธาตุแคลเซียมมาเกาะเพื่อให้เป็นเนื้อกระดูกที่สมบูรณ์ดังนั้น ถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวหรือมีแรงกดแรงเค้นที่กระทำต่อกระดูกไม่เพียงพอก็ไม่มีการสร้างเนื้อกระดูกขึ้นมาทดแทนกับที่สลายไป หรือเซลล์กระดูกได้รับอาหารโปรทีนไม่พอก็ทำให้การสร้างเซลล์ใหม่ไม่ประสบความสำเร็จ หรือร่างกายไม่ได้รับแคลเซียมอย่างพอเพียงกระดูกก็ไม่แข็ง หรือกินแคลเซียมเข้าไปแต่ร่างกายขาดวิตามินดีแคลเซียมก็ไม่ถูกดูดซึมเข้าร่างกาย เมื่อกระบวนการสร้างเนื้อกระดูกไม่มีคุณภาพหรือไม่เกิดขึ้นในขณะที่กระบวนการสลายเนื้อกระดูกเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาวะกระดูกพรุนก็จะเกิดขึ้น ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับอายุหรือการลดลงของฮอร์โมนเพศ จะเห็นว่าการกินแคลเซียมเข้าไปมากมายเพียงใดก็ไม่ช่วยให้พ้นปัญหากระดูกพรุนไปได้ถ้าไม่ออกกำลังกาย โดยเฉพาะให้มีการลงน้ำหนักกดลงไปที่กระดูก เช่น โยคะ การเดิน การวิ่งจ๊อก การกระโดดเชือก การวิดพื้น การยกน้ำหนัก การโหนบาร์ ฯลฯ ในเด็กถ้าอยากสูงก็ต้องออกกำลังกาย ในผู้ใหญ่ถ้าไม่อยากเตี้ยลงก็ต้องออกกำลังกาย ซึ่งจะต้องควบคู่ไปกับการรับประทานอาหารที่มีธาตุแคลเซียม แมกนีเซียม มังกานีส และฟอสฟอรัสในสัดส่วนที่พอเหมาะ และวิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินดี รวมทั้งการพักผ่อนที่พอเพียงเพื่อให้มีการหลั่งของฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโตมากระตุ้นการเจริญเติบโตและซ่อมแซมร่างกาย

3.       มิติใจ คุณมีความภูมิใจในตัวเองหรือไม่ มีวินัยในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุนหรือไม่ ทั้งการเลือกรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการพักผ่อน

4.       มิติอารมณ์ พื้นฐานอารมณ์ของคุณเป็นอย่างไร มีอารมณ์ขันบ้างหรือไม่ มีการแสดงออกทางอารมณ์อย่างไร จัดการกับความเครียดอย่างไร

5.       มิติสังคม การเข้าสังคมไม่ได้และการทำหน้าที่ตามบทบาทไม่ได้ดีก่อให้เกิดความเครียด สูญเสียความเชื่อมั่นในตนเองและไม่มีความสุข ส่งผลให้เนื้อกระดูกบาง

6.       มิติจิตวิญญาณ คุณรู้สึกว่าตนเองมีความมั่นคงในจิตใจหรือไม่  เพียงใด เพราะอะไร ขี้วิตกกังวล ขี้กลัว ขี้หวาดระแวงหรือไม่ เพราะอะไร ตัวตนของคุณเป็นอย่างไร ชอบไม่ชอบอะไร มีอะไรเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ สิ่งที่เราศรัทธาเลื่อมใสและเชื่อมั่นสามารถช่วยให้เราเข้มแข็งขึ้น

ขั้นที่ 4 ตั้งเป้าหมาย

ต้องตั้งเป้าหมายว่าจะมีกระดูกที่แข็งแรง และไม่เสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน

ขั้นที่ 5 การวางแผนป้องกันภาวะกระดูกพรุน

โดยการสร้างเสริมความแข็งแกร่งขององค์รวมที่กล่าวไปข้างต้น โดยเฉพาะการรับประทานอาหารที่ได้สัดส่วน การออกกำลังกาย และการจัดการกับความเครียด

ขั้นที่ 6 ปฏิบัติการ

ปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ โดยเฉพาะเรื่องการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการกับความเครียด และการพักผ่อน สิ่งสำคัญที่สุดในการปฏิบัติตามแผนป้องกันภาวะกระดูกพรุนคือการมีวินัย ที่จะทำให้เกิดความสม่ำเสมอและต่อเนื่อง และเกิดผลลัพธ์อย่างแท้จริง

ขั้นที่ 7 ตรวจเช็คสุขภาพของกระดูก

ควรตรวจเช็คทั้งความแข็งแรงของกระดูกและความหนาแน่นของเนื้อกระดูกอย่างสม่ำเสมอ

สรุป               

การรักษาสมดุลชีวิตเป็นการสร้างเสริมความแข็งแกร่งขององค์รวมที่สามารถป้องกันภาวะกระดูกพรุนได้ด้วยวิถีธรรมชาติโดยเน้นการสร้างเนื้อกระดูกทดแทนที่สัมพันธ์กับการสูญเสียเนื้อกระดูก การสร้างเสริมความแข็งแรงของเนื้อกระดูกจากการรับประมาณอาหาร การออกกำลังกาย และการพักผ่อน การรู้จักภาวะสุขภาพของตนเอง การเรียนรู้ธรรมชาติของกระดูก ปัญหากระดูกพรุน และแนวทางการป้องกันที่สามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ รวมทั้งการตอบสนองความจำเป็นพื้นฐานด้านความรู้สึกที่ก่อให้เกิดความเครียดเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุน

หมายเลขบันทึก: 129700เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2007 19:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ขอบคุณครับ
แม้แต่กระดูกในร่างกายที่แข็ง ก็ยังผุ พรุนได้
ทฤษฏีทั้ง 7 ข้อนี้ มีคุณค่าจริงๆครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท