“โภคิน” เมินเอฟทีเอไทย-มะกันเข้าสภา อ้างไม่มีอำนาจสั่งการ


โดย ผู้จัดการออนไลน์ 15 มกราคม 2549 00:04 น.
   โภคิน” ปัดนำเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ เข้าสภา อ้างไม่มีอำนาจสั่งการ ระบุสหรัฐฯ ต้องขออนุญาตรัฐสภาเพราะระบบไม่เหมือนประเทศไทย แนะช่องทางตั้งกระทู้-ญัตติแทน ด้าน ประชาธิปัตย์ ชี้ “ทักษิณ” อย่าปัดการมีส่วนร่วม จี้เปิดเผยผลการเจรจา
       

       
       วันนี้ (14 ม.ค) นายโภคิน พลกุล ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลนำรายละเอียดของการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย–สหรัฐฯ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพื่อให้ ส.ส. และ ส.ว. มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นว่า คงไม่สามารถบอกรัฐบาลได้ แต่ถ้าสภาฯ เปิดเมื่อใดก็มีช่องทางที่สมาชิกสามารถตั้งกระทู้ หรือญัตติได้
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการนำไปเปรียบเทียบว่าสหรัฐฯ ต้องนำข้อตกลงต่างๆ ไปขออนุญาตรัฐสภาก่อนนั้น นายโภคิน กล่าวว่า เป็นเรื่องของระบบแต่ละประเทศ จึงตอบไม่ได้ว่าใครถูกใครผิด เพราะระบบของแต่ละประเทศแตกต่างกัน เช่นเดียวกับที่ไม่สามารถวิจารณ์เรื่องผลกระทบได้ แต่ถ้าไม่ฟังประชาชนก็ต้องรับผิดชอบหากเกิดความผิดพลาด
       
       เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวที่ระบุว่าอาจมีการนำข้อตกลง FTA ไทย–สหรัฐฯ ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความผ่านทางประธานรัฐสภานั้น นายโภคิน กล่าวว่า จะต้องดูก่อนว่าเข้าเงื่อนไขหรือไม่ เพราะในระบอบประชาธิปไตยมีความแตกต่างทางความคิด ฝ่ายที่สนับสนุนก็มีเหตุผลเช่นเดียวกับฝ่ายที่คัดค้าน หากมีหนทางไปสู่ศาลก็ต้องดูว่าศาลจะตัดสินอย่างไร
       
       “ผมอยากย้ำให้สมาชิกรัฐสภา ใช้ช่องทางกระทู้ และญัตติมากกว่า FTA คงไม่ใช่กฎหมาย เพราะถ้าเป็นกฎหมายต้องหมายถึงเราต้องมาออกกฎหมายภายใน แต่อันนี้คงไม่ต้องก็ต้องว่ากันไป สมัยผมเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จะนำประเทศเข้า IMF พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านบอกว่าต้องนำเข้าสภาฯ แต่พอเป็นรัฐบาลก็บอกว่าไม่ต้อง ก็เป็นอย่างนี้ ดูเอาก็แล้วกัน” นายโภคิน กล่าว
       
       ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สานต่อแนวความคิดที่จะเปิดเผยรายละเอียดการเจรจา เพราะจะเป็นประโยชน์และจะทำให้การเจรจาง่ายขึ้น กระแสต่อต้านก็ลดลง ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีโจมตีคนที่ออกมาต่อต้านว่าไม่มีความรู้นั้นไม่เป็นความจริงอย่างแน่นอน
       
       “ผมขอยืนยันว่ามีข้อกังวลข้อห่วงใยมาก ที่นายกรัฐมนตรีกล่าวหาว่าคนที่เคลื่อนไหวไม่รู้อะไร ไม่จริง ผมเคยเป็นอาจารย์ที่ ม.ธรรมศาสตร์ เคยมีประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา และสิทธิบัตร ผมรู้จักหลายคนที่เคลื่อนไหวอยู่ เขาสนใจติดตามเรื่องมาด้วยความห่วงใย ตั้งแต่สมัยที่นายกรัฐมนตรีทำมาหาเงินอย่างเดียว ไม่ได้สนใจเรื่องส่วนรวม เขาจึงรู้ปัญหา และที่มาที่ไปพอสมควร” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
       
       นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีอาจจะอ้างความลับในการเจรจา แต่เห็นว่าการเจรจา และการมีส่วนร่วม สามารถไปพร้อมๆ กันได้ เพราะที่สุดข้อตกลงอาจมีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบ นายกรัฐมนตรีจึงไม่ควรปฏิเสธการมีส่วนร่วม และข้อตกลงกับสหรัฐฯ หากจะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญจะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 12961เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2006 01:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท