จะลงนาม FTA ต้องผ่านรัฐสภาก่อน อย่าทำผิดรัฐธรรมนูญ-อย่าแอบงุบงิบขายชาติ!


โดย เซี่ยงเส้าหลง 12 มกราคม 2549 00:39 น. ผู้จัดการ Online
  มันจะกระไรนักหนาถ้าจะเปิดเผยกรอบการเจรจา FTA กับประเทศต่าง ๆ กับประชาชนทุกหมู่เหล่าที่จะต้องรับผลกระทบมากน้อยต่างกัน โดยอาศัยเวทีรัฐสภาที่ในทางทฤษฎีแล้วถือเป็นตัวแทนของประชาชน
       
        เพราะในทางปฏิบัติแล้วพรรคไทยรักไทยก็ครองเสียงข้างมากเด็ดขาดอยู่แล้ว
       
        จะสั่งซ้ายหันขวาหันอย่างไรก็ได้
       
        ถ้าโปร่งใสและมีเหตุผลอธิบายต่อสาธารณชนได้จริง ๆ อย่างที่พร่ำพูดออกมาจะไปกลัวอะไร
       
        การใช้รัฐสภาเป็นเวทีเปิดเผยและให้ฉันทมติอนุมัติยังเป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 224 อย่างเคร่งครัด
       
       ที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรบอกว่าไม่ต้องผ่านรัฐสภาเพราะรัฐสภาไม่มีผู้เชี่ยวชาญ และไม่มีกฎหมายบังคับนั้น เฉพาะในประเด็นหลังต้องขอให้กลับไปเปิดรัฐธรรมนูญ 2540 ใหม่อีกครั้ง
       
       มาตรา 224 บัญญัติไว้ดังนี้
       
       “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศ หรือกับองค์การระหว่างประเทศ
       
       “หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตอำนาจแห่งรัฐ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา”
       
       โปรดพิจารณาวรรคสอง โดยเฉพาะตรงที่ “เซี่ยงเส้าหลง” ขีดเส้นใต้ไว้
       
       เคยมีข้อโต้เถียงกันมาแล้วครั้งหนึ่งในยุควิกฤตเศรษฐกิจช่วงรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ครั้งที่ 2 ปี 2540 – 2543 ว่าการทำหนังสือแสดงเจตจำนงในการดำเนินนโยบาย หรือ LOI – Letter of Intend ที่นำประเทศเข้าไปปฏิบัติตามเงื่อนไขของ IMF หรือองค์การโลกบาลอื่น ๆ ที่ต้องมีการร่างกฎหมายให้เป็นไปตาม เป็นการถูกต้องแล้วหรือที่รัฐบาล โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สามารถดำเนินการได้โดยลำพัง โดยไม่ต้องผ่านรัฐสภา
       
       เป็นการก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติหรือไม่ ?
       
       เพราะเข้าลักษณะเปลี่ยนแปลงขอบเขตอำนาจรัฐ – เป็นของเขตอำนาจรัฐในทางเศรษฐกิจ !
       
       เรื่องนี้เคยขึ้นสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
       
       แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยโดยเสียงข้างมากว่า
       รัฐบาลสามารถทำได้ก็ตาม
       
       แต่ก็มีคำวินิจฉัยเสียงข้างน้อยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่ารับฟัง สมควรนำมาพิจารณา
       
       ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อยในยุคนั้นวินิจฉัยว่า...
       
       คำว่า “เขตอำนาจรัฐ” ตามความในมาตรา 224 นั้น มิได้มีความหมายครอบคลุมเพียง “อาณาเขตทางกายภาพ” หากแต่ครอบคลุมทั้ง “เขตอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมวัฒนธรรม” ด้วย
       
       “แม้การจัดทำหนังสือแสดงเจตจำนง จะเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร แต่การยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงโดยมีเงื่อนไขในการตราพระราชบัญญัติ ย่อมเป็นการก้าวล่วงเข้าไปสู่ปริมณฑลแห่งอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ...
       
       “รัฐบาลต้องนำหนังสือแสดงเจตจำนงเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเสียก่อน”
       
       FTA ก็เข้าลักษณะเดียวกัน
       
       เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลง “เขตอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมวัฒนธรรม” ของรัฐ !
       
       FTA ทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายในหลายกรณี

       
       เรื่องนี้สำคัญมาก
       
       เพราะในกรณี FTA นี้ รัฐบาลไทยได้มีการลงนามและอยู่ระหว่าการเจรจากับหลายประเทศ อันได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน เปรู อินเดีย สหรัฐอเมริกา บาห์เรน กลุ่มประเทศ BIMST-EC (พม่า อินเดีย บังคลาเทศ ศรีลังกา ภูฐาน และเนปาล ) กลุ่มประเทศ EFTA (สวิตเซอร์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ และไอซ์แลนด์)
       
       นอกจากนี้ยังมีประเทศและกลุ่มประเทศที่อยู่ในระยะเริ่มต้น หรืออยู่ในขั้นการศึกษาความเป็นไปได้อีก ได้แก่ ปากีสถาน ชิลี เม็กซิโก แคนาดา สหภาพยุโรป แอฟริกาใต้ เมอร์โคซูร์ อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลี และอาเซียน-อินเดีย
       
       นานาอารยะประเทศไม่มีใครเขายกอำนาจนี้ให้กับฝ่ายบริหารโดยลำพัง
       
       แต่ให้ผ่านรัฐสภา
       
       กรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็ได้แก่สหรัฐอเมริกา
       
       • รัฐบาลต้องยื่นหนังสือแสดงความจำนงต่อสภา 90 วันก่อนมีการเจรจา
       
       • ต้องมีเวลา 90 วันก่อนที่ข้อตกลงจะมีผลบังคับใช้
       
       • หากข้อตกลง FTA ส่งผลให้มีการแก้กฎหมายภายใน ต้องมีการนำเรื่องเข้าสู่สภา 60 วันหลังจากที่ข้อ
       ตกลงมีผลบังคับใช้แล้ว
       
       • หากข้อตกลงเกี่ยวข้องกับเรื่องสินค้าเกษตร ต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาด้วย
       กรณีของออสเตรเลียก็เช่นเดียวกัน...
       
       รัฐบาลก็ยังต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาอนุมัติจากรัฐสภาเสียก่อนที่รัฐบาลจะลงนามในข้อตกลง FTA ทุกครั้ง
       
       แต่สำหรับรัฐบาลไทย ดูเหมือนว่าการเจรจา FTA ดำเนินการกันในวงแคบ ๆ
       
       ในขณะที่ผู้ที่มีส่วนได้เสีย หรือภาคประชาชน ตลอดจนรัฐสภาแทบไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรับรู้และตัดสินใจแม้แต่น้อย

       
       การทำ FTA ของไทยที่ผ่านมาและอยู่ระหว่างการเจรจานั้น กลุ่มที่ได้ประโยชน์ก็คือ...
       
       กลุ่มผู้ส่งออกที่สามารถแข่งขันได้อยู่แล้ว
       
       เช่น ยานยนต์ สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
       
       ในขณะเดียวกัน ผู้ที่เสียผลประโยชน์ก็คือกลุ่มผู้ผลิตสินค้าที่แข่งกับสินค้านำเข้า รวมทั้งกลุ่มที่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบ และกึ่งสำเร็จรูป จากต่างประเทศ ตั้งแต่ผู้ประกอบการไปจนถึงเกษตรกร
       
       ซึ่งพอจะแยกเป็นแต่ละกรณีได้ดังนี้
       
       ในกรณีของออสเตรเลีย....
       
       กลุ่มสิ่งทอ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มสื่อสารโทรคมนาคมของไทยน่าจะได้ประโยชน์จากการขยายตลาดการส่งออกและการลงทุนใน
       ออสเตรเลีย
       
       ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบและต้องแข่งขันรุนแรงมากขึ้นจากการทำ FTA กับออสเตรเลีย ได้แก่ เกษตรกร ปศุสัตว์ โชห่วย รวมถึงผู้ประกอยการให้บริการด้านวิชาชีพ ทั้งในด้านก่อสร้าง ธุรกิจให้คำปรึกษา
       
       เขตการค้าเสรีไทยกับออสเตรเลีย เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2548 ผลปรากฏว่า 7 เดือนแรก (มกราคม – กรกฎาคม) ไทยขาดดุลการค้ากับออสเตรเลีย 251.4 ล้านเหรียญสหรัฐ
       
       คือ ขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น 230 %

       
       ในกรณีของจีน...
       
       ผู้ส่งออกยางพารา มันสำปะหลัง ข้าว ชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถยนต์ รวมไปถึงสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์บางรายการ จะได้รับประโยชน์จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น แต่ยังมีอุปสรรคอีกมากในการตรวจสอบอย่างเข้มงวดสินค้าเกษตรของไทยที่ส่งไปยังจีน
       
       กลุ่มที่เสียประโยชน์ที่สำคัญก็คือ เกษตรกรผู้ปลูกผักและผลไม้ กลุ่มธุรกิจก่อสร้าง และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตโดยอาศัยแรงงานเป็นสัด ส่วนสำคัญของทุน
       
       7 เดือนแรกของปี 2548 ปรากฏว่าไทยขาดดุลการค้าให้กับจีนไปแล้วทั้งสิ้น 1,572 ล้านเหรียญสหรัฐ
       
       คิดเป็นการขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นถึง 186 %

       
       ในกรณีของญี่ปุ่น...
       
       กลุ่มที่ได้ประโยชน์ก็คงได้แก่กลุ่มชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ในประเทศ ในขณะที่สินค้าประมง เกษตร ก็ยังเป็นที่น่าเป็นห่วงในเรื่องมาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาษี
       
       ส่วนในกรณีของสหรัฐอเมริกาที่กำลังเจรจากันอยู่....
       
       ผู้ประกอบการจากสหรัฐอเมริกาได้สิทธิประโยชน์ภายใต้สนธิสัญญาไมตรีอยู่แล้ว แต่เมื่อการเจรจาครอบคลุมถึงภาคการเกษตร และบริการด้วย
       
       กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบในประเทศไทยคือ เกษตรกรบางกลุ่ม เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง เป็นต้น
       
       รวมถึงผู้ประกอบการภาคบริการ โดย เฉพาะภาคการเงินการธนาคาร การประกันภัย
       
       โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเวชภัณฑ์ที่จะมีหลายรายการที่ราคาจะเพิ่มสูงขึ้นอันเนื่องมาจากสิทธิบัตรยา
       
       ประเด็นสินค้าเวชภัณฑ์เป็นเรื่องใหญ่ในการเจรจา FTA กับสหรัฐอเมริกา
       
       มหาอำนาจผลักดันการค้าเสรี ก็เพื่อให้มีการลดภาษีระหว่างกันจนที่สุดไม่มีภาษีระหว่างประเทศต่าง ๆ ในโลกภายใต้กรอบ WTO แต่ก็เพราะเงื่อนไขการแข่งขันระหว่างคนตัวเล็กกับคนตัวใหญ่ ถึงอย่างไรฝ่ายตัวเล็กจะเสียเปรียบแน่ ดังนั้นการเจรจากรอบ WTO จึงไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ไม่เพียงเท่านั้น ในการประชุมแทบทุกครั้งจะมีการประท้วงอย่างรุนแรงเสมอมา จึงมีการผลักดันให้มีการเจรจาเปิดการค้าเสรีแบบสองต่อสองหรือทวิภาคี ในรูปแบบ FTA ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาความล่าช้าของกรอบใหญ่
       
        บังเอิญที่ประเทศไทยเราโดยรัฐบาลชุดนี้ กระสันอยากจะเปิด FTA กับบรรดายักษ์ใหญ่ต่าง ๆ เสียเหลือเกิน
       
        เรื่องสิทธิบัตรยานั้น สหรัฐอเมริกาหงายไพ่มาเลยว่าต้องการเงื่อนไขมากกว่ากรอบ WTO
       
        โดยไทยต้องขยายความคุ้มครองสิทธิบัตรยาจาก 20 ปีเป็น 25 ปี

       
       ซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องของบริษัทวิจัยยา ภาคธุรกิจยา และผู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีตัดแต่งพันธุกรรมชั้นนำของสหรัฐอเมริกา
       
        โดยปกติการคุ้มครองสิทธิบัตรให้กับผู้คิดค้นเขาจะมีระยะเวลาการคุ้มครองระยะหนึ่งมิฉะนั้น บริษัทผู้คิดค้นก็จะเสียเปรียบ และจะทำลายวงการวิจัยและพัฒนาเวชภัณฑ์ไม่ให้เติบโตก้าวหน้า ในระยะ 20 ปีจึงห้ามใครผลิตแข่งในสูตรยาดังกล่าว และในยี่ห้อดังกล่าว -- นี่เป็นกติกาทั่วไปของโลก
       
        แต่สำหรับรอบนี้ สหรัฐอเมริกาเขายื่นข้อเสนอมาเลยว่าให้ขยายจาก 20 ปีเป็น 25 ปี
       
        ความได้เปรียบทางการเงินและเทคโนโลยีที่เหนือกว่าไทยหลายขุม จะทำให้เขาครอบงำตลาดยาของบ้านเราได้อย่างง่ายดาย
       
       โรงงานผลิตยาอย่างองค์การเภสัชกรรม ที่เคยผลิตยาถูก ๆ โดยส่วนหนึ่งผลิตยาที่หมดอายุสิทธิบัตรคุ้มครอง ก็จะผลิตแข่งไม่ได้
       
       ทำได้เฉพาะพวก ยาแดง ทิงเจอร์ พาราเซตตามอล ฯลฯ ไปตามมีตามเกิด
       
       แรงบีบของมหาอำนาจทุนนิยม ผ่านการเจรจา FTA แท้จริงแล้วก็คือผลประโยชน์ล้วน ๆ
       
        ไม่มีเรื่องมนุษยธรรม หรือความเป็นธรรมใด ๆ มาเกี่ยวข้องเลย
       
        ยาเป็น 1 ในปัจจัย 4
       
       ตลาดยารักษาโรค เป็นตลาดที่ใหญ่มาก เฉพาะในประเทศก็ร่วม 5 หมื่นล้านบาท/ปี ในจำนวนนี้เป็นยาที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศประมาณ 70 % หรือ 3.5 หมื่นล้านบาท
       
       ที่เหลือ เป็นยาที่ผลิตในประเทศ จากองค์การเภสัชกรรม และ โรงงานยาเอกชน
       
       กติกาใหม่ที่โลกตะวันตกพยายามให้เราบังคับใช้ก็คือ การเปิดเสรี ไม่ให้มีการอุ้ม ให้ยกเลิกระเบียบบังคับโรงพยาบาลของรัฐซื้อยาของรัฐวิสาหกิจ
       
       ก็เลยมีข้อสมมติฐานออกมาว่า ต่อไปหากเกิดมีการบังคับไม่ให้รัฐมาอุ้มองค์การเภสัชฯ
       
       เกิดมีฝรั่งมาบังคับให้ประเทศไทยยกเลิกระเบียบให้โรงพยาบาลหลวงสั่งซื้อยาจากองค์การเภสัชฯ ได้สำเร็จ ก็คือ ให้เปิดตลาดยาเสรีเต็มที่
       
       เมื่อนั้น องค์การเภสัชกรรมต้องเป็นอันเจ๊งอย่างแน่นอน !
       
       นโยบายแปรรูปองค์การเภสัชกรรมอย่างเร่งด่วนจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามทำควบคู่กันไปกับการเจรจา FTA
       
       ปัญหาของโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะโลกที่มหาอำนาจกำลังแผ่ขยายอำนาจทางด้านสิทธิบัตรยามาสู่โลกที่สาม มีแนวโน้มทำให้ประชาชนต้องใช้ยาแพงขึ้น ขณะที่มีภยันตรายจากโรคระบาดใหม่ ๆ มากขึ้นอย่างชัดเจนนั้น ประเทศไทยจะต้องกำหนดท่าทีในเรื่องการบริการด้านสาธารณสุขให้ชัดเจน
       
       โดยหลักการก็คือจะต้องมีกลไกของตัวเองที่เป็นอิสระอย่างเต็มที่ เพื่อทำให้เกิดการถ่วงดุล ดึงราคายาพื้นฐานไม่ให้แพงเกินไป
       
       และที่สุดแล้ว ต้องพร้อมที่จะเป็นโรงงานผลิตยาแบบฉุกเฉิน หากบังเอิญเราประสบภัยโรคระบาดอย่างรุนแรง

       
       จะได้ผลิตยาสูตรดังกล่าวเองโดยไม่ต้องแยแสเจ้าของสิทธิบัตร
       
       ปัญหาลักษณะนี้เคยคำนึงกันในการเจรจา FTA หรือไม่
       
       แน่นอนว่าคุณภาพของสมาชิกรัฐสภาบ้านเราเมื่อเทียบกับนานาอารยะประเทศยังไม่ถึงกับดีเลิศ แต่การใช้เวทีนี้เป็นที่ถกและอนุมัติ FTA ข้อดีอย่างน้อยที่สุดคือทำให้ประเด็นในการเจรจาเปิดเผยสู่สาธารณะโดยอ้อม
       
       เป็นกุศโลบายในกระบวนการสร้าง “ปัญญาสาธารณะ” ขึ้นมา
       
       ถ้าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรจริงใจจริง ๆ ที่พูดออกมาว่าการคัดค้าน FTA ของภาคประชาชนที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นผลดี ทำให้ผู้แทนไทยมีข้อต่อรองมากขึ้น
       
       เวทีรัฐสภาก็จะยิ่งเป็น “ข้ออ้าง” และ “ข้อต่อรอง” ที่มีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 12958เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2006 01:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท