บันทึกจากแดนซากุระ 7 : ประสบการณ์ 10 วันจากการเขียนบล็อก


   จากคำพูดของอาจารย์ปารมี ที่ว่า "ตอนอยู่เมืองไทย คะยั้นคะยอให้เขียนบล็อกอย่างไร ก็ไม่ยอมเขียน พอไปอยู่แดนปลาดิบก็เขียนมาซะจนอ่านไม่ทัน ไม่รู้ที่โน่นมีอะไรดี" วันนี้ก็เลยจะมาเฉลยว่าจากคนที่ไม่เคยเขียนบล็อกมาก่อน ทำไมจึงหันมาเขียน
ทำไมจึงเขียน?
   เริ่มต้นจากมันไม่รู้จะทำอะไร เวลาว่างก็ยังเยอะ ไอ้ที่เรียนมาก็ของใหม่ทั้งนั้น อย่างน้อยก็ใหม่สำหรับเรา จะว่ายากมันก็ยาก (สำหรับตอนเริ่มต้นยังไม่มีประสบการณ์ ให้คิดอะไรเอง ก็ยากทั้งนั้น) จะว่าง่ายมันก็ง่าย (ผู้ที่เคยทำแล้ว หลับตาทำก็ยังได้ ที่นี่ sensei บอกว่า งาน molecular ที่เซ็ตไว้ดีแล้ว ให้ลิงทำก็ได้) เพราะฉะนั้นเมื่อเรียนรู้ใหม่ ก็ต้องคอยถาม เมื่อถามเสร็จก็ต้องคอยจด เมื่อสงสัยก็ต้องไปหาหนังสือมาอ่าน หรือแซะๆเอาจากผู้รู้แถวนี้ สิ่งเหล่านี้เป็นความรู้ใหม่สำหรับเรา ก็เลยคิดว่าน่าจะบันทึกไว้ ตั้งใจว่าจะบันทึกประสบการณ์ในการเรียนรู้ที่ญี่ปุ่นนี่ โดยไม่เน้นเชิงวิชาการมากนัก เพราะความรู้ด้าน molecular เชิงวิชาการสามารถหาอ่านได้ตามถุงกล้วยแขกทั่วไป ดังนั้นก็จะพยายามบันทึก ข้อควรระวัง ข้อสังเกตุ เหตุผลประกอบของการทำงาน ตลอดไปจนถึงเคล็ดลับและเคล็ดไม่ลับต่างๆ อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการแบ่งปันข้อมูลกัน ในกลุ่มผู้ที่มีประสบการณ์ในงานนี้แล้ว ว่าที่ญี่ปุ่นนี่ เขาทำกันอย่างนี้ เคยเห็นที่บ้านเราก็ทำกันอีกแบบหนึ่ง มันต่างกันนะ ด้วยเหตุผลอย่างนี้นะ ส่วนผู้ที่เคยทำไม่เหมือนกันก็จะได้ร่วมเสวนา ว่าเขาทำอะไรที่แตกต่าง มันก็เป็นการต่อยอดความคิดได้อีกทางหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งการเขียนบันทึก ช่วยให้เราลำดับความคิด ลำดับขั้นตอนต่างๆ ทำอย่างไรเรื่องนั้นถึงจะสื่อออกมาได้รู้เรื่อง และไม่น่าเบื่อ ทำอย่างไรเรื่องนี้ถึงจะสื่อออกมาได้เข้าใจ และน่าสนใจ เพราะการเขียนไม่ใช่คำพูด ที่จะได้พูดไปเรื่อยๆ ข้ามบางตอนไป ก็ย้อนกลับมาได้ตลอดเวลา การเขียนสำหรับผมจึงถือเป็นการทบทวน ความรู้ต่างๆ ที่เรียนมาทั้งวัน แต่ปัจจุบันชักจะไม่ค่อยได้เขียนบันทึกแล้ว เนื่องจากทำงานตั้งแต่เช้า (9 โมงเช้า) จนกระทั่งดึก (4 ทุ่มถึงเที่ยงคืน) แล้วก็ทำเกือบตลอดวัน ไม่ค่อยจะได้พักสักเท่าไร
เขียนบล็อกนี่ยากไหม?
   จะว่ายากมันก็ไม่ยาก จะว่าง่ายมันก็ไม่ง่าย แต่ที่แน่ๆ ตอนแรกมันก็เขินๆ อายๆ จะให้เขียนลงไปเลยก็ไม่รู้จะเขียนอะไร ก็เริ่มต้นด้วยการอ่านก่อน อ่านไปเรื่อยๆ พออ่านมากๆเข้าก็ชักอยากจะแซว (สำหรับคนที่คุ้นเคย) แล้วก็อยากแสดงความคิดเห็นในบล็อกอื่นๆ ที่ไม่คุ้นเคย ทำไปสักพักจนชักจะเจนเวที เอาล่ะทีนี้ก็เริ่มบรรเลง เป็นเพลงของเราเอง  
การเขียนบล็อกมีประโยชน์อย่างไร?
   การเขียนบันทึกของผมเริ่มต้นจากการเขียนเพื่อแบ่งปันความรู้ที่เรารู้ ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้อะไรกลับคืน แต่สิ่งที่ผมกลับได้มานี่มันช่วยต่อยอดความคิด ทำให้เรารู้มากขึ้น มิใช่เพียงการรู้เท่าที่เคยรู้ อย่างเช่นเรื่อง  การ run gel ผมก็บันทึกว่าผมรู้ว่าการตรวจสอบว่า DNA ที่เราสกัดได้ จะใช้ gel ความเข้มข้น 0.5% ในการ run การเขียนบันทึกทำให้มีผู้แสดงความเห็นว่า 1% agarose  ก็ใช้ได้  นั่นแสดงว่า % gel 0.5%ถึง 1% ก็ใช้ได้หมด หรืออย่างการย้อม Ethidium bromide ผมย้อม 10 นาที ก็มีผู้แสดงความเห็นว่า บางคนเขาก็ผสม Ethidium bromide นี้ลงไปในเจลเลย บอกความเข้มข้นให้เรียบร้อย เห็นไหมว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นการต่อยอดความรู้ที่เราเคยมี ให้เราได้รู้เพิ่มขึ้น หรือรู้ในสิ่งที่แตกต่างจากที่เคยรู้ ซึ่งเราจะมีโอกาสน้อยมากที่จะได้รู้ ถ้าเราไม่เริ่มจากการบันทึกสิ่งที่เรารู้ก่อน เพื่อแบ่งปัน
    นอกเหนือจากการได้ต่อยอดความรู้ที่เราเคยมีแล้ว การเขียนบล็อก ทำให้เราได้อ่านบล๊อก อ่านความคิดคน อ่านกระบวนการคิดของคน อ่านความรู้ในเรื่องต่างๆ ที่มีผู้สรุปไว้ ทำให้เรามีความรู้เพิ่มขึ้น ในหลายๆเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การจัดการความรู้ การบริหาร สรุปการประชุมสัมนาในที่ต่างๆ หรือแม้แต่การเปลี่ยนแผ่นภาษาไทย-ภาษาอังกฤษในเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้า การเลี้ยงผึ้ง และอื่นๆอีกมากมาย มีตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม มีชื่อ-สกุลของผู้บันทึก ให้สามารถติดต่อขอความรู้ได้ทางบล๊อกโดยตรงหรือติดต่อจากที่อยู่ที่ปรากฎ  แม้ว่าปัจจุบันผมจะยังไม่ได้ติดต่อท่านผู้รู้เหล่านี้ แต่คงมีสักวันหนึ่งที่ผมอยากจะรู้ในบางสิ่ง และบล็อกก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้เราได้คำตอบในสิ่งที่อยากรู
   และท้ายที่สุดผมคิดว่า ผมได้เพื่อน ผมได้สังคม แม้จะเป็นสังคมเสมือน แต่ก็เป็นสังคมที่จริงใจ ที่อุดมไปด้วยผู้รู้ ผู้ที่แบ่งปันความรู้ และผู้ที่ใฝ่รู้
อยากฝากอะไรมั้ย?
   ผมอยากจะเชิญชวนให้น้องๆ เพื่อนๆ พี่ๆ ป้าๆ ลุงๆ (เลือกกันเองนะ) ลองหันมาเขียนบันทึกประสบการณ์จากการทำงานของเรา ที่จริงแล้วเรามีกันทุกคน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความรู้ที่กระจัดกระจายอยู่ในตัวเราทุกคน จะรู้มากรู้น้อยเราก็รู้ก็แล้วกัน และในบางเรื่องรู้ดีกว่าคนอื่นเสียด้วย หากเราบันทึกไว้ในบล็อกก็เหมือนกับเราเอาของมารวมกัน ต่อไปบล็อกก็จะเป็นแหล่งความรู้ของคนบันเทิง เอ๊ย! คนใฝ่รู้เช่นพวกเราทุกคน ทีนี้ถ้าอยากรู้อะไรก็มาหาได้เอาจากที่นี่ หรือมาถามได้จากที่นี่ บล็อกก็จะกลายเป็นห้องสมุดเก็บความรู้ โอ๊ย! ฝันไปไกลเกินไปหรือเปล่านี่....... 
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 12887เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2006 20:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

บันทึกนี้น่าจะเอาไปลงในสายใยพยาธิเล่มต่อไปไหมคะอ.ปารมี เพื่อส่งเสริมให้คนใช้บล็อกเพื่อแบ่งปันความรู้ความคิดเห็น พร้อมกับแสดงขั้นตอนการเริ่มสร้างบล็อกของตนเองหลักสูตรรวบรัด เพราะพอเริ่มสักครั้งสองครั้งก็จะติดใจไปเอง (ถ้ามีเวลา)

สายใยฉบับหน้า ตั้งใจอยู่แล้วว่าจะเขียนแนะนำ weblog เพราะเพิ่งรู้ว่าหลายคนในพยาธิ แม้กระทั่งระดับอาจารย์ ยังไม่รู้จัก smart path งั้นขออนุญาติคุณ mitochondria นำบทความนี้ไปลงในฉบับด้วย จะได้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการเริ่มต้น

จริงๆแล้วก็ตั้งใจเขียนเพื่อลงในสายใยพยาธิอยู่แล้วครับ
เป็นตัวอย่างที่ดีที่เกิดขึ้นจากการเขียนบล็อก แล้วใช้ความกล้าที่จะเขียน และถอดความรู้เราออกมาว่ามันเกิดขึ้นจากส่วนใด ก็เท่ากับเป็นการรู้จักวิเคราะห์ความรู้ น่านำไปเผยแพร่ให้กล้างขวางออกไป ค่ะ
อาจารย์ครับ ผมเสนอว่าเราจัดเป็นสัปดาห์แนะนำ weblog ดีไหมครับ โดยจัดให้มี activity ที่หลากหลายสำหรับกลุ่มคนหลายๆกลุ่ม เช่น
1. จัดแนะนำ ชุมชน Smart path ชุมชนของพวกเรา โดยจัดเป็นการพูดในห้องประชุม ซึ่งคนที่จะต่อยอดได้ส่วนใหญ่น่าจะเป็นพวกที่มีความรู้พื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์พอประมาณ
2. จัดให้มีการสอนการใช้ weblog ทั้งการอ่าน การเขียน โดยมุ่งเป้าให้คนที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับคอม ได้ลองสัมผัสและใช้ weblog ของจริง
3. ตอบคำถามชิงรางวัล โดยให้ทำอะไรก็ได้ที่ทำให้เขามาใช้ smart path
4. ประกวดการเขียน weblog ในชุมชนพยาธิ โดยแยกเป็นบันทึกของหน่วยงาน โดยกำหนดรูปแบบ และแนวทางในการบันทึกที่ชัดเจน
5. ผลงานต่างๆใน patho otop โครงการต่อไป น่าจะมีการเชื่อมโยงให้มีการใช้ weblog โดยกำหนดให้บันทึก กรอบ แนวคิด การได้มาซึ่งโจทย์ วิธีการทำ แล้วประโยชน์ที่น่าจะได้รับ อะไรทำนองนั้น และต้องบังคับให้ใส่รูปของทุกกลุ่มด้วย โดยอาจจะนำไปเกี่ยวพันกับข้อ 4 (การประกวด)
แนวคิดของผมคือทำอย่างไรให้ชุมชน smart path คึกคักขึ้น ผมคิดว่าสิ่งแรกที่จะต้องทำคือการเพิ่มสมาชิกในชุมชน เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรให้คนที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็น หันมาเขียนบันทึกบน blog และทำอย่างไรให้คนที่ใช้คอมพิวเตอร์ไม่ถนัด หันมาอ่านบันทึกและเริ่มต้นเขียนกัน การประกวด เป็นวิธีการหนึ่งที่ได้ผลค่อนข้างเร็ว แต่อาจไม่ยั่งยืน แต่ผมเชื่อว่า blog มันมีเสน่ห์ของมัน หากเราคอยให้กำลังใจผู้ที่เข้ามาเขียนใหม่ และพยายามสนับสนุนให้เขาใช้ weblog ต่อไป สุดท้ายผมเชื่อว่าเสน่ห์ของ blog จะมัดใจให้คนเหล่านั้นเข้ามาเป็นสมาชิกถาวรเองครับ

ขอบคุณค่ะ เป็นข้อเสนอที่ดีมากๆ และจะ (ค่อยๆ) นำไปดำเนินการตามลำดับที่คิดว่าควรจะเป็น เพราะ style ที่ตนเองทำ คือ ทำเป็นตัวอย่าง ให้เกิดผลระดับหนึ่ง แล้วจึงเหนี่ยวนำให้เกิดความอยากร่วม คิดว่าจะทำให้กิจกรรมนั้นยั่งยืน และ smart path ตอนนี้ ก็มาถึงจุดที่น่าจะติดไฟได้ไม่ยาก

อันดับแรกที่คิดไว้ตรงกันคือ แนะนำชุมชน Smart path ให้รู้จักมากขึ้น โดยลงในสายใยฉบับหน้า (ตรงนี้คุณ mito..ส่งบทความมาทาง email ได้เลยจ๊ะ อย่างช้าไม่เกินวันที่ 5 กพ.) หลังจากนั้น ก็อาจจัดอบรมการใช้ weblog  และตามข้อเสนอของคุณ mito..ที่ว่าจัดเสวนาประโยชน์ของ blog ในห้องประชุม คิดว่าจะลองพูดคุยกับทีมงานจัดสัมมนา Otop ที่หาดแก้ว (วันที่ 11 กพ.) ว่า จะนำเรื่องนี้ บรรจุไปในการสัมมนาด้วยหรือไม่

ขอบคุณมากๆ ค่ะ สำหรับทุกข้อเสนอแนะ

วันนี้เข้าไปอ่านบล๊อกของอาจารย์วิบูลย์ วัฒนาธร (ม.นเรศวร)เห็น powerpoint สำหรับการแนะนำการใช้ blog คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ ก็เลย link มาให้อาจารย์ดูก่อนครับ
http://www.nu.ac.th/office/quality/blog/present-13Jan-blog.ppt
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท