ชีวิตจริงของอินเทอร์น : ๘ เดือนกับงานจัดการความรู้


  

ความสำเร็จที่เห็นได้ชัดเจนในการทำงานเดือนที่ ๘ นี้คือ เรื่องของ KA (Knowledge Assets)

  

เดือนนี้เป็นเดือนแรกที่ KO (Knowledge Officer) ของทุกช่วงชั้นนำบันทึกเรื่องเล่าในส่วนโครงการพัฒนาครู มาลงเผยแพร่ทางอินทราเน็ตกันครบทั้ง ๔ ช่วงชั้น ปัจจัยความสำเร็จแรก คือเรื่องของพลังกลุ่ม ที่ต่างก็เป็นแรงขับเคลื่อนซึ่งกันและกัน และผลของการพูดดี คิดดี ทำดี ก็พาให้ทุกคนอยากที่จะหยิบยกเอาเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงชั้นของตนเองมาอวดกัน

  

การที่ผู้อ่านสนใจที่จะเข้ามาอ่าน ทำให้ผู้บันทึกมีแรงทำงานยิ่งขึ้น ความคิดที่เป็นการตีความวิสัยทัศน์องค์กร ที่ปรากฏอยู่ใน workshop ก็ปรากฏออกมาในบันทึกที่ทำให้คนอื่นที่ไม่ได้มีโอกาสได้เข้าไปร่วมในปฏิบัติการได้รับทราบด้วย

  

การขยันบันทึกนี้ก็ช่วยให้คลังความรู้ขององค์กรเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ และผู้บันทึกก็เกิดนิสัยในการบันทึก และทั้งผู้บันทึกและผู้อ่านก็เกิดปัญญาจากการได้ใคร่ครวญพิจารณาในสิ่งที่กลุ่มของตนได้ทำสำเร็จไปแล้วมากขึ้นเรื่อยๆ  และเมื่อคนเก่งขึ้น องค์กรก็จะเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ สังคมก็มีคนที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นด้วย

  

การบันทึกความรู้ของคณะครูอนุบาล ที่สกัดได้จากการไป ลปรร.เรื่องการสอนภาษาอังกฤษ ตามแนวทางของอ.หม่อม ดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา ที่โรงเรียนปลูกปัญญา โคราช ก็มีคุณภาพมาก ต่างจากการบันทึกที่เกิดขึ้นในครั้งก่อนๆ เนื่องจากมีการวางแผนการบันทึก และการถอดบทเรียนร่วมกัน

  

เดือนนี้ดิฉันได้ใช้เวลาส่วนหนึ่งไปในการถอดบทเรียน และเรียบเรียงประสบการณ์การจัดการความรู้ในโรงเรียน เพื่อจัดพิมพ์รวมเล่มให้ทันงานมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๔ ที่จะมีขึ้นในวันที่ ๓๐ พ.ย. ๑ ธ.ค. ๕๐

  

การมี สคส. มา จับภาพ เมื่อวันที่ ๓ ก.ย. ก็เป็นโอกาสดีที่บุคลากรผู้ที่เป็นแกนหลักในการทำงานจัดการความรู้จะได้มีโอกาสในการทบทวน และร่วมถอดบทเรียนด้วยกันไปใน ประเด็นคำถามและคำตอบที่ได้มาจากมุมมองอันหลากหลาย

  

ในส่วนของการสานเครือข่าย มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโรงเรียนวัดท่าเรือ อุตสาหวิทยาคาร จ.กาญจนบุรี ในเรื่องแนวคิดและประสบการณ์การจัดการความรู้ในบริบทของโรงเรียน ดังที่ได้ปรากฏอยู่ในบันทึกชื่อ เทียบท่าKM”

  

แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับมรภ.ศรีสะเกษ ในเรื่องปัจจัยความสำเร็จของการทำให้งานจัดการความรู้ ไม่หยุดอยู่เพียงแค่การทำเพื่อให้ผ่านตัวชี้วัด แต่ทำอย่างไรให้กลมกลืนอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คน ดังปรากฏอยู่ในบันทึกชื่อ เพื่อนร่วมทางจากศรีสะเกษ

  

และที่ประทับใจที่สุดคือการได้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชาวปูนซิเมนต์ไทย ที่แก่งคอย จ.สระบุรี ในหัวข้อ change management / competency และ การดำเนินโครงการส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ C-Cement (Constructionism - Cement)  ดังปรากฏอยู่ในบันทึกชื่อ ได้รู้จักแล้วจะรัก...ปูนแก่งคอยฯ 

ซึ่งสายใยของความรู้สึกดีๆที่ได้รับจากชาวปูนฯนี้ ก็ได้กลายเป็นเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นกับชาวเพลินพัฒนาในเดือนถัดไป         
หมายเลขบันทึก: 128166เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2007 18:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท