การสอนงานมือใหม่ เดือนมกราคม 2549 (1)


การเขียนบันทึกการปฏิบัติงาน เป็นอีกวัฒนธรรมหนึ่งที่ทีมงานต้องการให้เกิดขึ้นในงานประจำของนักส่งเสริมฯ ทั้งมือเก่า-มือใหม่

            ในเดือนมกราคม 2549 นี้ ทีมงานได้กำหนดการสอนงานนักส่งเสริมการเกษตรมือใหม่ ไว้ 2 วัน คือ วันที่ 13 มกราคม  เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักส่งเสริมที่มีประสบการณ์  และวันที่  17 มกราคม เป็นการลงปฏิบัติงานจริงในภาคสนาม และวันนี้ 13 มกราคม 2549  การสอนงานของเรา ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อะไรกันบ้าง……


            เริ่มด้วยการทักทายนักส่งเสริมมือใหม่ จำนวน 6 ท่าน (ติดราชการจ่ายเงินชดเชยภัยธรรมชาติ 2 ท่าน ที่อำเภอเมือง) โดยคุณสายัห์ ปิกวงค์ได้ทักทาย และพูดคุยในเรื่องที่เกี่ยวกับการเดินทางมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้  การเขียนเบี้ยเลี้ยงและค่าพาหนะเดินทาง  ตามความเป็นจริงเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทางมาของน้องๆ 

            ซึ่งคุณสายัณห์ได้เสนอแผนการสอนงานนักส่งเสริมมือใหม่เข้าสู่ระบบส่งเสริม และท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้อนุมัติงบประมาณค่าอาหารและค่าพาหนะเดินทางเพื่อสนับสนุนให้เพราะน้องๆ หลายคนเดินทาง ไป-กลับ ระยะทางมากกว่า 100 กิโลเมตร แถมเงินเดือนยังน้อย แต่เมื่อต้องการเรียนรู้ ทีมงานก็พยายามที่จะเอื้ออำนวยสุดๆ ครับ
ในระหว่างรอการเดินทางจากน้องๆ อีกหลายท่านที่กำลังเดินทางมา  ได้พูดคุยเกี่ยวกับการจัดทำแผนการปฏิบัติงานโดยให้สอดคล้องและสัมพันธ์กับปฏิทินแผนการปฏิบัติงานตามระบบส่งเสริมการเกษตร ปี 2549  เพื่อไม่ให้แผนการปฏิบัติงานตรงกัน

                                         บรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

          เข้าสู่กระบวนการสอนงานมือใหม่

         เมื่อทุกคนมาพร้อมแล้ว  ผมก็ดำเนินการต่อจากคุณสายัณห์  ใน 2 ประเด็น ที่เป็นข้อตกลงของพวกเราเกี่ยวกับกระบวนการสอนงาน คือ

  • แลกแฟ้มสะสมงาน   โดยทุกคนต้องมีแฟ้มสะสมงาน ในวันนี้มีหลายท่านที่นำแฟ้มสะสมงานของตนเอง มานำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อมือใหม่ด้วยกัน ให้เห็นผลงานของตนเองและของเพื่อนๆ (การจัดทำแฟ้มสะสมงานเป็นกิจกรรมหนึ่งในการสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการทำงานของนักส่งเสริมการเกษตร เพราะเป็นจุดอ่อนของพวกเราที่กำแพงเพชรครับ)
  • การส่งบันทึกผลการปฏิบัติงานของเดือนที่ผ่านมา  เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบันทึกการปฏิบัติงานที่ได้ร่วมกระบวนการในเดือนที่ผ่านมา ทุกคนที่ได้บันทึกซึ่งหลายคนก็หลากหลายรูปแบบ เป็นการฝึกการบันทึกผลการปฏิบัติงาน น่าเสียดายที่เครื่องถ่ายเอกสารเราใช้งานไม่ได้คงเป็นครั้งต่อไปจึงจะได้แจกให้ทุกคนได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน แต่ผมจะนำไปประชาสัมพันธ์ของทุกท่านบนโฮมเพจของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร

        (การเขียนบันทึกการปฏิบัติงาน เป็นอีกวัฒนธรรมหนึ่งที่ทีมงานต้องการให้เกิดขึ้นในงานประจำของนักส่งเสริมฯ ทั้งมือเก่า-มือใหม่ เป็นการปูพื้นฐานในการเป็นนักวิจัยเชิงคุณภาพในอนาคตที่เป็นเป้าหมายใหญ่ของทีมงานครับ-คิดใหญ่ครับ แต่ไม่รู้ว่าจะไปได้ขนาดไหน)

          การเล่าประสบการณ์การทำงานส่งเสริมฯที่ประสบความสำเร็จและภาคภูมิใจ
          หลังจากนั้น เป็นกิจกรรมการเล่าเรื่องของนักส่งเสริมการเกษตรที่มีประสบการณ์ จำนวน 2 ท่าน คือ       

         1. การเล่าเรื่องของคุณประสิทธ์  อุทธา นักส่งเสริมการเกษตร 6 ว จากสำนักงานเกษตรอำเภอพรานกระต่าย เกี่ยวกับการสร้างพลังและเทคนิคการทำงานส่งเสริมในพื้นที่ (ลิงค์เรื่องเล่าของคุณประสิทธ์ อุธทา)

         2. การเล่าเรื่องของคุณปรารภ  คันธวัน นักส่งเสริมการเกษตร 6 ว จากสำนักงานเกษตรอำเภอทรายทองวัฒนา เกี่ยวกับประสบการณ์การทำงาน และเทคนิคการสร้างกองทุนศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลทุ่งทองที่ประสบผลสำเร็จ (ลิงค์เรื่องเล่าของคุณปรารภ  คันธวัน)

           การสรุปบทเรียน

            เมื่อการเล่าประสบการณ์เสร็จ ก็เป็นการให้นักส่งเสริมการเกษตรมือใหม่ 2 ท่าน ลองมาสรุปประสบการณ์ของแต่ละท่าน ซึ่งมือใหม่จำนวน 2  ท่าน ก็อาสามาเล่าสรุปบทเรียนของตนเองที่ได้ฟังและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับกลุ่มมือให่ด้วยกันได้รับฟัง

           การสรุปและเสริมทักษะเกี่ยวกับหลักการทำหน้าที่สรุปบทเรียน/ถอดบทเรียน

           โดยคุณสายัณห์  ปิกวงค์ ได้มาให้หลักการกับน้องๆ มือใหม่ว่า ในการสรุปบทเรียน/การถอดบทเรียนนั้นทุกคนต้องฝึกเพื่อพัฒนาตนเอง ให้มีทักษะในประเด็นต่างๆ เช่น

  1. การฟังเป็น
  2. จับประเด็นเป็น
  3. ใช้เครื่องมือเป็น
  4. สังเคราะห์เป็นองค์ความรู้
  5. สรุปเป็น
  6. เก็บข้อมูลเป็น
  7. เผยแพร่เป็น
  8. การนำเสนอเป็น  เป็นต้น

           การฝึกปฏิบัติการเขียนแผนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

          หลังจากนั้น ได้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม เพื่อฝึกการเขียนแผนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในการจัดกระบวนการร่วมกับเกษตรกรกลุ่มผู้ปลูกข้าว โดยสมมติว่า มีเวลา 3 ชั่วโมง ให้กลุ่มระดมความคิดและร่วมกันเขียนแผนฯ  แล้วนำเสนอ   จากนั้นผมได้สรุปและได้นำเสนอองค์ประกอบของแผนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ว่าควรมีองค์ประกอบที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

  1. ชื่อแผนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  2. วัตถุประสงค์ของแผนฯ
  3. เนื้อหา  ซึ่งต้องมีอีก 3 ส่วน คือ ส่วนนำ / ส่วนเนื้อหา / ส่วนสรุป
  4. การประเมินผล

          ส่วนรูปร่างกน้าตา หรือแบบของแผนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก็สามารถประยุกต์หรือปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม ไม่ควรยึดติดรูปแบบใดตายตัว แต่อย่างน้อยควรมีรายละเอียดดังองค์ประกอบที่กล่าวมาข้างต้น

         AAR ของการสอนงานวันนี้  (ลิงค์AAR 13 มกราคม 2549)

          กระบวนการสุดท้ายของวันนี้คือการเรียนรู้ระหว่างและหลังการปฏิบัติงาน ของทุกคน ทั้งมือเก่า –มือใหม่-ทีมคุณอำนวย

(บันทึกยาวมากครับขอนำเสนอเป็นตอนๆ ตามที่ทำลิงค์ไว้ครับ)

วีรยุทธ  สมป่าสัก  13 / 01 / 49

คำสำคัญ (Tags): #การสอนงาน
หมายเลขบันทึก: 12341เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2006 09:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท