ชวนดูหนัง Born into Brothels


มองโลกผ่านสายตาของลูกโสเภณี

ยืมเรื่องนี้มาจากห้องสมุดชุมชนข้างบ้าน คุ้นๆ ว่าอ.มัทนาเป็นคนแนะนำให้ดูครับ

หนังเรื่องนี้เป็นหนังสารคดีโดยช่างภาพหญิงชาวอเมริกัน คุณซาน่า บริสกี้ ซึ่งสนใจปัญหาเด็กและสตรีในประเทศบังคลาเทศ

เธอเข้าไปคลุกคลีและถ่ายภาพชีวิตของโสเภณีใน "มณฑลโคมแดง" อยู่เป็นเวลาแรมปี จนได้แรงบันดาลใจที่จะช่วยให้เด็กๆ ที่เป็นลูกหลานของโสเภณีในพื้นที่นั้นได้หลุดพ้นจากวงจรชีวิตในการค้ากาม

โครงการที่เธอคิดขึ้นมาก็คือการให้กล้องถ่ายรูปแบบฟิล์มกับเด็กๆ ที่มาเรียนถ่ายภาพกับเธอ คุณซาน่าก็สอนวิธีการที่จะถ่ายให้ได้รูปที่สามารถเล่าเรื่องราวและความรู้สึกได้

ถ่ายแล้วก็ล้างอัด แล้วก็เอามาวิพากษ์ เอามาสอนกันในกลุ่มว่าชอบภาพไหน เพราะอะไร ภาพไหนแสดงความรู้สึกอะไรบ้าง

โลกในมุมมองของเด็กๆ ที่แสดงออกมาในภาพถ่ายนั้นเต็มไปด้วยอารมณ์ และความรู้สึก ภาพที่ออกมาหลายภาพจึงสวยงามและมีพลัง เป็นภาพที่ดีพอที่จะเอาไปขายได้

คุณเซน่าก็เอาภาพเหล่านั้นไปจัดแสดง ขาย แล้วก็เอาเงินมาเป็นทุนการศึกษา เซน่าต้องการส่งให้เด็กๆ ได้ไปอยู่โรงเรียนประจำ ให้พ้นจากสภาพชีวิตในมณฑลโคมแดง เพื่อจะได้หนีไปจากสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยการค้าประเวณี ยาเสพติด และความรุนแรง

แต่กว่าจะหาโรงเรียนที่รับเด็กที่มีภูมิหลังครอบครัวที่ผิดกฎหมายได้ เล่นเอาเหนื่อยครับ หนังแสดงให้เห็นถึงความยืดยาดของระบบราชการ ประเภทต้องกรอกฟอร์มนี้ แล้วรออีกเจ็ดวันเพื่อมากรอกอีกฟอร์มหนึ่ง เอาหลักฐานโน้นมาเพื่อประกอบหลักฐานนี้ ดูแล้วนึกถึงประเทศสยามบ้านเราขึ้นมาทันใด ถึงแม้ว่าระบบบริการภาครัฐของเราต่างจากเขามากที่เรามีตู้เก็บเอกสาร มีคอมพิวเตอร์ มีไอเอสโอ แต่จิตวิญญาณการบริการประเภทกรอกแบบฟอร์มต่างๆ ยังคงอยู่ และช่างคับคล้ายกับประเทศอย่างบังคลาเทศเสียนี่กระไร

ผลของโครงการนี้ก็ออกมาค่อนข้างดีครับ เด็กหลายๆ คนได้ไปอยู่ในโรงเรียนประจำ เด็กที่มีพรสวรรค์คนหนึ่งถึงกับได้ทุนไปศึกษาที่โรงเรียนมัธยมในสหรัฐอเมริกา

คุณซาน่าเลยขยายผลโครงการของเธอให้ใหญ่โตขึ้นเรียกโครงการว่า kids with cameras ลองเข้าไปดูได้ที่

http://www.kids-with-cameras.org/home/

นะครับ

ดูหนังเรื่องนี้ทำให้มาคิดต่อครับ

ช่วงหลายๆ เดือนที่ผ่านมาผมเคยคิดว่า ยุคของการพัฒนาแบบสงเคราะห์นั้นมันผ่านพ้นไปแล้ว โครงการแบบสงเคราะห์ไม่ยั่งยืน และไม่ทำให้คนช่วยตัวเองได้ ยุคนี้เป็นยุคของการมีส่วนร่วมและการเรียนรู้ร่วมกัน

แต่งานของคุณเซน่า ทำให้ผมได้คิดว่า บางทีการสงเคราะห์ก็ยังมีประโยชน์ในกลุ่มคนที่ยังอยู่ในวงจรที่ไม่สามารถหลุดออกมาง่ายๆ คนที่มีชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่มีความวิกฤติอย่างยิ่งยวด การสงเคราะห์ก็ยังจำเป็น

ขอแต่อย่าสงเคราะห์แบบเอาหน้า จะสงเคราะห์ก็ต้องทำการศึกษาอย่างลึกซึ้งเสียก่อน แล้วค่อยให้ในสิ่งที่ควรให้

ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่า หลังจากเด็กๆในสารคดีเรื่องนี้จบมาแล้วจะมีงานทำ และมีชีวิตที่ดีขึ้นหรือไม่ หรือการที่พรากเด็กๆ จากพ่อแม่ไปอยู่โรงเรียนประจำที่มีกฎอันเข้มงวดในการพบผู้ปกครองและในการลากลับบ้าน (หนังก็แสดงให้เห็นว่า มีเด็กบางคนที่มีครอบครัวที่เอาใจใส่ แม้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แย่ก็ตาม) จะดีกว่าให้เขาอยู่กับพ่อแม่ตัวเองหรือไม่ แต่หนังก็พยายามแสดงให้เห็นว่า ชีวิตของพวกเขาไม่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยอันตรายอีกต่อไป อย่างน้อยเด็กในรุ่นนี้หกเจ็ดคนก็มีทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขายตัวและยาเสพติด

ดูแล้วก็เห็นพลังของมนุษย์ในการต่อสู้กับโครงสร้างของสังคม โดยการหาทางออกที่ไม่ก้าวร้าวรุนแรง แต่ทว่าสะท้อนความเจ็บปวด สะท้อนความรู้สึกของตนออกมาในรูปแบบศิลปะภาพถ่าย

ดูแล้วได้คิดเยอะครับ ถ้าเป็นไปได้ลองหามาดูกันนะครับ หนังสารคดีเรื่องนี้ยังได้รางวัลตุ๊กตาทองปี 2005 ประเภทหนังสารคดีอีกด้วย

หมายเลขบันทึก: 122074เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2007 20:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 20:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท