ไปดูชั้นเรียน “การตรวจวิเคราะห์ดิน-ปุ๋ย” ของเกษตรกร


ได้ไปสัมผัสกับบรรยากาศของการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ เกษตรกร และผู้สนใจ ก็เป็นการฝึกสมองให้มองเห็นสิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างดี
             เมื่อวันที่  10  เมษายน  2550  ดิฉันได้มีโอกาสไปร่วมเรียนรู้และร่วมจัดกระบวนการถ่ายทอดความรู้เรื่อง  การตรวจวิเคราะห์ดิน-ปุ๋ยให้กับเกษตรกร จำนวน 38 กลุ่ม และเจ้าหน้าที่ จำนวน 6 จังหวัด ที่ทำนาข้าวในเขตชลประทานภาคกลาง ณ  ศูนย์บริหารศัตรูพืช  จังหวัดสุพรรณบุรี                การเรียนการสอนดังกล่าวได้มีผู้เชี่ยวชาญคือ  ศ.ดร. ทัศนีย์  ซึ่งเป็นเจ้าของและต้นตำหรับของชุดตรวจสอบดิน-ปุ๋ย เพื่อหาค่า PH และธาตุอาหารในดินมาเป็นวิทยากรสาธิตและลงมือสอนเกษตรกรด้วยตนเอง  โดยมีเจ้าหน้าที่ในส่วนกลางและเจ้าหน้าที่จังหวัดและอำเภอมาเป็นนักเรียนด้วย                เนื้อหาสาระที่เกิดขึ้นนั้น ดิฉันได้ค้นหาและสืบเสาะมาเป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อพัฒนาตนเองและอยากเจออยากเรียนและอยากพบกับ ผู้รู้จริง  จนมาถึงวันนี้ได้มีสิ่งนี้เกิดขึ้นจริง ๆ และเกษตรกรสามารถทำได้ด้วยตนเอง  เพราะถ้าการทำอาชีพการเกษตร ไม่ว่าจะปลูกส้ม  ทำนาข้าว  ปลูกผัก  หรือปลูกพืชชนิดใดก็ตามถ้าเกษตรกรเข้าใจว่า ทำไมต้องตรวจวิเคราะห์ดิน...ทำไมต้องรู้ค่า N P K ในดิน...และทำไมต้องใส่ปุ๋ยเท่านั้นเท่านี้ให้กับพืช  ก็ย่อมทำให้ได้คำตอบต่าง ๆ ของการส่งเสริมอาชีพการเกษตรของเจ้าหน้าที่กับเกษตรกร และสามารถลดต้นทุนการทำนาข้าวได้ร้อยละ 20 ได้ ถ้าเกษตรกรใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำและใส่อย่างถูกต้อง   ฉะนั้น จึงเป็นที่มาของความสำคัญของการเรียนรู้เรื่อง  การตรวจวิเคราะห์ดิน-ปุ๋ย                การจัดการเรียนการสอนที่เกิดขึ้น ได้จัดชั้นเรียนเป็นกลุ่ม ๆ ละ 7-10 คน (แบ่งเป็น 13 กลุ่ม)  มีวิทยากรหลัก (อธิบายประกอบการสาธิต)  มีวิทยากรผู้ช่วย (แปลและสื่อสารหรือเน้นย้ำ)  และมีวิทยากรประจำกลุ่ม (ควบคุมกำกับและตรวจสอบการปฏิบัติ และเป็นพี่เลี้ยง)                ส่วน การจัดกระบวนการเรียนรู้มี 3 องค์ประกอบหลัก คือ  1)  นำเข้าสู่เรื่อง  โดยเชื่อมโยงความสำคัญของการตรวจวิเคราะห์ดิน-ปุ๋ย กับการทำนาข้าวของเกษตรกรสู่การลดต้นทุนการผลิตได้อย่างไร?2)  การถ่ายทอดเนื้อหาสาระ  โดยอธิบายประกอบการสาธิตทีละขั้นตอน ๆ กับเนื้อหาสาระของการทดสอบเพื่อหาค่า N P K กับ ตัวอย่างดิน ที่เกษตรกรเก็บมา แล้วนำผลที่ได้มาเทียบกับเกณฑ์เพื่อสรุปเป็นสูตรปุ๋ยและอัตราที่แนะนำให้ใช้กับชุดดินต่าง ๆ ในแปลงนาข้าวของเกษตรกร  3)  การประเมินและสรุปผล  โดยให้เกษตรกรแต่ละกลุ่มตรวจวิเคราะห์ดิน-ปุ๋ย ด้วยตนเอง (ทำซ้ำ) แล้วนำผล N P K ที่ค้นพบมานำเสนอเพื่อตรวจสอบคำตอบที่ถูกต้อง (ถูก/ไม่ถูก , ใช่/ไม่ใช่)  นอกจากนี้เกษตรกรยังทำแบบทดสอบเป็นรายบุคคลเพื่อค้นหาคำตอบตามโจทย์ที่กำหนดให้คือ  ปุ๋ยที่แนะนำให้ใช้ควรเป็นสูตรอะไร?/อัตราเท่าไหร่?  ผลปรากฎว่า  เกษตรกรชอบมาก  ตั้งใจค้นหาคำตอบโดยเทียบกับเกณฑ์ตามคู่มือแนะนำปุ๋ย  และไม่ยอมพักรับประทานอาหาว่างและเครื่องดื่มกันจนกว่าจะหาคำตอบได้  หลังจากนั้นเมื่อทำเสร็จแล้วก็มีการตรวจคำตอบโดยให้เกษตรกรเป็นผู้ตรวจคำตอบเองตามที่วิทยากรผู้ช่วยเฉลย (ถาม-ตอบ)  จึงสร้างความสนุกสนานได้มาก   ฉะนั้น  การจัดชั้นเรียนในเนื้อหาสาระที่ตรงความต้องการ  เป็นเรื่องใกล้ตัวแต่ไม่รู้  เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นกับอาชีพการเกษตรแต่นึกไม่ถึง  และเป็นเรื่องที่ได้ลงมือทำจริง  ผู้ใหญ่  ก็อยากเรียนรู้  สนใจ  และเกิดความเชื่อและยอมรับเทคโนโลยีได้  ส่วนการสรุปผลการทดลองลดต้นทุนการผลิตข้าว ร้อยละ 20  ที่มาจากการใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำนั้นจะเป็นอย่างไร... เราจะมาสรุปบทเรียนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่าง 38 กลุ่ม ที่ทำนาข้าวใน 6 จังหวัดที่อยู่ในเขตชลประทานภาคกลาง ในเดือนสิงหาคม 2550.
หมายเลขบันทึก: 120264เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2007 17:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 10:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • หวัดดีครับ อ.จือ
  • ขอบคุณครับ ที่นำมา ลป.ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท